16 พ.ค. 2021 เวลา 23:55 • นิยาย เรื่องสั้น
ไม่อาจวางตัวเป็นกลางเมื่อพานพบความชั่วร้าย
Blockdit Originals ซีรีส์บทความพิเศษ
3
เสียงปืนกังวานก้องกลางกรุงบูดาเปสท์ เมืองหลวงของฮังการี กลุ่มชายฉกรรจ์พรรค Arrow Cross กำลังยิงเป้าพวกยิว หญิงคนหนึ่งบาดเจ็บร่วงตกลงไปในแม่น้ำดานูบ ชายสวมสูทคนหนึ่งกระโดดลงไปในแม่น้ำช่วยหญิงคนนั้นขึ้นมา เขาพาเธอขึ้นฝั่ง แล้วขอเจอตัวคนสั่งยิง
2
มันคือปี ค.ศ. 1944 เป็นห้วงเวลาที่กองทัพนาซียึดครองฮังการี กรุงบูดาเปสท์ลุกเป็นไฟ การฆ่ากันเกิดขึ้นทุกวัน
ในที่สุดชายสวมสูทเปียกโชกก็พบคนสั่งยิง
1
เขาบอกเสียงกร้าวว่า "ผู้หญิงบาดเจ็บคนนี้อยู่ในความคุ้มครองของสวิตเซอร์แลนด์"
1
"คุณเป็นใคร?"
1
"ผมเป็นเจ้าหน้าที่สถานกงสุล สวิตเซอร์แลนด์"
1
คนสั่งยิงรู้ว่าสวิตเซอร์แลนด์เป็นกลางในสงคราม และเมื่อชายคนนี้ไม่แสดงอาการกลัวคนถือปืนแต่อย่างไร ก็อาจแสดงว่าชายสวมสูทเปียกมะล่อกมะแล่กคนนี้มีตำแหน่งใหญ่โต
2
เขาพาหญิงบาดเจ็บออกจากจุดนั้นไปที่สถานกงสุล โดยที่กลุ่มคนถือปืนไม่กล้าทำอะไร
ชายคนนี้ไม่ได้เป็นใหญ่มาจากไหน เขามีตำแหน่งเพียงรองกงสุลสวิตเซอร์แลนด์ประจำกรุงบูดาเปสท์ เขาชื่อ คาร์ล ลูทซ์ (Carl Lutz)
1
คาร์ล ลูทซ์ เกิดในปี 1895 ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นเด็กขี้อาย เคยคิดจะเป็นบาทหลวง อายุสิบห้าก็เริ่มทำงานในโรงงานผ้า
2
คาร์ล ลูทซ์ สมัยหนุ่ม
อายุสิบแปดเขาอพยพไปอยู่ที่สหรัฐฯ ทำงานที่รัฐอิลลินอยส์เพื่อหาเงินเรียนหนังสือ
ปี 1920 เขาได้งานในองค์กรด้านการทูตสวิตเซอร์แลนด์ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน จนจบปริญญาในปี 1924 อายุยี่สิบเก้า
1
อายุสามสิบเอ็ด เขาได้รับตำแหน่งผู้ช่วยกงสุลที่สถานกงสุลสวิส ณ ฟิลาเดลเฟีย ต่อด้วยในสถานกงสุลสวิสที่เซนต์หลุยส์
หลังจากเขาแต่งงานในปี 1935 ก็เดินทางออกจากสหรัฐฯเป็นครั้งแรกในรอบยี่สิบปี ไปทำงานด้านการทูตในประเทศต่าง ๆ เริ่มด้วยตำแหน่งรองกงสุลในสถานกงสุลสวิสที่เมืองจาฟฟา ปาเลสไตน์
1
เวลานั้นปาเลสไตน์อยู่ในความยึดครองของอังกฤษ เรียกว่า British-mandated Palestine ที่นั่นเขาเห็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างยิวกับอาหรับ
ปี 1942 เขาไปรับตำแหน่งรองกงสุลที่บูดาเปสท์ ฮังการี
 
เขาไปถึงบูดาเปสท์ในเดือนมกราคม 1942 นอกจากจะทำงานของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ยังต้องรับหน้าที่แทนสถานทูตสหรัฐฯ อังกฤษ และอีกหลายประเทศที่ตัดสัมพันธ์กับฮังการี เนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์เป็นกลางในสงคราม ประเทศอื่น ๆ จึงฝากงานไว้ให้ช่วยทำ
คาร์ล ลูทซ์ รักการถ่ายรูป ถ่ายรูปทุกเมืองที่เขาเดินทางไป ฝีมือถ่ายรูปของเขาอยู่ในเกณฑ์ดี แต่รูปในชีวิตจริงไม่ได้สวยเหมือนรูปถ่าย เพราะรอบตัวเขาในเวลานั้น ฉายแต่ความโหดร้ายของนาซีต่อยิว อนาคตของชาวยิวมืดหม่น
1
คาร์ล ลูทซ์ คิดช่วยพวกยิว จึงร่วมมือกับองค์กรยิวที่ช่วยพาคนไปปาเลสสไตน์ เขาออกจดหมายรับรองความปลอดภัยให้เด็ก ๆ ชาวยิวราวหนึ่งหมื่นฉบับ เพื่อส่งเด็กไปที่ปาเลสไตน์
1
คาร์ล ลูทซ์ ในที่ทำงาน
คาร์ล ลูทซ์ ในที่ทำงาน
วันที่ 12 มีนาคม 1944 ฮิตเลอร์สั่งกองทัพนาซีรุกฮังการีด้วยแผนปฏิบัติการ Margarethe แล้วเริ่มส่งยิวเข้าค่ายกักกัน
บุรุษผู้รับผิดชอบต่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุโรปตะวันออกคือ อดอล์ฟ ไอค์แมนน์ (Adolf Eichmann)
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวเป็นสิ่งที่นาซีเรียกขำ ๆ ว่า 'A final solution to the Jewish question'
คาร์ล ลูทซ์ มองเห็นการณ์ไกล จึงสร้างสัมพันธ์กับนาซีโดยเข้าไปช่วยปรับปรุงคุณภาพของคุกนาซี จนสามารถคุยกับนาซีจอมโหด อดอล์ฟ ไอค์แมนน์ ได้
1
เขาพยายามอย่างหนักหาทางช่วยชีวิตยิวที่กำลังถูกฆ่า โดยขอความช่วยเหลือจากทุกองค์กรที่หาได้ เขาเป็นนักการทูตที่พูดจาดี จึงทำให้พวกฮังกาเรียนและเจ้าหน้าที่นาซีคล้อยตาม
1
หลายสัปดาห์หลังนาซียึดฮังการีในเดือนมีนาคม 1944 ก็เริ่มส่งคนยิวไปเข้าค่ายแห่งความตาย คาร์ล ลูทซ์ เข้าหาผู้มีอำนาจในรัฐบาล โน้มน้าวใจรัฐบาลและนาซีให้อนุญาตเขาออกจดหมายรับรองความปลอดภัยจำนวนแปดพันฉบับแก่ผู้ลี้ภัยชาวยิว
1
รัฐบาลและนาซีตกลง
ในที่สุดก็เกิดข้อตกลงที่เรียกว่า Horthy Offer ในเดือนกรกฎาคม 1944 (มาจากชื่อผู้นำฮังการี Miklos Horthy) อนุญาตให้ยิวกลุ่มหนึ่งเดินทางออกนอกประเทศไปปาเลสไตน์ได้ เป็นเด็กหนึ่งพันคน และผู้ใหญ่อีกแปดพันกว่าคนพร้อมครอบครัว
3
กงสุลสวิสรับหน้าที่ออกเอกสารรับรองให้ เนื่องจากสวิตเซอร์แลนด์ทำหน้าที่ทางการทูตแทนอังกฤษซึ่งครอบครองปาเลสไตน์ เอกสารรับรองความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยให้ไปถึงจุดหมายโดยสวัสดิภาพ
แต่ลูทซ์ไม่พอใจแค่แปดพันคน จึง 'ซิกแซก' ทำให้ใบอนุญาตหนึ่งฉบับครอบคลุมคนทั้งครอบครัว
3
เมื่อเลขที่เอกสารถึงหมายเลข 7,999 เขาก็เวียนกลับมานับ 1 ใหม่ โดยหวังว่าพวกนาซีคงไม่ตรวจสอบ
3
เทคนิคซิกแซกนี้ถูกเจ้าหน้าที่ทูตของสวีเดนนาม ราอูล วอลเลนเบิร์ก (Raoul Wallenberg) นำไปใช้ช่วยชาวยิวเช่นกัน ในเดือนตุลาคม 1944 พรรค Arrow Cross ขึ้นสู่อำนาจในฮังการี
1
เอกสารที่ คาร์ล ลูทซ์ ทำให้ผู้ลี้ภัย
Arrow Cross เป็นพรรคขวาจัดของฮังการี ได้จัดตั้งรัฐบาล แล้วมีบทบาทในการร่วมเข่นฆ่าพลเรือนมากกว่าหนึ่งหมื่นคน และส่งคนแปดหมื่นคนไปสู่ความตายในค่ายกักกันต่าง ๆ ที่ออสเตรีย
รวมทั้งยิงทิ้งพวกยิวไปที่ริมฝั่งแม่น้ำดานูบ
เมื่อเห็นเค้าลางว่าเยอรมนีจะแพ้สงครามแน่ พวกนาซีก็เร่งการสังหารหมู่ ในเดือนพฤศจิกายน 1944 อดอล์ฟ ไอค์แมนน์ สั่งการให้ส่งพวกยิวไปเข้าค่ายที่ชายแดนออสเตรีย
1
ส่งไปสู่ความตาย
คาร์ล ลูทซ์ รู้ว่าต้องรีบ มีเวลาไม่มาก
คาร์ล ลูทซ์ และเจ้าหน้าทูตอื่น ๆ รีบไปช่วยชีวิตยิวให้มากที่สุด พายิวจำนวนหนึ่งกลับบูดาเปสท์สำเร็จ
3
ด้วยสัญญาสุภาพบุรุษกับ อดอล์ฟ ไอค์แมนน์ เขาช่วยชีวิตยิวไว้จำนวนหนึ่ง
1
ชาวยิวมารอรับเอกสารรับรองความปลอดภัย กรุงบูดาเปสท์ 1944
บทบาทของลูทซ์ที่ช่วยเหลือยิวทำให้นาซีหลายคนไม่พอใจ จนถึงขั้นขออนุญาตผู้ใหญ่ในเบอร์ลินลอบสังหารเขา แต่เบื้องบนไม่ตอบรับ
การที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นกลางในสงคราม ทำให้หลายประเทศมอบภาระทางการทูตให้สถานกงสุลสวิส เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ ซึ่งปิดสถานทูตของตนในฮังการี
เขาจึงใช้อำนาจนี้ช่วยยิว โดยอ้างชื่อประเทศอื่นด้วย
สวิตเซอร์แลนด์เป็นกลางในสงคราม แต่เขาไม่อาจวางตัวเป็นกลางเมื่อพานพบความชั่วร้าย
5
เขาและเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งเกอร์ทรูดภรรยาของเขา ช่วยโดยจัดหาเซฟเฮาส์จำนวนเจ็ดสิบหกแห่งให้ยิวหลายพันคน แจ้งทางการว่าพื้นที่นี้เป็นเขตของสถานทูตสวิตเซอร์แลนด์ นาซีเข้าไปยุ่มย่ามไม่ได้
1
หนึ่งในเซฟเฮาส์เป็นอาคารชื่อ Glass House ทำหน้าที่เป็นศูนย์ช่วยเหลือยิว มีคนยิวมาเข้าแถวรอยาวเหยียด
สวีเดนและองค์การกาชาดสากลก็จัดหาเซฟเฮาส์แบบเดียวกันเช่นกัน นับจำนวนราว 120 แห่ง
2
แอกเนส เฮอร์ชี เด็กหญิงชาวยิวที่รอดตายมาได้เล่าถึงเหตุการณ์ท่อนนี้ว่า เธออายุเจ็ดขวบเมื่ออยู่ในเซฟเฮาส์ที่ คาร์ล ลูทซ์ จัดหาให้ ฉลองวันเกิดเจ็ดขวบในห้องใต้หลังคา คาร์ลมอบช็อคโกแลตที่เก็บไว้ให้เด็กหญิงเป็นของขวัญวันเกิด
1
คาร์ล ลูทซ์
Glass House กรุงบูดาเปสท์ 1944
คาร์ล ลูทซ์ และพวกอยู่ช่วยยิวจนปลายสงคราม เมื่อโซเวียตยกทัพเข้ามายึดฮังการี คาร์ล ลูทซ์ และภรรยาก็กลับบ้าน
คาร์ล ลูทซ์ กลับถึงกรุงเบิร์นตามคำสั่งของเบื้องบน และพบว่าไม่มีใครมารับเขา ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดติดต่อเขา เมื่อกลับไปทำงาน ก็ไม่มีใครจับมือกับเขา
3
ไม่มีใครเห็นว่าการกระทำของเขาเป็นเรื่องถูกต้อง หรือสมควรได้รับยกย่องเป็นวีรบุรุษ ตรงกันข้ามเบื้องบนกล่าวหาว่าเขาทำเกินหน้าที่ เหตุผลหนึ่งเพราะสวิตเซอร์แลนด์ไม่ต้องการเสียจุดยืนเรื่องการวางตัวเป็นกลางในสงคราม
2
คาร์ล ลูทซ์ ไม่เคยได้รับการเลื่อนตำแหน่งอีกเลยตลอดชีวิตราชการที่เหลือ ราวกับว่าไม่มีใครแยแสงานที่เขาช่วยชีวิตคนหลายหมื่นคน
9
คาร์ล ลูทซ์ กับเกอร์ทรูด ภรรยา
จนกระทั่งหลายสิบปีหลัง รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์จึงเห็นคุณค่าของเขา หลังจากประเทศอื่น ๆ ยกย่องเขา เช่น อิสราเอล ฮังการี สหรัฐฯ
3
ในปี ค.ศ. 1964 คาร์ล ลูทซ์ และภรรยา เกอร์ทรูด ได้รับรางวัลRighteous Among the Nations จากประเทศอิสราเอล และเกียรติยศอื่น ๆ อีกมากมาย
3
เขาตายเงียบ ๆ ที่กรุงเบิร์น สวิตเซอร์แลนด์ในปี 1975
2
แต่ชาวโลกจดจำเขาว่าเป็นผู้กล้าเสี่ยงชีวิตตนเองช่วยคนอื่น ช่วยชีวิตยิวประมาณ 62,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนสูงที่สุดในการช่วยยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง
5
สำหรับเขา วิธีคิดง่ายมาก คนเราไม่อาจวางตัวเป็นกลางเมื่อพานพบความชั่วร้าย
7
(เรื่องเสริม)
ราอูล วอลเลนเบิร์ก
ราอูล วอลเลนเบิร์ก (Raoul Wallenberg) เป็นนักการทูตชาวสวีเดน เรียนจบเป็นสถาปนิก เป็นนักธุกิจ
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาไปทำงานด้านการทูตของสวีเดนในกรุงบูดาเปสท์ ช่วงกรกฎาคม - ธันวาคม 1944 ออกหนังสือเดินทางให้ชาวยิวลี้ภัยเดินทางไปในเขตของสวีเดน
ราอูล วอลเลนเบิร์ก
เขาช่วยชีวิตยิวในค่ายกักกันที่ฮังการีราวหนึ่งหมื่นคน
1
เมื่อทัพโซเวียตบุกบูดาเปสท์ในปลายปี 1944 กองทัพแดงยึดครองพื้นที่ ในวันที่ 17 มกราคม 1945 วอลเลนเบิร์กถูกทหารแดงจับ ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นสายลับ และหายสาบสูญไป รายงานภายหลังว่าเขาตายขณะถูกพวกเคจีบีจับไปคุมขังในโซเวียตในเดือนกรกฎาคม 1947
3
ราอูล วอลเลนเบิร์ก ได้รับการยกย่องจากหลายประเทศ เช่น อิสราเอล แคนาดา สหรัฐฯ ฮังการี ออสเตรเลีย เขาได้รับรางวัล Righteous Among the Nations จากอิสราเอล มีการสร้างอนุสาวรีย์หลายแห่งและถนนในชื่อเขา
3
นอกจากนี้วอลเลนเบิร์กยังได้รับการยกย่องจากสหรัฐฯด้วยรางวัล Congressional Gold Medal
1
ราอูล วอลเลนเบิร์ก ในที่ทำงานพร้อมกับเพื่อร่วมงานชาวยิวฮังกาเรียน 1944

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา