Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
THE MODERNIST
•
ติดตาม
26 มี.ค. 2021 เวลา 02:00 • สุขภาพ
เมื่อสังคมรอบข้างเลือกที่จะ “เลือกปฏิบัติ” ต่อฉัน – บทชีวิตเนื่องในวันรณรงค์เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติสากล
1 - บทนำ
โดยปกติแล้วทุกวันที่ 1 มีนาคมจะเป็นวันรณรงค์เพื่อยุติการเลือกปฏิบัติสากล ซึ่งมีสัญลักษณ์เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติระหว่างบุคคลไม่ว่าจะด้วยเชื้อชาติไหน ศาสนาใด ความคิดเห็นทางการเมืองแบบไหน รวมไปถึงเพศสภาวะ ความแตกต่างหลากหลายทางด้านสุขภาพ ก็ต้องปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรม
1
ผมในฐานะเป็นหนึ่งในผู้ที่รณรงค์ด้านเอชไอวี ซึ่งที่ผ่านมาก็มักจะถูกเลือกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ก็จะเดินทางไปรณรงค์ หรือในบางปีก็ได้รับเชิญไปขึ้นพูดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการถูกเลือกปฏิบัติและรณรงค์เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติอีกด้วย
ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่เรามักจะไปตามงานที่เขาจัดมาให้เสมอ และเห็นการถูกพูดถึงการเลือกปฏิบัติที่ยังคงมีอยู่ นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ผมไม่สบายใจและภาพในหัวก็เดจาวูเข้าสู่เรื่องราวเก่าๆ ที่เราถูกสังคมรอบข้างเลือกที่จะ “เลือกปฏิบัติ” กับเรา
และนี่คือเรื่องเล่าที่เราอยากแบ่งปัน เพื่อเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการถูกเลือกปฏิบัติที่จะต้องหายไปจากสังคมไทยให้ได้ในอนาคตอันใกล้นี้
2 - เป็นเกย์แล้วมันผิดเหรอ? ทำไมเราถึงถูกใช้ความรุนแรงและเลือกปฏิบัติ?
ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ผมอายุเพียง 8 ปี ผมเริ่มรู้ตัวว่าตนเองคือผู้ชายที่ชอบผู้ชาย ที่ใครๆ มักจะนิยามในสมัยก่อนว่า “ตุ๊ด” เนื่องจากคำว่า “เกย์” เพิ่งมีวิวัฒนาการและถูกพูดถึงเมื่อประมาณ 10 ปีให้หลัง และผมก็ชอบในความเป็นผมในตอนนั้นด้วยเช่นกัน ผมจึงมีนิสัยที่ร่าเริง ขี้เล่น และชอบเล่นกับเพื่อนผู้หญิง
แต่แล้วบางสิ่งบางอย่างก็เกิดขึ้นกับผม เพราะด้วยการที่เพศสภาวะของผมไม่ได้ปิดบัง กลับกันมันถูกเปิดเผยเพราะเราอยากจะเปิดตั้งแต่แรก เราจึงโดนอาจารย์บางท่านในโรงเรียนรังแกและเริ่ม “เลือกปฏิบัติ” ต่อเราสารพัดอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันเราจากการต่อแถวทานข้าว และให้เป็นคนสุดท้าย รวมไปถึงการถูกเรียกให้ไปทำบางอย่างโดยที่เราก็ไม่ได้ยินยอม เช่น ชอบให้เราไปเต้น ไปนวดให้เขา และโดนเขากลั่นแกล้งอยู่บ่อยครั้ง
แต่เชื่อไหมครับว่าจากการเลือกปฏิบัติที่ใครหลายคนอาจจะมองว่ามันไม่มีอะไรสักหน่อย มันเริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ครูคนเดิมเรียกเราไปหน้าห้อง และให้เรายืนบนเก้าอี้ เขาเริ่มแกล้งเราต่อหน้าเพื่อนๆ ในห้องเรียน จากเล็กน้อย จนกระทั่งจู่ ๆ เขาก็ดึงเก้าอี้ที่เรายืนอยู่ออก เราล้มลงและร้องไห้ ในขณะที่เพื่อนๆ หลายคนในห้องเรียนหัวเราะชอบใจ เราอัดอั้นและเก็บเรื่องนี้เป็นแผลในใจมามาก
หลังจากนั้นเราก็โดนเพื่อนๆ ในห้องกลั่นแกล้งและเลือกปฏิบัติกับเรา เพราะสังคมในตอนนั้นยังไม่มีการสอนให้รู้จักความแตกต่างหลากลายและการยอมรับกันในสังคม ทำให้วันหนึ่งเราเองที่เริ่มทนไม่ไหว และจบมันด้วยการเอาขลุ่ยตีหลังเพื่อนที่ล้อเรา
ใช่ครับ นั่นคือการแก้ไขปัญหาที่ผิดมหันต์มาก แต่มันไม่มีทางเลือกสำหรับเด็กอายุ 11 ปีที่โดนกลั่นแกล้งมาโดยตลอด แต่แน่นอนว่ามันจบลงด้วยการที่ผมไม่เคยโดนกลั่นแกล้งและเลือกปฏิบัติอีกเลย…
3 - บ้านแตก สาแหรกขาด และการติดเชื้อเอชไอวี – ต้นเหตุที่แท้จริงของการเลือกปฏิบัติ?
ผ่านมา 4 ปี ผมเริ่มเข้าใจเพศสภาวะในสังคมมากขึ้น และแน่นอนว่าผมเริ่มพัฒนาตนเอง โดยเริ่มต้นจากเปลี่ยนแปลงตนเองและใส่ใจกับการเรียนมากขึ้น โชคดีที่เพื่อนในระดับมัธยมศึกษาเป็นเพื่อนที่นิสัยค่อนข้างดี และไม่เลือกปฏิบัติกับเรา รวมไปถึงอาจารย์ที่เริ่มดีกับเรามากขึ้นอีกด้วย
แต่ในความโชคดี ก็ย่อมมีความโชคร้ายอยู่ ช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่บ้านผมก็เกิดการทะเลาะกันอย่างรุนแรง ระหว่างพ่อเลี้ยงกับผมเอง ทำให้สุดท้ายผมตัดสินใจหนีออกจากบ้านทันที และแน่นอนว่าผมก็คงทำอาชีพอื่นไม่ได้ นอกจากการค้าบริการทางเพศที่ดูแล้วน่าจะได้เงินเร็วและประคองชีวิตได้ ผมจึงเริ่มใช้ชีวิตแบบที่คนอื่นไม่ได้ใช้ คือเช้าอยู่ห้างสรรพสินค้า ค่ำขายบริการ รุ่งเช้าอีกวันเข้ามาอาบน้ำและเปลี่ยนชุดที่ห้องเช่า สลับกันแบบนี้เป็นระยะเวลาหกเดือน แต่สุดท้ายแม่ก็ตามเจอและหาข้อยุติได้เป็นที่เรียบร้อย เรากลับมาอยู่กับแม่และค่อยๆ ทำความเข้าใจกัน
แต่ในความโชคร้าย ก็ย่อมมีความโชคร้ายกว่าที่เรายังไม่รู้ตัว นั่นคือการที่ผมพลั้งเผลอติดเชื้อเอชไอวีในขณะที่ขายบริการทางเพศ นั่นทำให้ผมวิตกกังวลมาก และนี่คือด่านสำคัญที่ทำให้ผมเรียนรู้กับการ “ถูกเลือกปฏิบัติ” อย่างแท้จริง
4 - เมื่อคนมองคนไม่เท่ากัน การเลือกปฏิบัติจึงเกิดขึ้น…
ในวันที่ผมรู้ว่าตนเองติดเชื้อเอชไอวี และผมต้องบอกเรื่องนี้กับครอบครัว ผมกลุ้มใจมากว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ผมเสียใจมากในช่วงนั้น แต่สุดท้ายผมก็บอกกับครอบครัว สิ่งที่ได้รับกลับมาคือการถูกเลือกปฏิบัติด้วยการแยกของกินของใช้ออกจากกัน ยังไม่นับการที่ไม่สนทนากับผมเป็นอาทิตย์ ๆ จนได้คุยกับหมอประจำตัวจึงเริ่มดีขึ้น
ผ่านไป 3 ปี ผมได้เริ่มทำงานเป็นพนักงานบริษัทด้านการตลาดแห่งหนึ่ง ซึ่งผมเด็กที่สุดในกลุ่มพนักงาน ผมเริ่มทำงานด้วยความสนุกและใจรัก ผมเต็มที่กับการทำงานนี้มากๆ จนกระทั่งทำงานได้ 3 เดือน ที่ทำงานสืบทราบว่าเรามีเชื้อเอชไอวี
เหตุการณ์หลังจากนั้น ผมถูกเรียกตัวไปคุยกับผู้จัดการแผนก เขาเริ่มพูดด้วยประโยคที่ว่า “ติดเมื่อไหร่ ทำไมไม่บอก” และแน่นอนผมก็โพล่งด้วยประโยคที่ว่า “ทำไมผมต้องบอก ในเมื่อเชื้อไม่ได้ทำให้ความสามารถผมลดลง กลับกันมีแต่ผลงานที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ” เขาเลยพรรณนาโวหารร้อยแปด แต่จับใจความได้ว่า เขาจะไล่เราออก เพราะเหตุผลที่ดักดานมากๆ อย่าง “กลัวเอชไอวีติดทางอากาศ” ซึ่งทำให้ผมตกใจกับประโยคนี้มาก และแน่นอนว่าการถูกเลือกปฏิบัติในครั้งนี้ ทำให้ผมต้องตกงานและฟ้องร้องไม่ได้อีกด้วย
5 - ไม่ใช่แค่เรา แต่สังคมที่ไม่เข้าใจต่างหากที่ค่อยๆ เลือกปฏิบัติกับเรา
หลังจากที่ผมตัดสินใจมาทำงานด้านเอชไอวี ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา (ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกมาทำงานด้านสื่อ และใช่ครับ ผมเป็นบรรณาธิการอำนวยการให้ที่นี่) ผมและเพื่อนๆ ในเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย ต่างต้องพบเจอการเลือกปฏิบัติจากความไม่เข้าใจและการตีตราเอชไอวีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการตรวจเลือดก่อนเข้าเรียนคณะพยาบาล หรือการถูกไม่ให้รับราชการตำรวจตามตำแหน่งทายาท เพราะมีเชื้อเอชไอวีซึ่งในกฎตำรวจมีข้อต้องห้ามเหล่านี้อยู่
แน่นอนว่าในปัจจุบันนี้ มีการคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ประมาณ 450,000 คน ซึ่งกว่าร้อยละ 80 สามารถเข้าถึงบริการดูแลรักษาโดยที่สิทธิประโยชน์ในการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ที่จัดให้มีอยู่ในทุกระบบหลักประกันสุขภาพ โดยประสิทธิภาพของยาต้านเชื้อเอชไอวีถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สุขภาพของผู้ติดเชื้อเอชไอวีแข็งแรงดี ไม่มีอาการป่วย ซึ่งส่งผลให้สามารถทำงานได้ เรียนหนังสือได้ มีอายุยืนยาวเช่นเดียวกับคนไม่ติดเชื้อเอชไอวี และหากกินยาต้านไวรัสเอชไอวีต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จนตรวจไม่พบเชื้อเอชไอวีในเลือด จะไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีไปให้บุคคลอื่นได้เลย หรือที่เราเรียกกันว่า U=U (Undetectable = Untransmittable) อีกด้วย
แต่จากสองกรณีก่อนหน้านี้ รวมไปถึงกรณีที่ผู้ที่อยู่ร่วมกับเอชไอวีไม่สามารถสมัครงานในร้านอาหาร พนักงานโรงแรม ข้าราชการบางตำแหน่ง ตลอดไปจนถึงพบการละเมิดสิทธิ์ในการตรวจเลือดโดยไม่สมัครใจ และเปิดเผยผลเลือด ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติจำนวนมาก ทั้งการไม่รับเข้าทำงาน การถูกเปิดเผยผลเลือดต่อสาธารณชนซึ่งส่งผลให้เกิดความรังเกียจ กีดกัน และเลือกปฏิบัติ ตลอดจนไปถึงแยกพื้นที่ระหว่างผู้ที่มีเชื้อกับผู้ที่ไม่มีเชื้อ
ภาพจาก มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
6 - แล้วเราควรจะทำอย่างไรกันดี?
วันนี้ (1 มีนาคม 2564) เครือข่ายภาคประชาชนด้านเอดส์ ประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ (กพอ.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายเยาวชนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย และมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรม และได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องถึง 4 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ หน่วยงานรัฐทุกแห่งต้องยกเลิกกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย แนวปฏิบัติ หรือประกาศใด ๆ ที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี
นอกจากนี้ยังขอให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เร่งรัดดำเนินการยกร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาพิจารณาออกมาใช้เป็นกฎหมายโดยเร็วที่สุด และให้กระทรวงศึกษาธิการบังคับใช้นโยบายการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้มีเชื้อเอชไอวีในการสมัคร การคัดเลือก และการเรียนหรือศึกษาต่อในสถานศึกษาอย่างจริงจัง รวมถึงให้กระทรวงแรงงานติดตาม ตรวจสอบ และกำกับให้สถานประกอบการยกเลิกนโยบายที่บังคับตรวจเลือดเอชไอวี ที่ใช้เป็นเงื่อนไขในการจ้างงาน
จากการพูดคุยกันในวันนี้ นอกเหนือจากการทำงานเชิงรุกต่อรัฐแล้ว สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ยังได้แลกเปลี่ยนว่าทุกฝ่ายควรทำงานในอีกหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างการยอมรับต่อความแตกต่างหลากหลาย การสร้างความเข้าใจกับบุคคลต่างๆ และการที่รัฐต้องมีบทลงโทษที่จริงจังในการเลือกปฏิบัติทุกสถานะต่อไป
ซึ่งทุกคนต้องพัฒนาและก้าวไปด้วยกัน เพื่อทำให้สังคมนี้น่าอยู่มากขึ้นต่อไป…
เขียนโดย กฤตนัน ดิษฐบรรจง
#MODERNIST - The Magazine on Life.
ติดต่อโฆษณา
ad@modernistthai.com
1 บันทึก
2
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Positive Life
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย