3 พ.ค. 2021 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
จากโควิดถึงซินเจียง ถึงเวลาที่ธุรกิจ Fast Fashion ต้องหาทางออก
ฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) เป็นธุรกิจเสื้อผ้าที่เน้นความทันสมัยตามเทรนด์ ราคาไม่แพง มีคอลเลคชั่นใหม่ ๆ ที่ออกมาเรื่อย ๆ โดยมี 3 แบรนด์ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น Zara (Inditex), H&M, และ Uniqlo (Fast Retailing) เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนี้
1
จากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศมีการใช้มาตรการ Lockdown และทำให้เกิดการ Work from home ในวงกว้าง ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นจำเป็นต้องมีการปิดร้านจำนวนมากและความต้องการซื้อเสื้อผ้าลดลงอย่างหนัก ส่งผลให้ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2020 ยอดขายของกลุ่ม H&M ตกลงมาประมาณ 70 % เทียบกับปีก่อน แต่กลับเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลังที่มีหน้าร้านกลับมาเปิดได้อีกครั้ง และยอดขายออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ปรับตัวกับการซื้อเสื้อผ้าผ่านช่องทางนี้มากขึ้น ตลาดออนไลน์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตและการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นในบริบทใหม่
ในปี 2019 จีนขึ้นมาเป็นตลาดค้าปลีกแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่สหรัฐฯ และจากความสำเร็จในการควบคุมการระบาดรวมถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในจีน ฟาสต์แฟชั่นในจีนจึงฟื้นตัวเร็วกว่ายุโรปและอเมริกา นอกจากนั้นการที่คนจีนเข้าสู่คนชั้นกลางมากขึ้น รวมถึงอำนาจการซื้อที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในอนาคต ทำให้แบรนด์แฟชั่นชั้นนำต่างๆ ให้ความสนใจตลาดจีนอย่างมาก
ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2021 สหรัฐฯ และพันธมิตรชาติตะวันตก ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรจีน โดยห้ามนำเข้าสินค้าทั้งหมดที่ผลิตในซินเจียง จากข้อกล่าวหาที่ว่าจีนบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในซินเจียงอย่างไม่เป็นธรรม หลังจากนั้นแบรนด์แฟชั่นค้าปลีกชั้นนำ (H&M, Inditex, Fast Retailing, Adidas, Nike ฯลฯ) ก็ออกมาประกาศไม่ใช้ฝ้ายที่ผลิตในซินเจียงในการผลิตเสื้อผ้าเช่นเดียวกัน ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนโกรธแค้นและตอบโต้ทันทีโดยการคว่ำบาตรแบรนด์เหล่านี้ หันไปสนับสนุนแบรนด์ในประเทศ แพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์และแผนที่ออนไลน์ของจีนลบรายชื่อร้านค้าแบรนด์ตะวันตกออก รวมทั้งร้านค้าของ H&M บางแห่งถูกปิด ดาราจีนหลายคนยุติการโปรโมทให้กับแบรนด์ที่กล่าวหาจีน
1
การตอบโต้ของจีนทำให้ราคาหุ้นของ Fast Retailing, Inditex และ H&M ลดลงทันที ในขณะที่ราคาหุ้นของแบรนด์จีนอย่าง ANTA และ Li-Ning พุ่งสูงขึ้นหลังจากที่ทั้งสองบริษัทออกมาสนับสนุนการใช้ฝ้ายซินเจียง
แม้ว่าผู้ผลิตเสื้อผ้าจะออกมาประกาศตัดฝ้ายซินเจียงออกจากกระบวนการผลิต แต่ในทางปฏิบัตินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตฝ้ายรายใหญ่ที่สุดของโลกและกว่า 85% เป็นฝ้ายที่ปลูกในซินเจียง และที่เหลือได้ถูกส่งออกไปในรูปทั้งฝ้ายดิบและเส้นด้าย จึงเป็นการยากที่จะตัดฝ้ายซินเจียงออกจากระบบ
แบรนด์ค้าปลีกฟาสต์แฟชั่นยังคงเผชิญความท้าทายในการฟื้นตัวและเติบโตจากเทรนด์แฟชั่นที่เปลี่ยนไป การกดดันเรื่องกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่ให้ความสำคัญกับแฟชั่นที่ยั่งยืน (Sustainable fashion) จากรัฐบาลของตน กับการที่จะต้องเลือกคว่ำบาตรจีน ที่เป็นตลาดที่สำคัญมากในปัจจุบันและอนาคต ทางโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้ประกาศกร้าวว่า “ชาวจีนจะไม่ยอมให้คนต่างชาติบางกลุ่มที่มากินข้าวของจีน พร้อมกับทุบถ้วยชามของจีนอย่างเด็ดขาด” ขณะนี้ธุรกิจนี้ได้เดินมาถึงทางสามแพร่ง และโลกกำลังจับตาอย่างใกล้ชิดว่า อุตสาหกรรมนี้จะเลือกทางไหน
หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 3 พ.ค. 64
ผู้เขียน :
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ปรียา ชัชอานนท์ Economist, Bnomics
➡️ ติดตามอ่านฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/3vGdzbh
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ฉบับวันที่ 3 พ.ค. 64
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Facebook: Bnomics
Youtube: Bnomics.bbl
Twitter: @BnomicsBBL
════════════════
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงกดปุ่ม "Follow" เท่านั้น
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา