4 เม.ย. 2021 เวลา 03:36 • การศึกษา
[[ ปฎิทินจีนมันเป็นยังไง ทำไมวันตรุษจีนไม่ตรงกันซักปี|เรื่องของปฎิทินจีน ]]
#ปฎิทินจีน #สาระไม่จำเป็นต้องรู้ #ภาษาจีน
เคยสงสัยกันไหมว่าทำไมตรุษจีน สาทรจีน แต่ละปีมันไม่เคยตรงกันเหมือนอย่างวันสงกรานต์บ้าง เรื่องนี้เอาจริงๆ คล้ายกับระบบปฎิทินของไทยมากๆ ซึ่งก็คือระบบปฎิทินคู่ วันนี้เลยจะมาเล่าเกี่ยวกับปฎิทินจีนให้เข้าใจ ว่ามันพิเศษยังไงบ้าง บทความนี้อาจจะยาวหน่อย แต่อยากให้เห็นภาพรวมเพื่อจะได้เข้าใจได้มากขึ้น ยังไงแชร์ไว้ หรือ เซฟเก็บไว้กลับมาอ่านเผื่ออ่านไม่จบก็ได้นะ
มาเริ่มกัน อ่านต่อได้เลยในแต่ละรูปเลยครับ
[ 阴历、阳历、阴阳合历 พื้นฐานปฎิทินต่างๆของโลก ]
การรู้วันต่างๆ ในปีและการนับรอบเดือนมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งช่วยให้รู้ช่วงเวลาของปีที่สมควรทำการเกษตร เตรียมตัวเข้าสู่ฤดูแล้ง การป้องกันภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ
ปฎิทินในโลกนี้มีอยู่หลายระบบ ระบบที่แพร่หลายและใช่อยู่ในปัจจุบันมีหลักๆ คือ 2 ระบบที่เกิดจากการสังเกตปรากฎการณ์บนท้องฟ้า ได้แก่
- ปฎิทินจันทรคติ (阴历 yīn lì) เป็นปฎิทินที่ยึดตามรอบข้างขึ้นและข้างแรมของดวงจันทร์ ลองนึกย้อนไปถึงโลกโบราณที่ยังไม่มีอะไรเลย ปรากฎการณ์ข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์เป็นสิ่งที่สังเกตได้ง่ายที่สุด จึงถูกนำมาคำนวนและสร้างรอบการนับปี ข้อดีคือรู้ปรากฎการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ชัดเจน และมักจะใกล้เคียงกับรอบประจำเดือนของผู้หญิง แต่ก็ไม่สามารถบอกฤดูกาลที่ถูกต้องได้เนื่องจากรอบจะไม่ตรงกับรอบที่โลกโคตรรอบดวงอาทิตย์
- ปฎิทินสุริยคติ (阳历 yáng lì) ปฎิทินที่ยึดตามการเปลี่ยนแปลงของดวงอาทิตย์และดาวมานับ รอบในแต่ละปี ปฎิทินระบบนี้มีความแม่นยำกว่าในการคาดการณ์ฤดูกาลต่างๆ มีการกำหนดวันของปีที่แน่นอนกว่าเนื่องจากสัมพันธ์กับการโคจรของโลกรอบด้วยอาทิตย์
แต่ปฎิทินของจีน จันทรคติไทย และอีกหลายๆ ฉบับบนโลกนี้มันไม่ใช่ 阴历 แท้ มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมและเอาข้อดีของทั้งสองแบบมารวมกันน่ะสิ เรียกว่า 阴阳合历 yīn yáng hé lì ไปต่อกันในข้อต่อไป
[ 农历 รอบดวงจันทร์ก็จะเอา การปรับแต่งสู่ 阴阳合历 ]
农历 nóng lì ปฎิทินการเกษตรของจีนได้มีการพัฒนามาอย่างยากนานกว่าจะมาถึงเวอร์ชันที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หากย้อนรากไปอาจจะต้องนับไปถึงราชวงศ์เซี่ย(夏朝)ปฎิทินนี้มีการผสมผสานจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้ทั้งเพื่อบอกเวลาในการทำการเกษตร และ เทศกาล ไปจนถึงฤดูกาลต่างๆ 农历 ดัดแปลงจากปฏิทินจันทรคติให้ผสมผสานข้อดีของปฏิทินสุริยคติให้ดียิ่งขึ้น เราเรียกปฎิทินแบบนี้ว่า 阴阳合历 yīn yáng hé lì
ปัญหาของของ 阴历 อย่างที่ได้กล่าวไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ ดวงจันทร์จาก 新月 xīn yuè (เดือนมืด) ไปถึง 满月 mǎn yuè (จันทร์เต็มดวง) และวนกลับมา 新月 อีกครั้งใช้เวลาประมาณ 29.53 วัน ซึ่งด้วยภูมิปัญญาของคนจีนโบราณ ได้แบ่งให้บางเดือนมี 30 วัน เรียกว่า 大月 dà yuè และบางเดือนมี 29 วัน 小月 xiǎo yuè แต่ละปีไม่เท่ากัน แต่จะรวมได้ประมาณ 354 - 355 วันต่อปี
จะเห็นได้ว่าขาดไปประมาณ 10 วัน ซึ่งถ้ายึดตามดวงจันทร์อย่างเดียว ไปสักหลายสิบปี อาจจะเจอหน้าร้อนมาแทนฤดูใบไม้ผลิก็ได้ คนจีนเลยเพิ่มเดือนอธิกมาส หรือ ซ้ำเดือน 7 เดือนในรอบ 19 ปี เพื่อชดเชย และ ให้ปฎิทินตรงกับการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ เรียกเดือนเหล่านี้ว่า 闰月 rùn yuè ปีอธิกมาสเรียกว่า 闰年 rùn nián ซึ่งเป็นวิธีที่คล้ายกันกับการเพิ่มวันที่ 29 กุมภาพันธ์ในทุกๆ 4 ปี ของปฎิทินเกรกอเรียนที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
[ 农历 ฤดูกาลตามดวงอาทิตย์ก็มีครบ การแบ่ง 24 ฤดู]
นอกจากแก้ไข 阴历 ให้สอดคล้องกับปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์แล้ว ได้ทั้งข้อดีเรื่องรอบดวงจันทร์ดูน้ำขึ้นน้ำลง ฤกษ์ยาม รวมมาทั้งทีก็มาให้สุด คนจีนยังแบ่งฤดูกาลใน 农历 ออกเป็น 24 ฤดู โดยใช้ 天干地支 tiān gān dì zhī [1] ทั้งเพื่อใช้บอกเวลาทางการเกษตร ประเพณีและพิธีกรรม เรียกว่า 二十四节气 èr shí sì jié qì โดยแบ่งจาก 4 ฤดูกาลใหญ่ทั้ง 4 春夏秋冬 chūn xià qiū dōng ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ให้ย่อยลงไปอีก 6 ฤดูกาลย่อยที่เรียกว่า 气 qì ดังนี้
- 立春 lì chūn — ช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 3, 4 หรือ 5 ของเดือน ก.พ.
- 雨水 yǔ shuǐ — ช่วงน้ำฝน น้ำหลาก วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 18,19 หรือ 20 ของเดือน ก.พ.
- 惊蛰 jīng zhé — ช่วงแมลงและสัตว์ตื่นจากการจำศีล วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 5, 6 หรือ 7 ของเดือน มี.ค.
- 春分 chūn fēn — ช่วงวสันตวิษุวัต กลางวันกับกลางคืนจะยาวเท่ากัน (ฤดูใบไม้ผลิ) วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 20, 21 หรือ 22 ของเดือน มี.ค.
- 清明 qīng míng — แปลตรงตัวว่าช่วงสว่างใส (ช่วงเทศกาลเชงเม้ง) วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 4, 5 หรือ 6 ของเดือน เม.ย.
- 谷雨 gǔ yǔ — ช่วงฝนข้าว ช่วงที่เหมาะกับการปลูกเมล็ดข้าว วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 19, 20 หรือ 21 ของเดือน เม.ย.
- 立夏 lì xià — ช่วงเริ่มต้นฤดูร้อน วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 5, 6 หรือ 7 ของเดือน พ.ค.
- 小满 xiǎo mǎn — ช่วงข้าวเต็มน้อย วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 20, 21 หรือ 22 ของเดือน พ.ค.
- 芒种 máng zhòng — ช่วงปลูกข้าว ช่วงที่ชาวไร่ชาวนาต้องกลับไปยุ่งอีกรอบ วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 5, 6 หรือ 7 ของเดือน มิ.ย.
- 夏至 xià zhì — ช่วงครีษมายัน ช่วงที่กลางวันยาวกว่ากลางคืน ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ของเดือน มิ.ย.
- 小暑 xiǎo shǔ — ช่วงร้อนน้อย วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 6, 7 หรือ 8 ของเดือน ก.ค.
- 大暑 dà shǔ — ช่วงอากาศร้อนที่สุด วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 22, 23 หรือ 24 ของเดือน ก.ค.
- 立秋 lì qiū — ช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 7, 8 หรือ 9 ของเดือน ส.ค.
- 处暑 chǔ shǔ — ช่วงจบร้อน สิ้นสุดฤดูร้อน วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 22, 23 หรือ 24 ของเดือน ส.ค.
- 白露 bái lù — ช่วงน้ำค้างขาว วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 7, 8 หรือ 9 ของเดือน ก.ย.
- 秋分 qiū fēn — ช่วงศารทวิษุวัต กลางวันกับกลางคืนในฤดูใบไม้ร่วงยาวเท่ากัน ตรงกับวันที่ 22, 23 หรือ 24 ของเดือน ก.ย.
- 寒露 hán lù — ช่วงน้ำค้างหนาว วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 8 หรือ 9 ของเดือน ต.ค.
- 霜降 shuāng jiàng — ช่วงน้ำค้างแข็งตก วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 23 หรือ 24 ของเดือน ต.ค.
- 立冬 lì dōng — ช่วงเริ่มต้นฤดูหนาว วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 7 หรือ 8 ของเดือน พ.ย.
- 小雪 xiǎo xuě — ช่วงหิมะตกเล็กน้อย วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 ของเดือน พ.ย.
- 大雪 dà xuě — ช่วงหิมะตกหนัก วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 6, 7 หรือ 8 ของเดือน ธ.ค.
- 冬至 dōng zhì — ช่วงเหมายัน ช่วงที่กลางคืนยาวกว่ากลางวัน ตรงกับวันที่ 21, 22 หรือ 23 ของเดือน ธ.ค.
- 小寒 xiǎo hán — ช่วงอากาศหนาวเล็กน้อย วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 5, 6 หรือ 7 ของเดือน ม.ค.
- 大寒 dà hán — ช่วงอากาศหนาวมาก วันเริ่มต้นตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 ของเดือน ม.ค.
ที่น่าสนใจคือเมื่อวิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากขึ้น ได้เปรียบเทียบกับช่วงเวลาที่ถูกแบ่งเหล่านี้ มันคือวันที่โลกเคลื่อนที่ไปตามวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ทุกๆ 15 องศานั่นแหละ อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือหนึ่งในรากฐานของ 农历 ซึ่งก็คือการพัฒนาในช่วงราชวงศ์หมิง (大明历 dà míng lì) ได้มีการคำนวนและปรับระยะเวลาของปีเป็น 365.2425 วัน ซึ่งเหมือนกับปฎิทินเกรกอเรียนเลย นับว่าเป็นความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก
เพิ่มเติม
[1] 天干地支 คือระบบเลขฐาน 60 ซึ่งไล่ประวัติไปได้ถึงสมัยราชวงศ์ซฺาง (商代 Shāng dài) ซค่งเป็นราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีได้มีการบันทึกในปัจจุบัน เป็นตัวเลขอักษรจีนวนรอบ ประกอบดัวย 2 ส่วน 天干 tiāngān ภาคสวรรค์ 10 ตัวอักษร และ 地支 dìzhī ภาคปฐพี 12 ตัวอักษร ใช้ในการนับวันและปีแบบดั้งเดิม หากเคยได้ยิน ปีนักษัตรหมูทอง ก็ไล่มาจากระบบนี้ 干支 เป็นหลักสำคัญในโหราศาสตร์จีน และ ยังใช้ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/MandarinTheory/posts/1740477912796929
[ การเปลี่ยนมาใช้ 公历 ตรุษจีนที่ไม่ตรงแต่ละปี และ วันเกิดที่แสนงง ]
ในช่วงสาธารณรัฐจีน 1 มกราคม ค.ศ. 1912 ประธานธิบดีซุนยัดเซ็น ได้ประกาศปรับเปลี่ยนมาใช้ปฎิทินเกรกอเรียนตามสากล และตั้งชื่อให้เป็นปฎิทินสาธารณะ 公历 gōng lì ส่วนของ 农历 ได้ยกเลิกใช้เป็นปฎิทินราชการให้เหลือไว้แค่เพื่อดูวันทางประเพณี กลายเป็นระบบปฎิทินคู่ เมื่อวันไม่ตรงกันจึงเป็นที่มาว่าวันสำคัญทางประเพณีจีนถึงได้เปลี่ยนไปทุกปีเพราะต้องคอยเทียบระหว่าง 2 ปฎิทิน
ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้ขึ้นปกครองประเทศจีนแทนในช่วงทศวรรษ 1940 ก็ได้รับระบบปฎิทินคู่นี้มาใช้ต่อ เพื่อให้แตกต่างกัน วันตาม 公历 จะใช้เป็นตัวเลขอารบิก 农历 ใช้เป็นอักษรจีน
ความวุ่นวายมันอยู่ที่การเปลี่ยนระบบปฎิทินกับงานราชการต่างๆ ต้องใช้เวลาและเป็นเรื่องปวดหัวมาก เพราะ 农历 ผูกพันกับสังคมจีนมาอย่างยาวนาน ทางการตั้งแต่สาธารณรัฐจีน มาจนถึงสาธารณรัฐประชาชนจีนได้พยายามผลักดันให้ประชาชนมาใช้ 公历 ในการทำเรื่องต่างๆ รวมถึงการแจ้งเกิดด้วย จนเกิดปัญหามากมายกับเด็กที่เกิดในช่วงปีค.ศ. 1950 - 1990
ปัญหาคือคนจีน โดยเฉพาะตามเมืองที่ห่างไกลในช่วงนั้นยังใช้ 农历 อย่างเหนียวแน่น ไปแจ้งวันเกิดลูกก็เอาวันเกิด 农历 ไปแจ้ง แล้วคนจีนไม่ว่างจะ 公历 หรือ 农历 ก็เรียกเดือนเป็นตัวเลข พอไปเจอกับเจ้าหน้าที่ที่ไม่เข้มงวด ไม่ค่อยถามว่าเป็นปฎิทินอะไร กรอกๆไป สุดท้ายวันเกิดในบัตรประชาชนก็ไม่รู้ว่าเป็น 公历 หรือ 农历 กันแน่เพราะวันไม่ตรงกันจนต้องคอยถาม 这是阳历生日还是农历的?ใครโชคดีพ่อแม่จำได้ก็ดีไป จำไม่ได้ก็ได้แต่จำใจทนสงสัยต่อไป
จบไปแล้วกับเรื่องระบบปฎิทินของประเทศจีน เอาจริงๆ ก็คล้ายกับประเทศไทยที่ใช้เป็นระบบปฎิทินคู่เพื่อดูวันสำคัญทางศาสนาวัฒนธรรมต่างๆ ไปจนถึงดูดวง และยังเป็น 阴阳合历 เหมือนกันด้วย หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Lunisolar Calendar นั่นแหละ ปฎิทินที่มีชื่อเสียงและเป็นแค่ปฎิทินจันทรคติแท้ๆ เหมือนจะได้ยินมาแค่ ปฎิทินอิสลามซึ่งก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจ คือไม่ใช้ระบบอธิกมาส เพิ่มวันเดือนมาทดแทน วันรอบไป 32 ปีค่อยให้กลับมาตรงเองเหมือนเดิมนั่นแหละ
หากใครมีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับภาษาจีนที่สนใจ มาคุยกับแอดมินได้นะครับ เดี๋ยวไว้จะมาเขียนให้อ่านกัน
เข้ามาคุยกับแอดมินได้ที่
โฆษณา