15 เม.ย. 2021 เวลา 10:07 • ธุรกิจ
การเขียน Business Model ที่ไม่ถูกต้อง
จากประสบการณ์การสอนและอบรมทำให้ผู้เขียนมีโอกาสอ่านการเขียน Business Model ด้วยเครื่องมือที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยคือ Business Model Canvas (BMC) จากนักธุรกิจ, SME, บุคคลทั่วไป และ นิสิตนักศึกษาที่เรียนด้านบริหารธุรกิจจำนวนมาก ผู้เขียนสังเกตเห็นรูปแบบการเขียน Business Model Canvas ที่ไม่ถูกต้องหลายประเด็น จึงขอสรุปประเด็นข้อผิดพลาดสำคัญในการเขียน Business Model โดยบันทึกนี้ขอเล่าการเขียนข้อผิดพลาดการเขียนกลุ่มลูกค้า (Customer Segment) ดังนี้
1.เขียน Customer Segment กว้างเกินไป
โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังจะเปิดธุรกิจใหม่ จะระบุกลุ่มลูกค้ากว้างมาก เช่น คนรักสุขภาพ คนสนใจแฟชั่น คนที่ทำอาหารกินเอง ฯลฯ ซึ่งการระบุกลุ่มตัวอย่างกว้างแบบนี้จะทำให้เราไม่รู้จะไปเจาะตลาดตรงไหน ลองนึกง่ายๆ ว่าจะไปแจกใบปลิวคนทำอาหารกินเองก็จะงงๆ ว่าจะไปแจกที่ไหนดี
วิธีที่แนะนำ: ระบุ Customer Segment ให้ชัดไปเลย เช่น คนทำอาหารกินเองที่อาศัยคนเดียวในคอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้า เป็นต้น การระบุให้ชัดเจนช่วยให้เรารู้ว่ากลุ่มลูกค้ามีการใช้ชีวิตอย่างไร อย่างน้อยจะไปแจกใบปลิวก็ยังนึกออกเลาๆ ว่าจะไปแจกแนวคอนโดแถวรถไฟฟ้า
2. เขียน Customer Segment ให้กว้างไว้ก่อน
คล้ายข้อ 1 แต่ไม่เหมือนเสียทีเดียว ข้อนี้คือผู้พัฒนา Business Model มีกลุ่มลูกค้าเจาะจงในใจแล้ว แต่เขียนในกลุ่มลูกค้ากว้างๆ ไว้ก่อนเพราะกลัวเขียนเจาะจงเกินไปแล้วจะหาลูกค้าไม่ได้ เช่น เขียนกลุ่มลูกค้าใน Business Model กว้างๆ ว่าคนทำอาหารกินเอง พอสอบถามไปลึกๆ ก็จะตอบมาได้เสร็จสรรพว่าผมจะไปแจกคนทำอาหารกินเองที่พักคอนโดแถวรถไฟฟ้าครับ พอถามต่อว่าทำไมไม่เอาที่ตอบเมื่อกี้ระบุใน Business Model ไปเลย ก็บอกว่าอยากเขียนกว้างๆ ไว้ก่อน เผื่อกลุ่มนี้ใช้ไม่ได้จะได้ไม่ต้องแก้
วิธีที่แนะนำ: ระบุไปเลยเหมือนข้อ 1 ถ้ากลุ่มลูกค้าที่ระบุไม่ใช่ ก็จะได้รู้ว่าไม่ใช่ การเขียน Business Model ไม่ต้องกลัวคิดผิด เพราะมันถูกออกแบบมาให้ผู้พัฒนารู้ว่าผิดได้อย่างรวดเร็ว แต่ผิดแค่บนกระดาษและไม่แพง (Fail fast, fail cheap) แล้วก็แก้แบบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ให้นึกว่าการเขียน Business Model อันใหม่เร็วกว่าและถูกการเปิดธุรกิจจริงไปแล้วถึงรู้ที่คิดไว้ผิด
3. เขียน Customer Segment กลุ่มเดียว
อันนี้จะว่าผิดก็ไม่เชิง เพราะธุรกิจจำนวนมากก็มีกลุ่มลูกค้าแค่กลุ่มเดียว แต่ Covid-19 ทำให้เราเห็นผลเสียของการมีลูกค้ากลุ่มเดียวอย่างชัดเจน คือ การเอาไข่ไว้ในตะกร้าใบเดียวเวลาแตกก็แตกทั้งหมด เวลาเกิดอะไรขึ้นกับลูกค้ากลุ่มนั้นจะกระทบกับธุรกิจเราอย่างรุนแรง ลองนึกถึงธุรกิจที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เช่น ธุรกิจเช่ารถมอเตอร์ไซด์ตามแหล่งท่องเที่ยว พอไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติก็แทบจะต้องเลิกกิจการไปเลย เป็นต้น
วิธีที่แนะนำ: ควรเขียน Customer Segment ให้ได้ 3 กลุ่ม หลายคนบอกว่าคิดกลุ่มลูกค้าไม่ออกแล้วเพราะธุรกิจเจาะจงเฉพาะลูกค้ากลุ่มนี้ (เช่น กลุ่มคนทานอาหารกินเอง) แต่ถ้าเราเขียนกลุ่มลูกค้าให้เฉพาะเจาะจง เราจะพบว่าเราเขียนลูกค้าได้หลายกลุ่มย่อย เช่น
- คนทำอาหารกินเองที่อาศัยคนเดียวในคอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้า
- คุณพ่อ/คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวทำงานประจำและทำอาหารกินเองให้ลูกทุกเย็น
- คนทำอาหารกินเองในวันหยุดเป็นงานอดิเรก เป็นต้น
4. ลืมเขียน Customer Segment บางกลุ่ม
มักเกิดขึ้นเมื่อเราเขียน Business Model ไม่รอบด้าน โดยเฉพาะ Business Model แบบ Double-side เช่น ถ้าธุรกิจเราคือขายชุดทำอาหารเองเฉพาะมื้อ เรามักนึกถึงลูกค้ากลุ่มเดียวคือ ผู้ซื้อ แต่เราอาจสร้างรายได้เพิ่มได้จากค่าโฆษณา เช่น รับโฆษณาร้านซักรีดแถวรถไฟฟ้าบนกล่องทำอาหารเอง เป็นต้น ดังนั้น กลุ่มลูกค้าเราก็จะมี 2 กลุ่ม คือ 1. คนทำอาหารกินเองที่อาศัยคนเดียวในคอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้า 2. ธุรกิจที่ต้องการโฆษณาให้คนอยู่อาศัยแถวรถไฟฟ้า
วิธีที่แนะนำ: ลองนึกถึงลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ตอนออกแบบ Business Model ไปด้วย เพราะลูกค้ากลุ่มอีกกลุ่ม คือช่องทางการสร้างรายได้อีกช่องทางหนึ่ง
ทั้ง 4 ข้อเป็นปัญหาที่พบบ่อยใน Customer Segment ใน Business Model Canvas ครับ ขอจบภาคแรกไว้เท่านี้ก่อน บันทึกหน้าจะมาเล่าการเขียน Value Proposition ที่ผิดพลาดกันครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา