3 มี.ค. 2021 เวลา 03:30 • สิ่งแวดล้อม
การอนุรักษ์ นกกระสาคอขาวปากแดง ในมุมมองของ สืบ นาคะเสถียร
หลังจากอนุมัติให้สร้างเขื่อนมีกิจกรรมของมนุษย์เกิดขึ้นมากมายในบริเวณนั้น ชาวบ้านถูกย้ายออกไปอยู่นอกเขื่อน ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ (72 ตารางกิโลเมตร) ถูกถางจนเตียนโล่งแล้วเผาเสียเป็นพื้นที่ 40 ตารางกิโลเมตร
กระนั้นก็ดีบริเวณป่าลุ่มต่ำที่มีการตัดไม้แบบเลือกตัดและอยู่เหนือระดับน้ำท่วมขึ้นไปไม่เกิน 100 เมตร ยังมีนกป่าจำนวนมากอาศัยอยู่ในระหว่างปี 2529-2530
นอกจากนกกระสาคอขาวปากแดงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับที่ลุ่มต่ำหลายคนยังได้บันทึกการพบสัตว์ชนิดอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ ไก่ฟ้าหน้าเขียว นกแว่นสีน้ำตาล นกเค้าหน้าผากขาว นกเงือกดำ และนกกินแมลงป่าสีน้ำตาลแดง กล่าวได้ว่าทั้งหมดนี้กำลังถูกคุกคามในประเทศไทย
ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานที่มีต่อนกในที่ลุ่มต่ำยังไม่เคยมีการประเมิน แต่มีการกล่าวว่า “เกี่ยวกับนก… รวมถึงไก่ฟ้าหน้าเขียวแล้ว ผลกระทบค่อนข้างน้อย เพราะนกส่วนใหญ่เคลื่อนไหวและบินหนีน้ำท่วมได้”
รายงานดังกล่าวยังบอกด้วยว่า นกธรรมดาและนกที่มีความอดทนต่อสภาพนิเวศ เช่น นกยางกรอกพันธุ์จีน นกกระเด็นหัวดำ ซึ่งอาจจะได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแต่ไม่ได้พูดถึงนกในป่าลุ่มต่ำหลายพันธุ์ที่จะต้องตายไปเลย
แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นเขาสูงชัน ถึง 1,395 เมตร มีชะง่อนผาหินปูนที่ชันมาก ไม่เหมาะกับเป็นที่อยู่อาศัยของนกกระสาคอขาวปากแดงและนกที่ลุ่มต่ำพันธุ์อื่นๆ
รายงานการประเมินผลกระทบไม่ได้พูดถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเขื่อนอาจจะท่วมบริเวณที่ลุ่มต่ำที่สำคัญที่สุดของภาคใต้ของประเทศซึ่งเป็นป่าดิบที่อยู่ก้นหุบ
นับแต่เริ่มกักน้ำในเดือนเมษายน 2529 การเดินทางด้วยเรือสู่พื้นที่ที่เคยมีการควบคุมดูแลการกระทำได้ง่ายขึ้นและมีจำนวนเพิ่มอย่างมากด้วย
ชาวบ้านจากสุราษฎร์ธานีและจังหวัดใกล้เคียงพากันเดินทางเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ เพื่อจับปลาและตัดไม้ ตัดหวาย
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2530 เพื่อนร่วมงานของผมคุยกับชาวบ้าน 298 คนที่อาศัยอยู่รอบอ่างเก็บน้ำ พบว่าในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดอื่นตั้งแต่มีการกักน้ำ มีการอนุญาตให้ตัดหวายในบริเวณอ่างเก็บน้ำแก่ชาวบ้านมากกว่า 200 คน
ตามหลักการแล้ว ชาวบ้านเหล่านั้นได้รับอนุญาตให้ตัดเฉพาะในเขตสัมปทานขึ้นไปถึงเส้นระดับพื้นดินที่ 100 เมตร แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เนื่องจากตัวอ่างเก็บน้ำเป็นแนวยาว กฎดังกล่าวจึงยากจะบังคับให้ปฏิบัติตาม
และยังมีการล่าสัตว์และเก็บของป่าอย่างผิดกฎหมายทั้งในอุทยานแห่งชาติเขาสก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงอีกด้วย
ดังนั้น แม้นกกระสาคอขาวปากแดงและนกป่าในเขตลุ่มต่ำจะสามารถหากินอยู่บริเวณขอบอ่าง แต่ก็ต้องเผชิญกับภัยร้ายแรงจากพรานล่านก
นกกระสาคอขาวปากแดงคงจะต้องเสี่ยงกับอันตรายทั่วพื้นที่หากินเนื่องจากมีการทำลายป่าในที่ลุ่มต่ำ มาตรการต่อไปนี้ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเร่งด่วน
โดยหวังว่าพื้นที่ต่างๆ ของแอ่งคลองแสงนอกเขตน้ำท่วมหรืออาจจะที่อื่นๆ ด้วย จะสามารถเป็นที่พักพิงให้กับนกกระสาคอขาวปากแดงและนกในป่าเขตร้อนแถบที่ลุ่มต่ำได้
1. ควรจะมีการจำกัดและเข้มงวดกับการเข้าพื้นที่ของชาวบ้าน และห้ามกิจกรรมทั้งหลาย ยกเว้นการจับปลา ควรมีการบันทึกเกี่ยวกับผู้หาปลาแต่ละคนรวมทั้งสถานที่อาศัย
2. ควรจะเพิ่มคุณภาพและการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้
3. ควรมีการเพิ่มชื่อนกกระสาคอขาวปากแดงให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองและได้รับการพิทักษ์จากพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2503
4. ควรจะมีการวิจัยเกี่ยวกับนกกระสาคอขาวปากแดงและนกในป่าเขตร้อนแถบที่ลุ่มต่ำ ในภาคใต้ของประเทศเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้มีการขยายอาณาเขตของอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีอยู่ โดยรวมเอาพื้นที่ที่เป็นลุ่มต่ำเข้าไว้ด้วย
5. ควรมีการกำหนดมาตรการสำหรับการหาที่อยู่อาศัยใหม่ให้นกกระสาคอขาวปากแดงที่จับได้ทั้งสองตัว ถึงแม้ไม่อาจจะนำนกทั้งสองตัวกลับไปอยู่ในป่าได้อีกเพราะเชื่องแล้วก็ตาม
เรื่อง สืบ นาคะเสถียร
ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Forktalk Journal of The Oriental Bird Club No.3 ประเทศอังกฤษ ธันวาคม 2530
อ่าน ตอนที่ 1 http://bit.ly/3kx5269
อ่าน ตอนที่ 2 https://bit.ly/3dUGr9R
โฆษณา