Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Bnomics
•
ติดตาม
1 พ.ค. 2021 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ส่งผลให้การส่งออกไทยแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนมีนาคม 2564
ในเดือนมีนาคม 2564 ยอดการส่งออกไทยทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 24,222.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 8.4 YoY จากร้อยละ 2.6 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.12 มาอยู่ที่ 23,511.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเป็น 710.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 7.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์
สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ภายในบ้านที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from home) เป็นสินค้าที่ขับเคลื่อนการส่งออกมากที่สุดเดือนมีนาคมนี้ เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดพบว่าการเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากหมวดหมู่สินค้าดังต่อไปนี้ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (+43.1%) ผลิตภัณฑ์ยาง (+50.6%) เม็ดพลาสติก (+52.9%) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (+34.8%) และเคมีภัณฑ์ (+27%) ส่วนสินค้าส่งออกที่หดตัวได้แก่ ทองคำ (-81.5%) เครื่องบินและชิ้นส่วน (-96.9%) ยานพาหนะอื่นๆ และส่วนประกอบ (-91.4%) และฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (-15.5%) (รูปที่ 1) โดยภาพรวมไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าภาคอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0
ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร การส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันโดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 YoY ในเดือนมีนาคม 2564 โดยสินค้าที่มีการขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา (+109.2%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (+59.2%) อาหารสัตว์ (+41.4%) ไก่แช่แข็งและแปรรูป (+5.8%) ในขณะที่สินค้าที่มีการส่งออกลดลง ได้แก่ น้ำตาล (-60.6%) ข้าว(-40.5%) ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (-20.3%) และสินค้าปศุสัตว์อื่นๆ (-16.7%) สำหรับทั้งไตรมาสแรกของปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยปรับตัวดีขึ้นร้อยละ 5.8
การส่งออกของไทยไปยังตลาดหลักเช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 และ 32 ตามลำดับ เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้เริ่มกลับมาดำเนินการได้ หลังจากได้มีการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวนมาก โดยในบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการคาดการณ์ว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับก่อนการระบาดได้ภายในปลายปีนี้ อันเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังของประธานาธิบดี โจ ไบเดน และการแจกจ่ายวัคซีนที่รวดเร็วภายในประเทศ ซึ่งในตอนนี้มีจำนวนประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ของสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็มแล้ว แม้ว่าอัตราการฉีดวัคซีนในทวีปยุโรปจะมีจำนวนน้อยกว่าในสหรัฐฯ ซึ่งฉีดไปเพียงร้อยละ 18.4 แต่อัตรานี้ก็ยังถือว่าสูงกว่าประเทศในเอเชียที่ฉีดไปร้อยละ 3.73 ส่วนในไทยตอนนี้ยังมีจำนวนเพียงร้อยละ 0.82 เท่านั้น (รูปที่ 2)
ในทวีปเอเชีย การส่งออกส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนมีนาคมนี้ เนื่องจากมีฐานต่ำในปีที่แล้ว เป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยในบรรดาประเทศอาเซียน-5 เช่นอินโดนีเซียและสิงคโปร์มีการส่งออกมากขึ้นร้อยละ 30.4 และ 24.5 ตามลำดับ (รูปที่ 3) นอกจากนั้นประเทศเกาหลีใต้ก็ได้รายงานตัวเลขส่งออกในช่วง 20 วันแรกของเดือนเมษายนออกมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 (รูปที่ 4) ตัวเลขนี้ถือเป็นหนึ่งในเครื่องชี้ว่าการส่งออกไทยมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนเมษายนเช่นกัน โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก โดยเกาหลีใต้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 2 ของสินค้าชนิดนี้ ซึ่งไทยก็คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้เช่นกัน
ทางด้านกระทรวงพาณิชย์ได้เผยมุมมองว่า ในระยะอันใกล้การส่งออกไทยจะได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังต่อไปนี้ ประการแรกคือการฟื้นตัวของภาคการผลิตทั่วโลก โดยสะท้อนให้เห็นจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ปรับตัวสูงขึ้น โดยแตะระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 55.0 ประการที่สองคือการกระจายการฉีดวัคซีนที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางด้านการเงินและการคลัง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนทั้งทางด้านการผลิต และส่งเสริมความสามารถในการซื้อให้แก่ประชาชนได้
ผู้เขียน : บุรินทร์ อดุลวัฒนะ
Chief Economist, Bnomics
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Facebook : Bnomics
Youtube: Bnomics.bbl
Twitter: @BnomicsBBL
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงกดปุ่ม "Follow" เท่านั้น
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
1 บันทึก
8
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
Global Economic Update
1
8
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย