Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หนุ่มมาเก๊า
•
ติดตาม
2 เม.ย. 2021 เวลา 09:30 • อาหาร
[ตอนที่ 17] ทำความรู้จักอาหารของดินแดนแห่งท้องนภาสีฟ้า “มองโกเลีย” ที่ร้านอาหารมองโกเลียในกรุงโตเกียว
ในบรรดาประเทศเอเชียตะวันออก อาหารมองโกเลียถือว่าเป็นอาหารที่หาทานได้ยากมากในไทย เมื่อเทียบกับอาหารจีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น เท่าที่ผมถามทางสถานทูตมองโกเลียประจำประเทศไทยในเดือนมีนาคม ค.ศ.2021 พบว่าไม่มีร้านอาหารมองโกเลียเลย แม้แต่ในกรุงเทพฯก็ตาม
1
แต่ในจังหวะที่ผมอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ช่วง ค.ศ.2019 ได้ข้อมูลว่ามีร้านอาหารมองโกเลียในกรุงโตเกียว และรุ่นพี่คนไทยที่สนใจอาหารชาติเอเชียที่หายากมาที่ญี่ปุ่นพอดี เลยชวนกันไปลองอาหารมองโกเลียสักหน่อยว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเมนูอาหารมองโกเลียและร้านอาหารมองโกเลียในกรุงโตเกียวจะเป็นอย่างไรนั้น เชิญอ่านได้เลยครับ
ภายในร้านอาหาร "อิค มองโกล" ในกรุงโตเกียว มีธงชาติมองโกเลีย และหนังสุนัขจิ้งจอกที่แขวนไว้ที่ผนังร้าน ซึ่งในมองโกเลียพอมีการล่าสุนัขจิ้งจอก เพื่อนำขอและหนังไปทำเครื่องนุ่งห่มใช้ในช่วงฤดูหนาว พร้อมเปิดเพลงในดนตรีพื้นเมืองมองโกเลียคลอไปด้วย
ดนตรีแนะนำให้เปิดฟังคลอประกอบระหว่างอ่านบทความ : คลิปการบรรเลงดนตรีพื้นเมืองในปี ค.ศ.2012 ของทางวงดุริยางค์แห่งชาติมองโกเลีย
https://www.youtube.com/watch?v=mFotOUt4twM
แผนที่จากภาพถ่ายดาวเทียมของ Google Map แสดงพื้นที่ประเทศมองโกเลีย (แสดงเส้นแบ่งเขตแดนเป็นเส้นสีแดง) ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง
สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของมองโกเลียที่อยู่ลึกในแผ่นดินใหญ่ ทางตะวันตกเป็นเขตเทือกเขา ตอนกลางเป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ทะเลทรายโกบีทางตะวันออกเฉียงใต้ และสภาพอากาศของมองโกเลียที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ส่งผลให้อาหารมองโกเลียมีลักษณะดังนี้
- ไม่มีอาหารทะเล
- มีผัก ผลไม้ เครื่องเทศน้อยมาก เพื่อนร่วมงานคนต่างชาติที่เคยไปมองโกเลียบอกว่าหากเข้าชนบทแล้ว จะไม่ค่อยเจอผักในอาหารเลย
- วิธีการปรุงอาหารและประดับตกแต่งอาหารค่อนข้างน้อย ตามวิถีชีวิตชนเร่ร่อนของกลุ่มชาติพันธุ์มองโกล แตกต่างจากฝั่งจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ที่เคยมีรากฐานเป็นสังคมเกษตรกรรม มีความอุดมสมบูรณ์กว่าและมีวัฒนธรรมอาหารที่ซับซ้อนกว่า
1
- ปศุสัตว์ที่มีในมองโกเลียเป็นม้า วัว อูฐ จามรี แกะและแพะ ดังนั้นเนื้อสัตว์ ไขมันสัตว์ ผลิตภัณฑ์นม จึงเป็นส่วนประกอบหลักของอาหารมองโกเลีย (และอาจเป็นเหตุผลให้คนมองโกเลียค่อนข้างตัวใหญ่) อาหารมองโกเลียจึงไม่ค่อยเป็นมิตรกับคนที่ทานอาหารมังสวิรัติ
- พวกนม เนย ไขมันในอาหารมองโกลยังเป็นแหล่งพลังงานของชาวมองโกเลียโดยเฉพาะช่วงหน้าหนาว (ที่อุณหภูมิในมองโกเลียสามารถลดต่ำลงมาถึง -40°C) และการออกแรงทำงานข้างนอกในวิถีชีวิตชนเร่ร่อน
- เมนูส่วนหนึ่งได้รับอิทธิพลจากดินแดนเพื่อนบ้าน (จีนกับรัสเซีย)
1
ร้านอาหารมองโกเลียที่ผมไปคือร้าน “อิค มองโกล” (Ikh Mongol) ชื่อร้านเขียนเป็นอักษรซีริลลิกที่ใช้ในภาษามองโกเลียว่า Их Монгол แปลว่า “มองโกลอันยิ่งใหญ่” ซึ่งคำว่า Их “อิค” แปลว่า “ยิ่งใหญ่” ร้านนี้อยู่บริเวณสถานีทาบาตะ (Tabata Station) ของเส้นทางรถไฟสายยามาโนเตะ (Yamanote line) ทางรถไฟขนส่งมวลชนเส้นรอบเมืองชั้นในของกรุงโตเกียว
หน้าแรกในเมนูอาหารของทางร้าน มากับภาพภาชนะและอาหารมองโกเลีย แต่ปกติแล้วคำว่า “อาหารมองโกเลีย” ในภาษามองโกเลียจะเป็นคำว่า Монгол хоол มากกว่า ขณะที่ зоог ในคำ Монгол зоог ที่ปรากฏในเมนูแปลว่า “อาหาร” หรือ “งานเลี้ยง” ก็ได้
เมนูอาหารมองโกเลียหน้าแรก
เมนูอาหารมองโกเลียหน้าแรก ถือว่าเป็นตัวเลือกเมนูอาหารจานเดียวแบบท้องถิ่นที่ดูปลอดภัยต่อคนต่างชาติ
1) Khuushuur/Хуушуур “คูชูร์” เป็นแป้งทอดสอดไส้ ซึ่งไว้ในจะเป็นเนื้อวัวหรือแกะสับ ผสมกับหัวหอม (หรือกระเทียม) เกลือ และเครื่องเทศ เมนูคูชูร์แบบเฉพาะของทางร้านจะมีไส้ในเป็นไส้เนื้อวัว
2) Buuz/Бууз “บูซ” เป็นเกี๊ยวซ่านึ่งไส้เนื้อแกะหรือเนื้อวัวสับ ผสมกับหัวหอม กระเทียมและเกลือ ปกติแล้วเมนูนี้จะทานกันในเทศกาล “ชะกางซาร์” (Tsagaan Sar/Цагаан сар) ซึ่งเป็นเทศกาลปีใหม่พื้นเมืองของชาวมองโกล ชื่อของ “บูซ” มาจากชื่อของซาลาเปาหรือเกี๊ยวในภาษาจีนกลางว่า “เปาจึ” (包子/ Bāozi) สำหรับเมนูบูซของร้านอิค มองโกล จะเป็นบูซไส้เนื้อแกะ
1
3) Tsuivan/Цуйван “ชวีวัง” เป็นบะหมี่ผัดแห้งแบบมองโกเลีย ใส่เนื้อ (แกะหรือวัว) กับผักลงไปเล็กน้อย (พวกแครอท มันฝรั่ง)
เมนูอาหารมองโกเลียหน้าที่ 2
เมนูอาหารมองโกเลียหน้าสอง ได้แก่
4) Tefteli/Tефтель “เท็ฟเท็ล” เนื้อบดปั้นก้อน เป็นอาหารที่ฝั่งมองโกเลียได้รับมาจากอาหารรัสเซียมาอีกที เพราะรัสเซียมีเมนูเดียวกันเรียกว่า Tефтели “เทฟเทลี” เพียงแต่ฝั่งมองโกเลียจะเป็นเนื้อแกะ เนื้อวัว เนื้อหมู ขณะที่ฝั่งรัสเซียจะใช้เนื้อไก่ หรือเนื้อปลาทำด้วยก็ได้
5) Gulyash/Гуляш “กลยัช” เป็นข้าวราดหน้าเนื้อ (บางทีก็ใช้หมั่นโถวแทนข้าว) ดูคล้ายกับ “ข้าวราดแกง” อาหารจานด่วนท้องถิ่นในไทย แต่ในภาษารัสเซีย Гуляш หมายถึง Goulash/Gulyás ซุปสตูเนื้อของฮังการี บ่งชี้ว่าอาหารเมนูนี้จากฮังการี ผ่านกลุ่มยุโรปตะวันออกและรัสเซีย พอมาถึงมองโกเลีย ก็กลายมาเป็นข้าวราดหน้าเนื้อในชื่อเดียวกัน
6) Нарийн махан хуурга เนื้อผัดราดข้าว (ในภาษามองโกล คำว่า мах หมายถึง “เนื้อ” และ хуурга หมายถึง “ผัด”)
1
เมนูอาหารมองโกเลียหน้าที่ 3
เมนูอาหารหน้าที่ 3 จะเป็นแนวสลัด
สลัดผักในภาษามองโกลจะเรียกว่า Салат “ซะลัท” เมนูผักแบบนี้ค่อนข้างหายากหากไปมองโกเลียแล้วอยู่นอกเมืองหลวง เพราะการปลูกผัก ทำการเกษตรเหมาะกับวิถีชีวิตกลุ่มชนที่ตั้งถิ่นฐานบนพื้นที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งเป็นเวลานาน ต่างจากวิถีชนมองโกลพื้นบ้าน ที่เป็นชนเร่ร่อนบนทุ่งหญ้ากว้างใหญ่
- Алаг салат “อะนัก ซะลัท” แปลตรงตัวคือ “สลัดหลากสี” ทำจากแครอท พริกหยวก หอม แตงกวาดองและกระเทียม
- Нийслэл салат “นีย์สเล็ล สะลัท” แปลตรงตัวคือ “สลัดเมืองหลวง/สลัดเมืองใหญ่” เป็นสลัดมันฝรั่ง
- Цезарь салат ซีซาร์สลัด
- Луувангийн салат สลัดแครอท
- Байцааны салат สลัดกะหล่ำปลี
1
เมนูอาหารมองโกเลียหน้าที่ 4
หน้าที่ 4 จะเป็นเมนูซุป (ส่วนแรก)
- Banshtai Tsai/Банштай цай “บันชไท ไช” ซุปชานมใส่เกี๊ยวเนื้อ
- Bantan/Бантан “บันทัน” ซุปข้นใส่แป้งและเนื้อ
- Bitüü shöl/Битүү шөл “บิทู เชิล” ซุปเนื้อแกะ ปิดด้านบนด้วยแผ่นของผสมจากแป้งข้าวสาลีนวดที่ผ่านการนึ่งแล้ว
เมนูอาหารมองโกเลียหน้าที่ 5
หน้าที่ 5 จะเป็นเมนูซุป (ส่วนหลัง)
- Nogootoi shöl/Ногоотой шөл “เนาะกอทอย เชิล” ซุปผักใส่เนื้อ สำหรับเมนูนี้ที่ร้านจะใช้เนื้อวัว
- Их монгол шөл “อิค มองโกล เชิล” ซุปสูตรของทางร้าน อธิบายเพิ่มเติมว่าเป็น Банштай Ногоотой шөл เป็นซุปผักใส่เกี๊ยวเนื้อ
- Jignesen guriltai shöl/Жигнэсэн гурилтай шөл “ชิกเนะเซ็ง เกาะริลไท เชิล” ซุปหมี่มองโกล เป็นซุปใส่เส้นหมี่แบบเส้นอุด้ง เนื้อวัวหรือเนื้อแกะหั่น (ของทางร้านนี้ใช้เนื้อแกะ) และหัวหอม
เมนูอาหารมองโกเลียหน้าที่ 6
หน้าที่ 6 จะเป็นเมนูเนื้อ
- Chanasan Makh/Чанасан мах “ชะนะซัง มัค” เนื้อแกะหรือเนื้อแพะต้ม ของทางร้านจะเป็นเนื้อแกะเสิร์ฟพร้อมมันฝรั่ง แครอท และหอม
- Sharsan Makh/Шарсан мах “ชาร์ซัง มัค” เนื้อทอด ของทางร้านจะใช้เนื้อแกะ
- Khorkhog/Xopxoг “คอร์ค็อก” บาร์บีคิวเนื้อแบบมองโกล มักใช้เนื้อแกะ โดยปกติแล้วจะนำหินก้อนเล็กหลายก้อนไว้บนกองไฟ นำภาชนะบรรจุน้ำ (มักเป็นเหยือกโลหะสำหรับบรรจุนม) มาตั้งไว้บนกองหินร้อน แล้วหั่นเนื้อเป็นชิ้น ๆ แบบติดกระดูกอยู่ใส่ลงไป
เมนูหน้าที่ 7 เป็นหน้าเมนูเครื่องดื่ม สำหรับไวน์ในภาษามองโกลจะเรียกว่า Dars/Дарс “ดารส์”
เมนูหน้าที่ 8 ยังคงเป็นเครื่องดื่ม
หน้าเมนูเครื่องดื่มส่วนต่อมา ได้แก่
- Yapon Arkhi/Япон Архи “ยะป็อง อาร์คิ” หมายถึงสาเก (Япон = ญี่ปุ่น)
- Süütei Tsai/Сүүтэй цай “ซูเทย์ ไช” เป็นชานมมองโกเลีย และเป็นเครื่องดื่มที่หาได้ทั่วไปในมองโกเลีย ใช้ดื่มในมื้ออาหาร หรือไว้ต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมในกระโจม (พร้อมของกินเล่นอย่างปาท่องโก๋หรือเกี๊ยวเนื้อ) โดยชาวมองโกลในสมัยก่อนไม่นิยมดื่มน้ำเปล่าโดยตรง เพราะตามความเชื่อมองโกลดั้งเดิมจะถือว่าน้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขณะที่มองโกเลียแห้งแล้งเกินกว่าจะปลูกผลไม้ทำน้ำผลไม้หรือไวน์ ชาวมองโกเลียจึงดื่มนมหรือเครื่องดื่มที่ทำจากนมเป็นเครื่องดื่มหลัก
- Chatsargany Jüüs/Чацарганы жүүс “ชะชะกะนี ชูส“ น้ำเบอร์รี
เมนูหน้าสุดท้ายที่จบด้วยเครื่องดื่ม
หน้าเมนูเครื่องดื่มส่วนสุดท้าย
- Pivo/Пиво “พิเวาะ” เบียร์ ซึ่งภาษารัสเซียก็ใช้คำนี้ในความหมายถึงเบียร์ โดยเบียร์ยี่ห้ออาซาฮิ (Asahi) ของญี่ปุ่น ทางร้านเขียนทับศัพท์ด้วยอักษรซีริลลิกเป็น Асахи
- Arkhi/Архи “อาร์คิ” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มักเป็นเครื่องดื่มยี่ห้อของทางมองโกเลีย อย่างเบียร์ยี่ห้อ Chinggis/Чингис วอดก้ายี่ห้อ Bolor/Болор และ ARKHI
- Viski/Виски “วิสคิ” วิสกี้ ซึ่งคำว่าวิสกี้ในภาษารัสเซียก็ใช้คำนี้
หลังสั่งอาหาร ก็ถ่ายภาพบรรยากาศในร้านสักหน่อย มีทั้งแผ่นภาพวาดรูปเจงกิสข่าน อดีตจอมข่านผู้ยิ่งใหญ่ของมองโกล รูปราชินีมองโกลสมัยก่อน หรือทิวทัศน์และวิถีชีวิตตามกระโจมกลางทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ในมองโกเลีย
งานศิลปะประดับร้านรูปทหารม้ามองโกล
ส่วนตัวคิดว่างานศิลปะประดับร้านชิ้นนี้น่าจะเป็นรูปราชินีตอนออกพบคนอื่นในกระโจม
งานศิลปะรูป "เจงกีสข่าน" จอมข่านผู้รวมกลุ่มชนมองโกลให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ที่คนประเทศมองโกเลียให้ความเคารพนับถืออย่างมาก
งานศิลปะสื่อถึงบรรยากาศของชนบทมองโกเลียที่เป็นทุ่งหญ้ากว้างใหญ่และเทือกเขา พร้อมกระโจม (ที่อยู่อาศัยของคนมองโกเลียที่มีวิถีชนเร่ร่อน) และม้า (สัตว์สำคัญประจำชาติของมองโกเลีย)
ที่ใส่ตะเกียบของทางร้านมีตุ๊กตารูปเด็กชายด้วย แต่ส่วนตัวผมคิดว่าดูรูปแบบออกไปทางจีนสักหน่อย
งานศิลปะรวมสถานที่ท่องเที่ยวหรือสถานที่สำคัญในกรุงอูลานบาตาร์ เมืองหลวงและเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศมองโกเลีย
สถานที่ที่ปรากฏบนผ้าประดับรูปสถานที่สำคัญในกรุงอูลานบาตาร์ (Ulaanbaatar/Улаанбаатар) ได้แก่
- อนุสาวรีย์เจงกิสข่าน
- พระราชวังฤดูหนาวของบ็อกด์ข่าน (Bogd Khan ข่านองค์สุดท้ายของมองโกเลีย)
- ทำเนียบรัฐบาล
- จัตุรัสซุคบาตาร์
- โรงอุปรากร
- โรงละครสัตว์
- เนินเขาไซซัน
- หอสมุดแห่งชาติมองโกเลีย
- วัดกันดันเท็กชินเล็น (Гандантэгчинлэн хийд)
- สนามกีฬาแห่งชาติ
- พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งชาติ
- หลวงพ่อโตกรุงอูลานบาตาร์
1
งานศิลปะที่วาดสื่อถึงวิถีชีวิตคนมองโกเลียในสมัยก่อน เช่น การก่อกระโจม การทำปศุสัตว์
งานศิลปะกับท่านข่านแห่งมองโกเลีย (อีกครั้ง)
"ชวีวัง" บะหมี่ผัดแห้งแบบมองโกเลีย
เนื่องจากตอนแรกแทบไม่รู้จักอาหารมองโกเลียเลย จึงสั่งอาหารที่ดูปลอดภัยที่สุด 4 เมนู ตัดพวกเมนูเนื้อออกไป เพราะราคาแพง และอาจเป็นเนื้อติดกระดูก (ไม่คุ้ม) เมนูแรก Tsuivan/Цуйван “ชวีวัง” เป็นบะหมี่ผัดแห้งแบบมองโกล เนื้อที่ทางร้านใช้ในเมนูนี้จะเป็นเนื้อแกะติดมันบ้าง
"บูซ" เกี๊ยวซ่าแบบมองโกเลีย
เมนูที่สอง Buuz/Бууз “บูซ” เป็นเกี๊ยวซ่านึ่งสอดไส้เนื้อแกะ
กัดบูซเข้าไป ไส้ข้างในมีซุปอยู่ด้วย (คล้าย ๆ เสี่ยวหลงเปา)
เมนูที่สาม Nogootoi shöl/Ногоотой шөл “เนาะกอทอย เชิล” ซุปผักใส่เนื้อวัว
ถ่ายรูปเมนูทั้งสาม ระหว่างที่รอเมนูสุดท้าย (ที่จริงสั่งเป็นเมนูแรก แต่ได้มาเป็นเมนูสุดท้าย)
เมนูสุดท้าย Tefteli/Tефтель “เท็ฟเท็ล” เนื้อบดปั้นก้อน ทางร้านเสิร์ฟพร้อมข้าวสวย มะเขือเทศ แตงกวา สลัดผักและไข่
ใบเสร็จค่าอาหารมองโกเลียมื้อนี้ 3,682 JPY ตกคนละ 1,841 JPY ซึ่งถือว่าถูกเมื่อเทียบกับการไปกินอาหารชาติหายากชาติอื่นในกรุงโตเกียว และเทียบกับราคาเซ็ตบะหมี่หนึ่งชามตามร้านอาหารข้างทางในกรุงโตเกียวที่ประมาณ 700 JPY
สำหรับเนื้อหาเรื่องร้านอาหารมองโกเลียในกรุงโตเกียวที่ผมเคยแวะมาก็จบแต่เพียงเท่านี้ ซึ่งร้านอาหารแต่ละชาติในต่างประเทศมักจะปรับเอาเมนูที่อาจดูเป็น “ของแรง” อย่างร้านอาหารไทยในต่างประเทศมักไม่มีเมนูลาบดิบ แมลงทอดหรือกุ้งเต้น
ร้านอาหารมองโกเลียในต่างประเทศก็เช่นกัน เมนูในร้านจะไม่ครอบคลุมเมนูอาหารมองโกเลียส่วนหนึ่งที่มีในประเทศมองโกเลีย เช่น "หัวแกะย่าง" หนึ่งในเมนูอาหารมองโกเลียที่กินถูกส่วนยกเว้นกระดูก
หากใครสนใจเกี่ยวกับเมนูอาหารมองโกเลียในประเทศมองโกเลีย สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่...
- (ภาษาไทย)
https://pantip.com/topic/39089457
- (ภาษาอังกฤษ)
https://www.canadiantraveller.com/Mongolia_The_Adventurous_Foodies_Guide
- (ภาษาอังกฤษ)
https://traveladvo.com/mongolian-food-the-complete-food-guide/
อ่านเพิ่มเติม
pantip.com
*** รีวิวอาหารมองโกเลีย รสชาติแห่งคนเถื่อนทุ่งหญ้า ***
พูดถึงอาหารมองโกล สิ่งแรกสุดที่ผมคิดคือ "เถื่อนๆ แมนๆ" สิ่งต่อมาที่คิดคือ "เรียบง่าย แต่พิสดาร แหกกฎทุกตำราอาหาร" และสิ่งสุดท้ายที่ต้องอุทาน
อ่านเพิ่มเติม
traveladvo.com
Mongolian Food: The Complete Food Guide for Food Lovers
The world-famous Mongolian food is influenced by Chinese and Russian cultures and it is almost like heaven for meat lovers.
อ่านเพิ่มเติม
canadiantraveller.com
Mongolia: The Adventurous Foodie’s Guide
If you’ve sampled each of these just once, you deserve a Level 10 Traveller Badge.
เมื่อมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงจะพอเห็นภาพถึงลักษณะของอาหารมองโกเลีย อิทธิพลของภูมิประเทศต่ออาหารมองโกเลีย เมนูใดที่คุณอยากลอง หรือเมนูใดที่เป็น “ตัวเลือกปลอดภัย” หากคุณได้ไปเยือนประเทศมองโกเลีย แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้าครับ
3 บันทึก
8
13
5
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
สัมผัสบรรยากาศนานาชาติผ่านร้านอาหาร
3
8
13
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย