Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
WAY
•
ติดตาม
29 เม.ย. 2021 เวลา 05:58 • การเมือง
ตั้งวงนินทาผู้ใหญ่ โดย เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ แอนด์เดอะแก๊ง
สัมภาษณ์เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2017
ไม่กี่วันก่อน บนโลกโซเชียลได้มีการพูดถึงเพลงเพลงหนึ่งที่เขียนด้วยลายมือซึ่งขึ้นต้นประโยคว่า “ผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน” ทันทีที่เรากวาดสายตาอ่านจนจบ ก็รู้ว่าเป็นการล้อกลับเพลง ‘เด็กเอ๋ยเด็กดี’ และเนื้อเพลงนี้ก็ได้สะท้อนกลับและตั้งคำถามกับ ‘ผู้ใหญ่’
กระแสรูปดังกล่าวโด่งดังมากในช่วงเวลาไม่นาน จำนวนแชร์และคอมเมนต์ในเฟซบุ๊คพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับคอมเมนต์ที่แสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย บ้างก็ว่า
“ขอแชร์นะคะ”
“เพลงมีสาระที่สุดในรอบหลายปีเลย”
“สุดยอดคิดได้ไงเนี่ย สุดๆไปเลย”
“คงมีคนจุก…บ้างล่ะ”
เพลงผู้ใหญ่ดี 10 ประการ (lyrics) ภาพ: เพจมนุษย์กรุงเทพฯ facebook.com/bkkhumans/
เมื่อค้นต่อไปจึงได้ทราบว่าเนื้อเพลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘วันผู้ใหญ่แห่งชาติ 2017: แด่ผู้ใหญ่สมัยโลกพัฒนา’ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ที่พิพิธภัณฑ์บางลำพู ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ จัดโดยกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทและสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปการศึกษา
เรานัดพวกเขาในวันที่ศิลปินเกาหลีขวัญใจเด็กไทยมาปรากฏตัวกลางสยามสแควร์ ท่ามกลางอากาศร้อนระอุ โดยเลือกที่จะหลบมุมร้อนมาพูดคุยกับทุกคนใต้ร่มไม้และผ้าใบสีน้ำเงินหน้าตึกคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากซ้ายไปขวา โน้ต-ปิยะบุตร ภูธัสพงษ์, พี-พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์
เขามากันสามคน คือ
โน้ต-ปิยะบุตร ภูธัสพงษ์ นักศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พี-พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ นักศึกษาปีสุดท้ายจากรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
และ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักเรียนชั้นปีสุดท้ายของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ทั้งสามคนเป็นทีมที่ช่วยกันสกัดและขบคิดถ้อยคำจนตกผลึกออกมาเป็นเนื้อเพลง ‘ผู้ใหญ่ดี 10 ประการ’
“หิวจัง เสร็จจากนี้แล้วไปหาไรกินกันเถอะ” คือประโยคแรกที่เพนกวินเอ่ยเมื่อเจอหน้าเพื่อนๆ ครบทั้งสองคน แม้ทั้งสามจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่บทสนทนาระหว่างพวกเราก็ต้องเริ่มต้นขึ้นแล้ว
• รีวิวเพลงผู้ใหญ่ดี 10 ประการ
ถ้า ‘ผู้ใหญ่ดี 10 ประการ’ คือเงา ‘เด็กดี 10 ประการ’ ก็คือแสงแดด ในแง่ที่อุดมการณ์และความคิดของเด็กรุ่นหลัง ทำให้เกิดเพลงสำหรับผู้ใหญ่วันนี้
“มาแจงเพลงทีละข้อกันดีกว่า” พีโพล่งขึ้นกลางวงสนทนา เราจึงชวนพวกเขามาวิจารณ์แสงแดด
หนึ่ง…นับถือศาสนา
พวกเขาย้อนมองว่า แล้วคนไม่มีศาสนาจะเป็นคนดีไม่ได้หรือ ซึ่งปัจจุบันก็สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าคนไม่มีศาสนาสามารถเป็นคนดีได้เหมือนกัน
สอง…รักษาธรรมเนียมมั่น
“ธรรมเนียมคืออะไร ธรรมเนียมหรือวัฒนธรรม” พีหันไปถามเพื่อนๆ ทั้งสองคน ก่อนที่เพนกวินจะอธิบายต่อว่า “คำว่าธรรมะกับนิยม เมื่อรวมกันก็หมายถึงสิ่งที่เป็นที่นิยม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา”
นอกจากนั้นแล้วโน้ตยังได้ยกตัวอย่างทศกัณฐ์ (มิวสิควิดีโอเพลง ‘เที่ยวไทยมีเฮ’ ที่ เก่ง-ธชย ประทุมวรรณ ใส่ชุดโขนร้องและร่วมแสดง พาตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์ ทศกัณฐ์และเสนายักษ์ ตระเวนเที่ยวตามที่ต่างๆ) ที่เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์เมื่อปีที่แล้ว ถือว่าธรรมเนียมมั่นมากๆ เพราะแก้ไขและแตะต้องแทบจะไม่ได้เลย
สาม…เชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์
“แล้วถ้าสิ่งที่เชื่อตามกันมามันไม่ถูกต้องล่ะ เราต้องเชื่อด้วยเหรอ ซึ่งถ้าเราเชื่อไปตลอดนั้นจะไม่เท่ากับว่าเราจะไม่ออกจากกะลาเลยเหรอ เราจะอยู่กับที่แบบนี้ตลอดเลยเหรอ”
ไม่รู้ว่าพวกเขาย้อนถามกลับพวกเราในฐานะที่เป็นผู้ใหญ่กว่า หรือเป็นการถามกลับต่อผู้ใหญ่อีกกลุ่ม แต่แน่นอนว่าพวกเราไม่ได้ตอบ
สี่…วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน
พวกเขาค่อนข้างเห็นด้วยกับเรื่องนี้แต่ก็มีข้อโต้แย้งเล็กน้อย แล้วหากสุภาพอ่อนหวานแต่ไม่มีสาระล่ะ รวมถึงยังอธิบายสิ่งที่สังคมมักเป็นกันก็คือ คุณพูดผิดเพราะคุณพูดไม่ดีหรือเถียงเขาไม่ได้ ก็เลยบอกว่าเขาเป็นคนก้าวร้าว โดยมองว่าเรามีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรสักอย่าง หรือมีสิทธิ์ที่จะ ‘หัวร้อน’ และควรมีการโต้เถียงกันอย่างมีเหตุมีผล มากกว่ามองแค่ว่าคุณพูดคำหยาบคือคุณผิด ก็ถูกมองว่าไม่ดีไปแล้ว
ห้า…ยึดมั่นกตัญญู
พวกเขาอธิบายว่า บริบทสังคมไทยนั้นไม่ใช่เรื่องความกตัญญูอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความคาดหวังและได้ยกตัวอย่างพ่อแม่บางคนที่อยากให้ลูกรับราชการเพื่อจะเอาสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาล
ตัวอย่างนี้สามารถมองได้สองมุม มุมแรกคือ อิสรภาพทางความคิดของเด็กที่นอกจากจะถูกปิดกั้นแล้วยังถูกครอบงำอีกด้วย มุมที่สองคือการตั้งคำถามกลับไปที่รัฐ หากสิทธิ์ค่ารักษาพยาบาลทุกคนได้เท่ากันอย่างเท่าเทียม กล่าวคือรัฐมีความสามารถในการกระจายปัจจัยสี่ให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค … ค่านิยมรับราชการเพื่อสิทธิ์ในค่ารักษาพยาบาลยังจะต้องมีอยู่ไหม
“แล้วถ้าเราตายไปก่อนใครจะดูแล” โน้ตชวนคิด
“แม่ผมเคยพูดว่า ถ้าแก่แล้วป่วยแบบรักษาไม่ได้ให้ปล่อยให้ตายไปเลย ซึ่งถ้าประเทศที่มีสวัสดิการที่ดีมันจะไม่มีคำแบบนี้” เพนกวินตอบด้วยน้ำเสียงเรียบๆ แต่กลับสะท้อนให้เห็นแนวคิดของคนอีกรุ่นที่ไม่คาดหวังอะไรจากรัฐที่พวกเขาเสียภาษีให้อีกต่อไป
“สะท้อนคุณภาพชีวิตของสังคมไทยดีจัง” โน้ตกล่าวติดตลกอย่างเศร้าๆ
หก…เป็นผู้รู้รักการงาน
พวกเขาและเธอมองว่าในบริบทของเพลง คำว่า ‘รัก’ ในที่นี้หมายถึงการขยันทำงาน ซึ่ง ณ ตอนนี้การขยันทำงานนั้นเราต้องตอบตัวเองให้ได้ด้วยเช่นกันว่า เราทำเพื่ออะไร
“อย่ารักแต่งานจนไม่สนใจอะไร” เพนกวินกล่าวสั้นๆ
ในอดีต เรื่องงานกับเรื่องส่วนตัวถูกมองว่าเป็นคนละเรื่อง ซึ่งในความจริงแล้ว บางครั้งงานชิ้นหนึ่งก็ดีได้เพราะมีส่วนผสมอย่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัวที่ลงตัวและสอดคล้องกัน
เจ็ด…ต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจ ไม่คร้าน
ทั้งสามคนต่างเห็นพ้องกับเพนกวินที่มองว่า เด็กมีความสามารถที่จะเชี่ยวชาญได้ แต่ต้องสามารถเชื่อมโยงกับความสามารถอื่นๆ ในหลายด้านได้ด้วย การศึกษาสมัยก่อนเป็นการศึกษาในเชิงลึก แต่ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูลนั้นสำคัญมากกว่า เพราะทุกอาชีพต้องสามารถนำทุกองค์ความรู้มาบูรณาการได้ เราจึงเห็นหมอบางคนวาดรูปเก่ง หรือการ์ตูนนิสต์บางครั้งเชี่ยวชาญด้านการดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง
แปดรู้จักออม ประหยัด
พวกเขาค่อนข้างเห็นด้วย แต่อยากให้ผู้ปกครองหันมาสอนลูกๆ ให้รู้จักบริหารเงินมากกว่าออมเงินอย่างเดียว
เก้าต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ ให้เหมาะกับการสมัยชาติพัฒนา
พวกเขาเสนอว่า คำว่าซื่อสัตย์ในบริบทของเพลงนี้น่าจะเป็นเรื่องของความจงรักภักดีมากกว่า และมันก็สามารถที่จะโยงกลับไปสู่ข้อกตัญญูได้ ส่วนน้ำใจนักกีฬากล้าหาญ พวกเขาค่อนข้างเห็นด้วย พีมองว่า เมื่อคุณทำธุรกิจอย่างหนึ่งคุณก็ควรจะมี ถ้ามองว่าน้ำใจนักกีฬาคือจรรยาบรรณอย่างหนึ่ง
สิบ…ทำตนให้เป็นประโยชน์ รู้บาปบุญคุณโทษ สมบัติชาติต้องรักษา เด็กสมัยชาติพัฒนา จะเป็นเด็กดีพาชาติไทย เจริญ
“ประโยชน์ของใคร อะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”
พียกตัวอย่างสองอาชีพระหว่างเป็น ‘ทหาร’ กับ ‘สถาปนิก’ ในสายตาคนทั่วไปทหารคงเป็นอาชีพที่ทำประโยชน์ให้กับชาติ แต่จริงๆ แล้วการที่สถาปนิกออกแบบตึก สร้างตึกมาก็สามารถทำประโยชน์ให้ชาติได้เช่นกัน
ในประเด็นของเรื่องสมบัติของชาติ เพนกวินอธิบายว่า ประเทศไทยนั้นมีความเป็น collective ไม่สุด หากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นได้ว่าสมบัติของชาติส่วนใหญ่นั้นทุกคนเป็นเจ้าของ แต่หากย้อนกลับมามองในสังคมไทย เขาสงสัยว่ามันมีความเป็นของทุกคนอยู่ในนั้นมากน้อยแค่ไหน
“ในไทยมันเป็นการสถาปนาลอยๆ ขึ้นมาเพื่อให้คนกลุ่มหนึ่งนำไปใช้ให้เกิดความภาคภูมิใจต่อตัวเองหรือเอาไปใช้กดคนอื่น เวลาผู้ใหญ่พูดว่าเด็กเดี๋ยวนี้ไม่มีจิตสาธารณะ คำถามคือเด็กเข้าไปมีส่วนร่วมในนั้นขนาดไหน ทำไมฝรั่งเคารพกฎ เพราะส่วนรวมเป็นของเขา เป็นของสังคมด้วย เพราะส่วนรวมมาช่วยพวกเขา การที่เราไม่มีความเป็นเจ้าของก็ไม่ต่างอะไรกับการเช่าเขาอยู่” โน้ต อ้างคำพูดของ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา
พร้อมกันนั้นเองโน้ตยังได้ถามกลับในฐานะนักศึกษาที่เรียนด้านการสื่อสารมวลชนว่า “อย่างเรื่องของคลื่นวิทยุและคลื่นโทรทัศน์ที่เป็นสมบัติของรัฐ แต่จำนวนช่องฟรีทีวีนั้นมีน้อยนิด กลายเป็นประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้น้อยมาก ซึ่งการรักษาสมบัติของรัฐแบบนี้ถือว่าเหมาะสมหรือไม่ และถ้ามัวแต่รักษาไว้แต่ไม่นำมาใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์”
นักศึกษาสายศิลปะอย่างพียกตัวอย่างใกล้ตัวคือเรื่องวงการศิลปะไทย ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ยังคงชื่นชมแต่ศิลปะที่อนุรักษนิยมมากๆ เช่น งานที่มีลวดลายไทยเข้ามาผสมผสาน แต่งานชนิดอื่นกลับไม่ได้รับการสนับสนุน ยิ่งไปกว่านั้นบางอย่างไม่สามารถแตะต้องได้ด้วยซ้ำ
• ออกกะลา: ที่มาของ ‘ผู้ใหญ่ดีสิบประการ’
“เพลงผู้ใหญ่เอ๋ยผู้ใหญ่ดีสิบประการนั้นเป็นการแต่งขึ้นมาเพื่อใช้ในงานเสวนาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยหากพูดกันอย่างหยาบๆ แล้วก็เป็นการแต่งขึ้นเพื่อล้อวันเด็กแห่งชาติ เพราะว่าเพลงเด็กเอ๋ยเด็กดีเป็นเพลงที่คอยบอกว่าเด็กควรทำตัวอย่างไร เราเลยลองทำขึ้นมาบ้าง ก็เลยกำหนดธีมผู้ใหญ่ประจำปี โดยปีนี้คือ ‘ออกกะลา’ ส่วนอีกข้อหนึ่งคือ ต้องการบอกผู้ใหญ่ว่าโลกของเด็กซึ่งเป็นโลกที่เขาตามไม่ทันมันเป็นยังไง” เพนกวินเล่า
แล้วโลกของเด็กและโลกของผู้ใหญ่มันต่างกันยังไง?
พีและโน้ตอธิบายว่าจริงๆ แล้วพวกเขาพยายามจะบอกว่า เด็กกับผู้ใหญ่ก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน แต่การที่พวกเขาโดนปิดกั้นทางความคิด ทำให้ผู้ใหญ่ไม่ได้ยินเสียงที่พวกเขาต้องการจะสื่อ ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปการศึกษา แต่ไม่มีใครสนใจมากนักเพียงเพราะพวกเขาเป็นเด็ก
“การที่เรามองว่าเด็กและผู้ใหญ่เป็นคนเหมือนกัน เท่ากับว่าคนนั้นต้องมีความหลากหลาย เพราะถ้าเกิดเราโตมาเป็นพิมพ์แบบเดิมๆ ก็แสดงว่าเราไม่มีความเป็นคน เพราะเราไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ธรรมชาติของแต่ละคนคือ แต่ละเจเนอเรชั่น ยังไงก็ไม่มีทางคิดเหมือนกันแน่ๆ”
ดูเหมือนทั้งสามคนที่มองว่าตัวเองเป็นปากเป็นเสียงและต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของเด็กนั้น พวกเขาเพียงต้องการให้ผู้ใหญ่ทุกคนยอมรับ เคารพและปล่อยให้พวกเขาเดินไปตามทางของเขา
แต่… “อย่ามาคาดหวังอะไรจากพวกเราเลย” เพนกวินพูดขึ้นอย่างติดตลก ท่ามกลางเสียงหัวเราะจากพวกเราทุกคน
พีให้คำตอบที่น่าสนใจว่า “คนทุกคนสามารถเป็นคนรุ่นใหม่ได้ ถ้าเราก้าวทันโลก ถ้าเรารู้ว่าเทรนด์ตอนนี้มันเป็นยังไง อาชีพมันเปลี่ยนไป ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป ทุกคนสามารถเป็นคนรุ่นใหม่ได้หมด แม้ว่าจะอายุเกินห้าสิบแล้วก็ตาม”
• ช่วงตอบคำถามสื่อมวลชน
Q: ผู้ใหญ่แบบไหนที่พวกคุณไม่ชอบ?
โน้ต: ผู้ใหญ่ที่ชอบมองอะไรแคบๆ หรือไม่รับฟังความคิดเห็นของคนอื่นนอกจากตัวเอง
พี: ผู้ใหญ่ที่ชอบครอบงำหรือตีกรอบความคิด “ไม่ต้องรู้หรอก เดี๋ยวก็รู้เองแหละ เป็นเด็กอย่าทำแบบนี้สิ พูดแบบนี้โดยไม่มีเหตุผลอะไรมารองรับ ซึ่งจริงๆ แล้วหนูเห็นว่าทั้งสองฝ่ายต้องรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกันสิ ถึงจะถูกต้อง”
เพนกวิน: “ผู้ใหญ่ขี้เสือก”
สิ้นเสียง ทั้งคนพูดคนฟังหัวเราะขึ้นมาพร้อมกัน โน้ตและพีเองก็แสดงท่าทีเห็นด้วยก่อนที่เพนกวินจะอธิบายต่อว่า
“ขี้เสือกมีสองแบบ แบบแรกคือละลาบละล้วงซึ่งอันนี้พอจะรับได้ ส่วนอีกอย่าง คือการคิดแทน”
เขายกตัวอย่างกรณีการกำหนดชีวิตการเรียน เช่น
“ทำไมไม่เลือกเรียนอันนี้ล่ะ บ้านนู้นเป็นแบบนี้ทำไมเราไม่เป็น”
Q: คุณแยกแยะเส้นแบ่งระหว่าง ‘ขี้เสือก’ กับ ‘ห่วงใย’ อย่างไรที่จะทำให้พวกคุณรู้สึกว่า นี่คือล้ำเส้นแล้ว
เพนกวิน: ความขี้เสือกกับความเป็นห่วง จริงๆ เราต้อง define (นิยาม) ให้ได้ก่อนว่า พื้นที่นั้นเป็นของใครเมื่อก้าวเข้ามาแล้วเขาไม่มีสิทธิ์มาบังคับ ถ้าเป็นความรักที่ผิดมันจะเป็นความรักที่อันตราย
พี: เป็นห่วงได้ แต่ต้องให้โอกาสด้วยและเราก็ต้องรับผิดชอบตัวเองด้วยเช่นกัน
Q: ถ้าวันเด็ก ผู้ใหญ่เขาพาเด็กๆ ไปสวนสัตว์ ดูเครื่องบิน ไปสภา แล้ววันผู้ใหญ่ อยากพาเขาไปไหน
พี: อยากพาไปทำกิจกรรมที่เธอชอบทำ เช่น การพาไปเล่นเกม โดยเธอยังเล่าต่อว่า
“ตอนที่เกมส์ Pokémon Go ออกมาแรกๆ ก็ลองชวนแม่เล่นไม่คิดว่าจะเล่นจริงๆ ตอนนี้กลายเป็นติดมากจ้า”
เราหัวเราะและนึกภาพผู้ใหญ่วัยกลางคนที่บ้านที่ตอนนี้เล่นเกมและติดโซเชียลหนักมากกว่าเราซะอีก
โน้ต: อยากพาแม่ไปหอศิลป์ เพื่อที่แม่จะได้รู้จักเรามากขึ้น เข้าใจโลกของกันและกัน รวมถึงการที่โดนบังคับพาไปในสถานที่ที่ตัวเองไม่ชอบนั้นจะได้เข้าใจว่ารู้สึกยังไง
เพนกวิน: คงจะพาไปห้องสมุดหรืองานกิจกรรมที่เขาทำ ก่อนจะนั่งนึกสักพัก และตบโต๊ะรัวเมื่อคิดอะไรบางอย่างออก ก่อนจะถ่ายทอดออกมาให้ฟัง
“มีครั้งหนึ่งผมต้องไปบรรยายเรื่องค่านิยมสิบสองประการ ซึ่งครั้งนั้นพ่อไปส่งและเป็นครั้งเดียวที่พ่อไป ระหว่างการบรรยายผมก็นั่งคุยกับอาจารย์ท่านหนึ่งว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ อาจารย์ก็ชี้ให้ดูผู้ชายคนนั้นสิ ผิวก็คล้ำลักษณะคล้ายทหาร ฟังก็ไม่ตั้งใจฟัง หลับด้วย ต้องใช่แน่ๆ ผมก็บอกอาจารย์ไปว่า เออ อาจารย์ครับ นั่นพ่อผม”
สิ้นประโยค เสียงหัวเราะจากทั้งโต๊ะก็ดังขึ้น เรานึกภาพหน้าอาจารย์ท่านนั้นออก แม้เราจะไม่รู้จักกันก็ตาม
“จริงๆ แล้วผมอยากให้ผู้ใหญ่มาดูว่าเรากำลังทำอะไร เพื่อจะได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น” เพนกวินกล่าวทิ้งทาย
บทสนทนาของวันนี้จบลงอย่างสนุกสนาน พวกเขาขอตัวไปกินข้าวตามที่วางแผนเอาไว้ พวกเราจึงกล่าวลาและแน่นอนว่าต้องไม่ลืมที่จะแอดเฟรนด์เป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ค
เรื่อง: ชลิตา สุนันทาภรณ์
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
https://waymagazine.org/goodadultsong/
บันทึก
4
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย