15 เม.ย. 2021 เวลา 15:47 • การศึกษา
วิธีจำตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นด้วยตัวเอง
เริ่มจากตัว HIRAGANA
เมื่อได้พูดถึงตัวอักษรที่ใช้ในภาษาญี่ปุ่นกันไปแล้วทั้งสามแบบ (ตัวฮิระงะนะ คะตะคะนะ และคันจิ) คงได้เรียนรู้วิธีการคัดตัวอักษรพอสมควรจากเว็บโหลดตารางตัวอักษรที่ได้แนะนำไป แต่เชื่อว่าแค่ดูตารางและรู้วิธีการเขียนเบื้องต้นคงไม่ได้ทำให้เราจำตัวอักษรได้ทันที คงต้องมีเทคนิควิธีการฝึกฝนอย่างอื่นด้วย...... แน่นอน วันนี้เราจะมาเรียนรู้วิธีการจำตัวอักษรด้วยตัวเองกัน
ไอเดียและวิธีการจำตัวอักษรด้วยตัวเองในแบบฉบับของเรา มีวิธีง่ายๆก็คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน และกิจกรรม ซึ่งจะอธิบายโดยละเอียด ดังนี้
ตัวโรมะจิ (RōMAJI)
ฟังเพลงที่ชอบแล้วหัดร้องเพลงนั้นตามเนื้อเพลง สมัยที่เรายังไม่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่น เราเรียนรู้วิธีการออกเสียงภาษาญี่ปุ่นผ่านตัวอักษรโรมะจิจากการฟังและร้องเพลงที่ชอบกับเพื่อนในห้อง ก็เลยทำให้จำตัวอักษรโรมันจิพร้อมทั้งวิธีการออกเสียงต่างๆได้เร็ว สามารถพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นบางตัวได้จากแป้นไทย-อังกฤษโดยไม่ต้องจิ้มทีละตัว ใครที่สงสัยว่าตัวอักษรโรมะจิเป็นยังไงให้ไปดูในหมวดเพลงญี่ปุ่นพร้อมคำแปล ในนั้นจะมีคำร้องเพลงที่เป็นตัวอักษรโรมะจิกำกับอยู่......... แนะนำให้ฟังและร้องตามเฉพาะเพลงที่ชอบ อย่าฝืน ต้องเดินทางสายกลาง แบบสบายๆ ถ้าฝืนเราจะจำอะไรไม่ได้เลยสักอย่าง
ตัวฮิระงะนะ ตัวคะตะคะนะ (HIRAGANA, KATAKANA)
เขียน
หัดเขียน (ยิ่งฝึกเขียน ยิ่งจำได้) ถึงพูดถึงคำว่า “หัดเขียน” หลายคนคงนึกถึงวิธีหัดเขียนแบบไหนกัน นั่งหัดคัด หัดเขียนหลายๆครั้งหลายๆตัวในกระดาษตารางหน้าเดียวซ้ำๆ ถ้าคิดอย่างนั้นขอบอกว่าผิดถนัด การหัดเขียนตามแบบฉบับของเราก็คือหัดคัด หัดเขียนเมื่อนึกออกและต้องการเขียน เช่น หัดคัดกลางอากาศเวลาว่างหรือเมื่อนึกอยากเขียน อย่างน้อยวันละห้านาทีก็พอ....... ข้อดีของวิธีนี้ก็คือเราได้เรียนรู้วิธีการเขียนโดยที่เราไม่จำเป็นที่จะต้องนั่งจำวิธีการขีดเขียนเส้นไปซะทุกตัว แค่เราจำเทคนิควิธีการเขียนได้ก็เพียงพอแล้ว (ต้องการเรียนวิธีการคัดตัวอักษรให้กลับไปอ่านได้ที่ “วิธีการเขียนได้ในหมวดหมู่ภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้น” หัวข้อ วิธีเขียนตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น)
อ่าน
อ่าน ดูตารางแล้วอ่านออกเสียง วิธีการนี้ก็ดี แต่อาจจะต้องใช้ความพยายามอย่างมาก เพราะมีตั้ง 46 ตัวเราไม่ต้องจำเป็นต้องฝืนจำให้ได้ทุกตัว จำแค่ลำดับเสียงให้ได้ก็พอ คือ จำเสียงในภาษาญี่ปุ่นหลักๆมีทั้งหมด 5 เสียง คือ อะ อิ อุ เอะ โอะ และลำดับในตาราง อะ คะ สะ ทะ นะ ฮะ มะ ยะ ระ วะ โวะ อึ้น จากนั้นให้ไปออกเสียงเอาเองเท่านี้ก็จำได้แล้ว เช่น วรรค คะ ก็คือเสียง ค หรือ k มีเสียงหลักห้าเสียงคือ อะ อิ อุ เอะ โอะ เมื่ออยู่ในเสียง k หรือ ค ก็ออกเสียงเป็น คะ คิ คุ เคะ โคะ (ka ki ku ke ko) บางตัวที่ไม่ได้ออกเสียงตามนั้นก็จำเอาเป็นกรณีพิเศษ (มีอยู่ไม่กี่ตัวเอง แล้วจะอธิบายวันหลัง)
ฟัง + พูด
ฟังเสียงและดูตาราง ใครที่พอมีเวลาว่าง เปิดเว็บที่มีตารางตัวอักษรฮิระงะนะแล้วมีที่ให้จิ้มฟังเสียงตัวอักษร วิธีการนี้ก็ดีเหมือนกัน เราได้เรียนรู้วิธีการออกเสียงตัวอักษรทีละตัว ....... แต่อย่าลืมว่าตัวอักษรทั้งหมดมีตั้ง 46 ตัวนะ คงต้องใช้ความพยายามสุดๆ แนะนำให้จิ้มและฟังเวลาว่าง สักสองสามนาทีก็พอแล้ว หรือจิ้มฟังเพื่อฆ่าเวลาไปในตัวก็ถือว่าได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
ร้องเพลง
ฟังเพลงตัวอักษรแล้วหัดร้องตาม เหมือนกับหัดร้องเพลง ก.ไก่ ถึง ฮ.นกฮูกบ้านเรา เมื่อเรียนคำศัพท์ต่างๆหรือเรียนการผสมเสียงเสร็จแล้วก็
เพลงตัวอักษร Hiragana
เพลงตัวอักษร Katakana
ฟังเพลงง่ายๆแล้วหัดร้องตาม หาเพลงภาษาญี่ปุ่นง่ายๆ ที่มีเฉพาะตัวอักษรฮิระงะนะ มาสักเพลงแล้วหัดร้องตาม วิธีการนี้นอกจากจะทำให้เราจำตัวอักษรได้แล้ว จะทำให้เรารู้วิธีการออกเสียงคำต่างๆในภาษาญี่ปุ่นไปด้วยในตัว..... สมัยนี้สะดวกก็ตรงที่มียูทูบนี่แหล่ะ ใครที่มีเน็ทแนะนำเพลงคาราโอเกะญี่ปุ่นเพลงอนุบาล เช่น โซ่ซัง ทะนะบะตะซะมะ
สังเกต
ฟังเพลงที่ชอบแล้วหัดสังเกตตัวอักษร เช่น หาเพลงและเนื้อเพลงภาษาญี่ปุ่นที่ชอบมาหนึ่งเพลง เนื้อเพลงนั้นต้องเป็นเนื้อเพลงญี่ปุ่นจริงๆ ที่ไม่มีตัวฟุริงะนะกำกับ (ตัวฟุรุงะนะคือ ตัวฮิระงะนะที่มักเขียนไว้ด้านบนตัวคันจิเพื่อให้รู้ว่าตัวคันจิตัวนั้นอ่านออกเสียงว่ายังไง) จากนั้นฟังเพลงไปด้วยดูตัวฮิระงะนะไปด้วย ถ้าเป็นเพลงที่ชอบจะทำให้เราอยากฟังซ้ำๆ ยิ่งฟังซ้ำ ดูตัวอักษรซ้ำๆก็ยิ่งจำได้
สังเกตภาษาญี่ปุ่นตามป้ายหรือสินค้าที่มีภาษาญี่ปุ่น เหมาะสำหรับคนที่ชอบสังเกต ไม่จำเป็นต้องไปถึงญี่ปุ่น ที่ไทยนี่แหล่ะ สิ่งรอบตัว สังเกตไปเลย ไม่ว่ากล้องชาเขียวโออิชิ หรือร้านตามป้ายร้านอาหาร เมื่อจำได้ขั้นเทพแล้วจะทำให้รู้ว่าบางร้านที่เขียนภาษาญี่ปุ่นผิดก็มี
เล่นเกมส์
เล่นเกมส์จับคู่ ตัดกระดาษทำการ์ดตัวอักษรฮิระงะนะขึ้นมา แล้วนั่งจับคู่ด้วยตัวเอง ถ้ามีเพื่อนเล่นยิ่งสนุก
เล่นเกมส์คะรุตะตัวอักษร ตัดกระดาษทำการ์ดฮิระงะนะขึ้นมา แล้วนั่งแข่งจับตัวอักษรฮิระงะนะกับเพื่อน วิธีการนี้ต้องมีคนเล่นอย่างน้อยสองคนขึ้นไป ยิ่งเยอะยิ่งสนุก
เกมส์แข่งเขียนตัวอักษร วิธีการเล่นแบบนี้ต้องมีคนอย่างน้อยสามคนขึ้นไป โดยให้คนหนึ่งเป็นกรรมการ อีกสองคนแข่งเขียน จากนั้นก็เฉลยว่าเขียนถูกหรือผิด..... เราเคยใช้สมัยอยู่โรงเรียนประถม ตอนนั้นแข่งเขียนคำภาษาไทย วิธีการนี้ถึงจะเป็นการเล่นแบบเก่าแต่สำหรับเรามันยังคงใช้ได้ผลอยู่ แม้กระทั้งตัวอักษรคันจิ พอใช้วิธีการนี้ทำให้จำวิธีการเขียนตัวคันจิที่ถูกต้องได้และเพื่อนก็ชอบเล่นอีกด้วย
เต้น (ดู + เต้น)
เป็นวิธีที่ฮาแถมยังสุขภาพดีอีกด้วย สามารถเล่นคนเดียวได้ มีวิธีการง่ายๆก็คือ ดูลำดับวิธีการเขียนตัวอักษรในจอจากนั้นลุกขึ้นยืนตรงเอามือจับเอวโยกไปตามตัวอักษร ทำซ้ำๆ ชอบตัวไหนก็โยกตัวนั้นบ่อยๆ
จินตนาการ
วิธีการนี้ใช้ได้กับตัวอักษรเป็นบางตัว เช่น ตัว すบางคนนึกถึงพวงองุ่น บางคนนึกถึงไส้ สุดแล้วแต่ว่าเราจะจินตนาการเป็นตัวไหนให้เราจำตัวอักษรได้ง่าย สำหรับเรา แล้วคิดว่าเป็นวิธีที่ดีวิธีการหนึ่ง เวลาเขียนแล้วนึกตัวอักษรไม่ออกเพื่อนก็จะบอกว่า “ก็ตัวนี้ไง ตัวที่เหมือนไส้น่ะ” จากนั้นก็จะร้องอ๋อว่าคือตัว すทันที
สมัยที่เรายังไม่ได้เรียนภาษาญี่ปุ่น เราหัดจำตัวอักษรผ่านเพลงที่ชอบ วิธีการจะคล้ายกับการจำตัวอักษรโรมะจิ แต่จะต่างตรงที่ว่าของเราเหมือนเล่นเกมส์ค้นหาตัวอักษรฮิระงะนะมากกว่า เพราะสมัยนั้นไม่มี youtube หรือเว็บไซด์ที่สอนภาษาญี่ปุ่นหลากหลายเหมือนสมัยนี้ สมัยนั้นคันจิบางตัวต้องอาศัยถามคนญี่ปุ่นหรือผู้รู้เพียงอย่างเดียว ......... หวังว่าคงจะเป็นไอเดียเล็กๆน้อยๆที่พอจะมีประโยชน์บ้าง เชื่อว่าคงไม่มีใครใช้แค่หนึ่งวิธีแล้วได้ผล อย่างน้อยก็ต้องสองสามวิธีขึ้นไป ไว้ถ้านึกวิธีการอื่นได้อีกแล้วจะมาเขียนเพิ่มเติม
โฆษณา