18 ก.พ. 2021 เวลา 02:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
📅 18 กุมภาพันธ์ วันคล้ายวันเกิด “อาเลสซันโดร วอลตา”
ทุกคนเคยสังเกตหรือไม่ว่า ถ่านไฟฉายโดยทั่วไปมีความต่างศักย์เท่าไหร่.....ใช่แล้ว >> 1.5 v นั่นเอง วันนี้แอดมินจะพาทุกคนมาทำความรู้จักนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญซึ่งเป็นที่มาของหน่วยความต่างศักย์นี้ นั่นก็คือ “Alessandro Volta”
IPST Thailand (สสวท.)
Alessandro Volta (อาเลสซันโดร วอลตา) นักฟิสิกส์ชาวอิตาลี เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการพัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถให้กระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยวอลตาได้ประดิษฐ์แบตเตอรี่ที่สร้างกระแสไฟฟ้าจากการทำปฏิกิริยาเคมีระหว่างสารละลายกับโลหะบางชนิด ถือได้ว่าอุปกรณ์ชิ้นนี้คือ “เซลล์ไฟฟ้าเคมี” เซลล์แรกของโลก
จากนั้น วอลตาได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ประกอบด้วยเซลล์ไฟฟ้าเคมีจำนวนหลายเซลล์วางซ้อนทับกันให้สูงขึ้น เรียกว่า "โวลเตอิค ไพล์" (Voltaic Pile) และได้กลายเป็นแบตเตอรี่ที่ให้พลังงานไฟฟ้าชิ้นแรกของโลก
นับเป็นความสำเร็จอย่างสูงของนักวิทยาศาสตร์ในยุคนั้น ที่สามารถพัฒนาแหล่งจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ดีกว่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสถิต (Electrostatic Generator) ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ และเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่า “กระแสไฟฟ้าสามารถเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาเคมีได้” หักล้างความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า “กระแสไฟฟ้าสร้างได้จากสิ่งมีชีวิตเท่านั้น”
จากความสำเร็จของวอลตาในครั้งนั้น ได้กระตุ้นให้เกิดแรงกระเพื่อมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำไปสู่การทดลองอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแยกน้ำด้วยกระแสไฟฟ้า การชุบโลหะ รวมถึงการพัฒนาถ่านไฟฉายและแบตเตอรี่ที่ใช้กันอยู่อยู่ในปัจจุบัน
เพื่อเป็นเกียรติแก่นักฟิสิกส์คนสำคัญระดับโลกอย่าง วอลตา ที่ประชุมของสภาไฟฟ้านานาชาติ (The International Electrical Congress) มีมติให้เรียกชื่อหน่วยของ “ความต่างศักย์ หรือ แรงเคลื่อนไฟฟ้า” ว่า “โวลต์” (Volt, V) สำหรับระบบหน่วยวัดระหว่างประเทศ (SI) มาจนถึงปัจจุบัน
1
โฆษณา