22 เม.ย. 2021 เวลา 02:30 • ธุรกิจ
5 ข้อควรรู้ก่อนยื่นภาษี สำหรับบุคลากรทางการแพทย์
บุคลากรทางการแพทย์เป็นอาชีพที่รายได้ที่เข้าเกณฑ์การเสียภาษีค่อนข้างสูง บุคลากรทางการแพทย์หลายท่านอาจจะยังไม่เชี่ยวชาญด้านการวางแผนภาษี รวมถึงวิธีการยื่นภาษีให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร
โดยในปี 2564 นี้ทางกรมสรรพากรขยายเวลาการยื่นภาษีออนไลน์จากเดิม 31 มีนาคม 2564 ไปเป็น 30 มิถุนายน 2564 ดังนั้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ท่านใดที่ยังไม่ได้ยื่นภาษี ยังมีเวลาอีกสามเดือนในการวางแผนการยื่นภาษีให้ถูกต้องและครบถ้วน
1
บุคลากรทางการแพทย์ในที่นี้หมายถึง แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์
จากสูตรคำนวณภาษี คือ
ภาษีที่ต้องจ่าย = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีแต่ละขั้น
                        = (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษีแต่ละขั้น
เราจะมาทำความรู้จักทีละตัวว่า เงินได้, ค่าใช้จ่าย, ค่าลดหย่อน, อัตราภาษีแต่ละขั้น คืออะไร และมีวิธีการวางแผนภาษี อย่างไร โดยสามารถแบ่งเป็น 5 ข้อควรรู้การวางแผนภาษี สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ดังนี้
รู้ว่าเงินได้ได้เราเป็นประเภทใด
ข้อแรกที่ผู้มีรายได้ทุกคนต้องทราบคือเงินได้ของเราเป็นประเภทใดเพื่อจะนำไปวางแผนภาษีในขั้นตอนถัดๆไป
โดยประเภทของเงินได้ที่นำมาเสียภาษีจะแบ่งได้เป็น 8 ประเภทอธิบายง่ายๆแบบใกล้ตัวได้ดังนี้
เงินได้ประเภทที่ 1 หรือที่ภาษาทางภาษีเรียกว่า 40(1) คือ เงินได้ที่เป็นเงินเดือนและโบนัสของเรานั่นเอง
เงินได้ประเภทที่ 2 หรือที่ภาษาทางภาษีเรียกว่า 40(2) คือ เงินได้จากค่าคอมมิชชั่น, ค่านายหน้า และเงินค่าจ้างจากการจ้างงานเช่นฟรีแลนซ์
เงินได้ประเภทที่ 3 หรือที่ภาษาทางภาษีเรียกว่า 40(3) คือ เงินได้ที่มาจากค่าลิขสิทธิ์เช่น บทประพันธ์ เพลง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
เงินได้ประเภทที่ 4 หรือที่ภาษาทางภาษีเรียกว่า 40(4) คือ เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก และเงินปันผลจากหุ้นและทองทุนรวม
เงินได้ประเภทที่ 5 หรือที่ภาษาทางภาษีเรียกว่า 40(5) คือ เงินได้จาค่าเช่าบ้านหรือค่าเช่าที่ดิน
เงินได้ประเภทที่ 6 หรือที่ภาษาทางภาษีเรียกว่า 40(6) คือ เงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระที่มีจำนวนเงินได้ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับปริมาณหรือความยากง่าย เฉพาะใน 6 สายอาชีพนี้เท่านั้นคือ การประกอบโรคศิลป์, วิศวกร, นักกฎหมาย, สถาปนิก, นักกฎหมาย, ช่างประณีตศิลป์
เงินได้ประเภทที่ 7 หรือที่ภาษาทางภาษีเรียกว่า 40(7) เงินได้จากการรับเหมา โดยที่การรับเหมานั้นต้องเหมาทั้งค่าแรงและค่าของ
เงินได้ประเภทที่ 8 หรือที่ภาษาทางภาษีเรียกว่า 40(8) เงินได้ที่ไม่ได้จัดอยู่ในทั้ง 7 ประเภทข้างต้น เช่น การขายของออนไลน์, เปิดร้านอาหาร เป็นต้น
ทีนี้ลองมาดูกันว่าบุคลากรทางการแพทย์นั้นจะมีรายได้จากทางไหนหรือมีเงินได้ประเภทใดได้บ้าง
เงินได้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์นั้นจะเข้าเกณฑ์ถือเป็นเงินได้ 4 ประเภทจาก 8 ประเภทคือ
40(1) เงินเดือนที่ได้รับจ้างจากโรงพยาบาล
40(2) เงินที่ได้รับจากการว่าจ้าง เช่นเข้าเวรที่โรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลประจำ
40(6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ (เป็นการจ่ายตามปริมาณหรือความยากง่ายของผลงานที่รับจ้าง ซึ่งไม่ได้ทำงานในฐานะลูกจ้างหรือลูกน้อง ไม่สามารถกำหนดเหมาจ่ายแน่นอนตายตัวเหมือนเงินเดือนได้) รวมถึง การเปิดคลินิก โดยไม่มีเตียงสำหรับค้างคืน
40(8) เงินได้อื่น ซึ่งได้จากการประกอบธุรกิจโดยตรง เช่น การเปิดคลินิก โดยมีเตียงสำหรับค้างคืน, เปิดร้านขายยา เป็นต้น
เพิ่มเติมเรื่องรายละเอียดการกรอกใบภาษีรายปีของแพทย์ 40(1) 40(2) 40(6) ให้ชัดเจนกันอีกครั้ง
ในส่วน 40(1) และ 40(2)
หลักคิดคือความเป็นสถานะนายจ้าง-ลูกจ้างเสมอ มาแต่ตัว ไม่มีต้นทุนอื่นนอกจากแรงกายและความรู้ เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่รับเวร ไม่ว่าจะ part time, full time จะอยู่ที่ 2 ช่องนี้เท่านั้น
ส่วน 40(6) ถือเป็นอาชีพอิสระ
ซึ่งคำว่าอิสระ แปลได้ดังนี้
1. อิสระคือไม่ขึ้นอยู่กับใคร
2. ไม่เป็นสถานะ นายจ้าง-ลูกจ้าง
3. มีหลักฐานว่าเป็นอิสระ เซ็นเป็นสัญญาระบุ
4. คิดค่ารักษาพยาบาลเอง
5. เก็บค่ารักษาพยาบาลเอง
6. ทำสัญญาเช่าสถานที่รพ.
คลินิกเอกชนบางครั้งใช้สัญญาในเชิงของแพทย์เป็นผู้เช่าใช้สถานที่ ค่ารักษาแพทย์เป็นผู้กำหนด เซ็นสัญญาไม่อยู่ในสถานะนายจ้าง-ลูกจ้าง การมีเงื่อนไขเหล่านี้ทำให้รายได้ของแพทย์เป็น 40(6) ซึ่งจ่ายภาษีน้อยลงอย่างมาก โดยเฉพาะแพทย์ที่เงินเดือนมากกว่า 1.6 แสนขึ้นไป ซึ่งรายได้ต่อปีเตรียมใกล้แตะฐานภาษี 30%
รู้ว่าแต่ละแบบหักค่าใช้จ่ายได้เท่าไหร่
ในการที่จะได้เงินได้มานั้นย่อมมีต้นทุนในตัวมันเอง ทางกรมสรรพากรจึงให้สามารถหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ประเภทต่างๆก่อนนำมาเป็นเงินได้สุทธิเพื่อนำไปคิดภาษี หรือพูดง่ายๆคือยิ่งหักได้เยอะยิ่งดี
ดังนั้นเราจะมาดันต่อว่ารายได้แต่ละประเภทของบุคลากรทางการแพทย์ที่กล่าวถึงในข้อที่ 1 นั้น หักค่าใช้จ่ายได้เท่าไร
40(1), 40(2)  สำหรับเงินได้ 2 ประเภทนี้จะหักค่าใช้จ่ายได้รวมกันได้ไม่เกิน 100,000 บาท
40(6) หักค่าใช้จ่ายได้สองแบบคือ หักแบบเหมา 60% หรือ หักตามจริงต้องมีหลักฐานยืนยันเมื่อมีการตรวจสอบ
40(8) หักค่าใช้จ่ายได้สองแบบคือ หักแบบเหมา 60% หรือ หักตามจริงต้องมีหลักฐานยืนยันเมื่อมีการตรวจสอบ
รู้ว่าค่าลดหย่อนมีอะไรบ้าง
หลังจากที่เรารู้ประเภทของเงินได้และการหักค่าใช้จ่ายไปแล้ว ทีนี้เราจะมาทำความรู้จักกับค่าลดหย่อนต่างๆกันบ้าง หลายๆท่านอาจเคยได้ยินว่าประกันชีวิต, กองทุน RMF,SSF สามารถลดหย่อนภาษีได้แต่จริงๆแล้วยังมีอีกหลายค่าลดหย่อนใกล้ตัวที่น่าสนใจนำมาลดหย่อนภาษีได้ ในที่นี้จะยกตัวอย่างค่าลดหย่อน บางส่วนที่ใกล้ตัวเรามาดังนี้
- ค่าลดหย่อนส่วนตัว  60,000 บาท ต่อปี
- ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท ต่อปี (สำหรับคู่สมรสที่ไม่มีรายได้)
- ค่าลดหย่อนบุตร 30,000 – 60,000 บาทต่อคน (บุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรืออายุ 20-25 และยัง    ศึกษาระดับ ปวส. หรือปริญญาตรีขึ้นไป)
- ค่าลดหย่อน บิดา มารดา 30,000 บาทต่อคน (ในกรณีที่พ่อแม่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปและมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี)
- ประกันชีวิตทั่วไป ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท (ประกันที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป)
- ประกันชีวิตแบบบำนาญ ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% หรือ ไม่เกิน 200,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดจะน้อยกว่า
- เบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับแบบประกันชีวิตแบบทั่วไปแล้วไม่เกิน 100,000 บาท 
- ค่าซื้อกองทุน RMF ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ได้รับทั้งปี หรือ 500,000 บาทแล้วแต่จำนวนไหนจะน้อยกว่า
- ค่าซื้อกองทุน SSF ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30%   ของเงินได้ที่ได้รับทั้งปี หรือ 200,000 บาทแล้วแต่ จำนวนไหนจะน้อยกว่า
- ดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท
รู้ว่าอัตราภาษีแต่ละขั้นเป็นอย่างไร
จากสูตรคำนวณภาษี = เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีแต่ละขั้น
                                 = (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษีแต่ละขั้น
เราทราบมา 3 ส่วนแล้วคือ เงินได้, ค่าใช้จ่าย, ค่าลดหย่อน ซึ่งจะสามารถนำมาคำนวณเงินได้สุทธิได้ ทีนี้เรามาดูอัตราภาษี (ตามตารางด้านล่าง) ซึ่งคิดจากเงินได้สุทธิแต่ละขั้นกันบ้าง จากนั้นนำค่าที่ได้จากการคูณอัตราภาษีแต่ละขั้นมารวมกันก็จะได้ค่าภาษีที่เราต้องชำระในปีนั้น
รู้วิธีการวางแผนประหยัดภาษี
หลังจากทราบวิธีการคำนวณภาษีแล้วจะเห็นว่าวิธีที่จะทำให้เราเสียภาษีน้อยลงมี 2 ส่วนคือ
การหักค่าใช้จ่าย
40(1), 40(2) หักค่าใช้จ่ายได้รวมกันไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งเราจะหักได้เต็ม 100,000 อยู่แล้ว
40(6), 40(8) เราสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือแบบเหมาจ่าย 60% หรือหักตามจริง
              *** เราควรเลือกแบบที่หักค่าใช้จ่ายได้มากกว่า เพื่อที่จะนำไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้มากที่สุด ***
การหักค่าลดหย่อนต่างๆ
ใช้ค่าลดหย่อนใกล้ตัว เช่น ลดหย่อนบิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตร และใช้ให้เต็มสิทธิ
ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เราซื้อในปี 2563 สามารถนำมาลดหย่อนได้เช่น ประกันชีวิต, SSF และ RMF เพื่อนำมาลดหย่อนได้เพิ่มเติม ทำให้ประหยัดภาษีได้มากขึ้น
จากวิธีการวางแผนภาษีสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ตามที่กล่าวมานั้น
ยังมีเวลาอีกสามเดือนสำหรับการเตรียมตัวยื่นภาษี
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่านควรเตรียมข้อมูลก่อนยื่นภาษีให้ครบถ้วนทั้งที่มาของเงินได้ประเภทต่างๆ ค่าใช้จ่าย รวมทั้งค่าลดหย่อนต่างๆ เมื่อถึงเวลาที่ต้องยื่นจริงข้อมูลจะได้ครบถ้วน ถูกต้อง และประหยัดภาษีได้
🤸🤸‍♀️🤸‍♂️
🤑ดอยอะไรก็ติดได้..แต่อย่าติดดอยชีวิต🤑วางแผนไว้ก่อน..รู้รอดเป็นยอดดี
หมอลงทุน
FA Sayamon S.
Finnomena ref 116407
ติดต่อแนะนำการลงทุนได้ที่..สมัครเลย!
♥️ใครชอบบทความดีๆแบบนี้ ♥️
รบกวนกด Like กดแชร์ เป็นกำลังใจให้กัน ส่งต่อความรู้ดีๆ ให้เพื่อนๆพี่ๆน้องๆทุกคนน้า
blockdit หมอลงทุน
facebook หมอลงทุน
...
คำเตือน
ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลสำคัญของกองทุนโดยเฉพาะนโยบายกองทุน ความเสี่ยง และผลการดำเนินงานของกองทุน โดยสามารถขอข้อมูลจากผู้แนะนำก่อนตัดสินใจลงทุน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา