21 ก.พ. 2021 เวลา 22:31 • ไลฟ์สไตล์
วิธีการ!! ลดความขัดแย้งในครอบครัว!!!
1
วิธีการ ”ลดความขัดแย้งในครอบครัว”
ปัญหาครอบครัว คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับสมาชิกภายในครอบครัว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างสามีภรรยาผู้เป็นหัวหน้าหรือผู้นำครอบครัว ที่เกิดมีปฏิสัมพันธ์ที่ขัดกัน อาทิ มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่รับรู้หรือไม่เข้าใจความรู้สึกของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง การสื่อสารที่ไม่เข้าใจกันหรือมีบทบาทที่ไม่สอดคล้องกัน เป็นต้น
ซึ่งความขัดแย้งนี้อาจนำไปสู่การจบความสัมพันธ์ลงได้ หากว่าคู่สมรสไม่พยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน หรือไม่ร่วมมือกันหาทางเลือกที่ดีในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
1
ภายหลังการแต่งงาน และเริ่มต้นชีวิตสมรส แม้ทั้งคู่จะมีพื้นฐานมาจากความรัก แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ก็คือ... "การกระทบกระทั่ง และมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น"
"ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่คู่สมรสไม่ได้คาดหวัง หรือปรารถนาให้เกิดขึ้น"
สิ่งเหล่านี้!
เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาครอบครัวตามมา...
ดังนั้น!
"การประคับประคองความสัมพันธ์ที่ดีของคู่สมรส รวมถึงการแก้ไขข้อขัดแย้งถือเป็นภาระที่สำคัญอีกประการหนึ่งของคู่สมรส เพื่อให้การครองรักของคู่สมรสสามารถผ่านมรสุมชีวิต และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข"
#สาระจี๊ดจี๊ด
บริษัทประกันของอังกฤษแห่งหนึ่ง ได้จัดการสำรวจพบว่าคู่สามีภรรยาทั่วไปล้วนแต่มีปากเสียงกันบ้าง คู่หนึ่งแต่ละปีจะทะเลาะกันประมาณ 135 ครั้ง
1
#สาระจี๊ดจี๊ด
การทะเลาะกันของคู่สามีภรรยาส่วนใหญ่จะโต้เถียงกันเรื่องงานบ้าน อาจจะเฉลี่ยกินเวลาถึงวันละ 40 นาที
#สาระจี๊ดจี๊ด
เรื่องที่มักจะเป็นชนวนให้เกิดสงครามระหว่างกันมากที่สุด ได้แก่ "การปล่อยทิ้งเสื้อผ้าวางเกลื่อนบ้าน" และเกือบจะ 1 ใน 3 ต่างคนมักจะอ้างว่าต้องทำงาน ทำให้ไม่มีเวลา
 
"ผลการสำรวจที่ทำในหมู่ชายหญิง ประมาณ 1,000 คน ยังพบข้อสังเกตว่า การโต้เถียงกันในเรื่องงานบ้านและความรับผิดชอบในบ้าน ดูเป็นชนวนก่อเหตุขึ้นมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นคู่ที่ดูรักใคร่ดูดดื่มเพียงไรก็ตาม"
สาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาครอบครัว
ปัจจัยต่าง ๆ ต่อไปนี้ มักเป็นสาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครอบครัว
1. ภาวะเจ็บป่วย
หากสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กหรือหัวหน้าครอบครัวมีปัญหาสุขภาพหรือป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนในครอบครัวและสร้างความกังวลใจไม่น้อย เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น สถานะทางการเงินของครอบครัว เป็นต้น
2. ปัญหาด้านการเงิน
ภาวะเศรษฐกิจและการว่างงานอาจทำให้สมาชิกภายในครอบครัวเกิดความเครียด วิตกกังวล และอาจเผชิญภาวะซึมเศร้าได้ ปัญหาทางการเงินอาจเป็นสาเหตุทำให้พ่อหรือแม่ต้องออกไปหางานทำ จนส่งผลให้เด็กต้องอยู่กันตามลำพังและขาดการดูแลหรืออบรมสั่งสอนอย่างที่ควรจะได้รับ
3. นิสัยและความเคยชินส่วนตัว
แม้จะตกลงใช้ชีวิตคู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาแล้ว แต่นิสัยส่วนตัวที่มีมานานนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ซึ่งอาจทำให้คู่สมรสไม่พอใจนิสัยหรือการกระทำของอีกฝ่ายเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และอาจนำมาสู่ความขัดแย้งได้
1
4. ความบกพร่องในการรับผิดชอบหน้าที่
ในยุคปัจจุบัน ผู้หญิงมีบทบาทในการทำงานเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวเช่นเดียวกับผู้ชาย หากผู้หญิงต้องรับผิดชอบงานบ้านต่าง ๆ หลังเลิกงานก็อาจทำให้รู้สึกเหนื่อย หงุดหงิด และอาจเกิดความขัดแย้งในครอบครัวขึ้นได้ เนื่องจากสามีและภรรยาควรมีความรับผิดชอบในงานบ้านและการดูแลบุตรร่วมกัน
5. การนอกใจ
การนอกใจเป็นปัญหาที่อาจร้ายแรงจนถึงขั้นทำให้ความสัมพันธ์ของคู่สมรสจบลงและเกิดการหย่าร้างได้ ซึ่งเด็กที่พ่อแม่หย่าร้างกันนั้นอาจรู้สึกขาดความอบอุ่น ขาดการดูแลอบรมที่ดี ขาดที่พึ่งและการชี้แนะให้คำปรึกษา จนอาจทำให้เด็กขาดการควบคุมตนเองและส่งผลให้มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น ติดยาเสพติด ติดการพนัน และมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ เป็นต้น
1
6. การใช้ความรุนแรง
เมื่อขาดการสื่อสารที่ดีและได้รับแรงกดดันจากภายนอกครอบครัว เช่น ภาวะเศรษฐกิจ และความเครียด เป็นต้น ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งและใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวได้ โดยผู้ที่ถูกกระทำมักเป็นเด็กและสตรี ซึ่งเด็กที่เติบโตจากครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงนั้นมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อโตขึ้น มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ติดยาเสพติด ติดการพนัน และมีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศได้
1
7. การขาดความเอาใจใส่และไม่มีเวลาให้กัน
 
ด้วยภาระหน้าที่ของสมาชิกในบ้านแต่ละคน อาจทำให้ไม่มีเวลาพูดคุย สอบถามสารทุกข์สุกดิบ หรือทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ภายในครอบครัว
ปัญหาครอบครัวนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ
ปัญหาครอบครัวอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้
โดยผู้ที่เผชิญปัญหาครอบครัวอาจมีอาการเครียด ปวดหัว หงุดหงิดง่าย แยกตัว ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ มีปัญหาการนอนหลับ อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า สิ้นหวัง พึ่งพาสารเสพติด และอาจทะเลาะเบาะแว้งกับสมาชิกในครอบครัวอยู่บ่อย ๆ
ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอาจลุกลามใหญ่โตหรือเรื้อรังได้ และอาจทำให้สมาชิกครอบครัวเกิดอาการทางจิตเวช เช่น โรคจิตประสาท โรคซึมเศร้า โรคบุคลิกภาพแปรปรวน เป็นต้น
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาครอบครัวตั้งแต่ต้นจะช่วยป้องกันปัญหาสุขภาพกายใจของสมาชิกในครอบครัวได้
การรับมือเมื่อเกิดปัญหาครอบครัว
แนวทางต่าง ๆ ต่อไปนี้ อาจช่วยแก้ไขสถานการณ์และความขัดแย้งภายในครอบครัวได้
1
1. เปิดใจและรับฟัง
หากสังเกตว่าสมาชิกในครอบครัวมีท่าทีที่แปลกไป ควรสอบถามถึงความผิดปกติและพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการเปิดใจพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัวจะช่วยให้เข้าใจความรู้สึกของกันและกันได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ควรเป็นผู้ฟังที่ดีและบอกความต้องการของตนเองด้วยความนุ่มนวล ใช้วาจาสุภาพ และไม่ควรว่ากล่าวหรือตำหนิอีกฝ่ายหนึ่งด้วยคำพูดที่รุนแรง
2. ทิ้งความเครียดไว้นอกบ้าน
คนในครอบครัวอาจรับรู้ถึงความเครียดสะสมจากที่ทำงานผ่านการแสดงสีหน้าของสมาชิกในครอบครัวได้ ซึ่งส่งผลให้คนอื่น ๆ รู้สึกไม่ดีไปด้วย ดังนั้น อาจฟังเพลงหรือสูดหายใจเข้าลึก ๆ เพื่อปรับอารมณ์ตนเองให้ดีขึ้นก่อนเข้าบ้าน
3. ร่วมมือกันดูแลครอบครัว
คุณพ่อคุณแม่ควรร่วมมือและช่วยเหลือกันในการดูแลครอบครัว แก้ไขปัญหาต่าง ๆ และสอดส่องดูแลพฤติกรรมของลูก ๆ โดยไม่ปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
4. แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ
การแบ่งงานบ้านต่าง ๆ เช่น การกวาดบ้าน การถูบ้าน การทิ้งขยะ และการดูดฝุ่น เป็นต้น จะทำให้สมาชิกทุกคนในบ้านมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน ซึ่งอาจช่วยป้องกันความขัดแย้งและยังเป็นการฝึกให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตนเองเมื่อโตขึ้นอีกด้วย
5. รับประทานอาหารร่วมกัน
การรับประทานอาหารเย็นร่วมกันทำให้สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสพูดคุยกัน ช่วยสานสัมพันธ์ภายในครอบครัวให้ดีขึ้น เป็นโอกาสที่ดีสำหรับพ่อแม่ที่จะสังเกตอารมณ์และเรียนรู้นิสัยใจคอของลูก ๆ และยังเป็นช่วงเวลาที่เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากพ่อแม่อีกด้วย
6. ทำกิจกรรมร่วมกัน
การใช้เวลาที่มีคุณภาพร่วมกันแม้เพียงเล็กน้อยก็ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาครอบครัวที่มีคุณภาพ โดยอาจทำกิจกรรม เช่น เล่นบอร์ดเกม ทำงานศิลปะ ออกไปเดินเล่นด้วยกันตอนเย็นหรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นต้น
7. ตอบสนองเรื่องเพศสัมพันธ์ให้ดี
การมีเพศสัมพันธ์ถือเป็นความต้องการทางกามารมณ์พื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนมี ซึ่งชายหญิงนั้นต่างก็มีความต้องการทางเพศตามวัยหรือสภาพร่างกายที่กำหนดระดับความต้องการ การตอบสนองความต้องการทางเพศของอีกฝ่ายได้จึงถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อีกฝ่ายไม่คิดนอกใจ
เพราะหากไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้ อีกฝ่ายก็มักสงสัยในความรักที่มีให้ สงสัยถึงความชื่อสัตย์ต่อกันว่ามีอยู่หรือไม่ และหากรุนแรงเกิน คือ อาจหาวิธีอื่นที่สามารถตอบสนองต่อตน เช่น การมีหญิงหรือชายอื่น
แต่ทั้งนี้ มิใช่จะเกิดขึ้นในทุกคน แต่หากผู้ที่รู้จักหักห้ามความต้องการนั้นได้ด้วยการใช้หลักธรรมพิจารณาหรือคอยเตือนใจตนไม่ให้ประพฤติผิดก็ย่อมไม่ทำให้เกิดปัญหาปัญหาครอบครัวตามมาได้
8. รู้จักอดทน และให้อภัย
การใช้ชีวิตคู่ แต่ละคนอาจมีสิ่งที่เหมือน สิ่งที่แตกต่าง อาจมีสิ่งที่ชอบ และสิ่งไม่ชอบ จึงต้องกระทบกระทั่งกันบ้าง แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่รู้จักอดทน ไม่รู้จักนิ่งเฉย หรือ ไม่รู้จักคำว่าขอโทษ และให้อภัย ก็ย่อมจะเพิ่มความขัดแย้งที่รุนแรงมากขึ้น แต่หากทั้งคู่รู้จักที่จะกระทำในสิ่งที่กล่าวมาก็ย่อมลดความขัดแย้งลงได้
1
เมื่อไหร่ที่ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ ?
ปัญหาครอบครัวอาจส่งผลกระทบต่ออารมณ์และสภาพจิตใจได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ภายในครอบครัว ทั้งปัญหาการใช้ความรุนแรงหรือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส อาจโทรศัพท์เพื่อขอรับคำปรึกษาจากกรมสุขภาพจิตที่สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ซึ่งให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ อาจไปพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาปัญหา และรับคำแนะนำได้ตามโรงพยาบาลจิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตทั่วประเทศ
หากทุกครอบครัวมีปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้น ไม่ควรปล่อยไว้ให้หมักหมมนานวัน ควรหันหน้าเข้าพูดจากัน หาวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกันไม่ผลักภาระความรับผิดชอบให้ฝ่ายหนึ่งรับผิดชอบ สื่อสารด้วยวาจาสุภาพอ่อนโยน ไม่ใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหาแล้วความขัดแย้งต่าง ๆ จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นอันจะเป็นผลให้ครอบครัวมีความสุขสมบูรณ์ตลอดไป
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา / แหล่งอ้างอิง
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา