28 มี.ค. 2021 เวลา 02:09 • สุขภาพ
คุณกำลังกินยาอย่างผิด ๆ ถูก ๆ อยู่หรือเปล่า? วิธีที่ถูกต้อง และปลอดภัยอยู่ทางนี้นะ
ปฏิบัติให้ถูก เพื่อสุขภาพที่ดี และความปลอดภัยสูงสุด
การกินยานั้นถือเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวของเราทุกคน นั่นก็เพราะยาในรูปแบบของการกินเป็นชนิดที่ใช้กันอย่างกว้างขวางมากที่สุด เชื่อว่าหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าการกินยาที่ถูกต้อง และปลอดภัยนั้นควรทำอย่างไร ส่วนคนที่รู้แล้วก็ให้ถือว่านี่เป็นการทบทวนความรู้ละกันนะครับ
1
สีสันสวยงามกันเลยทีเดียว
หลักการใช้ยาที่ถูกต้อง และปลอดภัย มีดังนี้
1. ก่อนใช้ยาทุกครั้งต้องอ่านฉลากยาอย่างละเอียด
ฉลากยา และรายละเอียดต่าง ๆ ที่สำคัญ
สิ่งสำคัญคือเราต้องอ่าน ทำความเข้าใจ และปฏิบัติตามฉลากนั้นอย่างเคร่งครัด เช่น ยานี้กินก่อนหรือหลังอาหาร มีวิธีการกินอย่างไร ต้องเคี้ยวก่อนหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเขียนไว้บนฉลาก ที่ออกโดยเภสัชกรที่จ่ายยาให้กับผู้ป่วย
2
2. ใช้ยาให้ตรงกับโรค
ง่าย ๆ คือต้องใช้ยาที่ได้รับการวินิจฉัยอาการป่วยจากแพทย์หรือได้รับการปรึกษาจากเภสัชกรก่อน เพื่อจะได้ไม่เป็นอันตราย และต้องกินยาตามข้อบ่งใช้เท่านั้น
1
3. ใช้ยาให้ถูกวิธี
อย่าแกะ เดี๋ยวปั๊ดตีมือ!!!
เช่น ไม่แกะผงยาที่อยู่ในแคปซูลมาโรยแผล และไม่ควรกินยาบางชนิดพร้อมกัน เพราะอาจมีผลต่อการดูดซึมยาในทางเดินอาหาร เช่น ยาต้านจุลชีพบางประเภท ไม่ควรกินพร้อมกับยาน้ำลดกรด เป็นต้น
1
4. ใช้ยาให้ถูกกับบุคคล
ยาบางชนิด ไม่ควรให้ในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ หรือผู้ที่มีความผิดปกติของตับหรือไต ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงยา และขับยาออกจากร่างกาย หรือผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร ก่อนใช้ยาจึงควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์อย่างเคร่งครัด
2
5. ใช้ยาให้ถูกขนาด
1
ควรใช้ยาตามขนาดที่แพทย์หรือเภสัชกรระบุไว้ เพราะถ้าใช้เกินขนาดอาจเกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือถ้าใช้น้อยไปอาจจะทำให้การรักษาโรคไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
2
6. ใช้ยาให้ถูกเวลา
เพราะยาบางชนิดอาจถูกรบกวนโดยการดูดซึมของอาหารได้ เช่น ยาก่อนอาหาร เป็นต้น
วิธีกินยามีหลายรูปแบบ ได้แก่
 
1.  ยาก่อนอาหาร
อ้ามข้าว ก่อนค่อยกิน
คือให้กินก่อนมื้ออาหาร 30-60 นาที ซึ่งเวลาดังกล่าวนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่กระเพาะอาหารว่าง เนื่องจากยาที่ให้กินก่อนอาหารมักเป็นยาที่มีข้อจำกัด หากกินลงไปแล้วมีอาหารร่วมอยู่ด้วยในกระเพาะอาหารจะลดการดูดซึมของยา กล่าวคือทำให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร หรือไม่ได้ผลเลย ได้แก่ ยารักษาโรคติดเชื้อบางชนิด ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้กินยาตอนท้องว่างเท่านั้น
1
หรือยาที่ใช้ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียน ต้องกินก่อนอาหาร 30 นาที จึงจะได้ผลเต็มที่ และป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนที่จะเกิดหลังจากผู้ป่วยกินอาหารเข้าไปด้วย เป็นต้น
หากลืมกินยาในช่วงเวลาดังกล่าว ให้กินยาเมื่อผ่านอาหารมื้อนั้นไปแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพื่อทดแทน
1
2. ยาพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที
กินข้าวเสร็จ รีบจัดเล้ย!!!
ยาพร้อมอาหารคือให้เรากินอาหารไปบางส่วนแล้วให้กินยาตาม จากนั้นจึงรับประทานอาหารต่อจนอิ่ม
1
ส่วนยาที่ต้องกินหลังอาหารทันทีนั้น ให้กินอาหารจนอิ่ม แล้วจึงรีบกินยาทันที โดยยาที่แนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันที จะเป็นยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือคลื่นไส้อาเจียนถ้าเรากินตอนท้องว่าง ได้แก่ แอสไพริน ยารักษาโรคปวดข้อบางชนิด ซึ่งการกินยาเหล่านี้หลังอาหารทันที จะช่วยป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากการกินยานั่นเอง
 
3. ยาหลังอาหาร
1
กินข้าวเสร็จ รอนิดนึงนะ
ให้กินหลังมื้ออาหาร 15-30 นาที เพราะยาชนิดนี้มักจะเป็นยาทั่วไป ซึ่งอาหารที่ทานเข้าไปจะไม่รบกวนการดูดซึมของยา และอาจเพิ่มการดูดซึมของยาบางชนิดได้
 
4.  ยาระหว่างมื้ออาหาร
ถ้าเลือกก่อนอาหารก็ต้องไปให้สุดนา
กล่าวคือให้กินยาก่อนหรือหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง โดยถ้าเลือกกินยาเป็นก่อนอาหารแล้ว ครั้งต่อไปก็ต้องกินยาเป็นก่อนอาหารทุกครั้งของการรักษาคราวนั้น ๆ ไป
 
5. ยาก่อนนอน
กินแล้วก็นอน
ให้กินก่อนเข้านอนตอนกลางคืนประมาณ 15-30 นาที
 
6. ยาตามอาการต่าง ๆ
นับจำนวน และเวลาให้ดีนะ
เช่น ยาพาราเซตามอล คือกิน 2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง เวลาปวด หมายความว่า กินยาครั้งละ 2 เม็ด เมื่อมีอาการปวด ถ้าต่อมามีอาการปวดอีกแต่ยังไม่ถึง 4-6 ชั่วโมง ยังไม่ควรกินยานั้นซ้ำอีก เพราะอาจเกิดอันตรายจากการกินยาเกินขนาดได้ ต้องรอให้ครบอย่างน้อย 4 ชั่วโมงก่อน จึงจะกินยาครั้งต่อไปได้
 
กรณีลืมกินยาควรทำอย่างไร?
ในส่วนของยาสามัญประจำบ้านทั่วไป หรือยาที่กินเมื่อมีอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ฯลฯ ถ้าลืมก็ไม่ต้องทำอะไร
แต่หากเป็นยาที่ผู้ป่วยต้องกินเป็นประจำเพื่อรักษาโรคประจำตัว เช่น โรคความดันสูง หรือโรคไขมันในเลือดสูง อันนี้ถ้าลืมกินยาแล้วนึกขึ้นได้ ผู้ป่วยสามารถกินยานั้นได้ทันที
แต่หากเป็นยารักษาเบาหวาน ให้กินยามื้อต่อไปสัมพันธ์กับมื้ออาหารตามที่แพทย์สั่ง
ทั้งนี้อย่าหัวดีเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าในมื้อต่อไปเด็ดขาดนะครับ เดี๋ยวจะเป็นการกินยาเกินขนาดไป
นอกจากนี้ยังมีข้อควรระวัง หรือคำแนะนำในการกินยาต่าง ๆ ที่ควรใส่ใจ ดังนี้
 
1. ควรกินยานี้หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง
เช่น ยาลดกรด สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าเป็นแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์มักสั่งให้กินหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง เนื่องจากระดับของกรดในกระเพาะอาหารจะมีปริมาณสูงสุดในช่วง 1-2 ชั่วโมงหลังอาหาร นอกจากนี้แพทย์ยังสั่งให้กินยาลดกรดก่อนนอนด้วย เพราะในช่วงกลางคืนร่างกายจะมีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารออกมากเช่นกัน จึงควรปฏิบัติให้เคร่งครัด เป็นต้น
 
2. กินยานี้แล้วควรดื่มน้ำตามมาก ๆ
อย่าลืมดื่มน้ำตามเยอะ ๆ นะ
อาจแบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้อาเจียนมาก นอกจากควรกินยาหลังอาหารทันทีแล้วยังต้องดื่มน้ำตามมาก ๆ ด้วย เพื่อลดผลข้างเคียงของยา
อีกกรณีหนึ่งคือ เป็นยาที่ตกตะกอนในไตได้ง่าย จึงต้องดื่มน้ำตามมาก ๆ นั่นเอง
 
3. ยานี้กินแล้วอาจทำให้ง่วงนอน
เนื่องจากยาเหล่านี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ยาที่กินแล้วทำให้ง่วงนอน ผู้ใช้ยาจะต้องระมัดระวังเมื่อขับรถ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล ยาประเภทนี้มักเป็นยาแก้แพ้สำหรับผื่นคัน หรือยาที่ใช้ลดน้ำมูก เป็นต้น
4. ยาที่กินแล้วมีผลกดประสาทโดยตรง
อาทิ ยาคลายเครียด หรือยานอนหลับ ที่สำคัญคือควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเด็ดขาด เมื่อกินยาดังกล่าว
 
5. ควรกินยานี้ติดต่อกันทุกวันจนหมด
ไม่ใช่กินทีเดียวหมดแบบนี้!!!
ยาบางชนิดเป็นยาสำหรับบรรเทาอาการ เมื่อหายแล้วหรืออาการดีขึ้นก็สามารถหยุดใช้ยาได้ แต่ยารักษาโรคติดเชื้อ จำเป็นต้องกินเพื่อรักษาโรคอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะนานแค่ไหนนั้นก็ขึ้นกับชนิด และความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้พิจารณา และกำหนดเอง เช่น ต้องกินยาติดต่อกัน 7-10 วัน เพื่อให้แน่ใจว่ายาได้ไปทำลายเชื้อโรคหมดสิ้น ไม่หลงเหลือให้กระตุ้นการดื้อยาได้
คำแนะนำสำหรับการกินยาเป็นช่วงระยะเวลาติดต่อกันนี้ ยังอาจพบในโรคบางชนิด เช่น โรคข้ออักเสบเรื้อรังบางชนิด หรือโรคแผลในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจต้องกินยาอย่างต่อเนื่องนานถึง 6 สัปดาห์ จึงจะสามารถทำให้แผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้สมานได้เป็นปกติ หากไม่ทำตามคำแนะนำนี้ก็อาจต้องกลับเป็นแผลซ้ำอีกได้
 
6. เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน
จำพวกนี้ได้แก่ ยาลดกรดชนิดเม็ด หรือยาขับลมชนิดเม็ด ทั้งนี้เพื่อหวังผลให้ยาที่ถูกเคี้ยวแล้วนั้นกระจายตัวในส่วนของทางเดินอาหารได้อย่างทั่วถึง ทำให้ได้ผลจากการรักษาที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงการกินยากับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน เช่น เหล้า ไวน์ เบียร์ ชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม ควรกินยาพร้อมกับน้ำเปล่าที่สะอาด และไม่ควรเป็นน้ำอุ่น
กินยามากเกินไป เกิดอันตรายอย่างไร?
จ๊ากกก!!! นี่ก็กินเยอะไป!!!
หากร่างกายได้รับยามากเกินไปอาจทำให้ตับอักเสบ และไตวายเฉียบพลันได้ เช่น การกินยาพาราเซตามอลเกินขนาด ทำให้เกิดภาวะตับวายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ทำให้ระดับยาในร่างกายสูงทำให้เกิดความเป็นพิษ หรือผลข้างเคียงต่ออวัยวะต่าง ๆ หรือเสียสมดุลของสารต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น การกินยาเบาหวานมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือการกินยาต้านแบคทีเรียบางประเภทในขนาดสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนได้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
1
ยาบางชนิดทำให้เกิดการแพ้ยา เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านอักเสบ ยาลดระดับกรดยูริกที่เป็นสาเหตุของโรคเก๊าท์ เป็นต้น ซึ่งการแพ้ยามีอาการตั้งแต่ มีผื่นแบบไม่รุนแรง จนถึงมีอาการแพ้รุนแรงที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ดังนั้นผู้ป่วยควรรู้ และจดประวัติการแพ้ยาของตนเอง และแจ้งเภสัชกรหรือแพทย์เมื่อต้องได้รับการรักษา
 
แม้ยาสามารถใช้รักษาทำให้หายป่วย หรือร่างกายรู้สึกดีขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ยาทุกชนิดไม่ว่าจะได้มาจากการจ่ายยาของแพทย์ หรือยาที่หาซื้อเองตามร้านขายยา ล้วนมีอันตราย เช่นเดียวกับที่มีคุณประโยชน์
ที่จะเน้นย้ำกันในช่วงสุดท้ายนี้ก็คือ ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเป็นประจำ และสม่ำเสมอ ไม่ปรับเพิ่มหรือลดยาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ ควรมาพบแพทย์ตามเวลานัด เพื่อติดตามผลการรักษา ปัญหาการใช้ยาหรือปัญหาข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดได้จากการรับประทานยา
ขอให้สุขภาพดีกันถ้วนหน้าครับ
ทั้งนี้ยืนยันว่าบทความของผมไม่ใช่คำตอบหรือบทสรุปที่ดีที่สุด ทุกคนควรใช้วิจารณญาณส่วนตัวในการรับข้อมูลนะครับ
ขอบคุณทุกการตอบรับ ไม่ว่าจะเป็นการติดตาม, ไลค์, คอมเมนท์ หรือว่าแชร์ ทุกกำลังใจสำคัญสำหรับผมมาก
ขอบคุณครับ
แล้วพบกันใหม่ในโพสต์หน้า
สวัสดีครับ
ขอบคุณที่มา
โฆษณา