11 พ.ค. 2021 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
RCEP จะก่อให้เกิดผลประโยชน์กับประเทศสมาชิกอย่างไม่เท่าเทียมกัน
📌 RCEP คืออะไร?
RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership ) เป็นกลุ่มการค้าที่ประกอบไปด้วยสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม) และยังมีอีก 5 ประเทศคู่ค้าสำคัญของอาเซียน (ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้) โดย RCEP นับเป็นกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกเนื่องจากมีประชากรทั้งหมดนับเป็น 30%ของโลก และมีรายได้ถึง 1 ใน 3 ของมูลค่า GDP โลก ซึ่งวัตถุประสงค์หลักของ RCEP คือการริเริ่มความรวมมือทางเศรษฐกิจใหม่ ที่จะช่วยยกระดับการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม RCEP จะมีผลบังคับใช้หลังจากมีสมาชิกลงนามแล้วอย่างน้อย 9 ประเทศ ซึ่งต้องประกอบด้วยอย่างน้อย 6 ประเทศจากอาเซียน และนอกอาเซียน 3 ประเทศ โดยในปัจจุบันได้มีการลงนามไปแล้วทั้งสิ้น 4 ประเทศคือ ประเทศไทย (ก.พ. 64) สิงคโปร์ จีน และญี่ปุ่น (เม.ย. 64)
📌 ข้อตกลง RCEP ครอบคลุมอะไรบ้าง?
RCEP เป็นข้อตกลงที่ครอบคลุมทุกมิติในการเข้าถึงตลาด โดยตั้งเป้าที่จะลดภาษีศุลกากรให้ได้มากที่สุด นอกจากนั้นยังจะสร้างมาตรฐานและลดความซับซ้อนของขั้นตอนศุลกากร และกฎระเบียบว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) ระหว่างประเทศสมาชิกเพื่อเพิ่มความสะดวกของการบริหาร Supply chain
📌 RCEP แตกต่างจาก CPTPP อย่างไร?
หลายคนอาจจะเห็นข้อถกเถียงเรื่องข้อตกลง CPTPP ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา โดย CPTPP นั้นย่อมาจาก Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม โดย CPTPP ได้รับการพัฒนามาจาก Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ซึ่งไม่เคยมีผลบังคับใช้เนื่องจากการถอนตัวของสหรัฐอเมริกา โดย CPTPP จะมีหลักการด้านการแก้ปัญหาแรงงาน นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ ที่เข้มงวดกว่าข้อเสนอในข้อตกลง RCEP
หลายคนเชื่อว่า RCEP ถูกผลักดันโดยจีน เผื่อแข่งขันกับทางสหรัฐ เนื่องจากในตอนแรกสหรัฐอเมริกามีท่าทีที่จะเข้าร่วมข้อตกลง TPP แต่สุดท้ายก็ได้มีการถอนตัวออกไป แต่แท้จริงแล้ว RCEP นั้นถูกผลักดันโดยกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อจะสร้างกลุ่มการค้าใหม่ขึ้นมากับประเทศที่มีความตกลงทางการค้าเสรี (FTAs) อยู่เดิม และสหรัฐฯ ไม่ได้มี FTA กับอาเซียนจึงไม่ได้เป็นสมาชิก RCEP
📌 ใครจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากข้อตกลงนี้?
