15 มิ.ย. 2021 เวลา 07:00 • ประวัติศาสตร์
NBA 104 - ประวัติย่อของทีม NBA ตอนที่ 21 - Oklahoma City Thunder
ประวัติทีม Oklahoma City Thunder
ฝั่งที่สังกัด - ฝั่งตะวันตก Northwest Division
ปีที่ก่อตั้ง - 1967
ชื่อเดิม -
Seattle Supersonics (1967-2008)
Oklahoma City Thunder (2008-ปัจจุบัน)
สถานที่ตั้ง - เมือง Oklahoma City รัฐ Oklahoma
ชื่อสนามเหย้า - Chesapeake Energy Arena
เจ้าของทีม - Professional Basketball Club LLC
CEO - Clay Bennett
GM (General Manager) - Sam Presti
HC (Head Coach) - Mark Daigneault
ทีมสังกัดใน G-League - Oklahoma City Blue
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ลีก - 1 (1979)
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ฝั่งทวีป - 4 (1978, 1979, 1996, 2012)
จำนวนครั้งที่ได้แชมป์ Division - 11 (1979, 1994, 1996-1998, 2005, 2011-2014, 2016)
จำนวนเบอร์เสื้อที่ทำการ Retired - 7 (1, 4, 10, 19, 24, 32, 43)
ประวัติทีมโดยสังเขป
ทีมได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1967 โดยตั้งชื่อทีมว่า Seattle Supersonics ถือเป็นทีมประจำเมือง Seattle และได้เริ่มแข่งขันฤดูกาลแรกที่ปี 1967/68 ก่อนที่จะทำผลงานได้ 23-59 ในฤดูกาลเปิดตัวของทีม
Sonics 1967 Logo
ในปีถัดมา ทีมได้ทำการ Trade เอาผู้เล่นมากฝีมืออย่าง Lenny Wilkens มาจาก Hawks เพื่อมายกระดับของทีมให้ดีขึ้นกว่าเดิม นอกจากนั้นหลังจากที่ฤดูกาล 1968/69 จบลงด้วยผลงาน 30-52 เขาก็ได้รับบทบาท Player/Coach ควบคู่กันไปอีกด้วย
Lenny Wilkens
ในฤดูกาล 1969/70 ทั้ง Wilkens และ Bob Rule ต่างก็โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมจนติดทีม All-Star ได้ทั้งสองคน แต่ผลงานโดยรวมก็ยังจบแค่ 36-46 เท่านั้น ยังไม่สามารถผ่านเข้ารอบ Playoffs ได้
หลังจากจบฤดูกาล ได้มีการทำข้อตกลงในการควบรวมลีก ABA (American Basketball Association) ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ NBA โดยหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญก็คือเจ้าของทีม Sonics อย่าง Sam Schulman ที่ถึงกับประกาศว่าถ้า NBA ไม่ทำการควบรวมลีกในครั้งนี้ เขาจะพาทีมย้ายสังกัดไปอยู่กับ ABA แทนเลยทีเดียว
ฤดูกาล 1970/71 ทีมจบด้วยผลงาน 38-44 น่าเสียดายที่ Rule หนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญมีอาการบาดเจ็บจนต้องพักเกือบทั้งฤดูกาล ทำให้ Wilkens กลายเป็นแกนหลักเพียงหนึ่งเดียวของทีมในฤดูกาลนี้
ในช่วงท้ายฤดูกาล ทีมได้คว้าดาวรุ่งมากฝีมือประจำลีก ABA อย่าง Spencer Haywood เข้าสู่ทีม และเขาก็มีส่วนช่วยทีมเป็นอย่างมากให้ทีมมีผลงานที่ดีขึ้นเป็น 47-35 ในฤดูกาล 1971/72 แต่ก็ยังไม่ดีพอที่จะเข้ารอบ Playoffs เหมือนเดิม
Spencer Haywood
แต่ทีมกลับเลือกที่จะ Trade Wilkens ออกไปก่อนที่ฤดูกาล 1972/73 จะเริ่มขึ้น ส่งผลให้ผลงานของทีมตกลงอย่างมาก สถิติทำได้แค่ 26-56 เท่านั้น ถึงแม้ว่า Haywood จะโชว์ฟอร์มสุดยอดจนติดทีมยอดเยี่ยมประจำปีหลังจากฤดูกาลจบลงก็ตาม
มุ่งสู่แชมป์ลีก
ในฤดูกาล 1973/74 ทีมได้ว่าจ้าง Bill Russell ให้เป็น Head Coach ของทีม และผลงานภายใต้การคุมทีมของเขา ก็ทำให้ทีมเข้ารอบ Playoffs ได้เป็นหนแรกได้ในฤดูกาล 1974/75 ภายใต้การนำทีมของ Haywood และ Fred Brown แถมยังสามารถไปได้ถึงรอบสองอีกต่างหาก ก่อนที่จะแพ้ Warriors ตกรอบไปในตอนท้าย
เพียงแต่ในฤดูกาลถัดมา ทีมกลับตัดสินใจ Trade Haywood ออกจากทีมไปให้กับ Knicks ทำให้ Brown กลายเป็นแกนหลักที่เหลือเพียงคนเดียวแทน แต่เขาก็โชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมจนทำให้ทีมจบด้วยสถิติ 43-39 และเข้ารอบ Playoffs ได้ติดต่อกันเป็นปีที่สอง ถึงจะไม่สามารถผ่านเข้ารอบไปได้ก็ตามที
โชคร้ายที่ Russell ตัดสินใจอำลาทีมไปทั้งที่กำลังมีผลงานที่ดี หลังจากที่โค้ชใหม่ทำผลงานเพียงแค่ 5-17 ในฤดูกาล 1976/77 ซึ่งถือว่าล้มเหลวเอามากๆ ทีมจึงให้ Wilkens กลับมาอีกครั้งในบทบาทของ Head Coach อย่างเต็มตัว ไม่ใช่ผู้เล่น+โค้ชเหมือนรอบก่อนหน้านี้
Wilkens กับบทบาท Head Coach
ภายใต้การคุมทีมของ Wilkens ทีมสามารถแสดงผลงานได้อย่างเยี่ยมยอด ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 47-35 แถมยังไปได้ถึงรอบชิงแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกของทีม ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Bullets (Wizards ในปัจจุบัน) แบบลุ้นระทึกสุดๆ ในเกมที่ 7 ของรอบชิงแชมป์ลีกในปีดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ทีมสามารถกลับมาแก้ตัวได้สำเร็จ เอาชนะ Bullets ไปได้หลังจากต้องโคจรมาพบกันอีกครั้งในรอบชิงแชมป์ลีกฤดูกาล 1978/79 แต่หนนี้กลับเป็น Sonics ที่เอาชนะไปได้ คว้าแชมป์ครั้งแรก (และครั้งเดียว) ของทีมได้สำเร็จ
การคว้าแชมป์ครั้งแรก (และครั้งเดียว) ของทีมในปี 1979
ผลงานในฤดูกาล 1979/80 ก็ยังทำได้ยอดเยี่ยม ทีมจบด้วยสถิติ 56-26 แต่ Playoffs กลับพลาดท่าแพ้ให้กับ Lakers ในรอบชิงแชมป์สายฝั่งตะวันตกไปอย่างน่าเสียดาย
หลังจากจบฤดูกาล แกนหลักชุดคว้าแขมป์อย่าง Gus Williams และ Dennis Johnson กลับต้องระเห็จออกจากทีมไปทั้งสองคน รายแรกมีปัญหาเรื่องสัญญาจนไม่สามารถลงเล่นได้ในฤดูกาล 1980/81 ส่วนรายหลังถูกส่งไปให้กับ Suns
สุดท้ายแล้วทีมจึงไม่สามารถทำผลงานได้ใกล้เคียงกับช่วงไล่ล่าแชมป์อีกต่อไป หลังจากที่ทำได้ดีที่สุดเพียง Playoffs รอบสองเท่านั้นในรอบ 3 ปีหลังจากที่แกนหลักอย่าง Johnson ได้ออกจากทีม
ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง
ในช่วงปลายปี 1983 ทีมได้มีการเปลี่ยนเจ้าของจาก Schulman เป็น Barry Ackerley พร้อมกับการที่ Brown ตัดสินใจเลิกเล่นหลังจากฤดูกาล 1983/84 ได้สิ้นสุดลง รวมไปถึงการจากไปของ Wilkens ในปี 1985 ทำให้บรรดาแกนหลักที่มีสวนร่วมในการคว้าแชมป์ประวัติศาสตร์นั้นไม่เหลืออยู่อีกเลยนับแต่นั้น
ถึงแม้ว่าทีมจะได้ปลุกปั้นแกนหลักชุดใหม่อย่าง Tom Chambers, Xavier McDaniel และ Dale Ellis ที่ทำผลงานช็อคลีกด้วยการพาทีมทะลุไปถึงรอบชิงแชมป์สายในฤดูกาล 1986/87 ได้ทั้งที่ทีมมีสถิติเพียง 39-43 ในฤดูกาลปกติ แต่ก็ไม่สามารถผ่านเข้าไปถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้อีกเลย
จนกระทั่ง Chambers ได้ไปที่ Suns ในฤดูกาล 1988/89 แกนหลักที่เหลืออีกสองคนก็พาทีมไปได้แค่เพียงรอบสองใน Playoffs เท่านั้นเอง
กำเนิดคู่หู Payton/Kemp
ทีมได้ตัดสินใจสร้างทีมเข้าสู่ยุคใหม่ เริ่มจากการ Draft ดาวรุ่งอย่าง Shawn Kemp ในปี 1989 และ Gary Payton ในปี 1990 จากนั้นจึงทำการ Trade แกนหลักชุดเก่าทั้ง Ellis และ McDaniel ออกจากทีมไปทั้งคู่ในฤดูกาล 1990/91 ถือเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ของทีมเลยทีเดียว
คู่หู Payton/Kemp
การเดิมพันของทีมครั้งนี้ถือว่าได้ผล ทั้งสองคนต่างก็พัฒนาฝีมือขึ้นมาได้จนกลายเป็นแกนหลักของทีม และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ทีมจบฤดูกาล 1992/93 ด้วยสถิติ 55-27 และไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สายฝั่งตะวันตกได้อย่างรวดเร็ว
ในฤดูกาล 1993/94 ทีมได้ทำสถิติ 63-19 ซึ่งนับว่าดีที่สุดในลีกฤดูกาลนั้น แต่พวกเขากลับแพ้ Pistons ใน Playoffs รอบแรก และขึ้นชื่อว่าเป็นทีมแรกของลีกที่เป็นอันดับ 1 แต่กลับแพ้ให้กับอันดับ 8 ใน Playoffs รอบแรกอีกด้วย
ในปีถัดมา ทีมก็ยังคงรักษาความยอดเยี่ยมในฤดูกาลปกติได้อยู่ หลังจากจบด้วยสถิติ 57-25 แต่ก็ยังคงไม่ผ่านกำแพง Playoffs รอบแรกไปได้เช่นเคย
ทีมพยายามปรับปรุงขุมกำลังให้ดียิ่งขึ้นอีกในฤดูกาล 1995/96 ที่มีทั้ง Detlef Schrempf, Sam Perkins และ Nate McMillan ซึ่งชุดนี่เรียกได้ว่าเป็นชุดผู้เล่นที่ดีที่สุดตลอดกาลชุดหนึ่งของทีมเลยก็ว่าได้
ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 64-18 ดีที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งทีมขึ้นมา และทำทีมไปได้ถึงรอบชิงแชมป์ลีกได้อีกครั้ง แต่ไม่สามารถผ่าน Bulls ภายใต้การนำทีมของ Michael Jordan ไปได้ ชวดแชมป์สมัยที่สองไปอย่างเจ็บปวด
ทีมยังคงไม่ยอมแพ้ ทำผลงานได้ดีในอีกสองฤดูกาลถัดมา จากสถิติ 57-25 และ 61-21 พร้อมกับการคว้าแชมป์ Division อย่างต่อเนื่อง แต่ทีมก็ไปไม่ถึงฝันสักที
สุดท้ายแล้วความยิ่งใหญ่ของทีมชุดนี้ก็ได้สิ้นสุดลงหลังจบฤดูกาล 1997/98 หลังจากที่ Kemp ได้ย้ายไปที่ Cavaliers และ McMillan ได้เลิกเล่น และ George Karl HC ของทีมเกิดไม่ลงรอยกับทีมบริหาร ทำให้ตัดสินใจลาออกในเวลาต่อมา
เข้าสู่ยุคตกต่ำของทีม
หลังจากที่เกิดการเปลี่ยนแปลงชุดใหญ่แล้ว ผลงานของทีมก็กลายเป็นลุ่มๆ ดอนๆ แกนหลักได้มีการเปลี่ยนเป็น Vin Baker ที่ย้ายมาจาก Bucks ผนึกกำลังกับ Payton แทนที่ Kemp ที่ย้ายออกไปแล้วนั่นเอง
Vin Baker
ทั้งสองคนยังโชว์ฟอร์มได้ดีจนมีการติดทีม All-Star เป็นระยะ แต่ก็พาทีมไปได้ไกลที่สุดเพียงแค่ Playoffs รอบแรกเท่านั้น
สุดท้ายแล้ว Baker ก็ได้ออกจากทีมไปในปี 2002 และ Payton ก็ตามรอยไปในปี 2003 เรียกว่าสิ้นสุดยุคของชุดที่เกือบจะคว้าแชมป์สมัยที่สองได้แต่เพียงเท่านี้
อีกชุดหนึ่งที่ดูดีที่สุด น่าจะเป็นฤดูกาล 2004/05 ที่นำทีมโดย Ray Allen และ Rashard Lewis ที่จบผลงานด้วยสถิติ 52-30 และพาทีมไปได้ถึง Playoffs รอบสอง
แต่นั่นก็คือฤดูกาลสุดท้ายที่ทีมได้เข้ารอบ Playoffs ในนามของ Sonics ด้วยเช่นกัน...
Durant กับการเริ่มยุคใหม่ที่ Oklahoma
ในฤดูกาล 2007/08 ทีมได้ Draft ว่าที่ตำนานคนใหม่ของทีมอย่าง Kevin Durant เข้าสู่ทีม
Kevin Durant
ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะโชว์ฟอร์มได้สมกับความคาดหวังจนคว้ารางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมแห่งปีได้สำเร็จ แต่ผลงานของทีมโดยรวมกลับชนะเพียงแค่ 20 นัดเท่านั้น
และด้วยปัจจัยหลายอย่างที่รุมเร้า (รวมไปถึงปัญหาด้านการขยายฐานแฟนคลับของทีม และการปรับปรุงสนามเหย้าใหม่)
ทีมจึงมีการลงมติให้ย้ายเมืองไปตั้งถิ่นฐานกันใหม่ที่เมือง Oklahoma พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อทีมเป็น Thunder แทน ทิ้งชื่อ Sonics เอาไว้ให้เป็นตำนาน (เผื่อในอนาคตจะมีทีมจากทีมนี้เกิดขึ้นและใช้ชื่อนี้อีกครั้ง คล้ายกับ Hornets ในปัจจุบัน)
ทีมได้เปิดตัวภายใต้ชื่อและสนามเหย้าใหม่ในฤดูกาล 2008/09 แต่ผลงานเปิดตัวถือว่าทำได้ไม่ดีเอาเสียเลย หลังจากที่ทำสถิติได้เพียง 23-59 เท่านั้น
การสร้างทีมใหม่และไล่ล่าแชมป์อีกครั้ง
ทีมเริ่มค่อยๆ สร้างทีมชุดใหม่ขึ้นอย่างมั่นคง เริ่มจากในฤดูกาล 2009/10 ที่ทีมได้ Draft ว่าที่สุดยอดผู้เล่นอีกคนอย่าง James Harden เข้าสู่ทีม
James Harden
เขาและ Durant รวมไปถึง Russell Westbrook ที่มาในปี 2008 และ Serge Ibaka ที่มาพร้อมกัน ต่างก็เริ่มที่จะฉายแววที่ดีได้มากขึ้น ส่งผลให้ทั้งสามคนกลายเป็นแกนหลักอายุน้อยของทีมได้อย่างรวดเร็วทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 50-32 และกลับมาเข้าสู่เส้นทาง Playoffs ได้อีกครั้ง น่าเสียดายที่ยังไม่สามารถผ่านรอบแรกไปได้
ในฤดูกาล 2010/11 แกนหลักของทีมต่างก็ยังคงโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 55-27 และคว้าแชมป์ Division ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ย้ายเมืองและเปลี่ยนชื่อมาเป็น Thunder แถมยังโชว์ฟอร์มทะลุขึ้นไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สายตะวันตกได้อีกด้วย ก่อนที่จะไปแพ้ให้กับ Mavericks ไปอย่างน่าเสียดาย
ทีมยังไม่ลดละความพยายาม จนสามารถขึ้นไปถึงรอบชิงแชมป์ลีกที่ห่างหายไปนานได้เสียทีในฤดูกาล 2011/12 แต่ก็ไม่สามารถคว้าแชมป์สมัยที่สองมาครองได้ เนื่องจากได้แพ้ให้กับ Heat ที่นำทีมโดยสุดยอดผู้เล่นแห่งยุคอย่าง LeBron James นั่นเอง
น่าเสียดายที่ฤดูกาล 2012/13 ทีมตัดสินใจไม่ต่อสัญญา Harden และ Trade เขาไปให้กับ Rockets เนื่องจากไม่อยากจ่ายภาษีเพดานค่าเหนื่อย ซึ่งผลงานโดยรวมก็เหมือนจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะทีมยังจบฤดูกาลด้วยสถิติ 60-22 พร้อมกับคว้าแชมป์ Division ได้อีกหน เพียงแต่ผลงานใน Playoffs กลับไปได้แค่รอบสองเพียงเท่านั้น
พอเข้าฤดูกาล 2013/14 คู่หู Westbrook-Durant ต่างก็ยังโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยม ในปีนี้ทีมได้ Steven Adams มาช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับวงใน และเขามีส่วนทำให้ทีมยังสามารถรักษาผลงานอันยอดเยี่ยมในฤดูกาลปกติได้จากสถิติ 59-23 และไปได้ถึงรอบชิงแชมป์สาย ก่อนที่จะพ่ายให้กับ Spurs ในที่สุด
อย่างไรก็ดี ฤดูกาล 2014/15 ทีมกลับต้องประสบปัญหาจากอาการบาดเจ็บของผู้เล่นแกนหลัก ทำให้ผลงานตกลงไปอยู่ที่ 45-37 และชวดเข้ารอบ Playoffs ไปอย่างฉิวเฉียด แต่นั่นก็ทำให้โค้ช Scott Brooks ที่ปั้นชุดนี้มากับมือต้องถูกไล่ออก และทีมได้ใช้บริการของ Billy Donovan มาแทนที่
นั่นทำให้ผลงานในฤดูกาล 2015/16 กลับมาดูดีได้อีกครั้ง ทีมคว้าแชมป์ Division ได้เอีกครั้งและสามารถทำผลงานใน Playoffs ได้ถึงรอบชิงแชมป์สาย แต่ก็โดน Warriors เขี่ยตกรอบไปอีก
และสาเหตุที่ทีมยังไม่ประสบความสำเร็จเสียที หลังจบฤดูกาลนี้ Durant ก็ได้ขอย้ายออกจากทีมไปร่วมกับ Warriors ในเวลาต่อมา
เข้าสู่ยุคปัจจุบัน
หลังจากที่แกนหลักชุดไล่ล่าแชมป์ก่อนหน้านี้ได้ย้ายออกไปเกือบหมดแล้ว ทำให้ทีมเหลือแกนหลักแค่ Westbrook เพียงคนเดียวเท่านั้นในฤดูกาล 2016/17
Russell Westbrook
แต่นั่นก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เจ้าตัวโชว์ฟอร์มได้ดีที่สุดในอาชีพของเขาด้วยเช่นกัน จากผลงานเฉลี่ย 31.6 แต้ม 10.7 Rebounds 10.4 Assists ต่อเกม ทำให้เขากลายเป็นผู้เล่นคนที่สองต่อจาก Oscar Rebertson ที่สามารถทำผลงานเฉลี่ยเป็น Triple-Double ได้ และนั่นทำให้เขาคว้ารางวัล MVP ประจำฤดูกาลไปครอง ถึงแม้ทีมจะจบสถิติแค่ 47-35 และตกรอบแรก Playoffs ก็ตาม
เมื่อทีมเห็นว่า Westbrook ยังสามารถฉายแววที่ดีให้ทีมได้ ทีมจึงพยายามควานหาผู้เล่นที่จะมาช่วยแบ่งเบาภาระและยกระดับทีมได้ สุดท้ายจึงลงเอยที่ Paul George ผู้เล่นมือหนึ่งจาก Pacers ที่ย้ายมาร่วมทีมในฤดูกาล 2017/18 นั่นเอง
Paul George
เขานั้นกลายเป็นส่วนสำคัญของทีมได้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 48-34 แต่ก็โดน Jazz เขี่ยตกรอบแรกใน Playoffs เช่นเดิม
กระนั้นในฤดูกาล 2018/19 ทีมได้ผู้เล่นยอดฝีมืออย่าง Dennis Schroder จาก Hawks มาเสริมทัพอีกคน ทีมจบฤดูกาลด้วยสถิติ 49-33 แต่ก็ต้องตกรอบแรก Playoffs ไปแบบเจ็บช้ำน้ำใจอีกครั้ง
ทีมจึงเห็นว่าทีมต้องมีการเปลี่ยนแปลงเสียที ถึงแม้จะทำผลงานในฤดูกาลปกติได้ดี แต่การที่ไม่สามารถแสดงฝีมือใน Playoffs ได้ก็เปล่าประโยชน์ ทีมจึงตัดสินใจค่อยๆ สร้างทีมใหม่ Trade แกนหลักทั้ง Westbrook และ George ออกในฤดูกาล 2019/20 แลกกับผู้เล่นเก๋าประสบการณ์อย่าง Paul และสิทธิ์ Draft รอบแรกอีกหลายสิทธิ์
แต่กลับกลายเป็นว่าการมาของ Paul ช่วยให้ทีมยังประคองผลงานจนเข้า Playoffs ได้ แต่ก็ตกรอบแรกตามความคาดหมายเช่นเดิม
หลังจากนั้น ในฤดูกาลนี้ทีมก็ได้เสียทั้ง Paul และ Schroder และได้ทยอยสะสมสิทธิ์ Draft เพื่ออนาคตไว้เป็นจำนวนมาก คงต้องรอดูกันต่อไปว่าจากฤดูกาล 2020/21 ที่ทีมตกรอบ Playoffs ไปแบบไม่ได้ลุ้น Play-in เลยด้วยซ้ำ ทิศทางของทีมหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปกันแน่
ถ้าชอบก็ฝาก Share และกดติดตามด้วยนะครับ
ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา