Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
World History by Pam
•
ติดตาม
17 มี.ค. 2021 เวลา 06:55 • ประวัติศาสตร์
131 ปีทุ่งหลวงรังสิต : ปฏิบัติการพลิกผืนป่าให้เป็นทุ่งนา และ วิถีชีวิตชาวนาจากอดีตถึงปัจจุบัน ตอนที่ 2/3
ภาพชาวนารังสิตในยุคบุกเบิก ที่มา: ผู้เขียน
ตอนที่ 2 การอพยพของชาวนาสู่ทุ่งรังสิต
เมื่อมีการพัฒนาทุ่งรังสิตก็ทำให้เกิดการอพยพของชาวนาเข้าไปสู่พื้นที่ใหม่ ชาวบ้านเริ่มเข้าไปตั้งบ้านเรือนในพื้นที่นี้เมื่อปี พ.ศ. 2438 โดยเริ่มจากการอพยพเข้าไปทางพื้นที่ด้านใต้ของโครงการแล้วค่อย ๆ กระจายตัวเข้าสู่พื้นที่ทางด้านเหนือของโครงการ ซึ่งการอพยพเข้าไปก็ทำตามเส้นทางการพัฒนาทุ่งรังสิตของบริษัทนั่นเอง
ในระยะบุกเบิกชาวนาที่อพยพเข้ามาในทุ่งรังสิต คือ ชาวนาในเขตพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ชาวนาจากปทุมธานี อยุธยา นครนายก กรุงเทพฯ ซึ่ง บางส่วนก็อพยพมาจากพื้นที่แถบคลองเตย และ ทุ่งแสนแสบ
สาเหตุที่ชาวนากลุ่มนี้ต้องอพยพมาจากถิ่นทำกินเดิม ก็เพราะเผชิญกับปัญหาในการทำนา เช่น แมลงศัตรูพืชรบกวน ดินเสื่อมคุณภาพ ที่ดินเดิมมีราคาแพง หรือ ขาดแหล่งน้ำเป็นต้น ชาวนาเหล่านี้หวังพึ่งระบบชลประทานของทุ่งรังสิต จึงเสี่ยงเข้ามาทำนาในเขตนี้เพื่อหวังว่าจะได้ผลผลิตที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ชาวนาบางส่วนยังเป็นพวกไพร่ หรือ ทาส (เกิดการเลิกทาสในปี พ.ศ. 2415) ซึ่งคนกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าของที่ให้มาช่วยบุกเบิกไร่นา พวกเค้าถือเป็นกำลังสำคัญในการทำนาให้กับเจ้าของที่ดิน
การตั้งเมืองธัญญบุรี
ต่อมาเพื่อให้การบริหารงานราชการก้าวให้ทันความเจริญเติบโตของทุ่งรังสิต รัฐบาลได้มีการสถาปนาทุ่งหลวงรังสิตให้ขึ้นเป็น “เมืองธัญญบุรี” (เมืองแห่งข้าว) ในปี พ.ศ. 2445 ซึ่งประกอบไปด้วย 4 อำเภอ คือ อำเภอธัญญบุรี อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง และ อำเภอหนองเสือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จเปิดเมืองธัญญบุรี ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2445 แสดงให้เห็นว่าทุ่งหลวงรังสิตได้กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญของไทยตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา
เมื่อชาวนาได้ย้ายถิ่นฐานมายังย่านรังสิตซึ่งมีระบบคลองส่งน้ำที่ทันสมัย ที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ แถมทุ่งรังสิตยังได้รับการสถาปนาเป็นเมืองใหม่ ชีวิตชาวนารังสิตน่าจะมีอนาคตที่สดใส แต่ในความเป็นจริงมันกลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม ซึ่งสามารถอธิบายผ่านปัญหาต่าง ๆ ที่ชาวนาต้องเผชิญในสมัยนั้น
ภาพการขุดคลองรังสิต ทีมา: ผู้เขียน
สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนารังสิต
สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนารังสิตในยุคบุกเบิกนั้นจัดได้ว่ามีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ดังเห็นได้จากรายงานของ ดร. คาร์ล ซี ซิมเมอร์แมน (Carle C. Zimmerman) นักสำรวจสภาพเศรษฐกิจของไทยในปี พ.ศ. 2473 ดังมีใจความสำคัญว่า
1. ปัญหาเนื่องมาจากการเช่าที่นา ชาวนารังสิตส่วนใหญ่มักจะเช่าที่ทำนา มีเพียงส่วนน้อยที่มีที่นาเป็นของตัวเอง สัญญาการเช่าก็เป็นแบบปีต่อปี ซ้ำเจ้าของที่ซึ่งส่วนใหญ่คือชนชั้นสูงในสังคม ได้แก่ เจ้านาย ขุนนาง ข้าราชการ พ่อค้าคหบดี ท่านเหล่านี้มีที่อยู่อาศัยในกรุงเทพ ฯ และมีจุดประสงค์ในการซื้อที่ดินเผื่อปล่อยให้เช่ามากกว่าที่จะทำการเพาะปลูกเอง จึงไม่ได้ใส่ใจที่จะบำรุงรักษาคุณภาพของดินมากนัก แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของตัวแทนที่เจ้าของที่แต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์รับผิดชอบ ที่ดินจึงมีปัญหาดินเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว เพาะปลูกไม่ได้ผล ทำให้ชาวนารังสิตต้องย้ายที่อยู่บ่อย ๆ
2. ปัญหาย้ายที่อยู่บ่อย ทำให้ชาวนานิยมสร้างบ้านเรือนแบบชั่วคราวมากกว่าแบบถาวร บ้านจะสร้างแยกกระจายห่างกันโดยจะสร้างอยู่ริมคลอง ด้วยลักษณะนี้ทำให้การจะพัฒนาเป็นหมู่บ้านทำได้ยาก (เพราะชาวนาย้ายที่อยู่บ่อย) การที่จะพัฒนาให้เกิดความเจริญในท้องที่จึงทำได้ยากเช่นกัน นอกจากนี้การที่จะต้องย้ายที่อยู่บ่อย ๆ ทำให้ไม่นิยมทำคอกกั้นสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย และ ไม่มีการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวเหมือนชาวนาถิ่นอื่น แต่จะเน้นแค่การปลูกข้าวขายเพียงอย่างเดียว สิ่งนี้ทำให้ชาวนารังสิตจำเป็นต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแทบทุกอย่าง ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายอย่างมาก ทำให้สภาพชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างอัตคัดขัดสน
3. ปัญหาหนี้สิน จัดเป็นปัญหาใหญ่ของชาวนารังสิต ทุกปีชาวนาจะต้องกู้ยืมเงินจากพ่อค้าชาวจีนเพื่อเอามาจ่ายค่าภาษี ถ้าปีนั้นผลผลิตข้าวตกต่ำ ชาวนาไม่มีเงินไปใช้หนี้ พ่อค้าจะรีบเข้ามายึดข้าวของชาวนาไปทันที ชาวนาที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่ก็ต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น เช่านาจากเจ้าของที่รายอื่น และแสวงหาพ่อค้ารายใหม่ที่จะให้เงินกู้มาทำนาต่อไป
4. ปัญหาการปรับปรุงคุณภาพผลผลิต การที่สัญญาเช่าเป็นแบบปีต่อปี ยังส่งผลถึงการปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต ถึงแม้ในเวลาต่อมารัฐจะส่งผู้เชี่ยวชาญให้มาปรับปรุงวิธีทำนา โดยการยกคันนาและสูบน้ำเข้าแปลงนา แต่ชาวนาก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือเท่าใดนัก เพราะเห็นว่าสัญญาแบบปีต่อปีนั้น ถ้าหากชาวนาลงทุนลงแรงไปแล้วไม่ได้ต่อสัญญา ก็จะเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ความพยายามที่จะปรับปรุงวิธีการเพาะปลูกจึงไม่ได้ผลเท่าใดนัก
5. ปัญหาด้านความปลอดภัย ชุมชนรังสิตเป็นชุมชนที่ตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ขาดการดูแลจากหน่วยงานรัฐ ถึงแม้จะมีการตั้งเมืองธัญญบุรีขึ้น แต่จากสภาพการตั้งบ้านเรือนของชาวรังสิตกระจัดกระจายไม่เป็นหมู่บ้าน ทำให้การเข้าไปดูแลให้ทั่วถึงทำได้ยาก อีกทั้งการคมนาคมติดต่อสื่อสารยังไม่สะดวก เจ้าหน้าที่มีน้อย การให้ความปลอดภัยกับชาวบ้านจึงทำได้ลำบาก
การที่คนจำนวนมากจากทุกสารทิศอพยพเข้าไปอยู่รวมกันโดยขาดการควบคุม ย่อมทำให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกัน จนทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา เกิดความไม่ปลอดภัยในพื้นที่ เมื่อขาดที่พึ่งจากรัฐชาวบ้านจำเป็นต้องแสวงหาความคุ้มครองจากผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น
คำถาม คือ แล้วผู้มีอิทธิพลเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน ?
ตามที่กล่าวมาแล้วเจ้าของที่จะมอบหมายให้คนที่ไว้ใจได้เป็นตัวแทนในการดูแลผลประโยชน์และเก็บค่าเช่าที่นา คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า “นายกองนา” ซึ่งนอกจากเก็บค่าเช่านาแล้ว นายกองนายังมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่ชาวนาผู้เช่าที่ ดังตัวอย่างเช่น
“ที่นาของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ที่คลอง 10 ลูกชายของเจ้ากรมของท่าน ซึ่งเป็นพวกสกุลสุขสถิตย์ ได้ทำหน้าที่เป็นนายกองนา และท่านผู้นี้ต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกำนันในการปกครองระดับท้องถิ่น และจัดได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลกว้างขวางในเขตนั้น” (สุนทรี อาสะไวย์, เรืองวิทย์ ลิมปนาท, หน้า 30)
ในบางครั้งเกิดการทะเลาะวิวาทระหว่างชาวนาผู้เช่ากับเจ้าของที่ จนมีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายกัน ชาวนาต้องทนอยู่กับความหวาดกลัว พวกที่ทนไม่ไหวก็อพยพหลบหนีไป แม้จะมีชาวนาบางคนกล้าที่จะไปฟ้องร้องต่อศาล แต่ก็มักจะไม่ได้รับความยุติธรรม เพราะผู้พิพากษามักจะเข้าข้างเจ้าของที่ เช่น ไม่รับฟ้องคดี สืบคดีเนินนานไร้ความคืบหน้า จนในที่สุดชาวนาก็ต้องยุติการฟ้องร้องไปเอง ผู้เขียนมองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาของความไม่ยุติธรรมระหว่างผู้มีอำนาจ กับประชาชนคนรากหญ้า ที่มีมาให้เห็นจวบจนกระทั่งทุกวันนี้
แหล่งข้อมูล
-รัชกาลที่ 5 ทรงอนุญาตขุด"คลองรังสิต"ในทุ่งหลวงเหนือกรุงเทพฯ ที่มีโขลงช้างและไข้ป่า
https://www.silpa-mag.com/history/article_28515
-"คลองรังสิต" เมกะโปรเจคสมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยน "ป่า" เป็น "นา" นับล้านไร่
https://www.silpa-mag.com/history/article_28941
-ชีวประวัติของทุ่งรังสิต: จาก สมัน นาข้าว สาวโรงงาน ถึงนักศึกษาและเหี้ย
https://museum.socanth.tu.ac.th/knowledge/past-exhibition/%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4-%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87-%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%95/
-"ประวัติทุ่งรังสิต" ป่าเขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกในอดีต - ชมรมประวัติศาสตร์สยาม
https://www.buengyitho.go.th/knowledge-preview-412791791795
-สุนทรี อาสะไวย์, เรืองวิทย์ ลิ่มปนาท, ร้อยปีรังสิต: การศึกษาในมิติประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจและสังคม
http://tiwrm.haii.or.th/web/attachments/100yrs-rangsit/chapter2.pdf
1 บันทึก
5
1
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
131 ปีทุ่งหลวงรังสิต : ปฏิบัติการพลิกผืนป่าให้เป็นทุ่งนา และ วิถีชีวิตชาวนาจากอดีตถึงปัจจุบัน
1
5
1
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย