4 พ.ค. 2021 เวลา 23:00 • สุขภาพ
บุหรี่ วัคซีน ภูมิคุ้มกัน โควิด-19 อะไร ยังไง?
ตอนนี้ประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 แต่ละยี่ห้อยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางทั้งในวงการสาธารณสุข สื่อ ไปจนถึงชาวบ้านร้านตลาด
แต่ล่าสุดผมอ่านเจอประเด็นที่น่าสนใจ เรียกว่าเป็นปัจจัยอื่นที่ไม่ใช่วัคซีนโดยตรงแต่กลับมีผลในการสร้างภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีนแล้ว เจ้าปัจจัยที่ว่าก็คือบุหรี่ 🚬 นั่นเองครับและเป็นผลเชิงลบเสียด้วย โดยข้อมูลล่าสุดนี้อ้างผลวิจัยจากอิตาลีที่พบว่าคนสูบบุหรี่ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ภูมิคุ้มกันขึ้นต่ำกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 40% 😱
วันที่ 3 พ.ค. 64 ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวถึงงานวิจัยชิ้นใหม่โดยทีมวิจัยจากอิตาลี ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงอุดมศึกษาและวิจัยของรัฐบาลอิตาลี พบว่า การสูบบุหรี่เป็นปัจจัยตัวหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนได้ผลน้อยลง
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยตรวจระดับภูมิคุ้มกันร่างกายต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 (Anti SARS-Cov2 antibodies) ภายหลังจากได้รับวัคซีนประเภท COVID-19 mRNA ของ Pfizer/BioNTech ครบ 2 เข็ม ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์จำนวน 86 คน
ผลการศึกษา พบว่า คนที่สูบบุหรี่จะมีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยอยู่ที่ 1,099 U/ml ในขณะที่คนที่ไม่สูบบุหรี่จะอยู่ที่ระดับ 1,921 U/ml
หรืออาจจะกล่าวได้ว่าคนที่สูบบุหรี่หลังจากได้รับวัคซีนแล้วระดับภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด-19 จะขึ้นต่ำคนที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 40%
นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นนี้ยังชี้ว่า คนอ้วนหรือคนที่มีความดันโลหิตสูงก็มีแนวโน้มที่ระดับภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดวัคซีนจะได้ผลน้อยกว่า
ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวว่า พญ.มิกิโกะ วาตานาเบะ หัวหน้าทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การที่คนสูบบุหรี่มีระดับภูมิคุ้มกันขึ้นต่ำกว่าคนไม่สูบบุหรี่นั้น คล้ายกับกรณีของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่พบผลคล้ายกันคือภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ของคนสูบบุหรี่จะลดลงอย่างรวดเร็วกว่าคนไม่สูบบุหรี่ ซึ่งน่าจะเป็นผลจากการสูบบุหรี่ที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่ปกติ เป็นผลทำให้เกิดการติดเชื้อโรคต่าง ๆ ง่ายกว่าคนไม่สูบ
อย่างไรก็ตาม กลไกที่ทำให้คนสูบบุหรี่ตอบสนองต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 น้อยกว่าคนไม่สูบบุหรี่นั้นจำเป็นต้องมีการศึกษารายละเอียดต่อไป
ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า เคยมีรายงานของกระทรวงสาธารอณสุขสหรัฐอเมริกาสรุปไว้ชัดเจนว่า สารเคมีจากควันบุหรี่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายและปอดลดลง เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อของปอด และทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันอีกหลาย ๆ โรค และหากเลิกสูบบุหรี่ ภายในระยะเวลาประมาณ 1-2 เดือน ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเริ่มทำงานดีขึ้นโดยปอดจะกลับมาทำงานดีขึ้นช่วยกำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย 👍
ดังนั้นในระหว่างที่คอยรับการฉีดวัคซีน คนที่สูบบุหรี่จึงควรเลิกสูบทันที ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ลงปอดรุนแรงแล้ว การเลิกสูบบุหรี่ยังจะทำให้ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด-19 ได้เต็มที่เมื่อได้รับการฉีดวัคซีนอีกด้วย
ที่มา : สสส.
สิ้นเดือนนี้ก็จะเป็นวันงดสูบบุหรี่โลกแล้ว ถ้าเราเป็นคนที่เข้าร่วมแคมเปญนี้และงดสูบได้ปีละ 1 วันจริง ก็ถือเป็นเรื่องน่ายินดีในระดับนึง แต่คงดีกว่านั้นมากหากเรากลายเป็นคนที่ไม่ต้องสูบมันอีกเลยแม้แต่วันเดียวตลอดชีวิตที่เหลือของเรา
ในฐานะคนที่เคยสูบหนักพอสมควรแต่ก็เลิกมากว่า 10 ปีแล้ว ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่อยากเปลี่ยนแปลงครับ "มันไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยากขนาดนั้น" เพื่อตัวคุณเองและคนที่คุณรักรวมถึงคนรอบข้างที่คุณไปทำร้ายเขาจากควันบุหรี่มือสองด้วยครับ
สวัสดี 🙏

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา