Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
13 มี.ค. 2021 เวลา 05:17 • สุขภาพ
+++ ไขข้อข้องใจวัคซีน COVID-19 ประเทศไทยแทงม้าตัวเดียวหรือเปล่า
9
วัคซีน COVID-19 ดูเหมือนจะเป็น ‘ตะขอ’ สำหรับแขวนความหวังให้แก่ชีวิตทั้งในมิติเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้คนทั่วโลก หลายประเทศเริ่มทยอยฉีดวัคซีนจากบริษัทต่างๆ ให้กับประชาชนในประเทศของตน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี หรือแม้แต่ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ก็เริ่มแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว
9
ประเทศไทยมีโครงการจัดซื้อวัคซีนเพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนเช่นกัน ทว่าการดำเนินการของรัฐบาลยังเป็นที่ถกเถียง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการเลือกซื้อวัคซีนจากบริษัทต่างๆ การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล คุณภาพของวัคซีนที่ประชาชนจะได้รับ และความโปร่งใสของรัฐบาลในการดำเนินโครงการนี้
เมื่อพิจารณา ‘วัคซีน’ บนสถานการณ์เช่นนี้แล้ว ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า นอกจากจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแล้ว การจัดซื้อวัคซีนยังสร้างความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ สุขภาพ เทคโนโลยี และธรรมาภิบาลของรัฐบาล
5
+++ ทำความรู้จักวัคซีนแต่ละชนิด
นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงวัคซีนที่อนุญาตให้ใช้ในมนุษย์ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉินที่ผ่านการทดลองมีทั้งหมด 3 ชนิด ดังนี้
1
1. mRNA วัคซีน
1
วัคซีนชนิดนี้อาศัยกลไกการสั่งให้เซลล์มนุษย์หรือเซลล์สัตว์ผลิตโปรตีนปลายแหลม (spike protein) เพื่อสร้างแอนติเจนไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างแอนติบอดี้ที่เป็นภูมิต้านทานต่อ COVID-19 วัคซีน mRNA จะถูกห่อหุ้มด้วย Lipid Nanoparticle เมื่อฉีดเข้าสู่ร่างกายไปสู่เซลล์ mRNA จะถูกถอดออกในของเหลว แล้ว mRNA จะทำการสร้างโปรตีนตามรูปแบบที่กำหนด messager RNA ส่งออกสู่นอกเซลล์เพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานต่อไป
ข้อดี ของวัคซีนชนิดนี้ทำได้ง่ายและเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็วเพราะทำในโรงงาน กระตุ้นภูมิต้านทานได้สูง
3
ข้อเสีย อยู่ที่ว่า RNA นั้นเปราะบางมากและสลายตัวได้ง่าย จึงต้องเก็บที่อุณหภูมิต่ำมากๆ และวัคซีนชนิดนี้เป็นชนิดแรกที่ใช้ในมนุษย์ อาการข้างเคียงหลังฉีดพบได้บ่อยกว่าวัคซีนที่ทำโดยชนิดเก่า เช่นมีไข้ ปวดเมื่อย และผลระยะยาวคงต้องรอการศึกษาต่อไปเช่นติดตามเป็นปีหรือหลายปี
6
วัคซีนที่ใช้ mRNA ในการผลิตก็คือ Pfizer และ Merdona และในประเทศไทยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังศึกษาและพัฒนาวัคซีนชนิดนี้โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนทดลองในสัตว์
6
2
2. ไวรัส Vector
1
วัคซีนชนิดนี้ใช้ไวรัสเป็นพาหะโดยบรรจุยีนของไวรัสเข้าไปในไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ โดยไวรัสจะส่งสารพันธุกรรมของโควิดเข้าไปในเซลล์มนุษย์แล้วถอดรูปพันธุกรรมเปลี่ยนให้เป็น mRNA ออกมาในไซโตพลาสซึมแล้ว mRNA จะสร้างโปรตีนส่งออกมาทำหน้าที่เป็นแอนติเจนกระตุ้นร่างกายให้สร้างแอนติบอดี้
5
ข้อดี วัคซีนนี้สามารถผลิตได้จำนวนมาก รวดเร็วและมีความคงทนมากกว่าชนิด mRNA ราคาถูกกว่าและสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศา
1
ข้อเสีย วัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนชนิดใหม่เช่นเดียวกัน และยังไม่ทราบผลระยะยาวว่าจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง
วัคซีนที่ใช้ไวรัส Vector ในการผลิตก็คือ AstraZeneca, Sputnik V, Johnson and Johnson เป็นต้น
1
3. ไวรัสเชื้อตาย
1
วัคซีนชนิดนี้จะใช้หลักการที่เคยใช้ผลิตวัคซีนในสมัยก่อนที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น วัคซีนตับอักเสบเอ วัคซีนโปลิโอ หรือพิษสุนัขบ้า เป็นต้น โดยวัคซีนชนิดนี้ใช้เชื้อตายที่มีชื่อว่า ‘โคโรนาแวค’ (CoronaVac) ทำหน้าที่เหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายให้สร้างแอนติบอดี้ โดยแอนติบอดี้จะยึดติดกับโปรตีนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย
6
ข้อดี วัคซีนชนิดนี้ได้รับการยอมรับ สามารถไว้ใจได้ในเรื่องของความปลอดภัย เพราะกระบวนการสร้างวัคซีนชนิดนี้ประสบความสำเร็จแล้ว
2
ข้อเสีย วัคซีนชนิดนี้ผลิตจำนวนมากได้ยาก เพราะไวรัสชนิดนี้ต้องเพาะเลี้ยงในห้องชีวนิรภัยระดับสูงเพราะเป็นไวรัสก่อโรค ต้นทุนการผลิตจึงสูงจึงทำให้การผลิตมีขีดจำกัด
2
วัคซีนที่ผลิตโดยกระบวนการไวรัสเชื้อตายได้แก่ Sinovac ที่เป็นวัคซีนแรกที่คนไทยจะได้รับการฉีดในช่วงกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้
2
+++ Dose ที่ Done แล้ว
1
การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2564 มีมติรับทราบการจัดหาวัคซีน 3 ช่องทาง
1
1. ให้การจัดหาวัคซีนเป็นการตกลงแบบทวิภาคี Bilateral Agreement (Advanced Market Commitment) กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ร้อยละ 20 (จำนวน 26 ล้านโดส) คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนมิถุนายน 2564 (อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ได้วัคซีนมาก่อนจำนวนหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564) ซึ่งที่ประชุมมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีกจำนวน 35 ล้านโดส รวมเป็นจำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหา จำนวน 61 ล้านโดส
3
2. การจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ร้อยละ 10 กระทรวงสาธารณสุขได้เจรจากับบริษัท ซิโนวัค ไบโอเทค จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีน เพื่อจัดหาวัคซีนเร่งด่วนให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จำนวน 2,000,000 โดส
6
ทั้งนี้ วัคซีนต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากสำนักงานอาหารและยา (National Medical Products Administration: NMPA) ของประเทศจีนก่อน โดยจะฉีดคนละ 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน วงเงินงบประมาณรวม 1,228,208,000 บาท
1
3. การจัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ร้อยละ 20 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง
สำหรับเป้าหมายการฉีดวัคซีน 2,000,000 โดส (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564) ดังนี้
วัคซีน 200,000 โดสแรก ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดระยอง จังหวัดชลบุรี เป็นต้น จำนวน 20,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่นๆ จำนวน 180,000 คน
2
วัคซีน 800,000 โดสแรก ในเดือนมีนาคม 2564 ซึ่งจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ในกลุ่มข้อ 1 จำนวน 200,000 โดส และวัคซีน จำนวน 600,000 โดส ในกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) จำนวน 600,000 คน
2
ขณะที่วัคซีน 1,000,000 โดส ในเดือนเมษายน 2564 โดยจะฉีดวัคซีนเข็มที่สองในกลุ่มตามข้อ 2 จำนวน 600,000 คน และสำหรับกรณีที่มีการระบาด จำนวน 400,000 โดส
2
+++ ทำไมต้องเป็น Sinovac และ AstraZeneca?
ไม่กี่วันมานี้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวไกลได้ออกมาไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ค ตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่าเพราะเหตุใดรัฐบาลจึงไม่กระจายความเสี่ยงในการเลือกซื้อวัคซีน รัฐบาลสั่งซื้อวัคซีนจาก 2 บริษัทโดยซื้อวัคซีนจาก Sinovac จำนวน 2,000,000 โดส และซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca ในรอบแรก 26 ล้านโดส และพิจารณาซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 63 ล้านโดส
2
เมื่อหักลบประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์ (ซึ่งประชากรใน 2 กลุ่มนี้คือกลุ่มประชากรที่ยังไม่แนะนำให้ฉีด เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่) ก็จะเหลือจำนวนประชากรที่จะได้รับวัคซีนประมาณ 50 ล้านคน ซึ่งปริมาณโดสที่สั่งซื้อตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 มกราคม จะสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรในประเทศได้ประมาณ 33 ล้านคน
2
เท่ากับว่าประชาชนในประเทศไทยจะได้รับวัคซีนจาก 2 บริษัทนี้ ถ้าหากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่นที่พิจารณาซื้อวัคซีนจาก 3 บริษัท ได้แก่ Moderna, Pfizer, และ AstraZeneca จำนวน 290 ล้านโดสและครอบคลุมประชากรทั้งหมดคิดเป็น 114.6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเกาหลีใต้ซื้อวัคซีนจาก 5 บริษัท ได้แก่ Moderna, Pfizer, AstraZeneca, Johnson & Johnson และ Covax จำนวนทั้งหมดประมาณ 69 ล้านโดส ซึ่งครอบคลุม 88 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรทั้งหมด
5
คำถามก็คือรัฐบาลไทยวางใจการผลิตวัคซีนจากสองบริษัทนี้เกินไปหรือไม่? และทำไมจึงต้องเป็นวัคซีนจาก Sinovac และ AstraZeneca
2
ในวันที่ 19 มกราคม 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้ร่วมกันแถลงชี้แจงในหลายประเด็น
5
นายแพทย์นคร กล่าวว่า กระบวนการจัดซื้อวัคซีนจะต้องพิจารณาหลายส่วนก่อนทำข้อตกลง ซึ่งข้อตกลงกับบริษัทแอสตร้าเซเนก้าคือการสั่งซื้อวัคซีนพร้อมทั้ง ‘ถ่ายทอดเทคโนโลยี’ ให้กับประเทศไทย อีกทั้งการพัฒนาวัคซีน COVID-19 เป็นเรื่องใหม่และเร่งด่วน ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มากพอ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาซื้อวัคซีนที่เหมาะสมกับประเทศไทย ไม่ได้สั่งซื้อตามชื่อของบริษัทหรือตัววัคซีนเพียงอย่างเดียว
3
วัคซีน AstraZeneca เป็นวัคซีนที่ผลิตโดยใช้กระบวนการไวรัส Vector และเป็นวัคซีนตัวแรกที่รัฐบาลอังกฤษอนุมัติให้ใช้กับมนุษย์ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 อยู่ที่ 70.4 เปอร์เซ็นต์ และสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส มีราคาต่อโดสอยู่ระหว่าง 2.5-5 ดอลลาร์ ซึ่งมีราคาถูกกว่าวัคซีนของ Pfizer ที่มีราคาต่อโดสอยู่ที่ 20 ดอลลาร์
วัคซีน AstraZeneca จึงเหมาะกับประเทศที่มีกำลังซื้อน้อยหรือประเทศกำลังพัฒนาเพราะราคาถูกและมีประสิทธิภาพเทียบเท่าวัคซีนราคาแพง
3
ถึงแม้ว่าวัคซีน Sinovac จะยังมีข้อกังขาในเรื่องของประสิทธิภาพที่มีประสิทธิผลเพียง 50.38 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น แต่ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ได้อธิบายถึงการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนว่า การประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนในการศึกษาต่างกลุ่มต่างพื้นที่ ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้ไม่เท่ากัน เพราะหลักการประเมินต่างกัน เช่น บางพื้นที่ประเมินการป้องกันการติดเชื้อ บางพื้นที่ประเมินการเกิดโรค อีกทั้งการประเมินผลวัคซีนชนิดเดียวกันในกลุ่มประชากรที่ต่างกันหรือพื้นที่ต่างกัน ก็ทำให้ผลต่างกันด้วย
12
นายแพทย์ยงยังได้ยกตัวอย่างถึงวัคซีน HIV ที่มีประสิทธิภาพการป้องกันโรคในแอฟริกาใต้ 0 เปอร์เซ็นต์ และในไทย 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เพราะที่แอฟริกาใต้มีความเสี่ยงสูงกว่าประเทศไทย เฉกเช่นเดียวกับการศึกษาวัคซีนโควิด-19 ถ้าประเมินในกลุ่มเสี่ยงสูง ผลที่ได้จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าประชากรทั่วไปที่มีความเสี่ยงต่ำ
10
ดังนั้นประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละตัวจึงต้องดูที่องค์ประกอบอีกหลายอย่างไม่ใช่เพียงตัวเลข
ทำไมต้องเป็นสยามไบโอไซเอนซ์
“ประเทศไทยแทงม้าตัวเดียวหรือเปล่า?”
เพราะเหตุใดรัฐบาลจึงเลือก บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ให้เป็นผู้ผลิตวัคซีนแต่เพียงรายเดียว และยังให้งบสนับสนุนในการพัฒนาเป็นจำนวน 600 ล้านบาท ถือว่าเป็นการผูกขาดการผลิตวัคซีนที่บริษัทเดียวหรือไม่?
AstraZeneca ต้องการหาประเทศที่เป็นศูนย์กลางในแต่ละภูมิภาคเพื่อทำการผลิตวัคซีน ประกอบกับบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย (SCG) กับ มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด มีงานวิจัยร่วมกันอย่างต่อเนื่องหลายปี รวมถึงความพร้อมในการผลิตของประเทศไทย มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน นั่นทำให้บริษัท AstraZeneca ตัดสินใจตอบตกลง และทำสัญญากับประเทศไทย
5
WorkpointTODAY รายงานว่า บริษัท AstraZeneca ยินดีจะถ่ายทอดเทคโนโลยี แต่มีเงื่อนไขคือทางบริษัทที่อังกฤษจะขอเลือกห้องแล็บที่ไทยเอง โดยจะพิจารณาว่าห้องแล็บไหนที่มีอุปกรณ์ และมีบุคลากรที่มีความสามารถมากพอ จะผลิตวัคซีนได้ตามมาตรฐานของ AstraZeneca ซึ่งสุดท้ายบริษัทที่อังกฤษเลือก คือ บริษัท Siam Bioscience (สยามไบโอไซเอนซ์) โดยสยามไบโอไซเอนซ์มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน และเคยมีประสบการณ์ในการตัดแต่งพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตมาแล้ว ซึ่งตรงกับแนวทางในการสร้างวัคซีนของ AstraZeneca ที่ใช้การดัดแปลงพันธุกรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้นทาง AstraZeneca จึงตัดสินใจร่วมมือกับสยามไบโอไซเอนซ์ โดยคาดว่าจะผลิตวัคซีนออกมาแล้วเสร็จล็อตแรก ในเดือนพฤษภาคม 2564
5
นายแพทย์นคร กล่าวว่า เนื่องจากการผลิตวัคซีนเป็นเรื่องเร่งด่วนจะต้องมั่นใจว่าประเทศไทยสามารถมีความพร้อมที่สุดในการผลิต บริษัท AstraZeneca ได้พิจารณาทบทวนคุณสมบัติของหลายบริษัทในประเทศไทย แต่มีเพียงบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มีศักยภาพพร้อมที่สุดในการผลิตวัคซีนแบบไวรัส Vector ซึ่งบริษัทและองค์กรอื่นๆ ยังไม่มีศักยภาพมากพอที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้
10
+++ รัฐจัดสรรงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่?
รัฐบาลได้ลงนามทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนกับบริษัท AstraZeneca ในวงเงิน 6,049,723,117 ล้านบาทและในงบจำนวนนี้สั่งซื้อวัคซีนจำนวน 26 ล้านโดสจำนวน 2 พันล้านบาท ซึ่งตกราคาโดสละ 5 ดอลลาร์
1
ซึ่งข้อมูลจาก UNICEF dashboard เปิดเผยข้อมูลการสั่งซื้อวัคซีน AstraZeneca ของแต่ละประเทศ ได้แก่ บราซิล โดยสั่งซื้อจำนวน 200 ล้านโดสในราคาโดสละ 3.16 ดอลลาร์ อินเดีย จำนวน 11 ล้านโดสในราคาโดสละ 3.36 ดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วไทยจ่ายค่าวัคซีนต่อโดสในราคาที่แพงกว่า
5
ในวันที่ 20 มกราคม 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารสุขกล่าวว่า ได้ขอซื้อวัคซีน AstraZeneca เพิ่มอีกจำนวน 150,000 โดส โดย 50,000 โดสแรกจะเข้ามาในต้นเดือนกุมภาพันธ์ อนุทินยังกล่าวอีกว่าวัคซีนจำนวน 150,000 นี้เป็นคนละส่วนกับ 26 และ 35 ล้านโดสที่รัฐบาลอนุมัติซื้อ ซึ่งเจรจาซื้อมาในราคา 5 ดอลลาร์เท่ากัน ซึ่งเดิมตามไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนของคนไทยแล้วนั้นวัคซีนแรกที่คนไทยจะได้ฉีดปลายเดือนกุมภาพันธ์คือ Sinovac จากจีน ทว่าวัคซีน Sinovac ยังดำเนินการขึ้นทะเบียนจากประเทศต้นทางไม่เรียบร้อย
8
และในขณะนี้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้รับการถ่ายทอดเทคโนยีและเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนมาตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และคาดว่าจะสามารถแจกจ่ายให้กับประชาชนได้เร็วที่สุดปลายเดือนเมษายนปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามการผลิตจะต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและยื่นให้ อย. ทดสอบคุณภาพก่อนนำมาแจกจ่ายให้กับประชาชน
นอกจากประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ความยั่งยืนในการสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีก็เป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อรัฐบาลทำสัญญาลงนามการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก AstraZeneca แล้ว รัฐบาลก็ควรสร้างกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการผลิตวัคซีน และให้ทุนสนับสนุนแก่องค์กรหรือบริษัทเอกชนอื่นๆ ในประเทศไทยให้มีศักยภาพในการผลิตวัคซีนโควิด-19 เช่นกัน
3
ซึ่งตอนนี้ รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนแก่องค์กรเหล่านี้แต่อย่างใด
2
อ้างอิง
-
hfocus.org
: วัคซีนโควิด-19 แอสตราเซเนกาล็อตแรก 5 หมื่นโดส คาดถึงไทยสัปดาห์แรก ก.พ.นี้
-
hfocus.org
: สธ. แจงข้อเท็จจริงหลัง “ธนาธร” วิจารณ์วัคซีนโควิด-19 ทำสังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน
-
unicef.org
: COVID-19 Vaccine Market Dashboard
-
nytimes.com
: Coronavirus Vaccine Tracker
- บีบีซีไทย: โควิด-19: สหราชอาณาจักรอนุมัติวัคซีนของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ไทยสั่งซื้อ
- BBC: Covid: What do we know about China’s coronavirus vaccines?
Facebook: นพ.ยง ภู่วรวรรณ
เขียน: ณิชกานต์ ภักดี
https://waymagazine.org/covid19-vaccine/
69 บันทึก
56
7
129
69
56
7
129
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย