25 ก.พ. 2021 เวลา 06:27 • ความคิดเห็น
สุขภาพการเงินของเราเป็นอย่างไร?
เพื่อน ๆ เคยตรวจสุขภาพประจำปีกันหรือเปล่าครับ?
เชื่อว่าหลายคนคงตรวจเป็นประจำ ไม่ว่าจะซื้อแพ็คเพจโรงพยาบาลตามกำลังทรัพย์ที่มี, ใช้สิทธิประกันสังคม หรือบริษัทที่ทำงานอยู่จัดสวัสดิการให้เรา
การตรวจสุขภาพประจำปีทำให้เราได้รับรู้ว่าร่างกายของเราเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรที่ต้องระวัง อะไรต้องลด อะไรต้องเพิ่ม อะไรต้องรักษาเสียตอนนี้ก่อนจะสายเกินไป บ้างอาจรวมถึงการประเมินสุขภาพจิตด้วย
การรู้สถานะปัจจุบันของสุขภาพกายและจิตใจจะช่วยให้เราสามารถวางแผนได้อย่างถูกต้องเพราะตั้งอยู่บนข้อมูลจริงมิใช่มโน เมื่อแผนถูกต้องเราก็สามารถสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้
แล้วเพื่อน ๆ เคยตรวจสุขภาพการเงินบ้างไหมครับ? ถ้ายังไม่เคย วันนี้ผมมีสูตรตรวจสอบสุขภาพทางการเงินมาฝาก เป็นสมการง่าย ๆ จากดร.อัจฉรา โยมสินธุ์
มีอัตราส่วนทางการเงินอยู่ 5 ประเภทที่เราต้องใช้เพื่อประเมินสุขภาพทางการเงินของเรา
1️⃣ อัตราส่วนแสดงการอยู่รอด
2️⃣ อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์
3️⃣ อัตราส่วนภาระหนี้สินต่อรายได้
4️⃣ อัตราส่วนการออมการลงทุน
5️⃣ อัตราส่วนอิสรภาพทางการเงิน
1️⃣ อัตราส่วนแสดงการอยู่รอด
เป็นสัดส่วนระหว่าง "รายได้ต่อเดือน/รายจ่ายต่อเดือน" ถ้าตัวเลขมากกว่า 1 แสดงว่าสุขภาพดี
รายจ่ายในที่นี้รวมหมดเลยนะครับทั้งชำระหนี้ (ค่าใช้จ่ายคงที่), เงินออมเงินลงทุน, เงินกินเงินใช้ต่างๆ (ค่าใช้จ่ายผันแปร)
เช่น รายได้ 20,000 รายจ่าย 20,000 = 1
ถือว่าสุขภาพดี ✅ เพราะอย่างน้อยก็มีรายได้เท่ากับรายจ่าย (อย่าลืมว่าเรามีเงินออมแล้ว)
2️⃣ อัตราส่วนหนี้สินต่อสินทรัพย์
เป็นสัดส่วนระหว่าง "หนี้สินรวม/สินทรัพย์รวม" ถ้าตัวเลขน้อยกว่า 50% แสดงว่าสุขภาพดี
หมายถึงหนี้ทุกก้อนทั้งระยะสั้นระยะยาวรวมกัน เทียบกับสินทรัพย์ที่เรามี ถ้าตกงานขาดรายได้ขึ้นมาจำเป็นต้องขายสินทรัพย์มาใช้หนี้มันจะครอบคลุมไหมและจะยังเหลือไว้ต่อยอดหรือเปล่า
เช่น หนี้บ้าน 2.5 ล้าน หนี้รถ 5 แสน รวม 3 ล้าน แต่มูลค่าบ้านปัจจุบันอยู่ที่ 6 ล้าน รถอีก 3 แสน รวม 6.3 ล้าน = 47.62% ถือว่าสุขภาพดี ✅
3️⃣ อัตราส่วนภาระหนี้สินต่อรายได้
เป็นสัดส่วนระหว่าง "ยอดผ่อนชำระหนี้สินต่อเดือน/รายได้ต่อเดือน" ถ้าตัวเลขน้อยกว่า 35% แสดงว่าสุขภาพดี
ข้อนี้ต่างจากข้อ 2 ตรงที่ไม่ได้ดูยอดรวมแต่ดูยอดต่อเดือนที่ต้องผ่อนชำระ และไม่ได้เทียบกับสินทรัพย์รวมที่มีแต่เทียบกับรายได้ต่อเดือนแทน เพื่อดูกระแสเงินสด
เช่น ยอดผ่อนชำระ 6,000 บาทต่อเดือน รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน = 30% ถือว่าสุขภาพดี ✅
4️⃣ อัตราส่วนการออมการลงทุน
เป็นสัดส่วนระหว่าง "เงินออมเงินลงทุนต่อเดือน/รายได้ต่อเดือน" ถ้าตัวเลขประมาณ 25% แสดงว่าสุขภาพดี
เช่น ออม/ลงทุน 5,000 บาทต่อเดือน รายได้ 20,000 บาทต่อเดือน = 25% ถือว่าสุขภาพดี ✅
เมื่อเรานำสัดส่วน 3️⃣+4️⃣ จะได้ 35+25 = 60% ของรายได้ ก็จะเหลือเงินอีก 40% ไว้สำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน กิน ดื่ม ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ
ความจริงตัวเลขสองข้อนี้ไม่ตายตัวอาจจะน้อยหรือมากกว่านี้ แต่ถ้าพูดถึงผู้มีรายได้ปานกลางโดยทั่วไปในภาพรวมหากออมหรือลงทุนได้ 25% ก็มีโอกาสที่จะมีอิสรภาพทางการเงินหลังเกษียณได้
เมื่อเราออมเงินไม่มากเกินไปและมีหนี้ที่ต้องชำระต่อเดือนไม่มากเกินไป เราก็จะยังเหลือกำลังซื้อในแต่ละเดือนอยู่ ดีต่อใจและเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ถ้าเราออมมากเกินไปหรือมีหนี้มากเกินไปก็อาจทำให้เราต้องกระเบียดกระเสียร แม้จะยังจ่ายได้แต่มันอาจจะบั่นทอนจิตใจของเราหรือสร้างปัญหาให้คนในครอบครัวเราได้ด้วย
5️⃣ อัตราส่วนอิสรภาพทางการเงิน
เป็นสัดส่วนระหว่าง "รายได้จากสินทรัพย์ลงทุนต่อเดือน/รายจ่ายต่อเดือน" ถ้าตัวเลขมากกว่า 100% แสดงว่าสุขภาพดี
สินทรัพย์ลงทุนเช่นหุ้น กองทุน อสังหาริมทรัพย์ ลิขสิทธิ์ ฯลฯ เมื่อถึงจุดที่เรามีมันมากพอเราก็จะมีอิสรภาพทางการเงิน
เช่น มีเงินปันผลเดือนละ 30,000 แต่มีค่าใช้จ่าย 20,000 ตามสัดส่วนคือ 150% ถือว่ามีสุขภาพดี ✅ นั่นหมายความว่าเราไม่ได้แค่มีรายได้แบบ passive ครอบคลุมค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่เรายังมีเหลือหลังจากใช้จ่ายแล้วอีกด้วยนั่นเอง
ว่าแล้วก็หยิบกระดาษและปากกาขึ้นมาขีดเขียน หรือจะใช้ excel ดูก็ง่ายดีครับ จะได้รู้ว่าเราแข็งแรงหรือร่อแร่กันแน่ จากนั้นก็ตั้งสติแล้วแก้ไขปรับปรุงกันต่อไปครับ
ตัวเลขสมมตินะครับ ^^
อัตราส่วนที่ได้จากตัวเลขสมมติข้างต้น
หวังว่าเพื่อน ๆ จะมีสุขภาพที่ดีทั้งกาย ใจและการเงิน
สวัสดีครับ 🙏
โฆษณา