Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เขียนตามใจ ทำตามชอบ
•
ติดตาม
31 มี.ค. 2021 เวลา 12:17 • หนังสือ
🔺 ขุนช้าง ขุนแผน ลุยไฟ
พิสูจน์ว่า ใครโกหก !🔺 ตอนที่ 7
มีบทนี้ในหนังสือด้วยหรือ?!? ใครกันแน่ที่ลุยไฟ ...แล้วอ่านตอนจบ”วันทอง” ในสไตล์พี่เขียนกันค่ะ😊🥰😊
ดูละครเรื่อง “วันทอง” ตอนที่ 10 ขุนช้างขุนแผน นุ่งขาวห่มขาว ทำพิธีลุยไฟ เพื่อตัดสินว่าขุนแผนฆ่าเพื่อน คือขุนเพชรขุนราม จริงหรือไม่
สงสัยว่าสมัยอยุธยามีพิธีลุยไฟเช่นนี้จริงหรือ?
และในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน มีการลุยไฟด้วยหรือ?
จำได้ว่าที่เคยอ่านตอนพระพันวษา พิจารณาคดี ขุนแผนลักนางวันทอง ก็ไม่เห็นจะมีการลุยไฟพิสูจน์สักนิดเดียว! และตามท้องเรื่องขุนแผนเป็นคนฆ่าเพื่อน 2 คนนี้จริง ไม่ต้องลุยไฟพิสูจน์กัน เพราะพระพันวษายกโทษให้
เอ๊ะ !...หรือพี่เขียนอ่านไม่ละเอียด....เอ้ากลับไปค้นอ่านดูอีกรอบ....
ขุนแผนลุยไฟ ในละคร วันทอง เรื่องในหนังสือเป็นอย่างไร?
พลิกอ่านตอนที่พระพันวษาพิจารณาคดี สรุป ได้อย่างนี้ค่ะ...
ขุนช้างเป็นโจทก์ ฟ้อง ยืนยันว่า วันทองเป็นภรรยาของตน ถูกต้องตามกฎหมาย ขุนแผนมาลักตัวไป
ขุนแผนก็ให้การ ตรงกับที่วันทองให้การไว้
🚩”ณวันศุกร์เดือนแปดขุนช้างโจทก์
ฟ้องหากล่าวโทษใจความว่า
ได้หาผู้เถ้าผู้แก่มา
สู่ขอภรรยาชื่อวันทอง
เถ้าศรีประจันยกลูกให้
ทำขันหมากใหญ่ได้ร่วมห้อง
เป็นคู่ผัวตัวเมียครอบครอง
ประมาณได้สักสองเดือนตรา
เที่ยงคืนขุนแผนแสนสะท้าน
สะกดคนอาจหาญขึ้นเคหา
ทำชู้ร่วมรักแล้วลักพา
วันทองภรรยาขุนช้างไป”🚩
ขุนช้างบอกว่า ได้สู่ขอวันทองจากแม่ศรีประจัน อยู่กันมาได้ 2 เดือน ขุนแผนก็มาลักตัวไปตอนเที่ยงคืน
ส่วนขุนแผนก็ไม่ยอมรับข้อกล่าวหา บอกว่าสู่ขอต่อแม่เช่นกัน ได้แต่งงานกับพิมพิลาไลย (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วันทอง)อยู่ด้วยกัน 2 วันต้องไปออกรบ ระหว่างนั้นไม่รู้เลยว่าแม่ยายเอาเมียไปยกให้ขุนช้าง
☀️”ขุนแผนไม่รับในข้อหา
ว่าหาใช่ภรรยาขุนช้างไม่
เดิมวันทองชื่อพิมพิลาไลย
กับขุนแผนรักใคร่เป็นชู้กัน
จึงไปสู่ขอต่อมารดา
ได้เลี้ยงเป็นภรรยาเกษมสันต์
นอนหอกับวันทองได้สองวัน
มีราชการพลันต้องไปทัพ
ครั้นกลับลงมาแต่เชียงทอง
เห็นขุนช้างร่วมห้องเข้านอนหลับ
ขุนแผนไม่ฟ้องปองสินทรัพย์
อาลัยเมียก็กลับรับเมียมา☀️”
🔺สรุปว่าพระพันวษาให้ลงโทษนางศรีประจัน ที่ไปยกลูกสาวให้ผู้ชาย 2คน🔺
🚩”ลูกขุนปรึกษาให้ลงโทษ
ว่าเพราะแม่ยายโฉดทำมักง่าย
ยกลูกให้ครองทั้งสองชาย
ประจานเถ้าแสนร้ายแทนวันทอง
ขุนช้างบอกว่าขุนแผนตาย
จะหมายเมียเขาประสมสอง
บังอาจรื้อหอเขาเข้าครอบครอง
ต้องปรับตามบทพระอัยการ
ให้ยกเอาศักดิ์ขุนแผนปรับ
เป็นทรัพย์ผิดเมียเสียตามฐาน
ศรีประจันขุนช้างเป็นคนพาล
ให้เทียบไถ่ค่าประจานแทนวันทอง🚩”
นางวันทองก็ได้กลับไปอยู่กับขุนแผน พร้อมกับนางแก้วกิริยา มีผู้อุปการะเลี้ยงดูอย่างดี
นางศรีประจันถูกปรับ เพราะยกลูกสาวให้ชาย 2 คน และขุนช้าง ถูกเฆี่ยนหลัง และปรับทรัพย์เพราะไปรื้อห้องหอของขุนแผน
ไม่มีลุยไฟในเสภาตอนนี้
🌟ในบทเสภาขุนช้างขุนแผน ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ มีพิธีลุยไฟจริงค่ะ แต่ไม่ใช่ระหว่างขุนช้าง กับ ขุนแผน !🌟
เป็นผู้หญิง 2 คน ลุยไฟคือ สร้อยฟ้า กับ ศรีมาลาค่ะ
พิธีนี้มีในตอนท้ายๆเรื่อง หลังจากที่วันทองถูกประหารไปแล้ว พระไวย (ลูกขุนแผนกับวันทอง) มีเมีย 2 คน ชื่อ สร้อยฟ้า เมียพระราชทาน กับ ศรีมาลา ลูกพระพิจิตร เมียแต่ง
ทั้งสองคนไม่ถูกกัน มีเรื่องเป็นคดีความว่าใครทำเสน่ห์ให้พระไวยหลง เป็นคดีที่ตัดสินไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐาน จึงต้องให้ สร้อยฟ้า และศรีมาลา มาลุยไฟว่าใครพูดความจริง
คือละคร วันทอง เอาพิธีลุยไฟมาจับแพะชนแกะใส่เข้ามาให้ขุนแผน กับขุนช้างเป็นผู้ลุยไฟ เพื่อจับว่าใครโกหกเรื่องการฆ่าขุนเพชรขุนราม เพิ่มเติมสีสันให้ละครดูสนุกสนาน แต่อย่าไปหาอ่านนะคะ...จะหาไม่เจอค่ะ😀😀😀
ก็ไม่ตรงตามหนังสือไงคะ
พี่เขียนก็รู้สึกว่า มีเรื่องแต่งเติม เสริมต่อมากขึ้นทุกตอน จนดูเหมือนจะยืดเรื่อง และไม่ค่อยตรงกับหนังสือ.....บอกตามตรงว่าเริ่มจะขี้เกียจติดตามดูแล้วล่ะค่ะ ...
ไม่ใช่ละครไม่ดีนะคะ ฉากสวยสมจริง เครื่องแต่งกายงาม ดาราเล่นเก่ง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
ดูได้เพลินๆ ชอบที่เขียนบทยกให้วันทองเป็นผู้นำสิทธิสตรี ให้ผู้หญิงรู้ถึงคุณค่าของตนเอง ลุกขึ้นมาต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว
...แต่ดูโดยรวมๆตอนนี้ละครอาจจะไม่ค่อยถูกจริตพี่เขียนสักเท่าไรแล้วล่ะค่ะ...
เขาก็บอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า “ดัดแปลง” มาจากเสภาขุนช้างขุนแผน และไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลใดๆ คือไม่ได้เขียนบทยึดตามหนังสือ แต่ตีความใหม่ ว่างั้นเถอะ!
พี่เขียนก็จะขอหยุดพักการ พินิจละครวันทองไว้แค่นี้ก่อนนะคะ พอใกล้ๆจบมีการประหารวันทอง แล้วค่อยว่ากันใหม่
อ่านขุนช้างขุนแผน ฉบับอ่านเอง โดย พี่เขียนที่ลิ้งค์นี้ค่ะ
https://www.blockdit.com/series/5f6bd35636420c058ea63093
💙คิดเล่นๆว่าถ้าพี่เขียนเป็นคนเขียนบทจะจบเรื่องนี้อย่างไรดี? 💙
วันทองไม่มีทางเลือกไปอยู่กับขุนแผน เพราะต้องไปอยู่ร่วมบ้านกับลาวทอง และแก้วกิริยา ....บ้านแตกแน่ๆ
วันทองจะเลือกกลับไปอยู่กับขุนช้างก็ไม่ได้ เพราะ พระไวย(ลูกของวันทอง) ที่ไปลักตัวนางมาจากบ้านขุนช้าง ก็จะมีความผิดทันที.... นางไม่ยอมทำให้ลูกมัวหมองแน่
ถ้าเลือกไปอยู่กับลูก คือพระไวย บ้านนั้นแค่จัดการเรื่องเมียตัวเอง 2 คนก็ปวดหัวแย่แล้ว อย่าไปเพิ่มภาระให้ลูกเลย
🔺เลือกไปอยู่กับพระศาสนาดีที่สุด...พี่เขียนจะเขียนบทให้วันทองไปบวชชีเลยค่ะ🔺
ตอนที่เพชฌฆาตกำลังจะลงมือประหาร พระไวยขี่ม้ากลับมาบอกได้ทัน ว่าพระพันวษาได้ยกโทษประหารให้แล้ว ให้โอกาสเลือกใหม่ได้อีกครั้ง
ทุกคนที่รักวันทองต่างโล่งใจ ทั้งดีใจ และปลื้มใจ สุดท้ายวันทองกราบทูลพระพันวษาว่า
“🙏ข้าพระพุทธเจ้าขอเลือกทางสงบ ไปถือศีลบวชชีอยู่ในวัดพระเจ้าข้า”🙏
คอยตามอ่าน พินิจละคร ว่าจะจบอย่างที่พี่เขียนเดาไว้ไหม (ไม่รู้ว่าละครจะจบเมื่อไร..ยังยืดได้อีกหลายตอน😀😀)
หมายเหตุ : ใครอยากอ่านละเอียดเรื่องพิธีลุยไฟอ่านต่อได้นะคะ
🔺พิธีลุยไฟมีขึ้นตั้งแต่สมัยใด? ทำไมต้องมีพิธีนี้?🔺
มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้วล่ะค่ะ การพิจารณาคดีต่างๆ ก็จะมีพยานบุคคล พยานวัตถุสิ่งของ เอามาสู้คดีหักล้างกัน
แต่ในที่สุดก็จะมีคดีที่หาหลักฐานไม่ได้ จะใช้อะไรมาตัดสิน....ก็ต้องอาศัยความเชื่อ ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่สังคมยอมรับกันนั่นล่ะค่ะมาเป็นบันทัดฐาน
ในสมัยอยุธยามีการตรากฎหมาย “ลักษณะพิสูจน์ดำน้ำลุยเพลิง” ขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี มีรายละเอียดอยู่ในตอนต้นของกฎหมายดังนี้
“ศุภมัศดุศักราช 1899 ศกอัชะสังวัชฉะระผคุณมาศ ศุกปักษย์ตะติยะดิดถียคุรุวาร บริเฉทกาลกำหนดพระบาทสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดี ศรีสินธรบรมจักรพรรดิศร บวรธรรมมิกมหาราชาธิราชเจ้า ผู้ผ่านพิภพถวัลราชศริสมบัติ ในกรุงเทพมหานครบวรทวาราวะดีศรีอยุทธยามหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์อุดมราชมหาสถาน… มีพระราชโองการมาณะพระบันทูลสูระสีหนาทดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า ถ้าอนาประชาราษฎรข้าขอบเขดขันทเสมามนทลจะพิพาษหาคดีแก่กัน ถึงพิสูทแก่กัน ให้กระทำตามพระราชบัญญัตินี้ “(กฎหมายตราสามดวง, 2521 : 229)
กฎหมายฉบับนี้มีหลักฐานว่าใช้มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาตอนต้นดังที่ปรากฏในตอนต้นของพระไอยการ อีกทั้งยังอยู่ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน
กฎหมายฉบับนี้เข้าใจว่าถูกยกเลิกไปในสมัยต้นรัชกาลที่ 5
🔺โองการดำน้ำ, โองการลุยเพลิง :
ความเชื่อที่พิสูจน์ความจริง
มีทั้งการดำน้ำ และการลุยไฟ
เงื่อนไขในโองการทั้งสองก็คือ คู่กรณีในคดีความมีข้อพิพาทซึ่งไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้จึงต้องให้ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นผู้ชี้ขาด โดยที่คู่กรณีทั้งสองจะต้องยอมรับในเงื่อนไขนี้ก่อนจึงจะสามารถทำการพิสูจน์ได้ อีกทั้งยังต้องยอมรับใน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นผู้ชี้ขาดในคดีความนั้น ๆ ร่วมกันอีกด้วย
อ้างอิง
https://www.silpa-mag.com/history/article_40782
1 บันทึก
9
13
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
พินิจละคร “วันทอง”
1
9
13
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย