12 เม.ย. 2021 เวลา 19:31 • ประวัติศาสตร์
“ตำนานที่มาของชาหลงจิ่ง” (1)
ด้วยใบชาที่มีสีเขียวดุจมรกต รูปร่างที่สวยงาม กลิ่นหอมขจรขจาย และรสชาติที่กลมกล่อม น้ำชาที่ชงออกมามีสีใสบางเบาแต่กลิ่นหอมกำจายไกล ทำให้ชาหลงจิ่งได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดชาอันดับหนึ่งในบรรดาชาที่มีชื่อเสียงทั้ง 10 ชนิดของจีน
หลงจิ่ง เป็นใบชาที่ผลิตขึ้นในเมืองหังโจว มณฑลเจ้อเจียง หากกล่าวถึงที่มาของชาหลงจิ่ง จุดเริ่มต้นอาจต้องย้อนไปถึงสมัยสามก๊กและราชวงศ์จิ้นตะวันตก-ตะวันออก ในช่วงนั้นเศรษฐกิจวัฒนธรรมสองฝั่งแม่น้ำเฉียนถังเริ่มเจริญรุ่งเรือง ศาสนาพุทธและเต๋าค่อยๆ เฟื่องฟู พื้นที่โดยรอบทะเลสาบซีหูก็ค่อยๆ พัฒนา การปลูกชาเริ่มแพร่กระจายไปพร้อมกับการสร้างวัดวาอาราม
จนมาถึงสมัยราชวงศ์สุย หลังจากเปิดคลองใหญ่ต้าอวิ่นเหอที่เชื่อมดินแดนทางเหนือและใต้ของจีน โดยเริ่มจากอำเภอจั๋วจวินหรือปักกิ่งในปัจจุบัน ไปจนถึงเมืองอู๋หังหรือหังโจวในปัจจุบัน การคมนาคมทางบกและทางน้ำสะดวกสบายขึ้นมาก ทำให้หังโจวกลายเป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองและมีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็วในช่วงต้นสมัยราชวงศ์ถัง ในตอนนั้นเอง การปลูกชาก็กลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในเมืองหังโจว
จนถึงสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ สันนิษฐานว่าการปลูกชาหลงจิ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงนี้ แต่จากบันทึก “เมิ่งเหลียงลู่” ของ อู๋ จื้อมู่ ในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ กลับเขียนถึงใบชาของหังโจวแค่ 3 ชนิด คือ “ชาเป่าอวิ๋น” “ชาเซียงหลิน” และ “ชาไป๋อวิ๋น” เท่านั้น โดยชาสามชนิดนี้ได้รับการจัดให้เป็นชาบรรณาการ จนกระทั่งรัชศกเจียจิ้งแห่งราชวงศ์หมิง ถึงได้มีบันทึกเขียนไว้ว่า “杭郡诸茶,总不及龙井之产,而雨前细芽,取其一旗一枪,尤为珍品。” (ชาทั่วทั้งหังโจว ล้วนไม่อาจสู้หลงจิ่ง ยอดอ่อนก่อนฤดูฝน เด็ดหนึ่งก้านหนึ่งใบ นับเป็นของชั้นเลิศ)
ชาหลงจิ่งเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาในสมัยราชวงศ์หยวน จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเจียงหนานหกครั้ง เป็นการประพาสหลงจิ่งสี่ครั้ง ทรงนิพนธ์บทกวีเกี่ยวกับชาหลงจิ่งถึง 6 บท ทรงแต่งตั้ง “ต้นชาแห่งจักรพรรดิ 18 ต้น” (เรื่องนี้ไว้จะเล่าในคราวต่อไป) ทรงยกให้ชาหลงจิ่งอยู่ในสถานะอันสูงสุด หลังจากสมัยสาธารณรัฐจีน ชาหลงจิ่งก็ได้กลายเป็นชาที่มีชื่อเสียงอันดับหนึ่งของจีน
อวี๋ จี๋ (虞集) กวีผู้รักชาในสมัยราชวงศ์หยวน ได้แต่งบทกวีแห่งการจิบชา “เที่ยวหลงจิ่ง” ที่โด่งดังไว้ว่า
“徘徊龙井上,云气起晴画。
烹煎黄金芽,三咽不忍漱。”
แปลความว่า
"เที่ยวไปในหลงจิ่ง เมฆหมอกนิ่งกระจ่างใส
ต้มยอดอ่อนทองอุไร สามอึกไซร้หอมตรึงตรา"
Image by Mirko Stödter from Pixabay
โฆษณา