RCEP ถือว่าเป็นข้อตกลงที่จัดตั้งขึ้นในภูมิภาคที่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันทางเศรษฐกิจและเชื่อมโยงกับกลุ่มการค้าที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นผลประโยชน์โดยรวมจากการเปิดเสรีเพิ่มเติมนั้นอาจไม่สามารถแบ่งปันได้อย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งกลุ่มประเทศสมาชิก ตามหลักการเปิดการค้าเสรีจะมีทั้งอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้อาจได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจใหม่นี้มากกว่ากลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกันอยู่แล้ว ตามรายงานของ Peterson Institute of International Economics (PIIE) RCEP จะเพิ่มเงินกว่า 186,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 0.1 เปอร์เซ็นต์ให้กับเศรษฐกิจโลกภายในปี 2573 โดยในประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้จะได้รับรายได้ที่คาดการณ์ไว้มากที่สุดถึง 85,000 ล้านดอลลาร์ 48,000 ล้านดอลลาร์ และ 23,000 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ นอกจากนี้เศรษฐกิจของอาเซียนก็จะได้รับผลประโยชน์ เช่นกัน (ภาพ 1)
โดยถ้าหากไปดูอัตราภาษีศุลกากรที่มีอยู่ในแต่ละประเทศในกลุ่ม RCEP (ภาพ 2) นั้นยังถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูงโดยเฉลี่ย แต่ก็ยังมีช่องว่างให้ปรับลดเพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น ภาษีสินค้าเกษตรกรรมในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่อยู่ในระดับสูง เนื่องจากรัฐบาลทั้งสองประเทศพยายามปกป้องเอาอุตสาหกรรมการเกษตรไว้ นอกจากนี้ประเทศจีนก็ยังมีอัตราภาษีนำเข้าสินเข้าอุตสาหกรรมที่สูงอยู่ โดยเฉลี่ยที่ระดับ 3 เปอร์เซ็นต์
📌 แล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง?
ปัจจุบันการส่งออกของไทย ไปยังประเทศสมาชิก RCEP มีมูลค่ามากกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์หรือคิดเป็น 53.32 % ของการส่งออกไทยในปี 2563
ถ้ามีการลดอัตราภาษีจากข้อตกลงของ RCEP คาดว่าจะส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกน่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออกเป็นหลักอยู่แล้วเช่น สินค้าในกลุ่ม อิเล็กทรอนิกส์ การผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนการผลิต และอุตสาหกรรมการเกษตร (ภาพ 3) โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ระบุว่า ประเทศไทยจะมีสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการปรับลดภาษีจากข้อตกลงนี้รวมทั้งสิ้น 40,000 รายการ โดย 29,000 รายการจะเป็นสินค้ากลุ่มแรกที่ได้การปลอดภาษีตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 2565 โดยตามข้อตกลง RCEP สินค้ากลุ่มที่เหลือจะทยอยลดภาษีในตลอดช่วงระยะเวลา 10 – 20 ปีข้างหน้า
📌 ประเทศไทยควรเตรียมตัวอย่างไร?
ในขณะที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วม RCEP จากการเข้าถึงตลาดที่ใหญ่ขึ้นและอัตราภาษีศุลกากรที่ต่ำลง แต่การแข่งขันจากประเทศอื่นก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน หากสินค้าไทยยังไม่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เพียงพอที่จะแข่งขันกับสินค้าอื่นๆของสมาชิก RCEP ได้ก็อาจทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์อย่างหนักด้วย โดยประเด็นที่น่ากังวลคือค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของไทยนั้นน้อยกว่าประเทศอื่นๆใน RCEP มาก (ภาพ 4) ส่งผลให้สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยยังเป็นสินค้าเทคโนโลยีที่ไม่มีความซับซ้อน ทำให้ไทยอาจจะเสียโอกาสในการแข่งขันในตลาดเหล่านี้หลังจากที่ RCEP มีผลบังคับใช้ ดังนั้นภาคเอกชนไทยจึงต้องรีบปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้
ผู้เขียน : บุรินทร์​ อดุลวัฒนะ Chief Economist, Bnomics
ธีระภูมิ วุฒิปราโมทย์ Economist, Bnomics
➡️ อ่านฉบับเต็มได้ที่ : https://bit.ly/3vWp2TY
เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์
ฉบับวันที่ 10 พ.ค. 64
➡️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Facebook : Bnomics
Youtube: Bnomics.bbl
Twitter: @BnomicsBBL
คุณจะไม่พลาดทุกประเด็นเศรษฐกิจ จาก Bnomics
เพียงตั้งค่าที่เมนูมุมขวาบนเพจให้
เป็น "#Favourites" หรือ “#รายการโปรด”
แล้วทุกประเด็นเศรษฐกิจ จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา