9 เม.ย. 2021 เวลา 11:49 • ประวัติศาสตร์
“เรือมรณะ (Death Ships)” ที่นำพาโรคระบาดเข้ามาในยุโรป
บทความก่อนหน้านี้ ผมกล่าวถึงการที่โรคระบาดได้เข้ามาในยุโรปทางเรือ ผ่านเรือที่มาจากดินแดนอื่น
เรือเหล่านั้นเป็นเรือสินค้า และเรียกกันในภายหลังว่า “เรือมรณะ (Death Ships)”
ในยุคกลาง การค้าระหว่างประเทศกำลังเติบโต พ่อค้าในอิตาลี สเปน และตุรกี ต่างนำเข้าสินค้าจากอินเดียและจีน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเทศ ผ้าไหม น้ำหอม หรือเกลือ
เรือสินค้าเหล่านี้จะล่องไปตามทะเลเมดิเตอเรเนียน ซึ่งในยุคนั้น ผู้คนที่อยู่ในดินแดนที่ห่างไกล เริ่มจะติดต่อสื่อสารกันได้
เครื่องเทศ
กาฬโรคเป็นโรคซึ่งติดต่อจากของเหลวในร่างกาย ซึ่งในยุคกลางนั้น เห็บ หมัด ได้กัดสัตว์ที่ติดเชื้อ ซึ่งส่วนมากคือหนู จากนั้นเห็บ หมัดก็กัดมนุษย์ต่อ ทำให้มนุษย์ได้รับเชื้อ
จากนั้น กาฬโรคก็ระบาดอย่างไม่สิ้นสุด และติดต่อกันอย่างหนักในพื้นที่แคบที่มีคนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก
ในยุคนั้น ลูกเรือมักจะนอนอัดกันในห้องใต้ท้องเรือแคบๆ อับชื้น เต็มไปด้วยหนู และเมื่อถึงท่าเรือ บางทีหนูก็จะติดไปกับสินค้าที่ขนลงเรือ ไปแพร่โรคยังที่อื่น
จากบันทึก ทำให้ทราบว่าวันที่โรคระบาดได้มาถึงยุโรป คือเดือนตุลาคม ค.ศ.1347 (พ.ศ.1890) เมื่อเรือสินค้าจำนวนหนึ่งจากทะเลดำ ได้มาจอดเทียบท่าที่เมืองเมสซินาในอิตาลี
ผู้คนในเมืองรีบมายังท่าเรือเพื่อซื้อสินค้า แต่ก็ต้องขนพองสยองขวัญเมื่อพบว่าลูกเรือเกือบทั้งหมดได้เสียชีวิตไปแล้ว ที่ยังรอดก็อาการร่อแร่ มีแผลสีดำขึ้นตามตัว
เมืองเมสซินาทราบทันทีว่านี่คือโรคร้าย และสั่งให้เรือเหล่านี้ออกไปจากท่าเรือ หากแต่สายไปแล้ว
ต่อมาไม่นาน หนึ่งในเรือมรณะก็ได้มาถึงอังกฤษในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1348 (พ.ศ.1891)
ลูกเรือที่มาเทียบท่านั้นยังไม่ตาย แต่ก็เริ่มมีอาการป่วย และชาวอังกฤษก็รับรู้ถึงอันตรายที่กำลังมาและได้ทิ้งเมือง ออกไปยังชนบท
หากแต่สายไปแล้ว หลายรายติดเชื้อและนำพาเชื้อออกนอกเมือง ไปติดคนอื่นๆ ในชนบท ทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงไปอีก
ในเวลาไม่กี่เดือน โรคระบาดก็ได้แพร่ไปยังลอนดอนและทั่วอังกฤษ
แต่ถึงจะเป็นช่วงเวลาที่โรคระบาดกำลังรุนแรง แต่เศรษฐกิจของอังกฤษก็จำเป็นต้องพึ่งพาการค้า ยังต้องดำเนินต่อไป
เมื่อเจ้าหน้าที่รู้ว่าเรือที่เทียบท่าอาจจะนำพาโรคร้ายเข้ามาแพร่ จึงสั่งให้เรือเหล่านี้แยกตัว กักตัวเป็นเวลาหลายสัปดาห์ จึงจะอนุญาตให้เทียบท่า
ทางด้านนอร์เวย์ ในปีค.ศ.1349 (พ.ศ.1892) เรือสินค้าที่บรรทุกขนแกะจากอังกฤษ มุ่งไปยังสแกนดิเนเวีย ประสบปัญหาโรคระบาดบนเรือ และทำให้ลูกเรือเสียชีวิตทั้งลำ
เรือลำนี้ลอยคอมาเรื่อยๆ จนมาเทียบท่าที่นอร์เวย์
ถึงแม้ว่าลูกเรือจะเสียชีวิตทั้งหมด หากแต่หนูซึ่งเป็นพาหะยังอยู่ และได้นำพาโรคระบาดเข้ามาในนอร์เวย์รวมทั้งทั่วสแกนดิเนเวีย
เจ้าหน้าที่รัฐในยุคนั้นคิดถูกที่ให้ผู้ต้องสงสัยกักตัว แต่แผนของพวกเขาก็ยังมีช่องโหว่
พวกเขาลืมคิดไปว่าหนูนั้นว่ายน้ำเป็นและเก่งมาก ถึงแม้เรือที่มาเทียบท่าจะไม่สามารถขึ้นฝั่งได้ ต้องแยกตัวจากฝั่งเป็นสัปดาห์ หากแต่หนูก็ลงจากเรือและว่ายน้ำขึ้นฝั่ง นำพาโรคระบาดมาสู่ฝั่ง
นี่ก็เป็นเรื่องราวของเรือมรณะที่นำพาโรคระบาดมาสู่ยุโรปเมื่อหลายร้อยปีก่อน
สำหรับโควิด-19 ในปัจจุบัน ก็ต้องดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร และขอให้ทุกท่านโชคดีครับ
โฆษณา