5 เม.ย. 2021 เวลา 13:45 • การศึกษา
สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
อะไรคือสินทรัพย์ไม่มีตัวตน ต่างจากสินทรัพย์ทั่วไปยังไง งั้นเรามาทำความรู้จักกับคำนี้กันเลยค่ะ
สินทรัพย์ไม่มีตัวตน คือ สินทรัพย์ที่ไม่เป็นตัวเงิน ไม่มีรูปร่างไม่สามารถมองเห็น สัมผัสไม่ได้ แต่สามารถตีราคาให้มีมูลค่าเป็นตัวเงินได้ และรายการที่จะถือเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้ต้องสามารถระบุได้ ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกิจการ และต้องก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในอนาคต
1
โดยสินทรัพย์จะเข้าเกณฑ์สามารถระบุได้ตามคำนิยามข้างต้นของสินทรัพย์ไม่มีตัวตนก็ต่อเมื่อ
📌 สามารถแยกเป็นเอกเทศได้ หมายถึง สามารถแยกจากกิจการ และสามารถขาย โอน ให้สิทธิ ให้เช่า หรือแลกเปลี่ยนได้อย่างอิสระ หรือ
📌 ได้มาจากการทำสัญญาหรือสิทธิทางกฎหมายอื่นๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิทธิเหล่านั้นจะสามารถโอนหรือสามารถแบ่งแยกจากกิจการ หรือจากสิทธิและภาระผูกพันอื่น ๆ
สินทรัพย์ไม่มีตัวตน มีอะไรบ้าง
⛳ สิทธิบัตร ( Patent )
คือ หนังสือสำคัญที่รัฐออกให้เพื่อคุ้มครองการประดิษฐ์ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนด
เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์คิดค้นหรือการออกแบบ เพื่อให้ได้สิ่งของเครื่องใช้หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน
เช่น การประดิษฐ์รถยนต์ โทรศัพท์ โทรทัศน์ หรือการออกแบบขวดน้ำหอม ขวดบรรจุน้ำอัดลม หรือการออกแบบลวดลายบนแก้วน้ำ ถ้วยกาแฟ ไม่ให้เหมือนของคนอื่น เป็นต้น
⛳ ลิขสิทธิ์ ( Copyrights )
คือ งานด้านความคิดสร้างสรรค์ในสาขาวรรณกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม งานภาพยนต์ หรืองานอื่นใดในแผนกวิทยาศาสตร์ ที่กฎหมายรับรองให้ผู้สร้างสรรค์เกี่ยวกับงานที่ตนได้ทำขึ้น
ตัวอย่างลิขสิทธิ์
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายไทยจะกำหนดให้มีอายุการคุ้มครอง 50 ปี นับตั้งแต่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเสียชีวิต กรณี เจ้าของเป็นนิติบุคคล จะเริ่มนับอายุตั้งแต่ผลงานถูกสร้างขึ้นมานับไปอีก 50 ปี หรือเริ่มนับเมื่อมีการโฆษณาเป็นครั้งแรก แล้วแต่ว่าอย่างไหนจะเกิดทีหลัง
⛳ สิทธิการเช่า ( Leasehold )
คือ สิทธิที่ได้รับเหนืออสังหาริมทรัพย์ที่เช่าจากเจ้าของสินทรัพย์โดยตรงตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งปกติจะมีระยะเวลานาน โดยผู้ให้เช่าจะได้รับค่าตอบแทนเป็นการแลกเปลี่ยน
⛳ สัมปทานและการอนุญาตให้ใช้สิทธิ ( Franchises and Licening )
คือ สิทธิที่รัฐบาลหรือบุคคลให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเพื่อประกอบกิจการเฉพาะอย่างหรือเป็นตัวแทนขายผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง
หมายถึง การที่รัฐบาลมอบสิทธิ ให้เอกชนดำเนินกิจการ บริการสาธารณะ หรือจัดทำประโยชน์เกี่ยวกับ ทรัพยากรธรรมชาติ ภายในระยะเวลาและเงื่อนไข ตามที่รัฐบาลกำหนด
เช่น สัมปทานป่าไม้ สัมปทานรังนก สัมปทานเหมืองแร่ สัมปทานการเดินรถประจำทาง สัมปทานรถไฟฟ้า สัมปทานทางด่วน เป็นต้น
⛳ เครื่องหมายการค้าและยี่ห้อการค้า ( Trademark and Tradename )
คือ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่
📌 เครื่องหมายการค้า (Trade Mark) คือ เครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น เช่น บรีส M150 มาม่า เป็นต้น
📌 เครื่องหมายบริการ (Service Mark) คือ เครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับบริการ เพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่น เช่น เครื่องหมายของธนาคาร โรงแรม สายการบิน เป็นต้น
📌 เครื่องหมายรับรอง (Certification Mark) คือ เครื่องหมายที่เจ้าของเครื่องหมายรับรองสินค้าและบริการของบุคคลอื่น เพื่อเป็นการรับรองคุณภาพของสินค้า หรือบริการนั้น เช่น เชลล์ชวนชิม แม่ช้อยนางรำ ISO 9000 ฮาลาน เป็นต้น
📌 เครื่องหมายร่วม (Collective Mark) คือ เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่ใช้โดยบริษัทหรือวิสาหกิจในกลุ่มเดียวกัน หรือโดยสมาชิกของสมาคม กลุ่มบุคคล หรือองค์กรอื่นใดของรัฐหรือเอกชน เช่น ตราช้างของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด หรือ ตราสิงห์ของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ เป็นต้น
⛳ ค่าความนิยม ( Goodwill )
คือ คุณค่าที่เกิดขึ้นภายในกิจการ คุณค่าที่เกิดขึ้นจนเป็นค่าความนิยม กล่าวคือ ความสามารถในการหารายได้ มากกว่ากิจการที่อยู่ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน เกิดจากการมีความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า สถานที่ตั้งกิจการอยู่ในทำเลที่ดี การบริหารงานดี ประสิทธิภาพในการผลิตดี ผลประกอบการดี ทำกิจการค้ามานานจนเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป
ทำให้เกิดความเชื่อถือและเกิดจากการผูกขาดทำกิจการนั้นแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น เช่น 7-11 โรงพยาบาลกรุงเทพ ฯลฯ แต่กิจการที่ได้รับความนิยมจะตีราคาค่าความนิยมของตนเองขึ้นมาเป็นตัวเลขเพื่อบันทึกไว้ในบัญชีของกิจการไม่ได้
ค่าความนิยมจะเกิดขึ้นได้โดยการซื้อกิจการมาและกำหนดค่าความนิยมขึ้นจากการซื้อกิจการนั้นเท่านั้น มูลค่าของค่าความนิยมเกิดจากการจ่ายเงินส่วนหนึ่งเพื่อซื้อกิจการ เงินที่จ่ายเกินไปกว่าทุนของกิจการ ( สินทรัพย์ - หนี้สิน ) ถือว่าเป็นต้นทุนของค่าความนิยม
โดยค่าความนิยมถือเป็นสินทรัพย์ที่มีอายุไม่จำกัด ตราบใดค่าความนิยมยังคงอยู่และดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อไหร่ที่การบริหารงานเริ่มไม่ดี มีคู่แข่งที่ดีกว่า ฯลฯ เจ้าของกิจการอาจจะประมาณว่าค่าความนิยมจะคงอยู่ได้เพียง 5 ปี ก็ให้จำหน่ายค่าความนิยมออกจากบัญชีภายในระยะเวลา 5 ปี
1
ทั้งนี้ สินทรัพย์ไม่มีตัวตนที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ในทางบัญชีเมื่อได้รับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนมา จะใช้ราคาทุน และจะต้องตัดบัญชีให้หมดไปภายในระยะเวลาที่ได้รับประโยชน์จากสินทรัพย์นั้น ได้แก่ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ สัมปทาน สิทธิการเช่า เป็นต้น
2
สินทรัพย์ไม่มีตัวตน ที่ไม่ต้องทำการตัดบัญชี ได้แก่ เครื่องหมายการค้า ค่าความนิยม เป็นต้น
1
💦.....หวังว่าบทความนี้ จะช่วยให้คุณผู้อ่าน ได้รู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับสินทรัพย์ไม่มีตัวตนได้มากขึ้นนะคะ แล้วเจอกันใหม่บทความหน้าค่ะ 😉
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณกำลังใจและการติดตามนะคะ ทุกการอ่าน ไลค์ แชร์ หรือคอมเม้นท์มีความหมายเสมอค่ะ ❤❤🙏🙏❤❤

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา