18 มี.ค. 2021 เวลา 20:11 • ประวัติศาสตร์
"Thai Elephant Only..ทำไม?ช้างศึกที่ตลาดต้องการ ต้องเป็น ช้างสยาม เท่านั้น"
Ep2/2 สินค้าส่งออกชนิดใดใหญ่ที่สุด มีสง่าและศักดิ์ศรีสูงสุด?(ตอนจบ)
ความรู้สึกตื่นตา ตื่นใจ ของราชทูตชาวตะวันตก ที่บันทึกไว้ขณะเห็นกับตา ภาพที่ชาวสยามออกไปจับช้าง จากฝูงช้างจำนวนมากมายในป่า หรือบางคนบันทึกถึงความรู้สึกเกรงขาม ที่ได้เห็นภาพควาญช้างขับเคลื่อนฝูงช้างป่า ที่ถูกเกณฑ์เข้ามาในพระนครศรีอยุธยา จากป่ารอบสาระทิศ
บันทึกดังกล่าว รวมถึงเอกสารประวัติศาตร์อีกหลายฉบับ สามารถอ้างอิงได้ว่า
เมื่อ 400 ปีก่อน ดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้ เคยมีช้างป่าจำนวนมหาศาลในผืนป่าทั่วทุกภาค
หรือบันทึกบางฉบับ ยังได้มีการระบุว่า มีช้างในตัวพระนครฯ ถึง 4,000 ตัว
แต่นอกเหนือจำนวนช้างที่มากมาย ยังมีอีก 2 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ การส่งออกช้างของสยาม ประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับของลูกค้า คือ
1.ขนาดและความสูงของช้าง
ช้างจากราชอาณาจักรอยุธยา เป็นช้างเอเชีย ที่มีขนาดใหญ่ สูง 5คิวบิท หรือเมื่อโตเต็มวัย วัดจากปลายขาหน้าถึงไหล่ จะสูงประมาณ 3 เมตร เหมาะกับนำไปทำช้างศึก หรือใช้งานลากซุง ขนของสัมภาระหนัก ๆในป่ารกชัฏ (Overgrown forest) อย่างในป่าแถบลุ่มน้ำอ่าวเบงกอล ฯลฯ
2. ช้างสยามทุกตัวที่ส่งออก ผ่านการฝึกการใช้งานมาอย่างดี เรื่องนี้ต้องยกเครดิตให้กับความฉลาดของช้าง* และ"กรมคชบาล"
เมื่อช้างส่งออก เป็นสินค้าที่ค้าได้โดยราชสำนักสยามรายเดียว ดังนั้น กรมคชบาล หน่วยงานที่ดูแล ฝึกฝนช้างศึก
ประกอบกับในกรมฯ มีชาวกะเหรี่ยง ชาวมอญ ชาติพันธ์ุที่โตมากับช้าง เชี่ยวชาญการฝึกดูแลช้าง สังกัดอยู่ในกรมฯ จำนวนมาก
จึงถูกคาดว่า เป็นหน่วยงานที่ฝึกสินค้าที่มีชีวิตนี้ ให้มีนิสัย และคุณสมบัติเหมาะกับการใช้งานช้างในต่างแดน
*ช้างสยามหรือช้างเอเชีย มีสรีระส่วนหัวเป็นโหนก มองจากด้านหน้าจะเห็นเป็น ๒ ลอน ฉลาดกว่าช้างแอฟริกา ซึ่งถึงมีความสูงมากกว่าช้างเอเชีย แต่มีหัวเล็กกว่า มีโหนกที่หัวเพียงลอนเดียว
ช้างไทย
"แขกเปอร์เชีย VS ฟอลคอน"
ตั้งแต่ปลายรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช หลังจากการเข้ามาของชาวโปรตุเกส ยังมี กลุ่มแขกเปอร์เชีย* (กลุ่มมุสลิมจากดินแดนอิหร่าน)
ชาติพันธุ์ที่ชำนาญการค้าและการเดินเรืออย่างมาก ได้เข้ามาทำงานในราชสำนัก รวมถึงผูกพันแบบสนิทชิดเชื้อกับขุนนางชาวสยาม
สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้กลุ่มแขกเปอร์เชีย เป็นขุนนางดูแลกรมท่าขวา บริหารจัดการค้าทางเรือ ที่เริ่มขยายตัวมากขึ้นในดินแดนฟากทะเลตะวันตก
กลุ่มแขกเปอร์เชีย ได้สร้างผลงานที่แตกต่าง ทำให้การค้า และการค้าช้างศึกของสยามในมหาสมุทรอินเดียเติบโตขึ้นมาก
ตลอดระยะเวลา 200 ปี ที่ยาวนานและต่อเนื่องเลยทีเดียว ที่กลุ่มขุนนางแขกเปอร์เชีย ได้ร่วมกับแขกมัวร์(ซึ่งเป็นชื่อที่คนผิวขาวในยุคนั้น ใช้เรียกกลุ่มคนมุสลิมที่มาจากดินแดนต่าง ๆ เช่น คาบสมุทรอินเดีย คาบสมุทรอินโดจีนฯลฯ ) เข้าดูแล ครอบคลุมทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ การคลัง ภาษีอากร การต่างประเทศ รวมถึงการควบคุมกำลังพลชาวต่างชาติของสยาม
 
ส่งผลให้ มุสลิมกลุ่มเชื้อสายอินโด-อิหร่านก้าวขึ้นมามีบทบาท และอิทธิพลอย่างสูง เป็นฐานพระราชอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ และการเมืองให้กับสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง และสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
บันทึกการค้าของอังกฤษ ระบุว่า ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เส้นทางการขนส่งสินค้าจากเบงกอลและมะสุลีปะตัม ส่งมายังเมืองท่าตะนาวศรี แล้วสินค้าถูกส่งไปทางบกเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา
ถูกพวกแขกมัวร์และพวกเปอร์เซียผูกขาดไว้หมด ตั้งแต่มะริด ตะนาวศรี จนถึงเพชรบุรี ล้วนมีเจ้าเมืองเป็นแขกมัวร์
แต่เมื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน พ่อค้าและนักแสวงโชคชาวกรีก ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งออกญาวิชาเยนทร์ ที่ปรึกษาของสมเด็จพระนารายณ์
ฟอลคอลนั้น สนับสนุนการค้าของชาวอังกฤษ, ฝรั่งเศส แต่พยายามขัดขวาง ยกเลิกเครือข่ายการค้าของพวกแขกเปอร์เชีย
บันทึกการเดินทาง "สำเภากษัตริย์สุไลมาน" ระบุว่า ช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ เกิดปัญหาความขัดแย้งอย่างรุนแรง ระหว่างสยาม (โดยแนวทางการค้าของฟอลคอน) กับอินเดีย
และมีผลให้พ่อค้ามุสลิมจากอินเดีย ร่วมกันหันไปซื้อช้างจากที่พะโค หรือหงสาวดี แทน
นี้คือ อีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้ การส่งออกช้างของสยามค่อย ๆ ซบเซาลง จนกระทั่งเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2
*โดยการสนับสนุนจากราชสำนักของอิหร่าน แห่งเปอร์เซีย ซึ่งเป็นอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองในทุกด้านระดับ และพยายามขยายอิทธิพลทางการค้าและการเมืองสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการฟื้นฟูการค้าช้างขึ้นอีก
แต่เปลี่ยนเส้นทางส่งออก ไปลงเรือที่ เมืองตรัง แทนเมืองมะริด ตะนาวศรี เนื่องจากถูกพม่ายึดไปเมื่อปี พศ.2310
การส่งออกช้าง เพื่อหารายได้เข้าหลวง ได้ถูกยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 4
แต่การส่งออกช้าง ยังคงมีอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนแปลง ยกระดับให้เป็นเรื่องราวของ ช้างบรรณาการ/ ฑูตวัฒนธรรม /
ฑูตสันถวไมตรี หรือส่งออกช้างเพื่อการศึกษาค้นคว้า
ช้างสยาม สู่ฝรั่งเศส
"คาสเตอร์ และพอลลุกซ์" คู่ช้างจากสยาม ที่ถูกส่งออกไปในฐานะช้างบรรณาการให้กับราชสำนักฝรั่งเศส
Castor & Pollux เป็นชื่อพระราชทานที่พระเจ้านโปเลียนที่ 3 ตั้งชื่อให้ ตามพระโอรสแฝดของเทพธิดาลีด และเทพเจ้าซีอุส (Leda & Zeus)
ช้างชื่อเทพคู่นี้ ใช้ชีวิตอยู่ภายในสวนสัตว์กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ราว 10 ปี
1
จนกระทั่งเมื่อเกิดสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ในปี ค.ศ. 1870-71 ฝรั่งเศสพ่ายแพ้อย่างยับเยิน เข้าสู่ยุคข้าวยากหมากแพง ทางการจึงตัดสินใจชำแหละเนื้อของสัตว์ในสวนสัตว์ ซึ่งถือเป็นแหล่งเนื้อสัตว์ชั้นดีที่เหลืออยู่ มาทำเป็นเมนูอาหารชั้นเลิศให้กับคนรวยในปารีส ซึ่งนั่นหมายรวมถึง ช้างบรรณาการจากสยามคู่นี้ด้วย
ช้างไทย สู่ญี่ปุ่น
"ช้างฮานาโกะ" เดิมชื่อ ช้างพังคชา เมื่ออายุเพียง 2 ปี ได้ถูกส่งออกจากป่าในจังหวัดตาก ประเทศไทย สู่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เมื่อ ปี พศ.2492
ช้างฮานาโกะ อาศัยอยู่ในสวนสัตว์ในกรุงโตเกียว ตลอดระยะเวลา 67 ปี และได้ล้มแล้วเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา
ฮานาโกะ ถูกส่งไปในฐานะ ทูตวัฒนธรรม จากประเทศไทย
แต่บรรดาสื่อมวลชน พากันเรียกฮานาโกะว่า "ช้างที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก"
1
หน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง ล่าสุดออกมาแถลงข่าวว่า การส่งออกช้างในปัจจุบัน ไม่ใช่วัตถุประสงค์เพื่อการค้า แต่เป็นเพื่อประโยชน์อื่น ๆ ที่มีคุณค่าอันยิ่งใหญ่ต่อโลก รวมถึง "มนุษยชาติ"
แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลสวยหรู อะไร ใด ๆ ก็ตามในการส่งออกช้าง
"ถามช้าง ถาม"คชาชาติ" หรือยังว่าเขาเห็นด้วยมั้ย ? "
(อืม อันนี้ช้างคงตอบไม่ได้ )
 
สัตว์หน้ายิ้มเช่นช้าง คือ สิ่งมีชีวิตที่มีระดับสติปัญญา รอง ๆ จากมนุษย์ แสดงความรู้สึกได้เกือบเท่ามนุษย์ เขาร้องไห้เมื่อสูญเสียสมาชิกในครอบครัว ฯลฯ
ช้างเคยช่วยออกรบกู้ชาติ ปกปักรักษาแผ่นดินที่เราทุกคนอาศัยอยู่ทุกวันนี้
-เคยเป็นสัญลักษณ์ให้กับธงชาติไทย..
-เคยเป็นช้างขอทาน ย่ำถนนซีเมนต์
ร้อน ๆ ในกทม.เลี้ยงตัวเองและควาญ
-ถึงวันนี้ หลายเชือกเป็นดาราดัง ช่วยเจ้าของช้าง+คลิปได้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว
จากอดีต ถึงวันนี้ และวันต่อ ๆ ไป ช้างช่วยทำรายได้เข้าประเทศมหาศาล
แต่เขาก็ยังพอใจ ได้อยู่บนแผ่นดินช้าง ได้อยู่ใกล้ครอบครัวควาญที่เขารัก
หากส่งออกเขาไปอยู่ดินแดนไกล ไม่รู้จัก ไม่ใช่แดนป่าเขาบ้านเกิดที่คุ้นชิน
และตามสัญชาติญาณของสัตว์ป่า
...ช้างเชือกไหน ไม่น่าจะโอเคอยู่แล้ว
ช้างฮานาโกะ ในสวนสัตว์โออุโนะ เมื่อครั้งยังมีชีวิต
หากหน่วยงานรัฐใด หรือผู้มีอำนาจใด กำลังพิจารณาส่งออกช้างไปอยู่แดนไกล
น่าจะได้มองตาช้างก่อนเซ็นต์นะคะ เพราะเชื่อมั่นว่า ท่านจะได้พบแววตาวิงวอน แทนคำพูดของเขา:
"ทูตสันถวไมตรีอะไรไม่รู้จัก ไม่อยากเป็น
อยากอยู่ป่า อยากอยู่กับครอบครัวควาญคู่ใจที่นี่ ได้โปรดเถอะ......อย่าส่งฉันไปเป็น ฮานาโกะ 2, 3, 4 อีกเลย”
..............กวีธารา.............
บทความขอมอบให้กับ วันช้างไทย เมื่อวันที่ 13 มีค. ที่ผ่านมา
ในฐานะ กวีธารา เป็น Elephant F.C. หากผู้อ่านชื่นชมในบทความของกวีธารา
และต้องการส่งกำลังใจให้กับผู้เขียน ขอเชิญบริจาคสมทบทุนช่วยเหลือช้าง/ให้อาหาร ช้างได้ที่ ชมรม ช ช้างชรา(Elephant World)อ. เมือง จ.กาญจนบุรี
หรือชมรมอนุรักษ์ช้างต่าง ๆ ทั่วประเทศ
กวีธารา ขอแนะนำบทความอื่น ๆ ที่ทางเราตั้งใจเขียน รวบรวม แชร์ไว้ โดยมีเนื้อหาน่าสนใจไม่แพ้กันเช่นกันนะคะ ติดตามที่ https://www.blockdit.com/kaweetara
กวีธารา เป็นร้านค้าแนวอนุรักษ์ ขายโปสการ์ด&ถุงผ้า ภาพลิขสิทธิ์ งาน Handmade อยู่ตลาดน้ำลัดมะยมโซน7 พุทธมณฑลสาย 1 กทม. หรือ https://shopee.co.th/kwtara
**รับสั่งทำถุงผ้า+screen โลโก้ ติดต่อ Line ID 3514653**
ภาพลิขสิทธิ์ลายใหม่ : ช้างเต้นระบำ Dance with me. บนถุงผ้าของกวีธารา
ทราบมั้ยเอ่ย?
สำนักราชบัณฑิตสภา อธิบายลักษณนามของช้างที่แตกต่างกันไว้ดังนี้
เมื่อช้างอยู่รวมกันหลายตัวเป็นฝูง เรียกฝูงว่า "โขลง"
เมื่อนำช้างป่ามาฝึกใช้เป็นช้างบ้าน ลักษณนามของช้างบ้านใช้ว่า "เชือก"
เมื่อนำช้างมาขึ้นระวาง คือนำมาเข้าประจําการราชสำนัก ลักษณนามคือ "ช้าง"
กวีธารา ขอขอบคุณยิ่งสำหรับแหล่งอ้างอิง
-"ภาพเก่าเล่าตำนาน : สยามเคยมีช้างมากหลาย…จับส่งขายต่างประเทศ" โดย
พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก, มติชนออนไลน์, วันที่ 12 มีนาคม 2561
-"ภาพเก่าเล่าตำนาน : ขุนนางต่างชาติ… ผู้ทรงพลัง…ในวังอยุธยา" โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก, มติชนออนไลน์เรื่อง,วันที่ 19 มีนาคม 2561
-"รื้อฟื้นเส้นทางโบราณรอบไทย", นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย,ไทยรัฐออนไลน์,
14 ธ.ค. 2560
- ประวัติศาสตร์ฮาเฮ, เพ็ชรี สุมิตร
-เส้นทางการเดินเรือค้าขายข้ามจากอินเดียมายังสยามและแหลมมลายูในพุทธศตวรรษที่ 22 – 23,ประภัสสร โพธิศรีทอง. (258;8;59). ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เส้นทางการค้าและการท่องเที่ ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภาคพื้นสมุทร.
-ความสัมพันธ์ระหว่างสถาปัตยกรรมอินโด-เปอร์เซีย กับรูปแบสถาปัตยกรรม ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์เมืองลพบุรี, อ. ดร. จุฬิศพงศ์
จุฬารัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
-ช้างเป็นสินค้า ค้าช้างในสมัยอยุธยา, อ. ดร. จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มติชน
- บันทึกของตุรแปง
- สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม,ปรับปรุงและตัดทอนจากบทสรุปของ จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วารสารอักษรศาสตร์
-เครดิตภาพจาก “ลายผ้าไทย ลิขิตแห่งจันทร์ ไม่ธรรมดา”
ข่าวสด ออนไลน์ วันพฤหัสบดี ที่ 28 ม.ค. 2564
-“แขกมัวร์ โบราณสถานและร่องรอยการเป็นอยู่ที่หลงเหลือ ของแขกมัวร์ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยาในปัจจุบัน “ บทความจากมิวเซียมสยาม
-“ช้างบรรณาการ” จากรัชกาลที่ 4 จบชีวิตที่ร้านขายเนื้อกรุงปารีส!,นิตยสารศิลปวัฒนธรรม, วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2563

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา