1 มี.ค. 2021 เวลา 03:40 • ไลฟ์สไตล์
ออมเงินแบบไหนดีนะ?
วันนี้จะพามาดูรูปแบบการออมที่ผมรู้จักและผ่านประสบการณ์จริงมาแล้วนะครับโดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบใหญ่ ๆ ดังนี้
1️⃣ ใช้ก่อนออม
2️⃣ ออมก่อนใช้
3️⃣ แบบผสมผสาน
1️⃣ ใช้ก่อนออม
วิธีคลาสสิคที่ทำกันมาตั้งแต่อ้อนแต่ออด รูปแบบนี้ก็เหมือนที่เราหยอดกระปุกกันตอนเด็กนั่นเองครับ คงไม่มีเด็กคนไหนได้เงิน 5 บาทแล้วหยอดทันทีใช่ป่ะครับ (ถ้ามีก็น้อยมาก) ส่วนมากแล้วคือเอาไปกิน-ใช้แล้วตกเย็นเหลือกลับบ้านเท่าไหร่ก็ค่อยหยอดลงกระปุกออมสิน
พอโตขึ้นหน่อยเราจะเริ่มได้เงินเป็นรายสัปดาห์จนกระทั่งรายเดือน ปัญหาจะเริ่มเกิดแล้วถ้าเราไม่มีวินัยเพียงพอเพราะเรามักจะใช้อย่างเพลินอุราจนสุดท้ายไม่เหลือเก็บเลยนั่นเองครับ
ไม่ต้องนึกย้อนกลับไปไกลก็ได้ เอาตอนนี้ที่เรามีเงินเดือนซึ่งมากกว่าเงินที่ได้จากพ่อแม่สมัยเรียนเป็นสิบเท่า แต่ทำไมนะเงินถึงไม่เคยเหลือเก็บ
คำตอบคือเพราะเราส่วนใหญ่คิดว่า 'ใช้ไปก่อน ถ้าเหลือก็เก็บ ไม่เหลือก็ไม่เป็นไรไว้ว่ากันเดือนหน้า' นี่แหละครับจากเดือนเลื่อนเป็นปีหรืออาจจะหลายปีที่เราปลอบใจตัวเองไปเรื่อย ๆ ว่า 'ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวเงินเหลือเมื่อไหร่ฉันจะมีเงินออมแน่นอน'
2️⃣ ออมก่อนใช้
วิธีนี้น่าจะเป็นพิมพ์นิยมที่นักวางแผนทุกคนจะแนะนำเรา เพราะอะไรน่ะหรือ? เพราะมันเป็นวิธีการที่รับรองว่าเดือนนี้เราจะมีเงินออมแน่ ๆ จะมากหรือน้อยก็มีละกัน
จากแบบที่ 1️⃣ เราบอกไปแล้วว่ายิ่งเราโตขึ้นยิ่งใช้ได้ผลน้อยลงทุกที เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีการครับ ดังที่ไอสไตน์กล่าวไว้ 'คนที่ทำเหมือนเดิมแต่หวังผลลัพธ์ใหม่ ๆ เขาคือคนบ้า'
วิธีนี้เมื่อเราได้รับเงินเราต้อง 'ออมทันที' โดยกำหนดเป็นจำนวนเงินหรือสัดส่วน (%) ก็ได้ ส่วนใหญ่จะนิยมกำหนดเป็น % มากกว่าโดยเทียบกับรายได้
โดยสัดส่วนนี้ถ้าได้ 20-30% ถือว่าดีมาก มีโอกาสสร้างอิสรภาพทางการเงินได้สูง 👍
ระหว่าง 10-20% ถือว่ากลาง ๆ ค่อนไปทางดี
10% ลงมาเรียกว่าเป็นขั้นต่ำที่ควรจะทำได้แล้ว เช่นเงินเดือน 20,000 ต้องออมทันที 2,000 ✅ ณ วันนี้มันดูเหมือนน้อยครับแต่วันหน้ามันจะสะสมเป็นก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนเราประหลาดใจ
แต่ในกรณีที่รายจ่ายรัดตัวมาก ๆ หลังจากทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้วพอเห็นช่องว่าออมได้ 1-3% ก็ต้องเอาครับ 'น้อยแต่สม่ำเสมอ' ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
นักวางแผนการเงินมักพูดว่าเก็บออมทีละน้อยมันจะสร้างความภูมิใจให้ตัวเราว่าเราไม่ได้หาเงินมาเพื่อใช้หนี้หรือใช้จ่ายจนหมดเกลี้ยงทุกเดือน แต่อย่างน้อย ๆ มีก้อนหนึ่งที่เราสะสมไว้ได้บ้าง
3️⃣ แบบผสมผสาน
กล่าวคือยึดแบบ 2️⃣ เป็นหลัก สมมติเราออมทันที 2,000 และเมื่อถึงสิ้นเดือนเรามีเงินเหลืออีก 1,000 เราก็ออมเพิ่ม เดือนนั้นเราจะมีเงินออม 3,000 บาท หรือคิดเป็น 15% ของรายได้ 20,000 บาทนั่นเองครับ
ผมเคยใช้วิธีที่ 3️⃣ เพราะคิดว่ายิ่งออมได้เยอะเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ผมชินกับการไม่ค่อยใช้เงินอยู่แล้วพอสิ้นเดือนจึงมีเงินให้ออมเพิ่มได้เรื่อย ๆ แต่มันสร้างปัญหาให้ชีวิตผมในด้านอื่นครับโดยเฉพาะความสัมพันธ์ ครอบครัวผมออกไปกินข้าวนอกบ้านแทบทุกสัปดาห์แต่ผมจัดสรรเงินไว้สำหรับเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาร่วมกับที่บ้านเพราะปกติเราก็ทำงานในเวลาที่ไม่เหมือนคนอื่นอยู่แล้ว (ทำงานทุกวัน) ถึงวาระพิเศษก็ยังไม่ได้ไปกับเขาอีก
ปัจจุบันผมเปลี่ยนมาใช้วิธีที่ 2️⃣ โดยกำหนดสัดส่วนจากการวางแผนพอร์ตตามเป้าหมายเช่น เกษียณ การศึกษาลูก ฯลฯ
แล้วดูว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ตามเป้าหมายนั้น?
ใช้เครื่องมืออะไร หุ้น กองทุน ฯลฯ ?
ต้องออม/ลงทุนกี่ปี?
เฉลี่ยแล้วใช้เงินเท่าไหร่ต่อเดือน?
เมื่อได้ตัวเลขแน่นอนก็หักเงินเดือนตามนั้นเลยครับ บางช่วงสูงถึง 50% เลย แต่ตอนนี้อยู่ที่ราว ๆ 25% แล้ว ผ่อนคลายเป็นหมายและวิธีการลงมาบ้าง น่าจะเป็นสัดส่วนที่สมดุลกับชีวิตด้านอื่น ๆ ของผมด้วย
เมื่อใช้วิธีที่ 2️⃣ สิ่งที่ได้เพิ่มมาก็คือวิธีการ 'ออมก่อนใช้แล้วเหลือเท่าไหร่ก็ใช้ให้เรียบ' ไว้จะมาเล่าให้ฟังตอนหน้าครับ
สวัสดี 🙏
โฆษณา