12 พ.ค. 2021 เวลา 02:15 • สิ่งแวดล้อม
ทานตะวัน คืออะไร? ทำไมทานตะวันจึงหันหน้าเข้าหาแสงอาทิตย์?
1
ชื่ออื่น ๆ / ชื่อท้องถิ่น
1
ชอนตะวัน (ภาคกลาง), บัวตอง, บัวผัด (ภาคเหนือ), ทานหวัน (ภาคใต้), ดอกกินตะเวน (ภาคอีสาน), มากปังเจิญ (ไทยใหญ่), เซี่ยงยื่อขุย (จีนกลาง) , เหี่ยวหยิกขุย (จีนแต้ติ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Helianthus annuus Linn.
ชื่อสามัญ Sunflower , Sunchoke
วงศ์ ASTERACEAE
ทานตะวัน คืออะไร? ทำไมทานตะวันจึงหันหน้าเข้าหาแสงอาทิตย์?
ถิ่นกำเนิดทานตะวัน
ทานตะวันเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกากลางโดยเชื่อกันว่ามีการปลูกในประเทศ เม็กซิโก ตั้งแต่ 2600 ปี ก่อนคริสตกาลแล้ว แต่ก็มีข้อมูลในบางแหล่งระบุว่า ทานตะวันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทางตะวันตก ของสหรัฐอเมริกา โดยชาวอินเดียนแดงได้เก็บเมล็ดมาบริโภคเป็นเวลานานมากแล้ว จนกระทั่งเมื่อ 300 - 400 ปีที่ผ่านมา ชาวยุโรปได้นำทานตะวันไปปลูกเป็นไม้ดอกในยุโรป
จากนั้นทานตะวันจึงได้แพร่กระจายพันธุ์ไปยัง เขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยเชื่อกันว่าทานตะวันเข้ามาในประเทศในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยชาวฝรั่งเศสนำมาปลูก และในปัจจุบันสามารถพบเห็นได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในแถบภาคกลางบริเวณจังหวัด ลพบุรี และเพชรบูรณ์ เป็นต้น
ประโยชน์และสรรพคุณทานตะวัน
ส่วนต่าง ๆ ของทานตะวันถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลายๆด้าน เช่น
เมล็ด : ใช้บริโภคโดยตรง เป็นแหล่งของโปรตีนแทนเนื้อสัตว์ โดยในเมล็ดมีธาตุเหล็กสูงใกล้เคียงกับไข่แดงและตับ เมื่อนำมาบดแป้งจะได้แป้งสีขาว มีไขมันสูง มีโปรตีนมากกว่าร้อยละ 50 ของปริมาณแป้ง
นอกจากนี้เมล็ดยังสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมัน ซึ่งจะได้เป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูง ที่ประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว เช่น linolenic ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และยังประกอบไปด้วยวิตามินอีซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น ๆ ซึ่งเมื่อเก็บไว้เป็นเวลานานจะไม่เกิดกลิ่นหืน ทั้งยังทำให้สีกลิ่น และรสชาติไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากใช้เป็นน้ำมันพืชแล้วยังมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม ทำเนยเทียน สี น้ำมันชักเงา สบู่ และน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์อีกด้วย
ต้นอ่อนทานตะวัน : สามารถนำมาบริโภคเป็นอาหารได้และกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน โดยต้นอ่อนทานตะวัน มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
เปลือกลำต้น : สามารถนำมาทำกระดาษสีขาวได้คุณภาพดี
ลำต้น : ใช้ทำเชื้อเพลิงได้ ราก ใช้ทำแป้งเค้ก สปาเก็ตตี้
กาก : กากที่ได้จากการสกัดน้ำมันออกแล้ว จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์ได้ โดยจะมีโปรตีนถึง 42%
นอกจากนี้ยังนิยมปลูกทานตะวันไว้เป็นไม้ดอกไม้ประดับ ตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ หรือปลูกติดกันอย่างหนาแน่นให้เป็นทุ่งดอกทานตะวันเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ทุ่งทานตะวันในเขตติดต่อของจังหวัดลพบุรี และ สระบุรี เป็นต้น
ลักษณะทั่วไปของทานตะวัน
ทานตะวันจัดเป็นไม้ล้มลุก สูง 2-4 เมตร ลำต้นตั้งตรงเป็นแกนแข็ง มีขนสากแข็งสีขาวปกคลุม โดยส่วนใหญ่ลำต้นจะไม่มีแขนง แต่บางพันธุ์ก็อาจมีการแตกแขนง ส่วนขนาดของลำต้นจะขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพแวดล้อม รากเป็นระบบรากแก้วหยั่งลึกลงไปประมาณ 1-2.5 เมตร และมีรากแขนงแผ่ขยายไปด้านข้างยาวได้ถึง 1.5 เมตร เพื่อช่วยค้ำจุนลำต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันตรงข้ามใบเป็นรูปกลมรึหรือรูปไข่ โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย มีขนแข็งสากทั้งสองด้าน ก้านใบยาว
โดยขนาดของใบจะกว้างประมาณ 8-25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-30 เซนติเมตร ส่วนสีของใบอาจเป็นสีเขียวอ่อน เขียว หรือเขียวเข้ม แล้วแต่ละพันธุ์ ซึ่งทานตะวัน 1 ต้นอาจมีใบได้ 8-70 ใบ เลยทีเดียว ดอก ออกเป็นดอกเดียวบริเวณปลายยอดลำต้น โดยเป็นรูปจานขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางของดอกประมาณ 6-37 เซนติเมตร (ซึ่งขึ้นกับพันธุ์และสภาพแวดล้อม) ดอกมีลักษณะเป็นแบบช่อดอกประกอบด้วยดอกย่อยเป็นจำนวนมาก
#สาระจี๊ดจี๊ด
ทานตะวันจะใช้ระยะเวลาประมาณ 60-65 วัน โดยเฉลี่ยในการสร้างลำต้น ดอก จนสมบูรณ์ถึงจะเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยใช้แรงงานคนหรือเครื่องจักรกล ซึ่งที่นิยมใช้จะเป็นเครื่องจักรกลมากกว่าแรงงานคน เพราะว่าเครื่องจักรกลในขณะที่เก็บเกี่ยวอยู่นั้น เครื่องก็จะทำการสีไปพร้อม ๆ กัน เราไม่ต้องนำดอกทานตะวันไปผ่านกระบวนการสีอีกครั้ง แต่สำหรับแรงงานคนเราต้องนำดอกทานตะวันที่เก็บไปผ่านกระบวนการสีอีกครั้งหนึ่งถึงจะนำไปสกัดเป็นน้ำมัน ซึ่งต้องเสียเงินทั้งจ้างแรงงานและจ้างสี ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง
#สาระจี๊ดจี๊ด
ปริมาณผลผลิตที่ได้ของดอกทานตะวันอยู่ที่ 250 กิโลกรัม ต่อไร่ จำหน่ายออกไปกิโลกรัมละ 16-17 บาท ซึ่งหากพูดถึงกำไรก็จะได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากน้ำดี ไม่มีโรคแมลงที่ยากที่จะแก้ไข ไม่พบกับปัญหาภัยธรรมชาติ แต่หากปีไหนที่มีปัญหาก็จะได้กำไรลงน้อยลง ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้ทานตะวันเป็นสมุนไพรควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในปริมาณที่พอดีที่ได้ระบุไว้ในตำรับ ตำรายาต่างๆ ไม่ควรใช้ในปริมาณที่มากจนเกินไป หรือใช้ติดต่อกันนานจนเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องเป็นประจำ ก่อนจะใช้ทานตะวันเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ
ทำไมทานตะวันจึงหันหน้าเข้าหาแสงอาทิตย์?
ดอกทานตะวันหันหน้าเข้าหาดวงอาทิตย์ เป็นการตอบสนองแบบ (Positive Phototropism)คือการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเพียงด้านเดียว เกิดจากฮอร์โมน ออกซิน (Auxin) เพราะแสงมีอิทธิพลทำให้การกระจายตัวของ (ออกซิน) เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เมื่อแสงส่องมายังพืช ด้านที่ได้รับแสงจะมีออกซินน้อยเพราะออกซินได้หนีไปอยู่ด้านที่มืดกว่า ด้านที่มืดจึงมีการยืดตัวและมีการเจริญเติบโตมากกว่าด้านที่รับแสง ยอดของพืชจึงโค้งเบนเข้าหาแสง จึงดูเหมือนว่าดอกทานตะวันหันหน้ามองพระอาทิตย์อยู่ตลอดเวลา
#สาระจี๊ดจี๊ด
ทานตะวันที่มีอายุน้อยจะหันหน้าหาดวงอาทิตย์จริง แต่ดอกทานตะวันที่แก่แล้วหรืออายุมากแล้วจะไม่สนใจดวงอาทิตย์เลย ยิ่งเป็นดอกที่เหี่ยวแล้วจะไม่หันหน้าไปหาดวงอาทิตย์เลย ดอกทานตะวันที่เหี่ยวสวนใหญ่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันตก นอกเสียจากลมจะพัดแรงทำให้หันไปทิศทางอื่น
#Wasabi ขอเพียงมีส่วนเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คุณ!
"เจริญเติบโต ก้าวหน้า สำเร็จ อย่างภาคภูมิใจ"
#สาระจี๊ดจี๊ด #Wasabi #ความรู้ขึ้นสมอง
โฆษณา