4 มี.ค. 2021 เวลา 11:51 • ครอบครัว & เด็ก
รีวิวนิทานเล่มที่ 12 Grumpy Monkey
เมื่อลิงน้อยอารมณ์​ไม่ดีแต่ยังไม่รู้จักจัดการอารมณ์​ของตัวเอง
เริ่มกันเลยดีกว่า
เช้าวันที่สดใสวันหนึ่ง เจ้าลิงจ๋อนามว่าจิม แพนซี กลับรู้สึกว่าอะไรๆ ก็ขัดหูขัดตาไปหมด
พระอาทิตย์​ก็สว่างไป ท้องฟ้าก็สีฟ้ามากไป แถมกล้วยก็ยังหวานเกินไปซะอีก
"วันนี้มันเกิดอะไรเนี่ย" จิมก็บ่นกับตัวเอง
"ฉันว่าบางทีเธออาจจะแค่อารมณ์​ไม่ดีก็ได้นะ" เจ้ากอริลลา​นอร์แมนพูดขึ้น
"ปล้าววว ใครบอกว่าฉันอารมณ์​ไม่ดีกัน" พูดจบ
จิมก็เดินไปเจอกับเจ้านกชื่อมาลาบู
"ทำไมเธอดูอารมณ์​ไม่ดีเลย ทั้งๆ ที่วันนี้เป็นวันที่อากาศดีดี๊ดีมากเลยนะ" มาลาบูบอก
"ฉันไม่ได้อารมณ์​ไม่ดีซักหน่อย!!!"
"ก็ดูเวลาที่เธอยืนสิ ตัวแข็งไปหมดเลย"
จิมจึงทำตัวอ่อนลง
เจ้าลีเมอร์ก็บอกว่า "คิ้วของเธอก็ขมวดเข้าหากันนะ"
จิมจึงพยายามคลายคิ้วของตัวเอง
"แต่หน้าเธอมุ่ยมากเลยนะ"
จิมจึงพยายามยิ้มเต็มที่
เอาล่ะ ตอนนี้จิมทั้งตัวอ่อน คิ้วก็ไม่ขมวด แถมยังยิ้มแล้วนะ จิมดูเหมือนมีความสุขซักที
แต่ว่าจิมกลับไม่ได้รู้สึกมีความสุขจากใจจริงๆ เลย
เพื่อนๆ สัตว์ป่าอื่นๆ ต่างก็เข้ามาช่วยจิมให้มีความสุขในแบบวิธีของตัวเอง
และทุกๆ คนก็ถามจิมด้วยคำถามเดียวกันว่า
"ทำไมจิมอารมณ์​ไม่ดีเหรอ วันนี้มันเป็นวันที่ดีมากๆๆๆ เลยนะ"
ตอนนี้จิมอยู่ในอารมณ์​หงุดหงิดขั้นสุด และไม่ได้รู้สึกว่าจะอยากทำอะไรทั้งนั้นจึงระเบิดออกมาว่า
"ฉัน ไม่ ได้ อารมณ์ ไม่ ดี!!!!!!!!!"
จิมทุบไปที่อกของตัวเอง และเดินกระทืบเท้าออกไป
หลังจากที่เดินออกไปแล้ว จิมก็ไปนั่งเงียบๆ อยู่คนเดียว เขาใช้เวลาทบทวนถึงเหตุการณ์​ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้
จิมรู้สึกเสียใจมาก เสียใจที่ตะโกนใส่ทุกคน และเสียใจให้กับตัวเองมากที่สุด
"บางที วันนี้ฉันอารมณ์​ไม่ดีจริงๆก็ได้" จิมคิดและยอมรับในที่สุด
และเมื่อจิมยอมรับ เขาก็ค่อยๆ รู้สึกดีขึ้น
ขอหยุดเนื้อหาไว้แค่นี้เพื่อไม่ให้เป็นการสปอยนะคะ ❤️
Grumpy Monkey นิทานสัญชาติอเมริกัน​จากนักแต่งนิทานและโปรดิวเซอร์ Suzanne Lang และผู้วาดภาพ Max Lang ซึ่งเป็นสามีของเธอเอง
Grumpy Monkey ตีพิมพ์​ครั้งแรกในปี 2018 และอยู่ในอันดับ 8 ของลิสหนังสือขายดีจาก New York Time และติดอันดับ 1 ของหนังสือขายดีติดต่อกันกว่า 25 สัปดาห์
นิทานเล่มนี้ไม่เพียงเหมาะกับเด็กวัยเริ่มเข้าเรียนอนุบาล แต่ยังเหมาะกับเด็กวัย 6-8 ขวบเพื่อให้เด็กๆ ฝึกอ่านด้วยค่ะ
เวลาอ่าน เราสามารถสอนให้เด็กๆ รู้จักว่าอารมณ์​แบบนี้คืออารมณ์​ขุ่นมัว และสอนให้เด็กรู้ว่าเมื่อเกิดอารมณ์​แบบนี้ขึ้น จะมีวิธีจัดการอย่างไรดี
เราอาจยกตัวอย่างว่า เจ้าลิงน้อยจิมในเรื่องนั้น ยังไม่เข้าใจตัวเองว่าสิ่งที่ตัวเองเป็นและแสดงออกมาคืออารมณ์​เชิงลบ ถึงแม้ว่าเพื่อนๆ จะพยายามช่วยจิมสักแค่ไหน แต่สุดท้ายแล้วการจัดการกับอารมณ์ในด้านลบที่ดีที่สุดคือการให้เวลากับตัวเองในการคิดทบทวนเรื่องต่างๆ เข้าใจถึงอารมณ์ตัวเอง​ และยอมรับมันให้ได้
ตอนที่ได้หนังสือเล่มนี้มา บังเอิญมีเหตุการณ์​ประจวบเหมาะที่สามารถเอาไปปรับใช้ได้พอดีเลยค่ะ
ช่วงโควิดแบบนี้เรากับสามีจะทำงานที่บ้านบางวัน และวันไหนที่ทำงานที่บ้านส่วนใหญ่ก็จะไปรับลูกคนเล็ก ซึ่งเค้าก็จะดีใจมากๆ ทุกครั้งที่พ่อกับแม่มารับเลยค่ะ
อยู่มาวันนึง เป็นวันประจวบเหมาะที่ทั้งเราและสามีต้องเข้าซูมเวลาที่ลูกเลิกเรียนพอดีทั้งคู่ เราจึงต้องให้คนอื่นไปรับแทน
พอลูกกลับมาถึงบ้าน เค้าหงุดหงิดไม่พอใจกับทุกๆ อย่างที่เราทำให้ ร้องไห้โวยวายกับทุกเรื่อง ตั้งแต่อาบน้ำ ใส่เสื้อ กินข้าว กินน้ำ หงุดหงิดมากๆ จนกระทั่งหลับไป
ผ่านไปซัก 2 ชั่วโมง ลูกชายละเมอร้องไห้เสียงดัง (ถ้าเป็นคนสมัยก่อนจะบอกว่าให้ลูกนอนเวลาผีตากผ้าอ้อมจะทำให้ฝันร้าย)​ จนเราต้องนั่งกอดปลอบอยู่นาน
เราเดาว่าวันนี้ต้องมีอะไรที่ทำให้เค้าเสียใจแน่ๆ
เราส่งอีเมลล์ถามคุณครูที่ห้องเรียนว่าวันนี้มีเหตุการณ์​อะไรเกิดขึ้นกับเค้ารึเปล่า คุณครูก็น่ารักมาก ตอบกลับมาอย่างรวดเร็วว่าไม่น่ามีอะไร อาจจะเป็นเพราะกิจกรรมก่อนกลับบ้านที่คุณครูจะให้ทุกคนผลัดกันเป็นเวรเก็บของ และวันนี้เป็นเวรของลูกชาย แต่เพราะวันนี้ได้เวลากลับบ้านแล้วแต่เด็กๆ ยังทำกิจกรรมก่อนหน้าไม่เสร็จ ลูกชายจึงไม่ได้เก็บของตามเวร เลยอาจจะทำให้เค้าผิดหวังเรื่องนี้
ประจวบเหมาะกับวันนี้พ่อกับแม่ก็ไม่ได้มารับอีก ก็ยิ่งพลอยอารมณ์​เสียไปใหญ่ กลายเป็นว่าทุกอย่างขัดหูขัดตา และทำให้เจ้าตัวโมโหมากๆ
ฉันกับสามีจึงคุยกันและตกลงว่าจะรอให้เจ้าตัวเล็กใจเย็น และเราก็ไม่พลาดที่จะหยิบเจ้าจิมมาเล่าให้ฟังก่อนนอน และค่อยๆ ถามถึงเรื่องที่ทำให้เค้าโมโหวันนี้ และก็ไม่ผิดจากที่คิดไว้ วันนี้คือ bad day ของเจ้าตัวน้อยของเรา
เรากับสามีเลยสอนว่าทุกคนมีวันที่เป็น bad day ด้วยกันทั้งนั้น และสิ่งที่หนูเป็นคือการแสดงออกของหนูเวลาที่หนูอารมณ์​ไม่ดี แต่หนูเองยังมีครอบครัวที่พร้อมจะสนับสนุนและฟังหนู และถ้าหนูรู้จักและจัดการกับอารมณ์​นี้ได้ สุดท้ายแล้วเรื่องแย่ๆ และอารมณ์​ที่ขุ่นมัวมันก็จะผ่านไป ❤️
อ้างอิง
2018, Lang, Suzanne, Grumpy Monkey, USA.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา