15 เม.ย. 2021 เวลา 10:42 • ปรัชญา
แตกต่าง...ไม่จำเป็นต้องแตกแยก
โดย วิธพล เจาะจิตต์
4
ฤดูกาลฟอร์มูลาวัน (F1) เริ่มต้นอย่างเป็นทางการปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แถมเริ่มได้อย่างสนุกสนานตื่นเต้นตั้งแต่ออกสตาร์ตจนถึงรอบสุดท้าย เมื่อจบการแข่ง ลูอิส แฮมิลตัน ของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คว้าชัยได้อย่างหวุดหวิดโดยเฉือน แม็กซ์ เวอร์สแตปเพ็น มือ 1 ของกระทิงดุสีแดง เรดบูล ไปไม่กี่วินาที
4
สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจจะมองข้ามหรือไม่ทราบเกี่ยวกับการแข่งขันสนามแรกก็คือ ก่อนจะเริ่มแข่งนักแข่งทั้ง 20 คนได้ตั้งแถวเพื่อแสดงสัญลักษณ์การต่อต้านเหยียดสีผิว ตามแคมเปญของ F1
โดยส่วนตัวของแฮมิลตันนั้น เขามีจุดยืนที่ชัดเจนมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้แสดงให้เห็นในหลายวาระโอกาส รวมถึงให้สัมภาษณ์เรื่องที่เขาได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมเนื่องจากความเป็นคนผิวสีอย่างเปิดเผย ในสารคดีของ Netflix เรื่อง Formula 1: Drive to Survive ปีล่าสุด
3
ในวันนั้นเขาและนักแข่งอีก 9 คน คุกเข่าแสดงจุดยืนร่วมกัน แต่เมื่อมองไปรอบๆ เขาก็ได้เห็นนักแข่งอีก 10 คนที่ไม่คุกเข่า รวมทั้ง วัลท์เทอรี บอตตาส เพื่อนร่วมทีมเมอร์เซเดส และคู่แข่งคนสำคัญเวอร์สแตปเพ็นกับ เซอร์จิโอ เปเรซ ของทีมเรดบูลส์
2
Credit: Dailymail.co.uk
เวอร์สแตปเพ็นนั้นไม่ค่อยเห็นด้วยกับการรณรงค์เรื่องการปฏิบัติต่อคนผิวสีจนเกินพอดี หลายครั้งเขาให้ความเห็นโต้แย้งกับแฮมิลตันจนขอบเขตของความเห็นต่างขยายวงไปถึงแฟนๆ ของทั้งสองฝ่าย จนสร้างโอกาสให้สื่อนิสัยแย่สร้างข่าวเสี้ยมความสัมพันธ์ของนักแข่งทั้งคู่
1
ในวันนั้น ในเชิงสัญลักษณ์ นักแข่งระดับสุดยอดของโลก 20 คน มีความเห็นที่แบ่งข้างกันครึ่งต่อครึ่ง เกี่ยวกับเรื่องนี้หลายคนให้สัมภาษณ์ว่าเขาคิดว่าชีวิตทุกคนสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ได้ให้น้ำหนักกับเชื้อชาติ ชนชาติ หรือสีผิวใดมากกว่ากัน นักแข่งบางคนที่ไม่คุกเข่าพบว่าเพจของเขาในสื่อสังคมออนไลน์มีทัวร์มาลงอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง
1
ในสนามแข่งแฮมิลตันและเวอร์สแตปเพ็นขับเคี่ยวกันอย่างเมามันส์ แข่งกันทั้งในสนามแข่งและนอกสนาม ทีมก็แข่งกันวางกลยุทธ์ในการเข้าพิทเปลี่ยนยาง ซึ่งในช่วงสุดท้ายของการแข่งขันนั้น เมื่อเห็นว่าเวอร์สแตปเพ็นนำแฮมิลตันอยู่พอควรแล้ว ทีมเรดบูลก็เรียกเวอร์สแตปเพ็นเข้าพิท โดยยอมให้แฮมิลตันซึ่งไม่ได้เข้าพิทนำไป 8 วินาที
2
เมื่อเปลี่ยนยางที่ต้องการ และกำหนดจุดใช้ DRS (เทอร์โบชาร์จที่ทำให้รถมีพลังและความเร็วเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ใช้เมื่อต้องการแซง) อย่างแม่นยำแล้ว เวอร์สแตปเพ็นก็ออกจากพิทไล่ล่าแฮมิลตันตามแผน จนเขาตามทัน และแซงแฮมิลตันจนได้ หากแต่ในตอนที่เขาแซงนั้น ล้อทั้งสี่ของรถเขาออกนอกสนาม ซึ่งตามกฎการแข่งขันแล้วถือว่าทำผิดกติกาและต้องยอมให้แฮมิลตันแซงคืน
1
Credit: Formula1
แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าหากให้แฮมิลตันแซงคืน เขาจะไม่สามารถไล่ทันได้อีก เพราะผิวเนื้อยาง และ DRS ถูกใช้ในแผนไล่ล่าไปหมดแล้ว สภาพรถที่เหลือก็แค่เพียงพอที่จะประคองความเร็วให้เท่าเดิม และความเป็นไปได้ที่จะทำความเร็วแซงแฮมิลตันนั้นมีค่าเท่ากับศูนย์
สุดท้ายเมื่อเขาได้ยินวิทยุทีมบอกให้ลดความเร็ว เวอร์สแตปเพ็นจึงชะลอรถปล่อยให้แฮมิลตันแซงขึ้นหน้าไป และยอมรับความจริงที่จะได้เพียงลำดับที่ 2 ในการแข่งขันสนามแรก
1
จริงๆ แล้วในตอนนั้นหากเวอร์สแตปเพ็นจะใช้อีกวิธีหนึ่ง คือเร่งความเร็วหนีไปให้ห่างสัก 7-10 วินาที แล้วลุ้นเอาว่าจะถูกลงโทษจากทำผิดกติกา 5 วินาที เขาก็ยังนำหน้าเพียงพอที่จะมีถ้วยแชมป์ติดมือได้ แต่ก็คงเป็นถ้วยแชมป์ที่ไร้เกียรติ และเขาก็คงไม่อยากเอาชนะแบบนั้น
โลกทั้งโลกรู้ว่าเรดบูลต้องการทวงคืนบัลลังก์แชมป์ด้วยการโค่นเมอร์เซเดสที่กระชากแชมป์ไปจากพวกเขา และใครๆ ก็รู้ดีว่าเวอร์สแตปเพ็นต้องการโค่นแฮมิลตันขนาดไหน
และแม้ว่าความแตกต่างทางความคิดระหว่างนักขับสองคนนี้จะมากแค่ไหน แต่ในสนามทั้งคู่คือ 1 ใน 20 สุดยอดของโลกที่มีความเป็นมืออาชีพสูง หลังจบการแข่งขันแฮมิลตันลงจากรถตรงเข้าไปจับมือขอบคุณในน้ำใจนักกีฬาของเวอร์สแตปเพ็น
2
นักแข่งทั้งสองคนไม่ปล่อยให้ข้อขัดแย้งทางความคิด กลายเป็นข้อขัดแย้งส่วนบุคคล และทั้งคู่ไม่ปล่อยให้ความแตกต่างทางความคิดนำไปสู่ความเกลียดชัง หรือเกมการแข่งขันที่สกปรก
1
⚖️⚖️⚖️
ด้วยหน้าที่การเป็นอาจารย์พิเศษในหลักสูตรบริหารธุรกิจสำหรับผู้บริหาร (Executive MBA) ผู้เขียนจึงมีโอกาสดีได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดและทัศนคติของบุคลากรในองค์กรต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันองค์กรจำนวนไม่น้อยมักจะมีบุคลากรที่มาจาก 4 ยุคสมัยทำงานร่วมกันในองค์กรเดียว
คณะกรรมการบริษัทส่วนใหญ่นั้นเป็นคนในกลุ่ม Baby Boomers ผู้บริหารระดับสูงมักจะเป็นคนรุ่น Generation X พนักงานส่วนใหญ่และผู้บริหารระดับกลางมาจาก Generation Y และน้องใหม่พึ่งเข้าองค์กร ก็เป็นน้องๆ Generation Z หรือเกิดราวปี ค.ศ. 2000
หัวข้อสนทนาในชั้นเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร พบว่าปัญหาหนึ่งที่หลายองค์กรพบเจอคือ ความเห็นแตกต่างเรื่องแนวคิดการแต่งกาย เพราะเด็กรุ่นใหม่ต้องการแต่งตัวตามสบาย ในขณะที่ผู้บริหารระดับสูงและกรรมการมักจะแต่งตัวภูมิฐานตามค่านิยมของคนรุ่นตน
Credit: FMB Partner
ในคาบเรียนหนึ่งเราได้ถกกันเรื่องนี้ ซึ่งก็ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องการแต่งกายนั้นจะสามารถถกเถียงกันได้เป็นชั่วโมงๆ และมีความเห็นที่น่าสนใจมากมาย ความเห็นหนึ่งจากเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารระดับสูงได้อย่างรวดเร็วและน่าชื่นชม
1
“ผมว่าคนรุ่นผมอยากให้ตัดสินคนจากภายใน”
1
ความเห็นนี้เป็นความเห็นสุดท้ายของคาบเรียนนั้น เพราะคนอื่นในชั้นเรียนไม่รู้จะถกต่ออย่างไร
สัปดาห์ต่อมา ผมได้พบผู้บริหารที่เป็นนักเรียนในคลาสท่านนั้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง เขาอยู่ในชุดสูทสากล เนี้ยบตั้งแต่หัวจรดเท้า ผมเห็นเขายืนเก้ๆ กังๆ ดูประหม่า เลยเดินเข้าไปทักทายถึงได้ทราบว่า เขามาเดตกับหญิงที่เขาสนใจอยากคบหา ซึ่งครั้งนี้เป็นเดตแรกของเขา ผมเห็นเป็นเรื่องส่วนตัวจึงกล่าวลาแล้วเดินผละมา
สองสามวันถัดมาเราเจอกันในคลาสเรียนอีกครั้ง เขาเข้าเรียนด้วยหน้าตาแจ่มใสประสาคนเพิ่งมีความรัก จนเพื่อนร่วมเรียนรุ่นพี่สังเกตได้ก็เริ่มแซว และล้อเล่นภาพในสื่อสังคมที่เขาลงประกาศความรัก จนกระทั่งมีพี่วัยอาวุโสซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทและเรียนในคลาสเดียวกันเอ่ยถามขึ้นว่า
“ครั้งที่แล้วน้องบอกว่าเด็กรุ่นใหม่อยากแต่งตัวตามสบายเพราะอยากให้ผู้ใหญ่ตัดสินพวกเขาจากข้างใน แล้วนี่หมายความว่าเด็กรุ่นใหม่ที่อยากมีความรักต้องการให้ผู้หญิงตัดสินเขาจากภายนอกรึเปล่า?”
เท่านั้นล่ะครับ ผมแทบจะพับเก็บเนื้อหาที่ตระเตรียมมาบรรยายไม่ทัน เพราะทั้งชั้นเรียนหันมาถกเรื่องการแต่งกายในองค์กรกันอย่างจริงจังอีกยก
1
ฝ่ายพี่ที่มีวัยวุฒิมากหน่อยก็แลกเปลี่ยนว่า การที่คนรุ่นเขานิยมแต่งตัวแนวธุรกิจสากลนั้น ก็เพราะต้องการให้เกียรติลูกค้า วิชาชีพที่ทำ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการ ส่วนฝั่งน้องๆ รุ่นหลังก็แลกเปลี่ยนว่า ผลงาน เนื้องาน เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และมีคุณค่ามากกว่าเรื่องเปลือกนอกคือการแต่งกาย
สุดท้ายในวันนั้นพี่ผู้อาวุโสสูงสุดในชั้นเรียนที่นั่งฟังเงียบๆ มาโดยตลอดก็ขออนุญาตแสดงความเห็นส่วนตัว
“ผมคิดว่า ค่านิยมเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ มันอาจจะถูกปรับปรุงรูปแบบไป หากแต่หลักการยังต้องคงอยู่เสมอ และที่สำคัญคือเราต้องใส่ใจกับความรู้สึกของผู้ที่เราปฏิสัมพันธ์ติดต่อพูดคุยด้วย อย่างผมทำงานธนาคาร ความน่าเชื่อถือเป็นหลักการสำคัญ ธนาคารอาจมีนโยบายให้แต่งตัวตามสบายในบางวัน ทว่าในวันที่เจอลูกค้า เราก็ควรจะแต่งตัวให้เหมาะสม ให้เกียรติลูกค้า ให้เกียรติวิชาชีพ ซึ่งนั่นหมายถึงให้เกียรติตัวเราเอง
“ผมเชื่อว่าคนเราไม่ได้ตัดสินความสามารถกันที่เครื่องแต่งกายอย่างแน่นอน ทำนองเดียวกันที่ผู้หญิงคงไม่ตัดสินใจแต่งงานกับเราเพราะเสื้อนอกแสนแพงหรอก แต่อย่างไรก็ตามเราไม่ควรละเลยความสำคัญของความประทับใจแรก ซึ่งมีผลมากต่อความน่าเชื่อถือของเรา หากภาพลักษณ์ของเราน่าเชื่อถือ และเรามีความคิดหรือข้อเสนอที่มีคุณค่า สุดท้ายเราก็จะไม่เพียงได้การยอมรับเท่านั้น แต่ยังได้รับความชื่นชมพ่วงมาอีก
“โดยความเห็นส่วนตัว ผมไม่เห็นความจำเป็นว่า เราจะไปสร้างภาระอุปสรรคให้ตัวเอง ด้วยการแต่งตัวไม่เหมาะกับกาละเทศะ ซึ่งลดทอนความน่าเชื่อถือของเราไป แล้วไปลุ้นว่าคุณภาพความคิดจะมีน้ำหนักมากกว่าความน่าเชื่อถือส่วนบุคคลหรือเปล่า
4
“รวมๆ แล้ว เราอยู่ในสังคมใดสังคมหนึ่งอยู่ตลอดเวลา เราต้องมีความเฉลียวพอที่จะสังเกตว่าแนวปฏิบัติของสังคมนั้นว่าเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างในทางกลับกัน ถ้าผมไม่ได้ทำงานธนาคาร แล้วไปทำงานในบริษัทไมโครไฟแนนซ์ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ขาย หากผมจะยึดค่านิยมคนรุ่นผม ใส่สูทผูกไทไปหาเขาเพราะต้องการให้เกียรติ เขาก็คงจะตกใจวิ่งหนี และไม่ใช้สินเชื่อที่ผมพยายามจะเสนอเขาอย่างแน่นอน พนักงานสินเชื่อของไมโครไฟแนนซ์ส่วนใหญ่ถึงได้มีเครื่องแบบที่แลดูสบายๆ ไม่เป็นทางการ แต่ก็เป็นยูนิฟอร์มเพราะอย่างไรเสียธุรกิจการเงินก็ต้องอิงองค์กร เพราะความน่าเชื่อถือมันอยู่ที่องค์กร โดยมีพนักงานเป็นคนนำเสนอความน่าเชื่อถือนั้น ผมคิดอย่างนี้ครับ”
หลังจากที่พี่ท่านนั้นพูดจบ ทั้งชั้นเรียนเงียบไปเกือบนาที เพราะทุกคนต้องการเวลาย่อยและซึมซับความคิดที่แตกต่างกัน
ผมปล่อยให้เวลาผ่านไปเพราะอีก 2 นาทีก็จะหมดคาบการเรียนแล้ว แต่ความเงียบก็ถูกทำลายลง ด้วยคำถามของพี่อาวุโสคนเดิม
“ผมสงสัยครับ ถามอาจารย์ หรือน้องๆ เพื่อนๆ ในชั้นหน่อยนะครับ คือว่าถ้า สตีฟ จ็อบส์ หรือ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก รวมทั้งเจ้าเจฟฟ์ เบซอส นั่น แต่งตัวมานำเสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมล้ำๆ พวกนั้น ด้วยชุดสูทสากลธุรกิจ แล้ววันนี้เราจะต้องมาเถียงกันเรื่องนี้รึเปล่าครับ?”
1
น้องนักเรียนคนหนึ่งตอบกลับมาด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มว่า “นั่นน่ะสิ สงสัยเราต้องตำหนิไอ้สามคนนี้ให้หนัก”
1
สุดท้ายในคืนนั้น ทั้งชั้นไปต่อกันที่ร้านข้าวต้มวัดบวร คนทั้งสี่รุ่นล้อมวงกินข้าวต้มกับกันอย่างมีความสุข...
1
⚖️⚖️⚖️
เร็วๆ นี้โลกได้รับข่าวเศร้าครั้งสำคัญเมื่อเจ้าชายฟิลลิป พระสวามีของสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ได้ถึงแก่อสัญกรรมในพระชนมายุ 99 ปี ทั้งสองพระองค์อภิเษกสมรสกันมาเป็นระยะเวลารวม 70 ปี เจ้าชายฟิลลิปเองสืบเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์ของประเทศกรีซ จึงถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของทั้งเครือจักรภพและราชวงศ์ในยุโรปด้วย
ในช่วง 2 ปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากแสนสาหัสสำหรับสมเด็จพระราชินีฯ ไม่ว่าจะด้วยสถานการณ์โควิด สถานการณ์ความแตกแยกในพระราชวงศ์ มาจนถึงการสูญเสียพระสวามีคู่ชีวิต
Credit: Vanity Fair
เมื่อทราบข่าว ด้วยความสนใจใคร่รู้ ผมจึงไปสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับพระบรมราโชวาทที่สมเด็จพระราชินีฯ ได้กล่าวในวาระอภิเษกสมรสครบรอบ 50 ปี ผมพบว่านอกจากถ้อยคำและแนวคิดไม่ได้เอาตนเองและการอภิเษกสมรสเป็นศูนย์กลางแล้ว ยังเป็นการกล่าวขอบพระทัยผู้นำประเทศและรัฐบาลในเครือจักรภพที่ได้มีส่วนช่วยให้การปฏิบัติพระราชกรณียกิจของท่านราบรื่นและลุล่วงไปด้วยดี
แต่สิ่งที่น่าประทับใจกว่านั้นคือการได้ทราบว่าสมเด็จพระราชินีฯ เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ทรงทำหน้าที่ขับรถพยาบาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะที่เจ้าชายฟิลลิปร่วมรบในสมรภูมิที่ประเทศอินเดีย
แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจปนความรู้สึกไม่ดีคือ คอมเมนต์ของผู้อ่านบทความพระบรมราโชวาท ซึ่งโพสต์ลงในเว็บไซต์ของเดลีเมล และได้แสดงความคิดเห็นในทำนองว่า “พวกเราไม่ได้ติดหนี้อะไรคุณ”
คงไม่มีใครตัดสินได้อย่างชี้ชัดว่าคอมเมนต์ดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ เพราะทุกคนก็มีสิทธิ์จะออกความเห็น แต่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้คือ สิ่งที่มีค่าสำหรับคนรุ่นก่อนอาจไม่มีความหมายใดๆ เลยสำหรับคนรุ่นหลัง
1
เช่นกันครับ เรื่องนี้ไม่มีใครผิดหรือถูก เพราะมันก็เป็นข้อเท็จจริง การจะให้คนที่ไม่มีประสบการณ์ตรงมีจิตเคารพผูกพันก็คงเป็นเรื่องที่ฝืนธรรมชาติอยู่ไม่น้อย แต่การที่เราจะเอาค่านิยมส่วนตัวไปตัดสินคนอื่นก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะควร และการที่มีทัศนคติทอนคุณค่าของสิ่งที่มีความหมายต่อคนรุ่นต่างกันก็เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงด้วยเช่นกัน
คุณค่าและความหมายในการมีตำแหน่งและสังกัดของพี่รุ่นก่อนหน้า ก็มีคุณค่าเฉกเช่นเดียวกันกับการมีที่ยืนในสังคมของน้องๆ รุ่นหลัง
⚖️⚖️⚖️
แนวโน้มในอนาคตของโลกที่หลายประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัย ความแตกต่างด้านความคิด ค่านิยม ก็คงจะมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็มีตัวอย่างที่ดีให้เห็นไม่น้อยนะครับ อาทิ ในแถบพื้นที่ Blue Zone ที่มีผู้มีอายุเกิน 100 ปีเป็นจำนวนมาก อาทิ เกาะซาร์ดิเนียในอิตาลี หมู่เกาะโอกินาวาในประเทศญี่ปุ่น พื้นที่โซนสีฟ้านี้จะว่าไปแล้วไม่ใช่คนแค่ 4 รุ่น แต่เป็น 5 รุ่นอาศัยอยู่รวมกัน และคนอายุเกิน 100 ปีนั้นถือว่าอยู่ในกลุ่ม Veteran หรือคนที่ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว
งานวิจัยหลายสำนักบอกว่า เหตุผลเชิงสังคมที่ทำให้พื้นที่เหล่านี้มีคนอายุเกินศตวรรษจำนวนมากก็คือ การที่ผู้อาวุโสกลุ่มนี้ได้รับการยอมรับจากสังคมผู้เยาว์กว่า แถมสังคมพื้นที่นี้ยังมีแนวปฏิบัติของ Cross-Mentoring คือการช่วยการพัฒนาสอนแนะข้ามรุ่นไปมาอีกด้วย ในขณะที่เด็กๆ แนะนำคนรุ่นคุณทวดให้ใช้เทคโนโลยี คนรุ่นคุณทวดก็มักจะมีเกร็ดดีๆ แนะนำเกี่ยวกับการใช้ชีวิตให้คนรุ่นอายุน้อยกว่าเก็บเอาไปใช้
Credit: France 24
สังคมโอกินาวานั้นจะค่อนข้างซับซ้อนและอ่อนไหวทางประวัติศาสตร์เพราะเป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกันตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่คนญี่ปุ่นในพื้นที่ก็สามารถอยู่ร่วมกับคนต่างชาติได้ เคยมีรายการสารคดีลงพื้นที่สัมภาษณ์ชาวพื้นถิ่นว่ารู้สึกอย่างไรกับการที่มีคนต่างชาติอยู่ในพื้นที่ ทั้งยังเป็นชาติที่มีประวัติการทำสงครามที่รุนแรงระหว่างกัน
คำตอบที่รายการนั้นได้รับคือ เขาเชื่อว่าคนที่ถูกส่งมารบในสงครามนั้น ไม่มีใครอยากมาตั้งแต่ต้นหรอก หากแต่ด้วยหน้าที่ในมิติต่างๆ ก็ต้องมารบราฆ่าฟันกับคนชาติอื่น เมื่อสงครามยุติแล้วการที่มีฐานทัพอยู่ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ทหารประจำการจะเป็นผู้เรียกร้องหรือตัดสินใจเอง หลายคนอาจจะไม่ได้อยากมาประจำการด้วยซ้ำไป และหากคิดว่าคนญี่ปุ่นรู้สึกแย่กับการมีฐานทัพ คนที่อยู่ในฐานทัพก็ไม่น่าจะมีความรู้สึกที่ดีเช่นกัน สุดท้ายแล้วคนเราไม่เป็นกลางโดยธรรมชาติ เรามีสิ่งที่ยึดถือ ยึดติดแตกต่างกัน แต่เราก็ควรให้ความเป็นธรรมกับผู้อื่น และก็ไม่ควรเหมาโหลว่าคนคนหนึ่งจากชาติหนึ่งรุ่นหนึ่งจะแย่เหมือนกันไปเสียทั้งหมด เพราะธรรมชาติสร้างมาให้เราแตกต่างกัน
1
เราควรใส่ใจ ทำความเข้าใจ มากกว่ามุ่งมั่นที่จะตัดสิน เพราะหลายต่อหลายครั้งเรามีข้อมูลน้อยมาก น้อยเกินไปจริงๆ
นั่นคือข้อคิดจากผู้คนในดินแดนสีฟ้า ซึ่งไม่ได้มองความแตกต่างเป็นความแปลกแยก แบ่งฝักฝ่ายจนเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง ในพื้นที่เหล่านี้ความเจริญในเชิงวัตถุอาจจะมีน้อยกว่าเขตเมืองใหญ่หรือมหานคร แต่ความเจริญทางใจในเชิงทัศนคตินั้น เผลอๆ อาจจะมีมากกว่าเสียด้วยซ้ำครับ
#ฟอร์มูลาวัน #F1 #ลูอิสแฮมิลตัน #BlueZone #แม็กซ์เวอร์สแตปเพ็น #เมอร์เซเดสเบนซ์ #Soccer #PlayNowThailand #KhelNowThailand #diversity #generations #british #monarchy

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา