Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
World History by Pam
•
ติดตาม
12 มี.ค. 2021 เวลา 16:16 • ประวัติศาสตร์
131 ปีทุ่งหลวงรังสิต : ปฏิบัติการพลิกผืนป่าให้เป็นทุ่งนา และ วิถีชีวิตชาวนาจากอดีตถึงปัจจุบัน ตอนที่ 1/3
1
แผนที่การคลองรังสิตและคลองสาขา ที่มา:https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95#/media/%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%A5%E0%B9%8C:RangsitMap.png
เราอยากเขียนเรื่องทุ่งรังสิตเพื่อตอบข้อสงสัยของตัวเองที่ว่า ทำไมพื้นที่แถบรังสิตถึงได้มีคลองมากมายก่ายกองนัก ? จากคลองหนึ่งในพื้นที่ตลาดไทยใกล้กับถนนพหลโยธิน ต่อมาเป็นคลองสองในพื้นที่ของวัดพระธรรมกาย ข้ามทางมอเตอร์เวย์เป็นคลองสี่ แล้วยังมีคลองห้า, คลองหก ต่อไปเรื่อย ๆ จนไปถึงคลองสิบสี่ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครนายก
จากการคาดเดาคิดว่าสาเหตุที่สำคัญน่าจะมาจากเรื่องของการส่งน้ำเพื่อใช้ในการทำนาของท้องทุ่งรังสิตเป็นหลัก เพราะในบริเวณทุ่งรังสิตตามความทรงจำของเราเมื่อ 30 กว่าปีก่อนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญ เรียกได้ว่ามองไปทางไหนก็เห็นแต่ทุ่งนาไปไกลสุดลูกหูลูกตา
เพื่อให้หายสงสัยเราเลยไปลองพึ่งอากู๋ Google ดู ก็พบเรื่องราวที่น่าสนใจ ได้คำตอบพร้อมเรื่องราวที่เกินหน้าความสงสัยของเราไปไกลเลยที่เดียว จึงอยากเอามาเล่าให้เพื่อน ๆ ได้ฟังกัน
1
พื้นที่ทุ่งรังสิตเมื่อ 100 กว่าปีก่อน มีชื่อเรียกว่า “ทุ่งหลวง” กินพื้นที่ประมาณ 2,000 ตารางกิโลเมตร หรือ ประมาณ 1.5 ล้านไร่ มีสภาพเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ สลับกับหนองบึง เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่จะมีน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน ทุ่งหลวงครอบคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนจรดแม่น้ำนครนายก (แม่น้ำบางปะกง) ทิศเหนือติดกับทางใต้ของจังหวัดอยุธยา ทิศใต้กินพื้นที่บางส่วนในเขตหนองจอกและบางเขนของกรุงเทพฯ
ทุ่งหลวงในอดีตจัดได้ว่าเป็นพื้นที่ ๆ อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์นานาพันธุ์ มีตั้งแต่โขลงช้างป่า ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากจนในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ทุ่งหลวงถือเป็นพื้นที่คล้องช้างที่สำคัญของราชสำนัก
เนื้อสมัน - กวางเขาสวยที่มีแต่ในไทยเท่านั้น ภาพประกอบโดยผู้เขียน
ทุ่งหลวงยังเป็นที่อยู่อาศัยของ “เนื้อสมัน” กวางเขาสวยที่มีอยู่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น (ปัจจุบันเค้าสูญพันธุ์ไปหมดแล้ว) และยังชุกชุมไปด้วย เสือ กระทิง เก้ง กวาง งู และ นกน้ำอีกหลายชนิด
ในช่วงฤดูฝน น้ำจากทางภาคเหนือของไทยจะไหลลงสู่แม่น้ำลำคลอง เข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในภาคกลาง ซึ่งก็รวมถึงพื้นที่ทุ่งหลวงด้วยเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนที่น้ำจะค่อย ๆ ระบายไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา และคลองอื่น ๆ ออกไปสู่ทะเลที่ปากอ่าวไทยในที่สุด
ด้วยสภาพภูมิประเทศแบบนี้แถมยังมีสัตว์ร้ายชุกชุม ผู้คนจึงไม่นิยมอพยพเข้าไปอาศัยในเขตทุ่งหลวง อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
คลองรังสิต : โปรเจคยักษ์สมัยรัชกาลที่ 5
ประเทศไทยในช่วงเวลานั้น การค้าขายกับต่างชาติเริ่มมีบทบาทที่สำคัญและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่งที่ทำไว้กับอังกฤษในสมัยรัชกาลที่ 4 ข้าวเริ่มกลายเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย รัฐบาลในสมัยนั้นต้องการที่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวโดยขยายพื้นที่เพาะปลูก รัฐบาลจึงมีความคิดที่จะพัฒนาทุ่งหลวงที่กว้างใหญ่ให้เป็นนาข้าวหลายล้านไร่ โปรเจคคลองรังสิตจึงถือกำเนิดขึ้นในตอนนั้น
ปฏิบัติการเปลี่ยนป่าเป็นนาจำเป็นต้องมีการวางระบบชลประทาน เพื่อส่งน้ำเข้าที่นา ตามแผนต้องมีการขุดคลองสายหลักขนาดใหญ่เพื่อดึงน้ำจากแม่น้ำใกล้เคียง เช่น เจ้าพระยา ป่าสัก และ นครนายก (แม่น้ำบางปะกง) และต้องมีการขุดคลองซอยเพื่อผันน้ำเข้านา นอกจากนี้ต้องมีการสร้างระบบประตูระบายน้ำ เพื่อ ควบคุมรักษาระดับน้ำของทุ่งหลวง
การขุดคลองเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2433 ความพิเศษของเมกกะโปรเจคนี้ คือ รัฐไม่ได้ลงทุนขุดคลองเอง แต่ได้ให้สัมปทานกับบริษัทเอกชน ชื่อ “บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามจำกัด” เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด โดยผู้ถือหุ้นเริ่มแรกประกอบด้วย
พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์: https://www.google.com/search?q=%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B9%8C&rlz=1C1GCEA_enTH910TH910&sxsrf=ALeKk01jKIZ321Xfk1qdFzxIrIeU6j3I8g:1615561397093&source=lnms&tbm=isch&biw=1920&bih=969#imgrc=shKu-u7YGbzqjM
1. พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์
2. พระนานาพิธภาษี (ชื่น บุนนาค)
3. นายโยคิม แกรซี ( Joachim Grassi) สถาปนิกชาวอิตาเลียนแต่เป็นคนในบังคับของฝรั่งเศส เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง
4. นายยม (เจ้าสัวยม พิศลยบุตร)
ต่อมาผู้ถือหุ้นในลำดับที่ 2-4 ได้ถอนตัวออกไป และถูกแทนที่โดย 3 ท่านต่อไปนี้
1. มรว. สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ (บุตรคนโตของพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์)
2. นาย เออร์วิน มูลเลอร์ (Erwin Muller)
3. นาย ฮันส์ เมทซเลอร์ (Hans Metzler)
สาระสำคัญของสัญญาโครงการ
ในการดำเนินการนั้นรัฐบาลได้ให้สัมปทานกับบริษัทเป็นระยะเวลา 25 ปี รัฐได้ทำสัญญากับบริษัทโดยมีเนื้อหาที่สำคัญ คือ
1. รัฐจะพิจารณาบริษัทขุดคลองแลคูนาสยามก่อนบริษัทอื่นในการขุดคลองสายใหม่ในโครงการ
2. ถ้ามีบุคคลอื่นมาขอขุดคลองและรัฐเห็นชอบจะให้ขุด รัฐจะให้สิทธิแก่บริษัทคู่สัญญาก่อน ก่อน ถ้าบริษัทคู่สัญญา สละสิทธิจึงจะอนุญาตให้ผู้อื่นทำการขุดคลองได้
3. คลองใดที่บริษัทได้รับอนุญาตให้ขุดขึ้นใหม่ และบริษัทได้ลงทุนในการขุดเอง เมื่อขุดคลองเสร็จ ที่ดินสองฝั่งคลองเว้นจากที่หลวง 1 เส้นขึ้นไป ฝากละ 40 เส้น (1.6 กิโลเมตร) ตลอดลำคลองที่ขุดใหม่ รัฐให้บริษัททำการจับจองได้ และ ห้ามมิให้ผู้อื่นทำการจับจองพื้นที่นั้น ๆ
ด้วยโปรเจคที่ใหญ่ขนาดนี้หลายคนคงสงสัยแล้วว่าบริษัทจะได้ผลตอบแทนคุ้มทุนหรือเปล่า ? ซึ่งเราสามารถหาคำตอบได้จากผลตอบแทนของบริษัทจากโครงการนี้
ผลตอบแทนของบริษัท
1. จากการขายที่ดิน โดยทำการเปิดจองขายที่ดินล่วงหน้า ผู้ซื้อที่ดินจะต้องซื้อใบจองสิทธิที่เรียกว่า “ใบตรอก” หรือ “ตั๋วตรอก”
2. ค่าธรรมเนียมประตูน้ำ บริษัทยังมีรายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมประตูน้ำที่บริษัทเรียกเก็บจากเรือที่แล่นผ่าน
3. ค่าเช่านา บริษัทสามารถเรียกเก็บค่าเช่าจากพื้นที่ ๆ บริษัทยังไม่ได้ขายและเปิดให้คนมาเช่า
4. เงินค่าคลอง เป็นสิ่งที่บริษัทเรียกเก็บจากเจ้าของที่นาที่มีที่นาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองก่อนแล้ว เมื่อบริษัทได้ขุดคลองผ่านที่ ถือว่าเจ้าของที่นารายนั้น ๆ ได้ประโยชน์จากลำคลอง จึงต้องเสียค่าคลองให้กับบริษัท
ด้วยผลของสัญญาและผลประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับจากโครงการณ์นี้เอง บริษัทขุดคลองแลคูนาสยามได้ลงทุนกับโปรเจคทุ่งรังสิตเป็นจำนวนเงินมหาศาล มีการสั่งเครื่องจักรจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในการขุดคลองครั้งนี้โดยเฉพาะ
เมื่อเราทราบข้อมูลผลตอบแทนของเอกชนแล้ว ที่นี้เราลองมาดูผลตอบแทนของรัฐจากโครงการนี้กันดูบ้าง
ผลตอบแทนที่บริษัทต้องให้แก่รัฐนั้น คือ บริษัทต้องแบ่งกำไรที่ได้ร้อยล่ะ 20 ส่งเข้าพระคลังมหาสมบัติ
ที่มาของชื่อทุ่งรังสิต
ในระยะแรกที่มีการขุดคลองชาวบ้านเรียกคลองสายนี้ว่า “คลองเจ้าสาย” ตามพระนามของ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามคลองนี้เสียใหม่ว่า “คลองรังสิตประยูรศักดิ์” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ (ต้นราชสกุลรังสิต) ทำให้ต่อมาพื้นที่บริเวณ “ทุ่งหลวง” จึงเปลี่ยนชื่อเป็นทุ่งรังสิตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ปัญหาและอุปสรรคในการขุดคลองรังสิต
การขุดคลองรังสิตประสบปัญหาหลายด้านทั้งในด้านสภาพภูมิประเทศที่เป็นป่ารกชัฏ ดังคำบอกเล่าของ มรว.สุวพันธุ์ สนิทวงศ์ ว่า “การขุด(คลอง)มีความยากลำบากมาก เพราะไม่ใช่ท้องนาเตียน ๆ มีหนองบึง บางตอนเป็นป่าแขม ป่าโขมง ป่าขนาก ผู้คนไม่มีเลย… ขณะที่ขุดไปพบเก้ง กวาง ละมั่ง โขลงช้างและไข้ป่าแสนทุรกันดาร…” (สุนทรี อาสะไวย์, เรืองวิทย์ ลิมปนาท, หน้า 10)
แต่ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากที่สุด คือ ความขัดแย้งของบริษัทกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ผู้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมนาในขณะนั้น โดยท่านได้ให้ความเห็นว่า การขุดคลองรังสิตรัฐควรเป็นผู้จัดทำเองมากกว่าให้เอกชนทำ ซึ่งกรมนาก็มีแผนที่จะขุดคลองคูนาแบบนี้อยู่แล้วโดยจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไป และเห็นว่าควรให้เอกชนหลายรายเข้ามาช่วยกันขุดมากกว่ามอบให้เอกชนรายเดียวทำ ยิ่งไปกว่านั้นท่านยังได้ท้วงติงข้อสัญญาที่ให้ที่ดินกับบริษัทถึง 40 เส้น ซึ่งแต่เดิมเคยอนุญาตให้เพียง 20 - 30 เส้น เท่านั้น
ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกรมนากับบริษัทรุนแรงขึ้นเมื่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ เสนาบดีกรมนาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมดูแลการขุดคลองของบริษัท เรื่องมีอยู่ว่าบริษัทได้ยื่นเรื่องขอขุดคลองไปทั้งหมด 8 คลอง แต่กลับได้รับอนุมัติให้ขุดคลองได้เพียงสายเดียว ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างล่าช้า ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อปัญหาสำคัญให้กับบริษัท คือ ชาวบ้านที่เข้าไปจับจองพื้นที่ดักหน้าก่อนที่คลองจะขุดเข้าไปถึง (บริษัทจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินสองฝั่งคลองก็ต่อเมื่อขุดคลองเสร็จแล้วเท่านั้น) ทำให้เกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับชาวบ้านตามมา
ต่อมาเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) เสนาบดีกระทรวงเกษตรพนิชการได้เข้ามาควบคุมการขุดคลองของบริษัทแทนที่กรมนา แต่ปัญหาความล่าช้าของโครงการและปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินกับชาวบ้านก็เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ จนบริษัทหมดสัมปทานที่ทำไว้กับรัฐ ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2457 โครงการคลองรังสิตก็ถูกโอนให้มาอยู่ในการดูแลของรัฐ
จบตอนแรกของซี่รี่ย์ทุ่งรังสิตกันแล้วนะค่ะ คราวหน้าเราลองมาดูกันว่าทุ่งรังสิตหลังจากที่ชาวนาเค้าอพยพเข้าไปทำนากันแล้วนั้น เค้าจะมีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรกันบ้าง
แหล่งข้อมูล
-รัชกาลที่ 5 ทรงอนุญาตขุด"คลองรังสิต"ในทุ่งหลวงเหนือกรุงเทพฯ ที่มีโขลงช้างและไข้ป่า
https://www.silpa-mag.com/history/article_28515
-"คลองรังสิต" เมกะโปรเจคสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยน "ป่า" เป็น "นา" นับล้านไร่
https://www.silpa-mag.com/history/article_28941
-ชีวประวัติของทุ่งรังสิต: จาก สมัน นาข้าว สาวโรงงาน ถึงนักศึกษาและเหี้ย
https://museum.socanth.tu.ac.th/knowledge/past-exhibition/%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87-%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95/
-"ประวัติทุ่งรังสิต" ป่าเขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกในอดีต - ชมรมประวัติศาสตร์สยาม
https://www.buengyitho.go.th/knowledge-preview-412791791795
-สุนทรี อาสะไวย์, เรืองวิทย์ ลิ่มปนาท, ร้อยปีรังสิต: การศึกษาในมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม
http://tiwrm.haii.or.th/web/attachments/100yrs-rangsit/chapter2.pdf
5 บันทึก
6
1
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
131 ปีทุ่งหลวงรังสิต : ปฏิบัติการพลิกผืนป่าให้เป็นทุ่งนา และ วิถีชีวิตชาวนาจากอดีตถึงปัจจุบัน
5
6
1
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย