22 เม.ย. 2021 เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เริ่มต้นกับการเก็บออมหุ้น "IPO" อย่างไรดี
Source: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราได้เห็นหลายๆ ธุรกิจนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์กันเป็นว่าเล่น บ้างก็ระดมทุนเพื่อต่อยอดขยายธุรกิจ บ้างก็ต้องการอัพมูลค่าบริษัทให้สูงขึ้น ซึ่งก็มีนักลงทุนจำนวนมากคาดหวังกับผลกำไรจากการซื้อหุ้นของบริษัทประเภทนี้อยู่ไม่น้อย
บางคนก็ได้กำไรกลับไปกันเป็นกอบเป็นกำ (บางคนขายเลยทันทีหลังเริ่มซื้อขายวันแรกเลยก็มีไม่น้อย) แต่ส่วนหนึ่งก็อาจจะผิดหวังกับหุ้นบางตัวที่พอเข้ามาเทรดแล้วร่วงรูดรุ่งริ่งไม่เป็นท่า จะกลับตัวก็ไม่ได้...จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง TT ได้แต่มองดูราคาดำดิ่งลงไปต่อหน้าต่อตาเท่านั้น
การเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือเราเรียกกันติดปากว่า "IPO" (Initial Public Offering) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการระดมทุนสำหรับธุรกิจ นอกเหนือจากการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน
Cr: Pixabay
ในขณะที่นักลงทุนเองก็จะได้หุ้นของบริษัทนั้นๆ เป็นสิ่งตอบแทนกลับมา โดยนักลงทุนที่จองซื้อหุ้น IPO และได้รับการจัดสรรนั้น จะสามารถเลือกรับหุ้นสามัญได้ 3 วิธี ดังนี้
#กรณีไม่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ (ไม่มีพอร์ตเป็นของตัวเอง)
1. รับเป็นใบหุ้นทางไปรษณีย์
หลังจากที่ทำการจองซื้อหุ้นตามวันเวลาที่กำหนดไว้แล้ว "ใบหุ้น" จะถูกจัดส่งมาให้ทางไปรษณีย์ สิ่งสำคัญคือต้องระบุที่อยู่ให้ชัดเจนจะได้ไม่เป็นภาระต้องไปติดตามกันให้วุ่นภายหลัง ส่วนการซื้อขายต้องทำกันเองระหว่างผู้ซื้อ (ผู้รับโอน) และผู้ขาย (ผู้โอน) โดยลงชื่อผู้ซื้อขายหลังใบหุ้นไว้เป็นหลักฐาน
2. ฝากหุ้นไว้กับ TSD หรือ บริษัท ศูนย์ฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
กรณีนี้หุ้นจะถูกฝากไว้ในบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ (บัญชี 600) ซึ่งการซื้อขาย-โอนหุ้นก็สามารถทำได้ที่ TSD
Cr: Pixabay
#กรณีมีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ (มีพอร์ตเป็นของตัวเอง)
3. นำหุ้นเข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์
หลังหุ้นตัวนั้นๆ เปิดให้จองตามกำหนดเวลาเราก็ใส่รายละเอียดระบุเลขที่บัญชีซื้อขายของเรา และชื่อบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่เราใช้บริการอยู่ให้ครบถ้วน โดยเมื่อหุ้นได้รับการจัดสรรแล้วก็จะเข้ามาอยู่ในพอร์ตของเราแบบสวยๆ
หากถามว่าการรับหุ้น IPO เข้าบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์” “ง่าย – ดี – สะดวก” กว่าอย่างไร ?
อย่างแรกเลยคือ นักลงทุนสามารถซื้อขายได้เลยในวันแรกของการซื้อขายในตลาดรอง (First Day Trade) รวมถึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาได้รับใบหุ้นช้า หรือสูญหาย รวมถึงไม่ต้องไปเสียเวลาเตรียมเอกสารในการโอนหุ้นให้ยุ่งยาก
Cr: Pixabay
ซึ่งการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันก็สามารถทำได้ง่ายยิ่งกว่าปลอกกล้วยเข้าปาก เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสผ่าน Application ต่างๆ ที่รองรับ (บางโบรกเกอร์ก็ทำ App. ของตัวเองขึ้นมา)
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนที่ไม่มีพอร์ต และเลือกรับใบหุ้นผ่านวิธีที่ 1 และ 2 สามารถโอนหุ้นสามัญเข้าพอร์ตได้ภายหลัง ซึ่งปัจจุบันการเปิดพอร์ตสามารถทำได้สะดวกรวดเร็วในระบบออบไลน์ผ่านโบรกเกอร์ชั้นนำที่เปิดให้บริการ
แต่อย่างที่กล่าวไปเมื่อช่วงต้นว่า...การจองซื้อหุ้น IPO ที่ออกมาระดมทุนนั้นไม่สามารถการันตีได้ว่าจะสามารถทำกำไรจากราคาเปิดการซื้อขาย (Open Price) ได้เสมอไป ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจ การกำหนดราคา และภาวะตลาด ฯลฯ ให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน
เราลองมาดูข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งพบว่าหุ้นที่ระดมทุน IPO ในช่วงต้นปี 2564 (1 ม.ค.-17 เม.ย.) จำนวน 5 บริษัท มีราคาเปิดการซื้อขาย (Open Price) สูงกว่าราคาจองซื้อ (IPO Price) ทั้งหมด
ขณะที่ในปี 2563 มีหุ้น IPO รวม 26 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรีท) ราคาเปิดการซื้อขายสูงกว่าราคา IPO 22 บริษัท โดยมี 2 บริษัทที่ราคาเปิดการซื้อขายต่ำกว่าราคาจองซื้อ และอีก 2 บริษัทที่ราคาเปิดการซื้อขายเท่ากับราคาจองซื้อ
Cr: Pixabay
ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 นี้ ก็มีหุ้น IPO เตรียมคลอดอีกหลายตัว เราคงต้องจับตามอง ศึกษาข้อมูล และปัจจัยพื้นฐานของหุ้น (ธุรกิจ) นั้นๆ รวมถึงสภาวะแวดล้อมในทุกๆ มิติให้ดีก่อนการลงทุน
ยิ่งในช่วงที่ทั้งเศรษฐกิจ และการเมืองดูเปราะบางกว่าแก้วที่ร้าวจวนแตก รวมถึงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังหาจุดสิ้นสุดไม่เจอ การลงทุนกับอะไรสักอย่างก็คงเป็นอะไรที่ต้องตีลังกาคิดให้ "ถี่ถ้วน" กว่าเดิม...กว่าเดิม...และกว่าเดิมครับ
Source: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โฆษณา