19 เม.ย. 2021 เวลา 05:00 • ประวัติศาสตร์
เมื่อรัฐบาลอเมริกันทำการวางยาพิษในสุรา
ตั้งแต่ปีค.ศ.1920-1933 (พ.ศ.2463-2476) ที่สหรัฐอเมริกา ได้มีการห้ามการขาย นำเข้า หรือครอบครองสุรา
หากแต่บรรดาคอเหล้าก็ยังไม่หยุด ยังหาวิธีในการดื่มสุราจนได้ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบนำเข้าหรือต้มสุราเอง
รัฐบาลจึงคิดหาวิธีในการหยุดยั้ง ซึ่งวิธีนั้นก็คือ “การวางยาพิษ”
เมื่อกฎหมายห้ามจำหน่ายสุรามีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1920 (พ.ศ.2463) ก็ได้เกิดความไม่พอใจไปทั่ว
เหล่ามาเฟียซึ่งทำธุรกิจสุราก็ไม่ยอมแพ้ ยังแอบลักลอบนำเข้าสุรามาจากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย บางส่วนก็ทำสุราเองเลย โดยทำมาจากเอทานอลอุตสาหกรรม (Industrial Alcohol) รวมทั้งสารเคมีต่างๆ ที่พอจะหาได้
1
เอทานอลอุตสาหกรรมและสารเคมีต่างๆ ไม่เหมาะที่จะนำมาดื่ม มีความเป็นพิษ หากแต่คนทำเหล้าที่ไม่มีเงินมากนักก็ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องนำมาใช้และดื่ม
รัฐบาลซึ่งกำลังปวดหัวกับพวกลักลอบจำหน่ายและดื่มสุราก็เห็นโอกาส จึงได้ทำการเพิ่มสารเคมีบางตัวในเอทานอลอุตสาหกรรม ทำให้การต้มเหล้ายากขึ้น และตัวเอทานอลอุตสาหกรรมก็เป็นพิษมากกว่าเดิม
อันที่จริง เอทานอลอุตสาหกรรมก็มีความเป็นพิษอยู่แล้ว หากแต่ในปีค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) รัฐบาลก็ได้เพิ่มส่วนผสมบางอย่างที่ทำให้เป็นพิษมากขึ้น ที่ร้ายแรงที่สุดคือเมทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งสูงถึง 10%
เมื่อทำการตรวจสอบ พบว่าสุราที่ยึดได้ในปีค.ศ.1927 (พ.ศ.2470) กว่า 400,000 แกลลอน เต็มไปด้วยสารเคมีเป็นพิษ
1
ดูเหมือนวิธีการนี้จะกระทบคนจนมากกว่าคนรวย เนื่องจากคนรวยมักจะแอบซื้อเหล้านำเข้าอย่างผิดกฎหมาย หรือหากต้องต้มเหล้าเอง ก็สามารถใช้ส่วนผสมที่ดี มีราคาแพงได้ หากแต่คนจนไม่มีทางเลือก
ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนผสม มีคนล้มป่วยจากพิษในสุรากว่า 1,200 คน ที่นิวยอร์กเพียงแห่งเดียว มีผู้เสียชีวิตถึง 400 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 700 คนในเวลาต่อมา ซึ่งส่วนมากคือผู้ที่ซื้อเหล้ากลั่นราคาถูก
ต่อมา รัฐบาลได้ยกเลิกการห้ามขายสุราในปีค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) รวมทั้งมีการนำสุราแบบใหม่ๆ ออกจำหน่าย เรื่องนี้จึงกลายเป็นเรื่องในอดีต และน้อยคนที่จะยังพูดถึง แม้จะมีคนจำนวนมากต้องเสียชีวิตก็ตาม
1
โฆษณา