9 เม.ย. 2021 เวลา 02:00 • ประวัติศาสตร์
“คลองปานามา (Panama Canal)”
“คลองปานามา (Panama Canal)” เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่สำคัญและมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ก่อนอื่น ต้องย้อนประวัติไปในปีค.ศ.1513 (พ.ศ.2056) ซึ่งในเวลานั้น “บัสโก นูเญซ เดอ บัลโบ (Vasco Núñez de Balboa)” เป็นข้าหลวงประจำเขตของสเปนในปานามา
ชาวอินเดียนในพื้นที่ได้เล่าให้เดอ บัลโบฟังว่ามีสถานที่หนึ่ง ซึ่งหากเขาแค่ปีนเขาขึ้นไปเล็กน้อย เขาก็จะมองเห็นมหาสมุทรอีกด้าน
บัสโก นูเญซ เดอ บัลโบ (Vasco Núñez de Balboa)
เมื่อได้ฟังดังนั้น เดอ บัลโบก็ได้พาผู้ติดตามจำนวนหนึ่งเข้าไปในป่าและขึ้นเขา โดยมีจุดประสงค์เพื่อไปตามหาจุดที่ว่านี้
เดอ บัลโบให้กลุ่มผู้ติดตามตามหลังเขาตลอด เนื่องจากเขาต้องการจะเป็นคนแรกที่เห็นมหาสมุทรก่อน
ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1513 (พ.ศ.2056) เดอ บัลโบก็มองเห็นมหาสมุทรจากบนยอดเขา
เดอ บัลโบพบมหาสมุทร
ต่อมา ในปีค.ศ.1534 (พ.ศ.2077) “จักรพรรดิชาร์ลส์ ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Charles V, Holy Roman Emperor)” ได้ทรงส่งคณะเดินทางมาสำรวจ เพื่อดูว่าจะมีทางที่จะสร้างทางมายังปานามาทางน้ำได้หรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม คณะเดินทางคิดว่าการเดินทางนี้เป็นไปไม่ได้ และได้เดินทางผ่านทางเล็กๆ ตัดตรงเข้ามายังคอคอด
2
พวกเขาต้องเดินทางเข้ามาในป่าและหนองน้ำ การเดินทางเป็นไปอย่างลำบาก และกลุ่มคณะสำรวจชาวสเปนก็ใช้เส้นทางนี้ในการขนทองคำและสมบัติของพวกอินเดียนกลับไปยังดินแดนของตน
บางครั้งล่อที่ใช้ขนทองคำก็ตกลงไปในหลุมที่เต็มไปด้วยงู หากแต่ก็ไม่มีใครกล้าลงไปเก็บทองคำเหล่านั้น และก็มีเรื่องเล่าว่าปัจจุบันทองคำก็ยังคงอยู่ในหลุมงูนี้
จักรพรรดิชาร์ลส์ ที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Charles V, Holy Roman Emperor)
ต่อมา ได้มีการค้นพบทองคำที่แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปีค.ศ.1848 (พ.ศ.2391) และในปีถัดมา ผู้ที่หวังจะรวยจากการขุดทองก็ได้มุ่งหน้ามายังแคลิฟอร์เนีย หวังว่าจะโชคดี
นักขุดทองจากทั่วโลก ต่างต้องการจะมาถึงแหล่งทองคำก่อนใคร ดังนั้น การเดินทางจากอ่าวทางตะวันออกของสหรัฐอเมริกา มายังอ่าวทางตะวันตกให้เร็วที่สุดจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก
เป็นครั้งแรกในรอบหลายศตวรรษที่ผู้คนให้ความสนใจกับเส้นทางข้ามปานามา
การเดินทางทางบกข้ามอเมริกาเหนือก็ต้องใช้เวลาแรมเดือน หากไปทางเรือก็จะเร็วกว่า แต่ก็ใช้เวลาเป็นเดือนอยู่ดี แต่การเดินทางโดยใช้ทางลัดผ่านปานามาจะสามารถย่นระยะเวลาได้มาก
เหล่านักขุดทองในยุคตื่นทอง
ในไม่ช้า ปานามาก็เต็มไปด้วยนักขุดทองที่หวังจะรีบไปขุดทอง
แต่นักขุดทองเหล่านี้ก็ต้องพบว่าการเดินทางข้ามปานามาทางบกนั้นลำบากและอันตราย สัตว์ร้ายมากมาย ทางก็ไม่สะดวกทำให้ในหนึ่งวันเดินทางได้ไม่ไกล อีกทั้งผู้คนที่เข้ามาในปานามาก็ล้วนแต่ล้มป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
อันที่จริง ก่อนยุคตื่นทอง หลายคนก็ฝันที่จะสร้างทางน้ำข้ามปานามา หากแต่ก็ล้วนแต่ต้องยอมแพ้ ดูแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้
แต่สหรัฐอเมริกาดูจะสนใจมากที่สุด และมั่นใจว่าชาติของตนจะลากยาวผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกไปได้แน่ และเมื่อทำได้สำเร็จ ประเทศของตนก็จะได้ผลประโยชน์มหาศาล
หลังปีค.ศ.1821 (พ.ศ.2364) ปานามาก็ไม่ได้อยู่ใต้อิทธิพลของสเปนอีกต่อไป หากแต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโคลอมเบีย ซึ่งประชาชนจำนวนมากก็ต้องการให้ปานามาเป็นอิสระ
โคลอมเบีย
ในปีค.ศ.1846 (พ.ศ.2389) สหรัฐอเมริกาและโคลอมเบียได้ตกลงเซ็นสนธิสัญญา โดยสหรัฐอเมริการับปากว่าหากปานามาคิดจะขัดขืน แยกตัวออกจากโคลอมเบีย สหรัฐอเมริกาก็จะส่งกำลังมาช่วยเหลือ แต่โคลอมเบียก็ต้องตอบแทนด้วยการให้สหรัฐอเมริกาสร้างคลองหรือทางรถไฟเข้ามาในคอคอด
ในปีค.ศ.1850 (พ.ศ.2393) ได้มีการตั้งบริษัท “Panama Railroad Company” เพื่อสร้างทางรถไฟเข้าไปสู่ปานามา
การก่อสร้างนั้นเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากความกันดารและอุปกรณ์ต่างๆ ก็ยังไม่ทันสมัย คนงานก็เริ่มล้มป่วยและเสียชีวิต
ศพของคนงานที่เสียชีวิตนั้นมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากคือเหล่าคนยากจน ไม่มีครอบครัวมารับศพ บริษัทจึงคิดช่องทางทำเงินจากศพเหล่านี้
ในเวลานั้น นักเรียนแพทย์ต่างขาดแคลนศพที่จะนำมาศึกษา บริษัทจึงให้ห่อศพคนงาน และส่งไปขายให้โรงเรียนแพทย์ทั่วโลก
ภายหลังจากก่อสร้างมาอย่างยากลำบาก ทางรถไฟก็เสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1855 (พ.ศ.2398) ภายหลังจากที่ก่อสร้างมากว่าห้าปี หมดเงินไปหลายล้านดอลลาร์
ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามีคนตายระหว่างการก่อสร้างกี่คน แต่ประเมินว่าอยู่ที่ระหว่าง 5,000-12,000 คน
ในปีค.ศ.1856 (พ.ศ.2399) ทางรถไฟเส้นนี้ก็บรรทุกผู้คนปีละกว่า 40,000 คนต่อปี เนื่องจากไม่มีการเดินทางๆ อื่น บริษัทจึงสามารถคิดราคาค่าเดินทางเท่าไรก็ได้
1
ราคาค่าตั๋วชั้นหนึ่งตกอยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์ ไม่รวมค่าสัมภาระ ซึ่งถือว่าแพงมาก เนื่องจากค่าแรงคนงานในสมัยนั้น ตกอยู่ที่วันละประมาณหนึ่งดอลลาร์เท่านั้น
1
ความสำเร็จในการสร้างทางรถไฟ ทำให้ความคิดที่จะสร้างเขื่อนกลับมาอีกครั้ง หากแต่การสร้างเขื่อนนั้นซับซ้อนกว่าการสร้างทางรถไฟ
อุปสรรคในการสร้างเขื่อนมีมากกว่าการสร้างทางรถไฟเยอะ อีกอย่าง พื้นที่ส่วนใหญ่ก็เป็นป่าและบึง ไม่มีที่ๆ เหมาะในการสร้าง
ระหว่างปีค.ศ.1870-1875 (พ.ศ.2413-2418) สหรัฐอเมริกาได้ส่งทีมนักสำรวจเข้ามาสำรวจ หาพื้นที่ในการสร้างเขื่อน ซึ่งทีมนักสำรวจก็ต้องมีชีวิตอย่างยากลำบาก
ในเวลากลางคืนนั้นเต็มไปด้วยยุงและแมลง ฝนก็ตกหนักจนบางทีนักสำรวจต้องขึ้นไปนอนบนต้นไม้
นักสำรวจรายหนึ่งถึงกับกล่าวว่า
“ที่นี่คือประเทศที่เลวร้ายที่สุดที่เคยพบเคยเจอ”
ผลจากการสำรวจ พบว่าการสร้างเขื่อนในปานามานั้น น่าจะเป็นไปไม่ได้ บางทีควรจะหาที่อื่น อาจจะเป็นนิการากัวซึ่งอยู่ทางเหนือ
ถึงแม้นิการากัวจะกว้างใหญ่ แต่ก็มีภูมิประเทศที่เหมาะสมกว่า มีพื้นที่โล่ง อีกทั้งยังมีทะเลสาปที่อาจใช้เป็นส่วนหนึ่งของเขื่อนได้
หลังจากปีค.ศ.1869 (พ.ศ.2412) การสร้างเขื่อนคือหัวข้อสำคัญที่หลายฝ่ายหารือ
ในปีนั้น มีการเปิด “คลองสุเอซ (Suez Canal)” ซึ่งตัดตรงผ่านอียิปต์เข้าไปยังทะเลแดง ทำให้เรือสามารถเดินทางจากยุโรปไปยังเอเชียโดยไม่ต้องไปอ้อมไกลถึงแอฟริกา
คลองสุเอซ (Suez Canal)
ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคลองสุเอซ คือชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ “เฟอร์ดินานด์ เดอ แลแซ็ปส์ (Ferdinand de Lesseps)”
1
เดอ แลแซปส์เป็นผู้ที่มีเสน่ห์ บุคลิกดี และเชื่อมั่นในตนเอง
เขามีพรสวรรค์ในการโน้มน้าวผู้อื่นให้เชื่อตามเขา และเมื่อคลองสุเอซสำเร็จ เขาก็หันเหความสนใจไปยังการสร้างคลองที่ตัดเข้าสู่อเมริกากลาง
เฟอร์ดินานด์ เดอ แลแซ็ปส์ (Ferdinand de Lesseps)
ในปีค.ศ.1875 (พ.ศ.2418) กลุ่มนักการเมือง วิศวกร นักสำรวจ และนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก นำโดยเดอ แลแซ็ปส์ ได้มาประชุม หารือกันที่ฝรั่งเศส โดยหัวข้อสำคัญคือการจะสร้างคลองเข้ามาในอเมริกากลาง
ภายหลังจากหารือกัน เดอ แลแซ็ปส์ก็ได้กล่าวว่าการจะสร้างคลอง ต้องสร้างในระดับน้ำทะเล และต้องสร้างผ่านปานามา ไม่ใช่นิการากัว
เดอ แลแซ็ปส์มั่นใจว่าหากเขาเป็นผู้บริหารบริษัทใหม่นี้ เขาจะทำงานนี้ได้สำเร็จ ที่ผ่านมา เขาก็ได้สร้างคลองที่ประสบความสำเร็จที่สุดมาแล้ว
เมื่อเป็นอย่างนี้ จึงมีการตั้งกลุ่มเพื่อระดมเงินทุนในการสร้างคลอง โดยมีเดอ แลแซ็ปส์เป็นหัวหน้ากลุ่ม
รูปปั้นของเดอ แลแซ็ปส์
เดอ แลแซ็ปส์ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโคลอมเบียให้ขุดคลองเข้ามาในปานามาได้ แต่เขาก็ต้องคิดหาทางเจรจากับการรถไฟในปานามา ซึ่งใช้เส้นทางเดียวกับคลอง
การสร้างคลองจำเป็นต้องใช้เงินทุน บริษัท “Panama Canal Company” ที่ตั้งขึ้น จึงได้เปิดขายหุ้นให้บุคคลทั่วไป เข้ามาถือหุ้น ร่วมลงทุนกับบริษัท
เงินที่ขายหุ้นได้ส่วนใหญ่มาจากฝรั่งเศส เนื่องจากเดอ แลแซ็ปส์นั้นเป็นเหมือนวีรบุรุษในฝรั่งเศส ผู้คนจึงเชื่อมั่นในตัวเขา
การก่อสร้างเริ่มขึ้นในปีค.ศ.1880 (พ.ศ.2423) ท่ามกลางปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย ดินที่ขุดก็แข็ง เครื่องจักรก็มีปัญหา อีกทั้งเมื่อหน้าฝนมาถึง ทุกอย่างก็ยิ่งแย่ลง คลองที่ขุดก็ต้องขุดให้กว้างขึ้นเพื่อป้องกันดินถล่ม
การก่อสร้างคลองปานามา
ที่แย่ที่สุดคือโรคระบาด คนงานส่วนมากติดโรคมาลาเรียและเสียชีวิต บางวันคนงานเสียชีวิตถึง 40 คนต่อวัน
ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่ามีคนงานเสียชีวิตในระหว่างการก่อสร้างคลองปานามาจำนวนเท่าไร แต่คาดว่าตัวเลขน่าจะอยู่ระหว่าง 20,000-22,000 คน
แต่ถึงจะมีอุปสรรค แต่เดอ แลแซ็ปส์ก็ไม่ยอมแพ้
หลายครั้งที่เดอ แลแซ็ปส์ต้องกลับไปฝรั่งเศสเพื่อระดมเงินเพิ่มจากผู้ถือหุ้น แต่หลังจากผ่านไปเจ็ดปี การขุดคลองเพิ่งจะดำเนินการไปได้ไม่เกิน 10% เท่านั้น อีกทั้งปัญหาอื่นๆ ก็ยังแก้ไม่ตก
การก่อสร้างคลองปานามา
ค.ศ.1889 (พ.ศ.2432) บริษัท Panama Canal Company ล้มละลาย และผู้บริหารก็ถูกกล่าวหาว่าขโมยเงิน อีกทั้งยังติดสินบนนักการเมืองฝรั่งเศส ต้องขึ้นศาลฝรั่งเศส
คดีนี้กินเวลามาถึงค.ศ.1893 (พ.ศ.2436) เดอ แลแซ็ปส์ในเวลานั้นมีอายุเกิน 80 ปีแล้ว และไม่รู้เรื่องราวของโลกภายนอก ก่อนจะเสียชีวิตในปีค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) ทิ้งให้ลูกชายต้องเข้าคุก
ความฝันในการสร้างคลองพังทลายไม่มีชิ้นดี
แต่ถึงอย่างนั้น สหรัฐอเมริกาก็ยังคงสนใจที่จะสร้างคลองเข้าไปในอเมริกากลาง ถึงแม้ว่าจะมีรถไฟแล้วก็ตาม
ในปีค.ศ.1869 (พ.ศ.2412) ได้มีการสร้างทางรถไฟเชื่อมอ่าวทางตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน แต่ถึงอย่างนั้น การขนส่งสินค้าทางเรือก็ย่อมสะดวกสบายกว่ารถไฟ
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศมหาอำนาจ มีอิทธิพลยิ่งกว่าประเทศอื่นๆ ดังนั้น การสร้างคลองที่ประหยัดเวลา ย่อมทำให้สหรัฐอเมริกาได้รับผลประโยชน์มากกว่าประเทศอื่นๆ
ในปีค.ศ.1901 (พ.ศ.2444) “ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)” ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
เขามีส่วนคล้ายเดอ แลแซ็ปส์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจและเปี่ยมด้วยพลัง อีกทั้งเขายังโน้มน้าวผู้อื่นได้เก่งเช่นเดียวกับเดอ แลแซ็ปส์
ธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt)
รูสเวลต์เชื่อว่าคลองนั้นมีความสำคัญ และจะสร้างผลประโยชน์ให้สหรัฐอเมริกา หากแต่ควรต้องสร้างในนิการากัว ความล้มเหลวของฝรั่งเศสเป็นข้อพิสูจน์ได้ดีว่าการสร้างคลองในปานามา มันไม่เวิร์ค
ทางฝ่ายฝรั่งเศส ก็ดิ้นรนที่จะให้สหรัฐอเมริกามาซื้อบริษัทของตน จึงจำเป็นต้องหาทางโน้มน้าวให้สหรัฐอเมริกาสร้างคลองในปานามา
ฝรั่งเศสเสนอขายบริษัทในราคาไม่ถึงครึ่ง และในตอนนั้น การก่อสร้างก็ได้ดำเนินไปกว่า 17 กิโลเมตรแล้ว และได้มีการระเบิดภูเขาที่ตัดสู่คอคอดแล้วด้วย อีกทั้งตึกที่ทำการ อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ รวมทั้งเสบียงอาหารก็พร้อมอยู่ในที่ก่อสร้าง
2
นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังใช้เล่ห์ กล่าวแก่สหรัฐอเมริกาว่าหากสหรัฐอเมริกาไม่สนใจก็ไม่เป็นไร บางทีประเทศอื่นอาจจะสนใจก็ได้ บางที เยอรมนีซึ่งกองทัพกำลังขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อาจจะสนใจ
เมื่อได้ยินเช่นนั้น สหรัฐอเมริกาก็ทนไม่ได้ ประธานาธิบดีรูสเวลต์จึงเปลี่ยนใจ และในปีค.ศ.1902 (พ.ศ.2445) สภาก็ได้อนุมัติให้สร้างคลองในปานามา
ปกติแล้ว มีแต่บริษัทเอกชนเท่านั้นที่สนใจจะสร้างคลอง
เป้าหมายหลักคือการให้เรือเข้ามาใช้เส้นทางในคลอง และเก็บเงิน หากแต่รูสเวลต์นั้นคิดต่าง
รูสเวลต์คิดจะใช้คลองปานามาในการทหาร และคลองนี้ต้องถูกควบคุมโดยรัฐบาลอเมริกัน
ในเวลาปกติ ทุกคนสามารถใช้คลองนี้ แต่ในเวลาสงคราม ศัตรูจะเข้ามาใช้คลองนี้ไม่ได้
แต่ก่อนจะสร้างคลอง รูสเวลต์ต้องทำสนธิสัญญากับโคลอมเบียซะก่อน และคงไม่ง่ายแน่
รูสเวลต์เจรจากับโคลอมเบีย โดยกล่าวว่าโคลอมเบียต้องให้สิทธิสหรัฐอเมริกาในการควบคุมพื้นที่รอบๆ คลอง และสหรัฐอเมริกามีสิทธิสร้างฐานทัพทหารและควบคุมได้อย่างเสรี
โคลอมเบียนั้นไม่ยอม และดูเหมือนทั้งสองประเทศจะไม่สามารถตกลงกันได้
ภาพวาดล้อเลียนรูสเวลต์
ตามกฎหมายสากล ประเทศใดจะก่อการปฏิวัติในอีกประเทศไม่ได้ สหรัฐอเมริกาจึงไม่สามารถทำอะไรได้
ถึงแม้ว่ารัฐบาลอเมริกันจะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง หากแต่ผู้สนับสนุนการก่อสร้างคลองปานามาก็ได้วางแผนการปฏิวัติ นำโดยชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ “ฟิลิปป์ บูโน วาริลยา (Philippe Bunau-Varilla)”
ฟิลิปป์ บูโน วาริลยา (Philippe Bunau-Varilla)
กลุ่มผู้สนับสนุนได้แอบตกลงกับนักการเมืองอเมริกันอย่างลับๆ และหลายคนก็เชื่อว่ารัฐบาลอเมริกันทราบเรื่องและให้การสนับสนุน
การปฏิวัตินี้ไม่ได้ยากเย็นอะไร ชาวปานามาได้ต่อสู้เพื่อที่จะปลดปล่อยปานามาจากโคลอมเบียมาเป็นเวลานานแล้ว บูโน วาริลยาจึงได้โน้มน้าวให้ชาวปานามาชาตินิยมที่ชื่อ “มานูเอล อมาดอร์ (Manuel Amador)” ให้ร่วมมือด้วย
มานูเอล อมาดอร์ (Manuel Amador)
บูโน วาริลยาได้กล่าวแก่อมาดอร์ ว่าถ้าหากเขายอมทำการปฏิวัติ สหรัฐอเมริกาจะให้การสนับสนุน ซึ่งอมาดอร์ก็ยอมตกลง
วันที่กำหนดให้เป็นวันที่ทำการปฏิวัติ คือวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1903 (พ.ศ.2446) และเป็นไปอย่างง่ายดาย
ผู้คนต่างเข้าร่วมกับอมาดอร์ ทหารโคลอมเบียที่ประจำอยู่ในปานามาก็มีเพียงน้อยนิด และต่างก็ยอมแปรพักตร์ มาเข้ากับอมาดอร์
นอกจากนั้น สหรัฐอเมริกายังได้ส่งเรือ “USS Nashville” เข้ามาดูสถานการณ์ในปานามา ซึ่งก็ทำให้โคลอมเบียยอมแพ้ โดยการปฏิวัติครั้งนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และแทบไม่เสียเลือดเสียเนื้อเลย
1
ภาพวาดล้อเลียนการปฏิวัติปานามา
วันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ.1903 (พ.ศ.2446) สหรัฐอเมริกาก็ได้ให้การรับรอง “สาธารณรัฐปานามา” และได้ส่งเรือรบเข้าไปช่วยเหลือปานามา
สนธิสัญญาระหว่างสหรัฐอเมริกาและปานามา ได้ให้ทุกอย่างที่สหรัฐอเมริกาต้องการ
มีการแบ่งขอบเขตในการสร้างเขื่อนกว้างกว่า 16 กิโลเมตร โดยสหรัฐอเมริกาจะไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่ส่วนนี้ แต่มีสิทธิกระทำการใดๆ ได้ทุกอย่าง และรัฐบาลปานามาจะไม่มีอำนาจในพื้นที่เขตนั้น
ที่สำคัญที่สุด สนธิสัญญาระบุว่าอำนาจของสหรัฐอเมริกาในพื้นที่นั้นจะไม่มีวันหมดอายุ จะมีอยู่ “ตลอดกาล”
ภาพวาดล้อเลียนการสร้างคลองปานามา
ทั่วโลกต่างประนามการกระทำของรูสเวลต์ หากแต่รูสเวลต์ก็ไม่สนใจ
ทุกอย่างต้องดำเนินไปตามแผนที่วางไว้
1
ไม่กี่เดือนต่อมา คนงานนับพันได้เดินทางมาถึงปานามา และเข้าไปยังจุดก่อสร้างที่พวกฝรั่งเศสได้ทำค้างไว้
หากแต่แผนการต่างๆ ก็ยังไม่ชัดเจน อุปสรรคก็มีมากมาย และดูเหมือนสหรัฐอเมริกากำลังจะเดินตามฝรั่งเศสที่ได้ทำพลาด
ปัญหาแรกที่สหรัฐอเมริกาต้องรีบจัดการ นั่นคือเรื่องของ “โรคระบาด”
ในเวลานี้ นักวิทยาศาสตร์เริ่มค้นพบว่าตัวปัญหา อาจจะเป็น “ยุง”
1
ยุง
ในปีค.ศ.1897 (พ.ศ.2440) “โรนัลด์ รอสส์ (Ronald Ross)” แพทย์ชาวอังกฤษ ได้พิสูจน์ว่ามาลาเรียระบาดจากยุง และในปีค.ศ.1900 (พ.ศ.2443) ก็ได้มีงานวิจัยว่าไข้เหลืองก็เกิดจากยุงเช่นเดียวกัน
พวกฝรั่งเศสไม่รู้ว่ายุงเป็นพาหะของโรค จึงไม่ได้ป้องกันและทำให้โรคระบาดโดยที่ไม่รู้ตัว
การก่อสร้างทำให้เกิดแอ่งน้ำขังจำนวนมหาศาล เหมาะแก่การเพาะพันธุ์ยุง
นอกจากนั้น ฝรั่งเศสยังสร้างโรงพยาบาลขนาดใหญ่สำหรับคนป่วย และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้แมลงขึ้นมาไต่ รบกวนคนไข้ จึงมีการนำขาเตียงไปจุ่มไว้ในถ้วยที่ใส่น้ำ โดยไม่รู้เลยว่านั่นยิ่งทำให้ยุงเพาะพันธุ์ได้ดีขึ้น
โรนัลด์ รอสส์ (Ronald Ross)
น่าเศร้าที่ในเวลานั้น คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่าโรคร้ายเกิดจากยุง และเมื่อ “วิลเลียม ซี กอร์กัส (William C. Gorgas)” นายแพทย์ทหารประจำกองทัพอเมริกัน ได้รับตำแหน่งหัวหน้าแพทย์ประจำปานามา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป
ที่ผ่านมา กอร์กัสได้ช่วยให้ไข้เหลืองในฮาวานาและคิวบาหมดไป ซึ่งที่ทำได้ ก็เนื่องจากเขาสั่งให้กำจัดยุงให้หมด และกอร์กัสก็คิดจะทำอย่างเดียวกันที่ปานามา
แต่การจะทำได้จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก และอาจจะมากกว่าหนึ่งล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30 ล้านบาท) เลยทีเดียว
วิลเลียม ซี กอร์กัส (William C. Gorgas)
แต่กอร์กัสก็วิตกกังวล
ถ้าหากไม่มีใครยอมฟังเขาล่ะ? ถ้าหากทุกคนคิดว่าเป็นการสิ้นเปลืองกับแค่การกำจัดยุงล่ะ?
รูสเวลต์นั้นก็เป็นคนที่ทำงานไว รวดเร็ว และไม่ต้องการเสียเงินและเวลากับสิ่งที่ไม่จำเป็น
รูสเวลต์ได้ลองขอคำปรึกษาจากเพื่อนที่เป็นแพทย์ ซึ่งเพื่อนของรูสเวลต์ก็เห็นด้วยกับกอร์กัส ทำให้รูสเวลต์สนับสนุนกอร์กัสเต็มที่
เมื่อรูสเวลต์สนับสนุน จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย มีการบังคับให้ประชาชนปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะ มีการกำจัดแหล่งน้ำขังจำนวนมาก มีการติดตั้งระบบประปาและกำจัดน้ำเสีย
ถึงแม้ว่าจะเป็นงานหนัก แต่ก็ได้ผล มาลาเรียกลายเป็นโรคหายาก ทั้งปีมีคนตายแค่คนเดียว เทียบกับปีก่อนที่มีคนตายหลักพัน
แต่ถึงอย่างนั้น การก่อสร้างคลองปานามาของสหรัฐอเมริกาในปีแรก ก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปอย่างที่หวัง
หากแต่ในปีค.ศ.1905 (พ.ศ.2448) หัวหน้าวิศวกรคนเก่า ก็ได้ถูกแทนที่ด้วยชายที่ชื่อ “จอห์น สตีเวนส์ (John Stevens)”
สตีเวนส์เข้าใจดีว่าการก่อสร้างใหญ่ๆ ต้องทำอย่างไร เขาเคยช่วยในการก่อสร้างทางรถไฟมาแล้ว และเมื่อเขาเข้ามารับหน้าที่ คำสั่งแรกของเขาคือ “หยุดขุด”
ที่เป็นอย่างนี้ เพราะสตีเวนส์คิดว่าขุดไปก็เท่านั้น หากยังไม่มีแผนที่ชัดเจนและแก้ปัญหาทุกอย่างจนเสร็จสมบูรณ์
จอห์น สตีเวนส์ (John Stevens)
สตีเวนส์จัดการปรับปรุงที่พักและสร้างร้านค้าให้กับคนงาน ดึงดูดให้คนงานอยากทำงานด้วย สร้างเมืองย่อมๆ ให้เหล่าคนงานเลยทีเดียว
เมื่อปรับปรุงเรื่องคุณภาพชีวิตของคนงานแล้ว การก่อสร้างก็ดำเนินต่อ และเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว
แต่แล้วสตีเวนส์ก็ลาออกในปีค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) โดยไม่ทราบสาเหตุ จึงได้มีการแต่งตั้งนายทหารที่ชื่อ “จอร์จ วอชิงตัน โกธัลส์ (George Washington Goethals)” เป็นหัวหน้าวิศวกรแทนสตีเวนส์
จอร์จ วอชิงตัน โกธัลส์ (George Washington Goethals)
โกธัลส์พยายามที่จะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมาก หากแต่ก็ยังมีปัญหาตามมาอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นพื้นดินที่ไม่คงที่ ปัญหาจากระเบิดไดนาไมต์ที่ต้องใช้ในการก่อสร้าง ทำให้คนงานบาดเจ็บล้มตาย
ในที่สุด 10 ตุลาคม ค.ศ.1913 (พ.ศ.2456) ทางน้ำที่เชื่อมจากมหาสมุทรแห่งหนึ่งสู่อีกแห่งก็เสร็จสมบูรณ์
7 มกราคม ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) เรือ “Alexandre La Valley” ก็กลายเป็นเรือลำแรกที่ได้เข้ามาใช้ทางผ่านในคลองนี้
ในที่สุด ภายหลังจากใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 10 ปี และงบประมาณถึง 400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 12,000 ล้านบาท) คลองปานามาก็เสร็จสมบูรณ์
คลองปานามาในปีค.ศ.1914 (พ.ศ.2457)
ได้มีการวางแผนสำหรับงานฉลอง หากแต่สงครามก็เข้ามาสร้างปัญหา
ต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ.1914 (พ.ศ.2457) เยอรมนีประกาศสงครามต่อรัสเซีย ฝรั่งเศส และเบลเยี่ยม
สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นแล้ว และทำให้งานฉลองต้องยกเลิก
สงครามโลกครั้งที่ 1
ในเวลาต่อมา คลองปานามาก็ได้พิสูจน์ความสำคัญ และแสดงให้เห็นว่าคลองแห่งนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก
ในเวลาไม่นาน มีเรือเกือบ 14,000 ลำต่อปีใช้คลองแห่งนี้ และสร้างผลกำไรให้คลองปานามา ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาต้องรอจนเข้าสู่ยุค 50 (พ.ศ.2493-2502) จึงจะเริ่มคุ้มทุนก็ตาม
รายได้ของคลองปานามามาจากการเก็บค่าผ่านทาง โดยคิดจากน้ำหนักและสินค้าที่บรรทุกมาของเรือ
ค่าผ่านทางที่แพงที่สุด เกิดขึ้นในปีค.ศ.2010 (พ.ศ.2553) โดยเรียกเก็บจากเรือสำราญลำหนึ่ง เป็นเงิน 375,600 ดอลลาร์ (มากกว่า 11 ล้านบาท)
1
คลองปานามาในปัจจุบัน
ในทุกวันนี้ คลองปานามาก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในความสำเร็จของมนุษย์ เป็นสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
โฆษณา