Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
25 มี.ค. 2021 เวลา 11:40 • ปรัชญา
ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลได้ จิตเขาบรรลุของเขาเอง
ขอบพระคุณรูปและข้อความจาก Dhammada.net
หลวงพ่อปราโมทย์ :
ใจเราอยากให้หาย ทำไมใจเราอยากให้หาย เพราะมันอยากดี อยากสุข อยากสงบ จิตใต้สำนึกนี้มันรักตัวเอง มันรักกาย รักใจนี้เหนียวแน่น
คิดว่ากายกับใจเป็นเราเหนียวแน่นมาก อยากให้ดี
อยากให้สุข อยากให้สงบ แล้วหาทางทำ
มีความอยากเกิดขึ้น กับมีความหลงผิดว่ากายกับใจเป็นเรา ก็ไปหลงรักมันเข้า
ไปยึดถือมันเข้า เสร็จแล้วก็เลยอยาก เกิดตัณหา เกิดอยากให้มันดี อยากให้มันสุข
อยากให้มันสงบ เกิดการกระทำกรรมการสร้างภพ
กำหนดโน้นกำหนดนี้หาทางแก้ไขหาทางรักษาไปเรื่อย
สิ่งที่เกิดขึ้นมา คือ ทุกข์นั่นเอง ทุกข์แต่เกิด คือ อวิชชามีอยู่
ไม่รู้ความจริงของกายของใจ คิดว่าเป็นตัวเรา ยึดถือเหนียวแน่นว่าเป็นเรา
ก็เกิดตัณหา มีอวิชชาก็เลยมีตัณหาขึ้นมา
อยากให้ตัวเรามีความสุข อยากให้ตัวเราสงบ อยากให้ตัวเราดี
อยากให้ตัวเราพ้นทุกข์ อยากให้ตัวเราบรรลุมรรคผลนิพพาน
มีแต่คำว่า อยาก กับคำว่า ตัวเรา พอมีความอยากเกิดขึ้นจิตใจก็ดิ้นรนทำงาน
ทำอย่างนี้น่าจะดีๆ ทำอย่างนี้น่าจะไม่ดี จิตใจจะทำงานดิ้นไปเรื่อยๆ
จิตใจที่ทำงาน จิตใจที่ดิ้นรน จิตใจที่เกิดภาระทางใจขึ้นมา มีความทุกข์ขึ้นมา
ความทุกข์ทางใจก็เกิดเพราะว่าใจมันดิ้น พอยิ่งดิ้นแล้วก็ทุกข์นะ พอทุกข์ก็ยิ่งดิ้นอีก
อยากให้หาย นี้เข้าวงจรของมัน ยิ่งดิ้นก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งดิ้นนะ
ใครๆก็พยายาม ทำอย่างไรมันจะดี ทำอย่างไรมันจะสุข
ทำอย่างไรจะสงบ ดิ้นไปเรื่อยๆน่าสงสารนะ
แต่ถ้าเมื่อไหร่ละความเห็นผิดได้ ละอวิชชาได้ ตัณหาจะดับเอง
ละความเห็นผิดในว่ากายกับใจเป็นตัวเรา เป็นตัวดีตัววิเศษนะ
พวกเราไม่สามารถจะเห็นกายเห็นใจเป็นตัวทุกข์ได้ ไม่ใช่ภูมิที่พวกเราจะเห็นได้
สิ่งที่พวกเราเห็นได้ขณะนี้ก็คือ กายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เห็นได้แค่นี้แหล่ะนะ เกินกว่านี้เห็นไม่เป็น เห็นไม่ได้ รู้ไม่ได้ด้วยใจ
ตราบใดที่ยังเห็นว่า กายเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง จิตเป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง
มันก็ยังมีการดิ้นรนต่อไปอีก
เรียกว่า ตราบใดไม่รู้ว่ากายกับใจเป็นทุกข์ล้วนๆ เรียกว่า ไม่รู้ทุกข์นะ
ตัณหา คือ ตัวสมุทัยก็ยังมีอีก ใจมันดิ้นหาความสุข ดิ้นหนีความทุกข์ไปเรื่อยๆ
เพราะยังมีทางเลือกอยู่ ถ้ามารู้กายรู้ใจมากเข้าๆ
วันหนึ่งรู้แจ้งแทงตลอดลงในขันธ์ ๕ ในกายในใจ ในรูปในนามอันนี้ นี่ทุกข์ล้วนๆนะ
เห็นเป็นทุกข์ล้วนๆเลย
มันไม่เที่ยงมันเป็นทุกข์ล้วนๆเลย มันไม่ใช่ตัวเราเลย ใจจะวาง
มันจะไม่อยากให้กายนี้ใจนี้มีความสุขอีกต่อไปแล้ว
เพราะกายนี้ใจนี้ทำอย่างไรก็ไม่สุขหรอก มันเป็นตัวทุกข์ ทุกข์ล้วนๆ
มันรู้ด้วยปัญญาแล้วทำให้สุขไม่ได้ พอรู้ว่าทำให้สุขไม่ได้ มันจะวางจะปล่อยวาง
แต่ถ้ายังมีทางเลือก มีสุขกับมีทุกข์ มันจะเลือกเอาสุขจะเลือกหนีทุกข์ ใจก็ดิ้นไปเรื่อยๆ
นั้นอยู่ที่ความเข้าใจของเรานี่เอง ถ้าเมื่อใดเราสามารถเข้าใจรูปนามกายใจ ขันธ์ ๕ อะไรของเรานี้
ว่ามันไม่เที่ยงนะ มันเป็นตัวทุกข์แท้ๆนะ มันบังคับไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวเราหรอก
เป็นสิ่งที่อาศัยเกิดขึ้นมาชั่วคราวแล้วก็แตกสลายไป ทั้งรูปทั้งนามเป็นอย่างนี้แล้ววาง
ใจจะหมดความดิ้นรน เรียกว่า ตัณหาถูกละไป รู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อใด
สมุทัย คือ ตัณหาถูกละโดยอัตโนมัติ อัตโนมัติแล้วไม่ขึ้นมาอีกแล้ว เพราะรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว
ของพวกเรา ภาวนาที่อยู่ครึ่งๆกลางๆนะไม่ใช่ปุถุชนธรรมดาๆ
เราจะเห็นว่าถ้ามีความอยากแล้วมีความทุกข์ ถ้าเกิดความอยากนะใจก็ดิ้นรน ใจเป็นทุกข์
เราเห็นได้แค่นี้นะ
เรายังไม่เห็นหรอกว่าที่ดิ้นรนก็เพราะว่า มันรักตัวเองๆ
เพราะมันเห็นว่า กายนี้ใจนี้เป็นของดีของวิเศษ
ถ้าเมื่อใดมันเห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตานะ มันเลิกรักตัวเอง
มันก็จะเลิกดิ้นรน หมดตัณหาที่จะเที่ยวหาความสุข เที่ยวหนีความทุกข์
ตัณหาพูดย่อๆเลยนะ จริงๆแล้วก็คือ การวิ่งหาความสุข วิ่งหนีความทุกข์นั่นเอง ดิ้นรนไป
พอดิ้นรนแล้วก็ทุกข์มากกว่าเก่า ใจเป็นทุกข์อึดอัดขัดข้องขึ้นมา
นั้นหน้าที่เรามีนิดเดียวนะ รู้กายรู้ใจๆ อย่างที่เขาเป็น รู้ไปเรื่อยๆ รู้จนวันหนึ่งมันอิ่ม
รู้จนวันหนึ่งมันพอนะ มันพอ มันพอของมันเอง ตรงที่มันพอของมันเอง มันวางของมันเองๆ
1
ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้นะ ไม่มีใครทำได้เลยสักคนเดียวในโลกนี้
จิตเขาบรรลุมรรคผลนิพพานของเขาเอง
เมื่อเขามีปัญญาแก่รอบในกองทุกข์จริงๆ ต้องเห็นขันธ์ ๕
เห็นกายเห็นใจเป็นทุกข์ล้วนๆ เมื่อไหร่เขาวางของเขาเองแหล่ะ
นี่พวกเราเห็นไม่ได้ เราก็เห็นว่าร่างกายนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง
จิตนี้เป็นทุกข์บ้างเป็นสุขบ้าง เราเห็นได้แค่นี้ เห็นแค่นี้ก็ยังดี รู้สึกปัญญามันก็เกิดเป็นลำดับๆไป มันก็จะเห็นเลย
ความสุขก็ชั่วคราวนะ ความทุกข์ก็ชั่วคราว กุศลก็ชั่วคราว อกุศลก็ชั่วคราว พอชั่วคราวๆไปเรื่อยในที่สุด
จิตหยุดความดิ้นรน นี่พอจิตหยุดความดิ้นรน จิตจะไปเห็นธรรมะที่ไม่ดิ้นรน เห็นนิพพาน นิพพานนี่ไม่มีตัวมีตนอะไร มีความสงบ สันติ
ถ้าฝึกลำดับๆไปนะ วันหนึ่งมันรู้แจ้ง รู้แจ้งในกายในใจแล้วก็พ้นแล้ว มันรู้ทุกข์นั่นแหล่ะ
ละสมุทัย ทำนิโรธ คือ นิพพานให้แจ้งขึ้นมาต่อหน้าต่อตา
การรู้ทุกข์จนละสมุทัย แจ้งนิโรธนี่แหล่ะ เรียกว่า มรรค เรียกว่า การเจริญมรรค
การเจริญมรรคจริงๆ ก็คือ การรู้ทุกข์นั่นเอง
สวนสันติธรรม
CD: 16
File: 491124B.mp3
Time: 1.54 – 8.31
อ้างอิง :
http://www.dhammada.net/2010/06/30/2618/
เว็บไซต์
Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ขอบพระคุณรูปจาก dhamma.com
2 บันทึก
13
12
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ธรรมะเพื่อความพ้นทุกข์
2
13
12
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย