27 เม.ย. 2021 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
"บทเรียนจากประวัติศาสตร์เมื่อปี 1918-1920 บอกอะไรเราเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19"
3
นับแต่ปลายปีที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล เริ่มเร่งนำวัคซีนที่ค้นพบไปฉีดให้กับประชาชน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างชัดเจน ช่วยให้ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกลดลงเป็นครั้งแรก หลังจากที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาตลอด 12 เดือนที่ผ่านมา
4
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดชี้ว่า ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกกำลังกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง กลายเป็นการระบาดระลอกใหม่ โดยมีเหตุสำคัญมาจากการกลายพันธุ์ของไวรัสในหลายประเทศที่ทำให้เชื้อโควิดแข็งแกร่งขึ้น กระจายง่ายขึ้น และทำให้ป่วยหนักขึ้น
เหตุการณ์ในลักษณะนี้ ใช่ว่าเราจะไม่เคยเจอมาก่อน หากมองย้อนกลับไปในอดีต เมื่อ 100 ปีก่อน ขณะนั้นโลกเผชิญกับการระบาดของไข้หวัดสเปน ซึ่งนับเป็นการระบาดที่รุนแรงสุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ โดยการระบาดเกิดขึ้นทั้งหมดสามระลอก กินเวลาไปเกินกว่า 2 ปี นับตั้งแต่ ค.ศ.1918 – 1920 มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นถึง 500 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสามของประชากรโลกขณะนั้น และมีผู้เสียชีวิตถึง 50 ล้านคน
15
การระบาดระลอกแรกของไข้หวัดสเปนเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 1918 โดยกรณีที่มีการรายงานไว้อย่างเป็นทางการ คือ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม ผู้ติดเชื้อเป็นกุ๊กทหารที่ประจำอยู่ที่ Camp Funston (ซึ่งเป็นค่ายสำคัญที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้ในการฝึกกำลังพล) ในรัฐ Kansas ประเทศสหรัฐอเมริกา เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ทหารในค่ายดังกล่าวก็ติดเชื้อร่วม 500 คน
8
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้โรคนี้ได้กระจายไปทั่ว คือ จากกลุ่มทหารที่เข้าร่วมกันรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้เชื้อแพร่กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ ในยุโรป โดยพบในฝรั่งเศส เยอรมัน อังกฤษ รัสเซีย แต่เนื่องจากเป็นช่วงสงคราม จึงไม่ได้มีการรายงานข่าวเรื่องนี้มากนัก เพื่อไม่ให้กระทบต่อกำลังใจของทหาร ยกเว้นแต่ในประเทศสเปน ซึ่งวางตัวเป็นกลาง และสื่อมีการรายงานเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง จนทำให้โรคนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “ไข้หวัดสเปน” มาจนถึงทุกวันนี้
6
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ในช่วงปลายปี 1918 ทุกคนก็ได้แยกย้ายกันกลับประเทศ และได้นำโรคนี้กลับมาด้วย ทำให้ไข้หวัดสเปนสามารถระบาดไปในทุกพื้นที่ของโลก
5
ในช่วงต้นๆ ของการระบาด ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรง มีเพียงอาการเจ็บคอ มีไข้ และปวดหัว ซึ่งไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดามากนัก โดยกลุ่มเสี่ยงก็คือกลุ่มที่ร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงอายุ คล้ายกับโควิด-19 ที่ส่งผลกับคนในกลุ่มดังกล่าว นอกจากนี้ อัตราการตายในช่วงการระบาดระลอกแรกก็ไม่ได้สูงไปกว่าอัตราการตายในช่วงไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูมากนัก หลายคนจึงคาดการณ์ว่าการระบาดครั้งนี้คงจะสิ้นสุดลงไม่เกินเดือนสิงหาคม 1918
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมได้มีจุดหักเหสำคัญเกิดขึ้น การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสทำให้เกิดการระบาดระลอกสองที่รุนแรงเป็นอย่างมาก จากเดิมที่มีเพียงอาการปวดหัว ตัวร้อน ไม่ต่างจากไข้หวัดธรรมดามากนักก็กลายเป็นว่าสายพันธุ์นี้ทำให้เกิดอาการใหม่ เช่น แผลพุพอง เลือดกำเดาไหล และปอดบวมอีกด้วย ซึ่งครั้งนี้คนกลุ่มหนุ่มสาวได้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ ที่เมื่อป่วยสามารถคร่าชีวิตคนรุ่นหนุ่มสาวได้ภายในเวลา 24 ชม. หลังจากที่เริ่มแสดงอาการ การระบาดระลอกสองนี้ นับตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม 1918 ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
11
หลังจากนั้น เชื้อไวรัสก็ได้กลายพันธุ์อีกรอบ ส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกที่สามขึ้นในเดือนมกราคม 1919 โดยเริ่มจากที่ประเทศออสเตรเลีย หลังจากนั้นก็ค่อยๆ กระจายไปที่ทวีปยุโรป และสหรัฐฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว การระบาดของไข้หวัดสเปนจะสิ้นสุดลงเมื่อไวรัสได้กลายพันธุ์อีกครั้งกลายไปเป็นเชื้อที่ลดความรุนแรงลง แต่วิกฤติไข้หวัดสเปนได้คร่าชีวิตคนไปรวมกันกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งมากยิ่งกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 เสียอีก
 
หันกลับมาในปัจจุบัน หลังจากทุกคนดีใจว่าจำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่ได้ลดลงต่อเนื่องเป็นเวลา 6 สัปดาห์ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ จากเดิมที่เคยสูงถึง 850,000 คนต่อวัน เหลือเพียง 250,000 คนต่อวัน การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ได้เริ่มขึ้นอีกรอบ ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมา
จากการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเช่นกัน ทั้งสายพันธุ์ที่มาจากอังกฤษ (B.1.1.7) สายพันธุ์ที่เกิดขึ้นที่บราซิล (P.1) อินเดีย (B.1.617 และ B.1.618) และ แอฟริกาใต้ (B.1.531) ซึ่งสามารถกระจายตัวอย่างรวดเร็ว มีความรุนแรงของการป่วยเพิ่มขึ้น และมีความสามารถในการต่อต้านวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ต่างจากเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ที่การระบาดระลอกสองของไข้หวัดสเปนได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกว่ารอบแรก และส่งผลกระทบไม่เพียงแต่กลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น กลุ่มหนุ่มสาวก็ได้กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน
(สามารถอ่านบทความการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้ที่ link ด้านล่าง)
21
ทั้งหมดชี้ว่า การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 เป็นประเด็นสำคัญที่เราต้องจับตามองในช่วงต่อไป เพราะประเทศที่กำลังมีการพุ่งขึ้นของยอดติดเชื้อใหม่อย่างอินเดีย บราซิล และตุรกี ต่างก็เป็นผลจากเชื้อที่ได้กลายพันธุ์ทั้งหมด โดยยอดติดเชื้อรายวันของ 3 ประเทศนี้รวมแล้ว คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของยอดผู้ติดเชื้อรายวันของโลก โดยเฉพาะอินเดีย ที่ล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันทะลุ 300,000 คนแล้ว
6
บทเรียนจากประวัติศาสตร์จากการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนถือเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับช่วงเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง เชื้อสามารถกลายพันธ์ุ และเมื่อกลายพันธุ์แล้วก็อาจจะดุขึ้นได้เช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ยิ่งติดคนมาก ก็ยิ่งกลายพันธุ์ได้ง่าย ซึ่งการที่ประเทศที่กำลังเป็นศูนย์กลางการระบาดรอบที่สองนี้ เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีประชากรมาก เข้าถึงวัคซีนได้น้อย ระบบการสาธารณสุขอ่อนแอ โอกาสที่เชื้อจะกระจายในวงกว้าง และพัฒนากลายพันธุ์ไปอีกขั้น ทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่กระจายง่าย เร็ว และมีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีมากขึ้น
2
ด้วยเหตุนี้ ประเด็นเรื่องเชื้อกลายพันธุ์จึงกลายเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะอยู่กับเราไปอีกระยะ โดยในกรณี Worst case ที่หากวัคซีนซึ่งได้ฉีดกันไปเป็นจำนวนมากไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์ใหม่ได้ โควิด-19 ก็มีโอกาสย้อนกลับในประเทศที่ฉีดวัคซีนแล้ว และมีโอกาสที่จะเกิดระลอกใหม่ของการระบาดเป็นระยะๆ ทำให้วิกฤติครั้งนี้อาจจะจบช้ากว่าที่เราคิด
4
ด้วยเหตุนี้ แสงสว่างปลายอุโมงค์ที่เราเคยเห็นในตอนแรก แท้จริงแล้วอาจจะเป็นจุดเริ่มของอุโมงค์ใหม่ที่เราต้องฟันฝ่ากันต่อไปก็ได้
11
ในบทความต่อไป Bnomics จะพาทุกคนไปติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในไทย ว่ามีความรุนแรงขนาดไหน
ผู้เขียน : เอกศิษฎ์ น้าวิไลเจริญ
Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Youtube: Bnomics.bbl
Twitter: @BnomicsBBL
Blockdit : Bnomics
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#Bnomics #เศรษฐกิจโลก #ไข้หวัดสเปน #Influenza #ประวัติศาสตร์โลก #วัคซีน
3
Sources:
- Turkey: 85% of new COVID-19 cases due to UK variant (aa.com.tr)
- Why the Second Wave of the 1918 Flu Pandemic Was So Deadly - HISTORY
- 1918 Pandemic (H1N1 virus) | Pandemic Influenza (Flu) | CDC
- Spanish Flu: a warning from history | University of Cambridge
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา