Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Play Now Thailand
•
ติดตาม
22 เม.ย. 2021 เวลา 10:00 • ความคิดเห็น
มุมมองเกี่ยวกับนวัตกรรม-กรณีศึกษาจาก Small Ball
โดย วิธพล เจาะจิตต์
ในประวัติศาสตร์บาสเกตบอลมีหลายทีมที่สร้างทีมขึ้นมาจนเป็นระดับตำนาน บอสตัน เซลติกส์ และ ลอสแองเจลิส เลเกอร์ส ที่ได้ครองแชมป์มากที่สุด ถือเป็นตำนานต้นแบบให้หลายทีมได้เดินตาม ในช่วง ’90 ก็มีชิคาโก บูลส์ ที่ผงาดขึ้นมาภายใต้การนำของ ไมเคิล จอร์แดน ต่อมาในช่วงปลาย ’90 ต่อช่วงสหัสวรรษใหม่ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ก็ขึ้นเถลิงบัลลังก์ทีมระดับตำนาน
1
สูตรสำเร็จของทีมระดับตำนานกลุ่มนี้ มักจะประกอบด้วย 2-3 องค์ประกอบ เริ่มจากเซ็นเตอร์ระดับเทพ เช่น วิลท์ แชมเบอร์เลน หรือ คารีม อับดุล-จับบาร์ ตำนานเลเกอร์ส บิล รัสเซล ของเซลติกส์ หรือ เดวิด โรบินสัน กับ ทิม ดันแคน ของสเปอร์ส
องค์ประกอบสำคัญที่ 2 คือ ผู้เล่นทักษะเยี่ยมรอบด้านแบบ เมจิก จอห์นสัน, แลร์รี เบิร์ด, ไมเคิล จอร์แดน หรือ สกอตตี พิพเพน
องค์ประกอบสุดท้ายคือ เพื่อนร่วมทีมที่มีความยอดเยี่ยมเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นมือสามแต้มแบบ ไมเคิล คูเปอร์ มือปืนเลเกอร์สยุค ’80 จอห์น แพ็กซ์สัน และ สตีฟ เคอร์ ของบูลส์ในยุค ‘90 ยอดนักรีบาวด์แบบ เควิน แม็คเฮล คู่หู แลร์รี เบิร์ด หรือแสบตัวพ่อแบบ เดนนิส ร็อดแมน ของบูลส์
ทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีสูตรสำเร็จไหนที่อาศัยผู้เล่นวงนอก ตัวเล็ก และการ์ดจ่าย สร้างทีมระดับตำนานเลย ที่ผ่านมาผู้เล่นกลุ่มนี้เป็นเพียงปัจจัยเสริมเท่านั้น
1
แต่แล้วตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ก็ก้าวขึ้นมาเป็นทีมระดับตำนานอีกทีมหนึ่ง ด้วยแนวคิดเล่นเร็ว เน้นการทำแต้มด้วยการยิงสามคะแนนเป็นหลัก ใช้การ์ดยิงบอล และการ์ดจ่ายขับเคลื่อนทีม ส่วนเซ็นเตอร์และผู้เล่นวงในกลายเป็นองค์ประกอบเสริม
แนวคิดนี้รู้จักกันในชื่อ Small Ball ที่กูรูในวงการนับถือกันว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของรูปแบบการเล่นบาสเกตบอล หลายครั้งหลายหนที่ สเตฟ เคอร์รี โชว์ฟอร์มเทพในการยิง 3 คะแนน ผู้บรรยายเกมยังหลุดปากมาบ่อยครั้งว่า “ทุกท่านครับ ขอต้อนรับสู่ลีกยุคใหม่”
Small Ball มีที่มาอย่างไรและกลายเป็นนวัตกรรมได้อย่างไร และมีอะไรน่าสนใจ น่าเรียนรู้ทำความเข้าใจบ้าง มาติดตามกันนะครับ
🏀🏀🏀
ก. ต่อยอดโดยไม่ลืมแนวคิดหลักและจิตวิญญาณของเกม
ทุกครั้งที่ถูกถามว่าเขาคิดค้นนวัตกรรมการเล่นแบบใหม่ได้อย่างไร สตีฟ เคอร์ หัวหน้าโค้ชของวอร์ริเออร์ส มักพูดเสมอว่า เขาไม่คิดว่าแนวคิดนี้จะเป็นอะไรที่แปลกแหวกแนว เทียบเคียงสิ่งประดิษฐ์ที่ควรได้รับสิทธิบัตรแต่อย่างใดเลย เขามักบอกว่าแก่นแท้ของเกมยัดห่วงก็คือการแข่งกันทำคะแนนให้มากที่สุด ส่วนจิตวิญญาณของเกมคือการพยายามหาแนวทางที่แตกต่างเพื่อเอาชนะ และที่สำคัญที่สุดคือความสนุกในการเล่น
เกมเร็วของวอร์ริเออร์สทำให้การทำแต้มเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การเล่นฟาสต์เบรกขึ้นมายิง 3 คะแนนแทนที่จะเลย์อัพก็สร้างความตื่นเต้นให้คนดู เมื่อเกมสนุกปลุกคนดูทั้งสนามลุกขึ้นลุ้นไปด้วยกัน นักกีฬาก็เล่นอย่างสนุกไร้กดดันมากขึ้น แรงใจในการเอาชัยของทีมก็มีมากขึ้นด้วย
ข. ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง ข้อมูล และทางเลือก
บาสเกตบอลในยุคก่อนปี 2000 นั้น เน้นการส่งบอลเข้าวงในให้เซ็นเตอร์ทำแต้ม เพราะแน่นอนกว่า เนื่องจากเป็นการเข้าทำแต้มในระยะใกล้ห่วง แถมยังมีโอกาสที่คู่แข่งจะทำฟาวล์สูง ถ้ายิงไม่ลงก็อาจได้ลูกโทษ 2 ลูก หรือไม่ก็ยิงลงแล้วได้ลูกโทษแถมอีกหนึ่งก็จะได้โอกาสทำ 3 แต้มได้ในการขึ้นยิงครั้งเดียว
ด้วยแนวคิดแบบนั้น การยิง 3 แต้มในอดีตถ้าเปรียบกับกีฬามวยก็เป็นเหมือนหมัดเซอร์ไพรส์ที่นานๆ จะปล่อยมาสักครั้ง ถ้าไม่ตามอยู่ 3 แต้มหรือมากกว่าในช่วงท้ายเกม โค้ชก็มักจะไม่เรียกแผนยิง 3 คะแนน
ขนาดมือ 3 คะแนนระดับตำนานแบบ เรย์ อัลเลน ผู้ที่มีสถิติยิง 3 คะแนนมากที่สุดตลอดกาลในปัจจุบัน หรือ เรจจี มิลเลอร์ ผู้มีชื่อเสียงเรื่องยิง 3 คะแนนทำลายกำลังใจคู่แข่ง ก็ยังมีจำนวนครั้งในการขึ้นยิงระยะ 3 คะแนน น้อยกว่าการยิงระยะ 2 คะแนนด้วยซ้ำไป
แล้วการเล่นเร็วฟาสต์เบรกขึ้นมายิง 3 คะแนนในอดีตมีไหม? ก็มีครับ แต่มักจะจบลงด้วยการโดนโค้ชด่าหรือไม่ก็ผู้บรรยายสรรเสริญว่าคิดอะไรกันอยู่เหรอครับถึงทำเช่นนั้น
แนวทาง Small Ball ที่ไร้ต้านในปัจจุบันนั้น ทำตรงกันข้ามกับรูปเกมพิมพ์นิยมในอดีตอย่างสิ้นเชิง หากแต่ที่มาของแนวคิดนั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเน้นยิง 3 คะแนนโดยไม่มีเหตุผล และไม่ได้เป็นเพียงแนวคิดที่พัฒนาขึ้นเพราะต้องการสร้างความแตกต่าง แต่เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากการวิเคราะห์เชิงสถิติอย่างจริงจัง
“จอร์แดนตอนแม่นๆ นั้นเขายิงระยะ 2 คะแนนลงเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ (สถิติความแม่นระยะ 2 คะแนนตลอดอาชีพการเล่นของจอร์แดนอยู่ที่ 49.7 เปอร์เซ็นต์) ส่วนสถิติความแม่นตลอดกาลของ เรย์ อัลเลน ราชา 3 คะแนนตลอดกาลของลีกก็คือ 40 เปอร์เซ็นต์ คุณลองคูณแต้มกับเปอร์เซ็นต์ดูสิครับ เท่ากันเป๊ะเลยครับที่ 1.2 คะแนนต่อการขึ้นยิง 1 ครั้ง ดังนั้นเวลาสเตฟ (เคอร์รี) มาถามผมว่า เขายิง 3 คะแนนมากเกินไปหรือเปล่า ผมมักเล่าข้อมูลสถิตินี้ให้เขาฟัง แล้วให้ท้ายไปว่า นายยิงไปเลย” สตีฟ เคอร์ พูดพร้อมรอยยิ้มมุมปาก
“ผมไม่เคยส่งเสริมให้ทีมเน้นยิง 3 คะแนน เพียงเพราะผมเป็นคนที่มีเปอร์เซ็นต์ยิง 3 คะแนนลงสูงสุดตลอดกาลของลีกหรอกครับ มันไม่มีเหตุผลพอ” เคอร์ เจ้าของสถิติยิง 3 คะแนนลง 45.4 เปอร์เซ็นต์ตลอดอาชีพกล่าวเสริม
นอกจากนี้สิ่งที่หลายคนมักมองข้าม ในเกมการเล่นที่ใช้การยิง 3 คะแนนเป็นแกนของวอร์ริเออร์ส ก็คือทีมนี้มีผู้เล่นที่ยิง 3 คะแนนได้หลายคนมาก ที่แม่นไม่แพ้เคอร์รีก็คือ เคลย์ ทอมป์สัน คู่หูสแปลชบราเธอร์ส แต่หากจะมองให้ลึกซึ้ง ทีมในชุดสถิติฤดูกาลปกติที่ชนะ 73 เกม แพ้เพียง 9 เกม ซึ่งดีที่สุดตลอดกาลของลีกนั้น ผู้เล่น 5 คนแรกยิง 3 คะแนนได้ทุกคนแม้กระทั่งเซ็นเตอร์ชาวออสซี่ แอนดรูว์ โบกัต
ดังนั้นทางเลือกในการยิง 3 คะแนนของทีมจึงมีมากกว่าแค่เคอร์รี เมื่อเป็นแบบนี้ทีมรับก็ต้องหัวหมุนกับการกระจายการป้องกัน เพราะถ้ามัวไปรุมเคอร์รีกัน ทอมป์สันก็จะว่าง และถ้าหากทีมรับเคลื่อนที่เร็วพอที่จะกันทอมป์สันได้ทัน ทีมก็มีทางเลือกอื่นเช่น แฮร์ริสัน บาร์นส์ หรือ เดรย์มอน กรีน
3
นั่นคือสิ่งที่คนจำนวนไม่น้อยมองข้าม แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดไปเลยก็คือ ความคิดที่ว่ารูปแบบการเล่นแบบนี้มีการยิง 3 คะแนนเป็นแกนหลัก
แท้จริงแล้วการยิง 3 คะแนนช่วยกระจายโซนการตั้งรับให้กว้างขึ้น ทำให้การเลี้ยงฝ่าเข้าไปเลย์อัพ หรือส่งบอลให้เซ็นเตอร์ทำแต้มวงในก็ทำได้ง่ายขึ้น ยิ่งถ้าหากผู้เล่นเซ็นเตอร์ยิง 3 คะแนนได้ ก็จะช่วยดึงเซ็นเตอร์คู่แข่งให้ออกมายืนวงนอก ทำให้พื้นที่ใต้ห่วงว่างขึ้น ผู้เล่นที่มีความเร็วก็สามารถแหวกเข้าทำแต้มได้สะดวกโยธิน
“การมีทางเลือกการเล่นที่หลากหลายนี่ล่ะครับ คือหัวใจของ Small Ball” เคอร์ กล่าวถึงแกนหลักของการเล่นรูปแบบนี้
ค. ผู้เล่นเชื่อในระบบ เชื่อมั่นเพื่อนร่วมทีม
เมื่อแนวคิดแกนหลักของการเล่นแบบนี้คือการสร้างทางเลือกในการทำแต้ม การเคลื่อนที่ของผู้เล่นย่อมมีความสำคัญไม่แพ้กัน ผู้เล่นของวอร์ริเออร์สมักมีรูปแบบการเคลื่อนที่ที่ช่วยเปิดทางให้ชู้ตเตอร์ว่าง 2 คนเสมอ เพื่อกระจายแนวป้องกันและทำให้โซนรับกว้างขึ้น
หลังจากนั้นพวกเขาก็ปรับการเล่นและการส่งบอลตามสถานการณ์ ใครก็ได้ที่ได้บอล หากว่างก็ยิง หากมีคนว่างกว่าก็ส่งให้ เพราะพวกเขาเชื่อใจกันว่าทุกคนทำแต้มได้
ในวันที่ทอมป์สันเข้าฝัก เช่นในวันที่เขาทำ 37 คะแนนในหนึ่งควอเตอร์ ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของลีกตลอดกาล เคอร์รีไม่คิดจะชู้ตเองเลย เขาเฝ้ามองหาโอกาสที่จะจ่ายบอลให้ทอมป์สันทำแต้ม ส่วนผู้เล่นคนอื่นก็คอยทำสกรีนให้ทอมป์สันว่าง
นั่นคือแนวคิดและทัศนคติของผู้เล่นของวอร์ริเออรส์ ในการใช้รูปแบบการเล่นแบบ Small Ball
2
เมื่อพวกเขาเชื่อใจเชื่อมั่นในกันและกัน ภาระกดดันก็ไม่ตกอยู่กับผู้เล่นคนใดคนหนึ่ง ทั้งทีมจึงเล่นกันด้วยความผ่อนคลาย สนุกไปกับเกม มีประสิทธิภาพ และทรงพลังเป็นอย่างยิ่ง
ง. ใช้เวลาบ่มเพาะฝึกฝน ผู้เล่นยินดีปรับเปลี่ยน และมุ่งมั่นพัฒนาให้ก้าวไปอีกขั้น
แนวคิดการเล่นแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นช่วงข้ามคืนหรือข้ามเกมเมื่อโค้ชคิดรูปแบบได้ หากแต่เป็นงานสร้างที่ใช้เวลา ช่วงเริ่มต้นนั้นทีมมีเพียงเคอร์รีที่ทำแต้มวงนอกได้อย่างแม่นยำ ทีมจึงต้องใช้เวลาพัฒนาทอมป์สัน และผู้เล่นคนอื่นให้มีความพร้อม ซึ่งก็ใช้เวลาหลายปี
นอกจากนี้ทีมยังต้องสร้างทักษะใหม่หรือ Re-skill ผู้เล่นเซ็นเตอร์ให้จ่ายบอลได้ ยิง 3 คะแนนดี ซึ่งนั่นเป็นทักษะหลักของการ์ดจ่ายในอดีต เรียกว่าเปลี่ยนการเล่นของเซ็นเตอร์แบบกลับทิศ 180 องศาเลยทีเดียว
แอนดรูว์ โบกัต เป็นตัวอย่างชั้นเลิศของผู้เล่นมืออาชีพที่ยอมปรับเปลี่ยนพัฒนาทักษะใหม่ เพื่อให้รูปแบบการเล่นใหม่ได้ผลตามที่ต้องการ แม้จะยากลำบากมากในตอนแรก แต่แหวนแชมป์ก็เป็นรางวัลอันทรงค่าสำหรับความเพียร
ส่วนเคอร์รีนั้น แม้จะแม่นแสนแม่นแต่ก็ยังคงพัฒนาต่อเนื่อง เส้น 3 คะแนนของลีกซึ่งก็ไกลกว่าเส้น 3 คะแนนมาตรฐานของสมาพันธ์บาสเกตบอลสากลหรือ FIBA ก็ดูเหมือนไม่ไกลพอสำหรับเคอร์รี ระยะการยิงของเขานั้นไกลออกไปอีก 2-3 เมตร จนผู้บรรยายตั้งชื่อพื้นที่แถวนั้นของสนามว่า เคอร์รีแลนด์ อันเปรียบเสมือนลัดดาแลนด์ของทีมคู่แข่ง เพราะไม่รู้จะป้องกันยังไง
การพัฒนาของเคอร์รีไม่หยุดแค่การยิงบอลเท่านั้น แต่เขายังพัฒนาการเลี้ยงบอลและสปีดความเร็วที่ช่วยให้เขาฝ่าแนวป้องกันไปเลย์อัพได้
“ถ้าผมเน้นยิงอย่างเดียว มันก็จะมีวันที่ผมโดนประกบชิดเสียจนไม่สามารถแม้แต่จะตั้งท่าชู้ต แต่หากผมสามารถแหวกด่านป้องกันเข้าไปทำแต้มได้ ตัวประกบผมจะไม่กล้าประกบชิดมากเพราะกลัวผมจะเลี้ยงผ่านเขาไปง่าย ผมก็จะเห็นห่วงและยิงได้ง่ายขึ้น ผมเองก็ต้องสร้างทางเลือกทำแต้มด้วยตัวเองนะครับ” เคอร์รีให้สัมภาษณ์ไม่นานมานี้หลังจากที่ทุกคนได้เห็นเขาทำแต้มวงในพอๆ กับวงนอกในฤดูกาล 2020-21
1
อาวุธที่หลากหลายของเคอร์รีทำให้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ เขาทำลายสถิติที่ทั้ง ไมเคิล จอร์แดนและ โคบี ไบรอันท์ ทำไว้ โดยเขาเป็นผู้เล่นอายุมากกว่า 30 ปี ที่สามารถทำแต้ม 30 แต้มหรือมากกว่าติดต่อกัน 11 เกม ทำลายสถิติของไบรอันท์ซึ่งทำไว้ 10 เกมติดกัน นอกจากนี้ในเดือนเมษายนเขาทำแต้มเกิน 40 แต้มมาแล้ว 5 นัดทำลายสถิติที่จอร์แดนเคยทำไว้ 4 นัด ไม่เพียงเท่านั้นในฤดูกาลนี้เขาก้าวขึ้นไปเป็นผู้เล่นที่ทำแต้มรวมสูงสุดตลอดกาลของสโมสรแซงหน้า วิลท์ แชมเบอร์เลน ไปแล้ว
ถ้าหากสิ่งทั้งหมดนี้ไม่ใช่องค์ประกอบของนวัตกรรมรูปแบบการเล่นที่เรียกว่า Small Ball มันก็คงเป็นสูตรสำเร็จที่เปลี่ยนแปลงลีกอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้ โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส ยกระดับทีมขึ้นเทียบชั้นตำนานได้อย่างสมศักดิ์ศรี และที่สำคัญกว่านั้นคือการเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาสร้างขึ้นมีคุณค่าหลายประการ เกมการเล่นก็สนุกขึ้น (คุณค่าต่อคนดู) รูปแบบเกมก็พัฒนาขึ้นหลากหลาย (คุณค่าต่อเกมบาสเกตบอล) โอกาสของผู้เล่นที่จะพัฒนาตนเองก็มากขึ้น (คุณค่าต่อนักกีฬา)
และที่เจ๋งที่สุดคือพวกเขาทำได้ด้วยวิธีที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาเอง
🏀🏀🏀
โกลเดน สเตท วอร์ริเออร์ส คือสโมสรกีฬาซึ่งก็เป็นองค์กรประเภทหนึ่ง พัฒนาการของพวกเขานอกจากจะน่าชื่นชมยกย่องแล้ว หากมองให้ลึกซึ้งยังเป็นเหมือนกระจกสะท้อนกลับให้องค์กรอื่นที่มุ่งแสวงหาหรือสร้างนวัตกรรมได้คิดได้ตระหนักว่าเพราะอะไรองค์กรเขาจึงประสบปัญหาในการสร้างนวัตกรรม
องค์กรส่วนใหญ่ที่เจอปัญหาในการสร้างนวัตกรรม มักจะเริ่มจากแรงผลักดันทางความคิดที่ต้องการสร้างสิ่งใหม่ๆ มากเกินไปจนหลงลืมแก่นแท้ของพันธกิจและพื้นฐานธุรกิจของตนเอง กังวลเพียงแต่ตนเองจะตกรถไฟเทรนด์สมัยใหม่ พยายามเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ โดยที่ไม่มีภาพชัดเจนว่าเครื่องมือเหล่านั้นจะทำให้เก่งขึ้น หรือเก่งกว่าคู่แข่งได้อย่างไร
1
องค์กรจำนวนไม่น้อยมุ่งเก็บข้อมูลไว้ในคลังข้อมูลให้มากที่สุด สร้างรายงานเชิงสถิติมากมายโดยที่ไม่รู้ว่าจะเอามาใช้ประโยชน์อะไร - สตีฟ เคอร์ และทีมสตาฟนั้นมีข้อมูลมากมายมหาศาล แต่รู้จักหยิบใช้ข้อมูลบางชุด และเปลี่ยนมันเป็นข้อความที่มีความหมาย เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้นักกีฬา
หลายครั้งหลายหนเราเห็นองค์กรออกมาป่าวประกาศเรื่องการเอาดิจิทัลมาใช้ในองค์กร แต่ไม่มีเรื่องราวมาเล่าขานเกี่ยวกับการปรับทักษะคนในองค์กร เลยกลายเป็นองค์กรที่มีของเล่นใหม่แต่คนทำงานเหมือนเดิม ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิด Small Ball ที่เน้นเปลี่ยนทักษะ เปลี่ยนแนวคิดผู้เล่น ให้ทำสิ่งที่แตกต่างสร้างสิ่งใหม่ได้
และก็มีผู้บริหารระดับสูงอีกไม่น้อย ประกาศว่าจะสร้างนวัตกรรมก้าวกระโดดในระยะเวลาอันสั้น แล้วก็ไปไม่ถึงไหน เพราะคนที่ประกาศนั้นไม่เคยลงมาสัมผัสหน้างานเอง แถมอาจไม่รู้รายละเอียดเรื่องเทคโนโลยีด้วยซ้ำไป
1
หันกลับมามองโค้ชเคอร์ และเคอร์รี พวกเขาเป็นนวัตกรผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำความเข้าใจ และลงมือปฏิบัติเอง เฉกเช่นนวัตกรระดับโลกแบบ สตีฟ จ็อบส์, อีลอน มัสก์ หรือ บิล เกตส์ ที่ลงมือสร้างนวัตกรรมด้วยสองมือของพวกเขาเอง คนเหล่านี้เข้าใจความยากลำบากของคนปฏิบัติงาน ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงหน้างาน และพวกเขารู้ดีว่าเรื่องใดต้องใช้เวลาสร้าง เรื่องใดทำได้ทันที
ที่แย่ที่สุดในเรื่องราวเกี่ยวกับการสร้างนวัตกรรมของหลายองค์กร คือการที่ไม่ได้คิดให้ทะลุว่าสิ่งที่พยายามสร้างขึ้นนั้น มีคุณค่าอะไรกับลูกค้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ หรือไม่ก็มุ่งเน้นสร้างสิ่งใหม่ในโลก ที่เมื่อเสร็จแล้วก็พบว่าล้าสมัย ไม่ได้สร้างผลกระทบที่ดีหรือมีคุณค่าใดๆ เลย
ที่สำคัญมากที่สุดและเป็นจุดตายของหลายองค์กรคือความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นแก่นหลักของแนวคิดนวัตกรรม นวัตกรรมเด่นๆ ของโลกนั้นเกือบทั้งหมดเริ่มต้นจากแนวคิดที่เน้นเพียงแค่อยากจะกำจัดปัญหาบางอย่าง หรือทำให้ชีวิตง่ายขึ้น อาทิ Facebook เกิดขึ้นเพราะเด็กเรียนหน้าตาเนิร์ดอยากจะมีวิธีที่เชื่อมต่อกับหญิงสาวในมหาวิทยาลัย iPod เกิดขึ้นเพราะความต้องการอยากฟังเพลงที่หลากหลายโดยไม่ต้องแบกแผ่นซีดีจำนวนมาก Google เกิดขึ้นเพื่อต้องการแก้ปัญหาการหาข้อมูลยาก
เมื่อแก้ปัญหาได้ พวกเขาก็ค่อยๆ ต่อยอดการสร้างคุณค่าเพิ่มเติมจากจุดนั้น จนกลายเป็นนวัตกรรมชิ้นงามของโลก ไม่ค่อยมีหรอกครับที่คนจะคิดภาพนวัตกรรมมหัศจรรย์ออกในหัว แล้วมานั่งเขียนแผนปฏิบัติการในการสร้างทีละขั้นทีละตอน
ท้ายที่สุด การสร้างนวัตกรรมควรเป็นเรื่องสนุก คนในองค์กรรู้สึกสนใจและมั่นใจว่ามีส่วนร่วมได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็นแบบที่หลายองค์กรพยายามสร้างให้คนในองค์กรรู้สึกว่าการได้รางวัลนวัตกรรมมันยากเสียเหลือเกิน จนสุดท้ายก็มีแค่ไม่กี่คนที่มาร่วมสร้างสิ่งใหม่
วิธีการสร้างทีมระดับตำนานด้วยรูปแบบการเล่นใหม่ๆ ของวอร์ริเออร์ส ก็ไม่ต่างจากการพัฒนา Facebook, iPod หรือ Google หรอกครับ พวกเขาเพียงอยากชนะเกม ก็พยายามหาวิธีที่แตกต่างมาใช้ และพวกเขาไม่เคยลืมแก่นแท้ของกีฬานั่นก็คือความสนุก เมื่อเริ่มชนะก็เริ่มสนุกขึ้นไปเรื่อยๆ รูปแบบการเล่นก็ยกระดับขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นรูปแบบการเล่นที่เปลี่ยนแปลงลีกไปเลย
ในกีฬาก็มีข้อคิดดีๆ หลายอย่าง ที่เราสามารถเอามาปรับใช้ได้อย่างคาดไม่ถึงเลยนะครับ
#บาสเกตบอล #Basketball #Thailand #NBA #SmallBall
13 บันทึก
36
2
11
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
กีฬาหลากมุมคิด
13
36
2
11
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย