4 เม.ย. 2021 เวลา 04:55 • สิ่งแวดล้อม
ต้นราชพฤกษ์ (Golden Shower) ดอกไม้ประจำชาติไทย
เมื่อเข้าถึงฤดูร้อน เรามักจะพบเห็นดอกไม้บางชนิดที่เปล่งปลั่งสวยงาม สีสันฉูดฉาด บานสะพรั่ง ถึงแม้อากาศจะร้อน ไม่ได้รับน้ำอย่างเต็มที่แต่ก็ยังเบ่งบาน สวยงามได้
ต้นราชพฤกษ์
ประวัติดอกราชพฤกษ์
ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูน เป็นต้นไม้พื้นเมืองของเอเชียใต้ ตั้งแต่ปากีสถาน อินเดีย พม่า และศรีลังกา โดยนิยมปลูกกันมากในเขตร้อน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้ง และเป็นที่รู้จักในประเทศไทยมาหลายสิบปี โดยมีการเสนอให้ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด จนกระทั่งมีการลงนามให้เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2544
ดอกไม้ประจำชาติไทย
เนื่องจาก ต้นราชพฤกษ์ ออกดอกสีเหลืองชูช่อ ดูสง่างาม อีกทั้งยังมีสีตรงกับ สีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (ในหลวงรัชกาลที่ 9) จึงถูกตั้งชื่อว่าเป็น “ต้นไม้ของในหลวง” และมีการลงนามให้ต้นราชพฤกษ์
เป็นหนึ่งใน 3 สัญลักษณ์ประจำชาติไทย
โดยมี
1. ช้าง เป็นสัตว์ประจำชาติไทย
2. ศาลาไทย เป็นสถาปัตยกรรมประจำชาติไทย
3. ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติไทย
เหตุผลเลือกเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย
1. เนื่องจากเป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และมีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย
2. มีประวัติเกี่ยวข้องกับประเพณีสำคัญ ๆ ในไทยและเป็นต้นไม้มงคลที่นิยมปลูก
3. ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้เป็นยารักษาโรค อีกทั้งยังใช้ลำต้นเป็นเสาเรือนได้ เป็นต้น
4. มีสีเหลืองอร่าม พุ่มงามเต็มต้น เปรียบเป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา
5. มีอายุยืนนาน และทนทาน
ลักษณะทั่วไป
เป็นต้นไม้ขนาดกลาง สูงประมาณ 10-20 เมตร ออกดอกเป็นช่อสีเหลืองอร่าม แต่ละช่อยาวประมาณ 20-40 เซนติเมตร โดยกลีบดอกจะเป็นสีเหลือง 5 กลีบ มีผลยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร มีกลิ่นฉุน และมีเมล็ดที่เป็นพิษ
การปลูกดอกราชพฤกษ์
นิยมปลูกด้วยเมล็ด โดยจะมีการเจริญเติบโตช้าในช่วง 1-3 ปีแรก แต่หลังจากนั้นจะมีการเติบโตเร็วขึ้น และออกดอกตอนอายุประมาณ 4-5 ปี
การดูแลรักษา
แสง : ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง และเจริญเติบโตได้ดีในที่โล่งแจ้งเป็นพิเศษ
น้ำ : ชอบน้ำน้อย ควรรดน้ำ 7-10 วันต่อครั้ง สามารถทนกับสภาพอากาศร้อนได้ดี
ดิน : สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียว
ปุ๋ย : นิยมใส่ปุ๋ยหมัก หรือ ปุ๋ยคอก ในอัตรา 2-3 กิโลกรัมต่อต้น และควรให้ปุ๋ยปีละ 3-4 ครั้ง
การขยายพันธุ์
วิธีขยายพันธุ์ต้นราชพฤกษ์ที่นิยม คือ การเพาะเมล็ด โดยใช้เมล็ดสด ๆ มาขลิบด้วยกรรไกรตัดเล็บ แต่ต้องเลือกขลิบบริเวณด้านป้าน เพราะด้านแหลมจะมีต้นอ่อนอยู่ จากนั้นนำไปแช่น้ำสะอาดทิ้งไว้ข้ามวัน จึงค่อยเทน้ำออกให้เหลือปริมาณพอหล่อเลี้ยงเมล็ดได้ จากนั้นทิ้งไว้อีกคืนก็จะพบรากงอก และสามารถนำลงปลูกได้เลย
สรรพคุณของราชพฤกษ์
- ช่วยบำรุงโลหิตในร่างกาย (เปลือก)
- สารสกัดจากลำต้นและใบของราชพฤกษ์มีฤทธิ์ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ (ลำต้น, ใบ)
- สารสกัดจากเมล็ดมีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล (เมล็ด)
- ช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจหรือถุงน้ำดี (ราก)
- ราชพฤกษ์มีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ (ราก)
- ฝักราชพฤกษ์มีสรรพคุณทางยาช่วยแก้ไข้มาลาเรีย (ฝัก)
#สาระจี๊ดจี๊ด
ต้นราชพฤกษ์ สมัยโบราณนิยมนำมาทำเป็นเสาเอก หรือ นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำพิธีมงคลต่าง ๆ เพราะมีความเชื่อว่าเป็นต้นไม้สิริมงคล เป็นต้นไม้ที่แสดงถึงความแข็งแรง ความมั่นคง ซึ่งภาคอีสานเรียกว่า ดอกคูน หรือ ต้นคูน ส่วนภาคเหนือเรียกว่า ดอกลมแล้ง หรือ ต้นลมแล้ง
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
แหล่งที่มา / แหล่งอ้างอิง
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง
โฆษณา