6 พ.ค. 2021 เวลา 04:07 • สุขภาพ
โรคลักปิดลักเปิด คืออะไร?
ลักปิดลักเปิด หรือ โรคขาดวิตามินซี (Scurvy หรือ Vitamin C deficiency) เป็นภาวะที่ร่างกายขาดวิตามินซีขั้นรุนแรงและเรื้อรัง โดยผู้ป่วยจะมีอาการแสดงสำคัญของโรค คือ เหงือกบวมและเลือดออกได้ง่าย ซึ่งผู้ป่วยมักมาพบทันตแพทย์จากการแปรงฟันแล้วมีเลือดออกจากเหงือกเสมอ
โรคลักปิดลักเปิด คืออะไร?
สาเหตุของโรคลักปิดลักเปิด
โรคนี้เกิดจากร่างกายขาดวิตามินซี (Vitamin C) เนื่องจากบริโภคอาหารที่ขาดวิตามินซี แต่ในผู้ป่วยบางราย สาเหตุการขาดวิตามินซีอาจเกิดจากการมีโรคของลำไส้ที่ทำให้ลำไส้ดูดซึมวิตามินซีได้น้อยกว่าปกติก็ได้ เช่น โรคท้องเสียเรื้อรัง โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
วิตามินซี (Vitamin C) เป็นวิตามินที่มีความจำเป็นในการช่วยการทำงานของโปรตีนเพื่อการเจริญเติบโตและซ่อมแซมเซลล์ที่ได้รับความเสียหายหรือบาดเจ็บ โดยเฉพาะผิวหนัง ผนังหลอดเลือด กระดูกอ่อน น้ำไขข้อ เหงือก ฟัน และสารคอลลาเจนที่ร่างกายใช้ในการหล่อลื่นและประสานการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กของลำไส้
ดังนั้นเมื่อร่างกายขาดวิตามินซี เนื้อเยื่อต่าง ๆ จึงเกิดการอักเสบได้ง่าย (บวม) หลอดเลือดขนาดเล็กแตกง่าย (เลือดออก) เกิดภาวะซีด (จากการขาดธาตุเหล็กและจากการมีเลือดออกง่าย) ฟันเจริญผิดที่ (โดยเฉพาะในเด็ก) กระดูกอ่อนเจริญผิดปกติ (โดยเฉพาะในเด็ก) เหงือกบวม เลือดออกง่ายเมื่อแปรงฟันหรือกินของแข็ง ๆ มีจุดแดงพรายย้ำขึ้นตามตัว (เป็นจุดแดง ๆ คล้ายในโรคไข้เลือดออก) หรือเป็นจ้ำห้อเลือดได้ง่าย
อาการของโรคลักปิดลักเปิด
- อาการขาดวิตามินซีของเด็กทารกจะเริ่มจากการมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย ร้องกวนตลอดเวลา ซีด ซึม ถ่ายเหลวเป็นครั้งคราว น้ำหนักตัวไม่ขึ้น ติดเชื้อได้ง่าย มีไข้ต่ำ ๆ เมื่อโรครุนแรงมากขึ้นจะมีอาการเจ็บทั่วไป เช่น ปวดตามแขน ขา ซึ่งผู้ป่วยเด็กส่วนมากจะไม่ยอมเดินและมีอาการปวดขาซึ่งพบได้ราวร้อยละ 96
- ในช่องปากมักเจ็บเป็นแผล อาจพบต่อมน้ำลายโต อาการเหงือกบวมและมีเลือดออกไรฟัน และอาจพบเหงือกเน่า (พบบ่อยบริเวณฟันหน้าด้านบน)
- ผิวหนังอาจมีลักษณะหยาบและมีตุ่มรอบรูขน Follicular hyperkeratosis ซึ่งพบได้มากบริเวณก้นและขา อาจเกิดจุดเลือดออกที่ผิวหนังและเยื่อบุผิว อาจพบ Perifollicular hemorrhages, Purpura หรืออาจพบจ้ำเลือดที่ขา ถ้ารุนแรงมากขึ้นอาจพบเลือดออกในหลายที่ ได้แก่ ในอุจจาระ ในปัสสาวะ ในจมูก (มีเลือดกำเดาไหล) ในเบ้าตา และอาจพบจ้ำเลือดของเปลือกตา ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีเลือดออกในสมองจนเป็นอันตรายถึงตายได้ นอกจากนี้ยังอาจพบผมมีลักษณะหยักงอ Kinky hair ขนตามตัวเปราะและงอ Swan neck deformity ผมทารกมีลักษณะไม่กระจายทั่วหนังศีรษะ
การรักษาโรคลักปิดลักเปิด
- บริโภควิตามินซีให้เพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งทำได้โดยรับประทานผักหรือผลไม้วันละ 5 หน่วยบริโภค หรืออาจมีวิธีรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
- ผู้ใหญ่ รับประทานวิตามินซีปริมาณ 800-1000 มิลลิกรัม/วัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น
- เด็ก รับประทานวิตามินซีปริมาณ 150-300 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 1 เดือน
#สาระจี๊ดจี๊ด
โรคลักปิดลักเปิดสามารถป้องกันได้โดยการรับประทานวิตามินซีให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจรับประทานผลไม้วิตามินซีสูง เช่น ส้ม มะละกอ สับปะรด มะม่วง ฝรั่ง
สตรอว์เบอร์รี่ แคนตาลูป และเมล่อน เป็นต้น หรืออาจเลือกรับประทานอาหารเสริมวิตามินซีภายใต้คำแนะนำของแพทย์
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา