8 เม.ย. 2021 เวลา 05:10 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์ “กิโยติน (Guillotine)”
“กิโยติน” คือเครื่องประหารของฝรั่งเศสในสมัยโบราณ และหลายคนคงเคยเห็นจากในภาพยนตร์หลายๆ เรื่อง
กิโยติน ได้ถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ.1792 (พ.ศ.2335) โดยได้เริ่มทดลองประหารนักโทษฝรั่งเศส
เครื่องประหารนี้ถูกสร้างสรรค์จากฝีมือของ “โฌแซ็ฟ-อีญัส กียอแต็ง (Joseph-Ignace Guillotin)” แพทย์ชาวฝรั่งเศส
โฌแซ็ฟ-อีญัส กียอแต็ง (Joseph-Ignace Guillotin)
ถึงแม้ว่าจะฟังดูทะแม่งๆ แต่กิโยตินก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้นักโทษตายสบายที่สุด เนื่องจากในเวลานั้น การประหาร มักจะเป็นการแขวนคอ เอาม้าลาก การคว้านท้อง หรือการหั่นเป็นชิ้นๆ ซึ่งล้วนแต่ทรมานและน่าสยดสยอง
การประหารด้วยกิโยติน จะทำให้หัวขาดในทันที แทบไม่รู้สึกเจ็บ ต่างจากการตัดหัวโดยใช้ดาบ เนื่องจากต้องกะแรงที่เอาดาบฟัน ซึ่งบางครั้งก็ผิดพลาดได้
กิโยติน นับว่ามาได้ถูกเวลา เนื่องจากในเวลานั้น เป็นช่วงเวลาของการปฏิวัติฝรั่งเศส นักเคลื่อนไหวจำนวนมากต่างต้องการจะจับราชวงศ์และชนชั้นสูงมาประหาร
21 มกราคม ค.ศ.1793 (พ.ศ.2336) “พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI)” ทรงถูกประหารด้วยกิโยติน ตามมาด้วย “พระนางมารี อ็องตัวแน็ต (Marie Antoinette)” พระมเหสีของพระองค์ ตามมาด้วยชนชั้นสูงอีกจำนวนมาก
1
การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
กิโยติน จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความเท่าเทียมของคนในเวลานั้น เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นบุคคลชนชั้นใด ก็ตายด้วยวิธีการเดียวกัน
ต่อมา ภายหลังการปฏิวัติ เหตุการณ์ทางการเมืองก็ยังไม่สงบ มีผู้ถูกประหารอีกจำนวนมาก และมีคนถึง 16,000 คนถูกประหารด้วยกิโยติน
เมื่อถูกประหารด้วยกิโยติน ขณะที่หัวหลุดจากบ่า เป็นไปได้ที่ใบหน้าของผู้ถูกประหารจะยังคงขยับได้ เนื่องจากต้องใช้เวลาหลายวินาทีกว่าที่เซลล์สมองจะตาย
กิโยตินยังคงทำหน้าที่ประหารนักโทษต่อไป และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีได้ใช้กิโยตินประหารนักโทษไปถึง 16,000 คน
การประหารด้วยกิโยตินในที่สาธารณะ ถูกจัดเป็นครั้งสุดท้ายในปีค.ศ.1939 (พ.ศ.2482) หากแต่กิโยตินก็ยังถูกใช้ต่อมาเรื่อยๆ จนยกเลิกไปในที่สุด
ปัจจุบัน กิโยตินกลายเป็นหลักฐานหนึ่งทางประวัติศาสตร์ และถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ตอกย้ำถึงเรื่องราวในอดีต
โฆษณา