26 ก.พ. 2021 เวลา 07:57 • ความคิดเห็น
เคยทำงบดุลส่วนบุคคลกันไหมครับ?
ว่ากันว่าเจ้างบดุลส่วนบุคคลนี้เป็นบันทึกกรรมด้านการเงินของเรา ก่อกรรมดีไว้ก็จักได้เห็น ก่อกรรมไม่ดีไว้ก็จักได้เห็นในบันทึกนี้เช่นกัน
ผมจะใช้งบดุลส่วนบุคคลเพื่อ track สถานะการเงินในแต่ละปีจะได้รู้ว่าความมั่งคั่งสุทธินั้นเพิ่มหรือลดลงเท่าไหร่ เพิ่มจากอะไร ลดจากอะไร
งบดุลโดยทั่วไปจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ซ้ายเป็นส่วนของสินทรัพย์ ขวาเป็นส่วนของหนี้สิน และเมื่อนำสินทรัพย์ลบด้วยหนี้สิน เราก็จะได้ความมั่งคั่งสุทธิ ณ ช่วงเวลานั้น
👉 สินทรัพย์ - หนี้สิน = ความมั่งคั่งสุทธิ
สินทรัพย์สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ
1️⃣ สินทรัพย์สภาพคล่อง คือ สินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดได้ในทันทีหรือใช้เวลาไม่กี่วันก็แปลงเป็นเงินสดได้ เช่น เงินสด, เงินฝากออมทรัพย์, กองทุนรวมตลาดเงิน
2️⃣ สินทรัพย์เพื่อการลงทุน คือ สินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตหรืองอกเงย เช่น พันธบัตร, ตราสารหนี้, หุ้นสามัญ, กองทุนรวม, SSF, RMF, มูลค่าเงินสดกรมธรรม์ประกันชีวิต, สินทรัพย์ลงทุนอื่น ๆ
3️⃣ สินทรัพย์ใช้ส่วนตัว คือ สินทรัพย์ที่เรามักจะใช้ไปตลอด ไม่อยากขายเพราะมีคุณค่าทางจิตใจ หรือถ้าจะขายก็มักขายได้ยากกว่ากลุ่มที่ 2 เช่น บ้าน, คอนโด, รถยนต์, เครื่องประดับ
หนี้สินสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ
1️⃣ หนี้สินระยะสั้น มักใช้กับหนี้ที่มีระยะเวลา 0-3 ปี เช่น หนี้บัตรเครดิต, หนี้สินเชื่อส่วนบุคคล, ส่วนของหนี้สินระยะยาวที่ใกล้ครบกำหนด เช่น หนี้เงินกู้รถในปีสุดท้าย
2️⃣ หนี้สินระยะยาว มักใช้กับหนี้ที่มีระยะเวลา 3 ปีขึ้นไป เช่น หนี้เงินกู้บ้าน/คอนโด, หนี้เงินกู้รถ
ตารางตัวอย่างต่อไปนี้จะมีคอลัมน์สัดส่วนสินทรัพย์และหนี้สินเพื่อใช้เทียบงบดุลของเราด้วยว่าเงินส่วนไหนมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่
ขอบคุณรูปแบบตารางจาก a-academy
จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของสินทรัพย์สภาพคล่องนั้นมีน้อยมาก 0.72% เท่านั้น โอกาสที่จะต้องเป็นหนี้ส่วนบุคคลเพิ่มเติมสูงมาก
ขณะที่สินทรัพย์เพื่อการลงทุนก็มีเพียง 7.23% ซึ่งน้อยมากเช่นกัน โอกาสที่ความมั่งคั่งสุทธิจะเติบโตนั้นมีน้อยเกินไป
ด้านสินทรัพย์ส่วนตัวมีสัดส่วนสูงสุดถึง 92.04% โดยบ้านมีสัดส่วนสูงสุดที่ 82.18% นั่นอาจหมายความว่าซื้อบ้านเร็วเกินไปและแพงเกินไป
ข้ามไปฝั่งขวาจะเห็นว่าหนี้สินนั้นมีสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์รวม แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่สัดส่วนของความมั่งคั่งสุทธินั้นยังมีมากกว่า
ป.ล.เวลาบันทึกมูลค่าสินทรัพย์ให้ยึดราคาตลาด ณ เวลานั้น เช่น ถ้าเราขายบ้านวันนี้จะขายได้เท่าไหร่ ขายรถวันนี้จะขายได้เท่าไหร่
หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ
สวัสดี 🙏
โฆษณา