Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ARTimalia
•
ติดตาม
15 พ.ค. 2021 เวลา 09:48 • สิ่งแวดล้อม
อ่าวไทย กับนกบู้บี้ตีนแดงที่หายไป
ภาพแสดงลักษณะของนกบู้บี้ตีนแดง จากหนังสือBird of Thailand
อย่างแรกก็ต้องบอกก่อนว่า นกบู้บี้ตีนแดงเป็นนกชนิดนึงที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่กับมหาสมุทรและจะขึ้นบกตอนช่วงฤดูผสมพันธุ์เพื่อวางไข่นะคับ
โดยวิถีชีวิตของมันจะค่อนข้างเร่ร่อน เพราะมันจะเร่ร่อนไปทั่วมหาสมุทร ซึ่งอ่าวไทยก็เป็นหนึ่งในสถานที่ๆมีโอกาสได้เจอมันเป็นครั้งคราวเหมือนกัน(ในระดับที่ไม่รู้ว่าชีวิตนี้จะได้เจอซักครั้งรึเปล่า)
แล้วล่าสุดเมื่อวันที่5กุมพา21 มีการรายงานพบนกชนิดนี้จำนวน1ตัวมาโผล่ที่อ่าวไทย
โดยมันบินเข้ามาข้ามเรือของผู้พบไปมา ว่ายนำ้ข้างๆ มุดใต้ท้องเรือ อยู่เป็นชั่วโมงเลยคับ
ซึ่งตัวผมเองที่ได้ยินข่าวนี้ ตอนแรกก็ไม่ค่อยสนใจหรอกครับเพราะผมคิดจะไปศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีในวันพรุ่งนี้
แต่หลังจากมีรายงานนี้ไม่นาน มีพี่คนนึงที่ผมสนิทมากๆในเรื่องการดูนก โทรมาชวนผมเพื่อไปตามหาไอ้นกตัวนี้กัน ผมหันไปหาพ่อ พ่ออยากไปด้วย หันไปหาแม่ แม่อนุญาต งั้นช้าอยู่ใยรีบไปตอบตกลงโดยทันที
ช่างหัวศูนย์วิจัยข้าวช่างหัวกระติ๊ดแดงช่างหัวพงนาแมนจูเรียและจะไปอ่าวไทยในวันพรุ่งนี้แทนครับ
แสงกลางอ่าวไทย......
วันนั้นผมออกรถ6โมง15 ไปถึงที่ลงเรือ7โมงครึ่ง....ไปเร็วไปหน่อยเลยนั่งเปื่อยอยู่ครึ่งชั่วโมง
ระหว่างรอก็มีคนที่จะไปด้วยกันค่อยๆทะยอยมาจนเต็มไปหมด รวมพวกผมก็คง15คนได้ แต่ละคนมีแต่นักดูนกระดับมืออาชีพระดับนักวิจัยกันทั้งนั้น และเราก็ได้เริ่มออกเรือตอน8โมง
ผมบอกเลยว่าผมตื่นเต้นกับทริปนี้มากเพราะนกบู้บี้ตีนแดงเป็นนกที่หาตัวยากมากในไทย
ในชีวิตนี้ไม่รู้จะได้เจอซักครั้งรึเปล่า และอีกอย่างนี่เป็นครั้งแรกที่ผมจะได้ดูสัตว์กลางทะเลด้วย ผมเลยตื่นเต้นแบบสุดๆ
เกริ่นถึงบู้บี้ตีนแดงซะขนาดนี้....แน่นอนคับ
“แ ห้ ว”
ครับ
ใช่ครับคุนฟังไม่ผิด
ที่อ่าวไทยปลูกแห้วด้วยครับ
คนเรือกว่า15ชีวิต ไม่สามารถหานกขนาดเกือบๆ2ฟุตแค่1ตัวใน320000ตารางกิโลเมตรของอ่าวไทยได้......น่าภูมิใจ
เพราะฉะนั้น....โพสต์นี้ เกี่ยวกับบู้บี้ตีนแดงแค่นี้แหละครับ ที่เหลือไม่เกี่ยวเลยแม้แต่น้อย555555
ก็เลยขอเปลี่ยนหัวข้อเป็น”นกในอ่าวไทย”แทนละกัน5555.....เห้อ
ฝูงนกนางนวลแกลบในอ่าวไทย
First Impressionของการดูนกกลางทะเล
ผมมองว่ามันเป็นหนึ่งในการดูนกที่ง่ายมาก ในแง่ของตำแหน่งของนกแล้วเราที่เป็นคนดู
เพราะการที่เราอยู่กลางทะเล มันแทบจะไม่มีอะไรบังเลย ถ้านกมา เราก็สามารถเห็นมันได้ง่ายๆโดยเฉพาะนกที่ตอมหลังเรือ
แต่ในทางกลับกัน นกที่โผล่มาให้เราเห็น บางครั้งก็ไม่ได้โผล่มาใกล้ๆ บางครั้งมันมาเป็นเม็ดฝุ่น...
นกสกัว(ระบุชนิดไม่ได้เพราะไกลเกิน555)
นกนางนวลแกลบบินตามหลังเรือประมง
ทำไมนกต้องบินตอมหลังเรือ?
คำตอบนั้นเรียบง่าย เพราะการที่เรือใช้ใบพัด
จะทำให้ฝูงปลาใต้ท้องเรือโดนปั่น พัด ทำให้มันสับสนและโผล่ขึ้นมาผิวนำ้
นั่นทำให้นกที่กินปลาเป็นอาหารสามารถเห็นปลาและล่าปลาได้ง่ายขึ้น
โอเค....เราเกริ่นกันมาได้ระดับนึงละ(แค่เกริ่นจริงๆนะ)
ที้นี้ ผมจะมาเล่าถึงนกแต่ละชนิดที่ผมเจอกัน
นกในกลุ่มแรกที่ผมจะพูดถึงคือ”นกนางนวล”
นกนางนวล จะถูกแบ่งเป็น2กลุ่มใหญ่คือ
1.นกนางนวลขนาดใหญ่(Gull)
2.นกนางนวลแกลบ(Tern)
นก2กลุ่มนี้ ถ้าสังเกตดีๆ พวกมันจะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ถ้าพูดถึงนกนางนวลที่บางปู ที่ตัวใหญ่ๆปากแดงๆบินกันเละตุ้มเป๊ะ นั่นเป็นนกนางนวลที่เป็นพวกGull
นกนางนวลธรรมดา(Brown-headed Gull) จากบางปู
สำหรับนกนางนวลขนาดใหญ่ที่พวกผมไปเจอกันมาในอ่าวไทย จะมีอยู่ประมาณ4ชนิด.....ผมใช้คำว่าประมาณเพราะมันอาจจะมีมากกว่านั้น เนื่องจาก4ชนิดนี้เป็น4ชนิดที่ระบุชนิดได้
พวกนกมันจะมีการผลัดขนหลายรูปแบบ แล้วแต่ชนิดครับ หลักๆจะมีชุดขนวัยเด็ก ขุดขนนอกฤดูผนมพันธุ์ กับฤดูผสมพันธุ์ แล้วยังมีช่วงระหว่างผลัดขนที่เส้นขนจะปนๆกัน ซึ่งสำหรับนกนางนวลแล้ว ถ้าไม่ใช่ชุดขนฤดูผสมพันธุ์ จะเป็นอะไรที่แยกยากมากๆ
นกนางนวลธรรมดาเป็นหนึ่งในชนิดที่แยกง่ายที่สุด ตามภาพด้านบนเลยครับ
อีกชนิดที่เจอ....แต่ผมไม่มีรูป คือนกนางนวลขอบปีกขาว(Black-headed Gull)ที่ขอบปีกจะเป็นปื้นขาว ต่างจากนางนวลแกลบธรรมดาที่จะมีแทบดำขั้นกลาง
ส่วนเจ้าตัวนี้ คือนกนางนวลหางดำ(Black-tailed Gull)
ถึงแม้จะเป็นชุดขนยังไม่โตเต็มวัย แต่ก็จะเห็นได้ว่าหางมันดำชัดเจน และมีปลายปากดำ
นกนางนวลหางดำ(Black-tailed Gull) เป็นหนึ่งในนกอพยพหายากเลยครับ
ส่วนอีกรูปหนึ่งคือนกนางนวลหัวดำใหญ่(Pallas’s Gull)ก็เป็นอีกชนิดที่หาได้ยากเช่นกัน
นกนางนวลหัวดำใหญ่(Pallas’s Gull)
บางคนอาจจะสงสัย ทำไมชื่อไม่ตรงปก
เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว ชื่อของนกจะตั้งตามลักษณะของนกในช่วงฤดูผสมพันธุ์ครับ(แต่เอาจริงๆบางครั้งก็ไม่ตรงนะ5555)
ทีนี้เรามาพูดถึงนกนางนวลแกลบ(Tern)กันบ้าง
บางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นลูกนกนางนวล แต่จริงๆแล้วมันเป็นนกอีกกลุ่มไปเลยครับ
ส่วนใหญ่แล้วจะมีขนาดที่เล็ก ลำตัวดูเพรียว ดูสง่างามกว่า
ฝูงนกนางนวลแกลบ ส่วนใหญ่แล้วเป็นนกนางนวลแกลบธรรมดา(ขี้เกียจแคะหาชนิดอื่นครับ😂)
เราเจอนกนางนวลแกลบถึง7ชนิดด้วยกัน ถือว่าเป็นสีสันของวันนั้นที่ดีเลยครับ เพราะเป็นนกใหม่ของผมเกือบทุกชนิดเลย(ยกเว้นนกนางนวลแกลบเคราขาว)
นกนางนวลแกลบธรรมดา(Common Tern)
นกนางนวลแกลบธรรมดา
เป็นนกนางนวลแกลบที่หาง่ายที่สุด เจอได้ทั่วไป
ตีซักราวๆ60%ของนางนวลแกลบทั้งหมดที่ผมเจอในอ่าวไทย คงเป็นพวกมันหมดเลยครับ
นกนางนวลแกลบธรรมดา ที่จับปลาจากหลังเรือ
เดี๋ยวชนิดต่อจากนี้ ผมจะใช้นกนางนวลแกลบธรรมดาในการเปรียบเทียบนะครับ จะได้เข้าใจง่าย
ชนิดที่2
นกนางนวลแกลบเคราขาว
Whiskered tern
นี่เป็นนกนางนวลแกลบที่ผมคุ้นชินที่สุด เพราะมันเป็นนกนางนวลแกลบ”หาง่าย”ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ทะเล
นกนางนวลแกลบเคราขาว Whiskered Tern
จุดที่จะแยกความต่างได้คือ ปากของนกนางนวลแกลบเคราขาวจะมีสีออกแดงเข้มด้วยครับ
และอีกจุดคือหน้าผากที่จะ”เถิก”กว่า แต่รูปบนนี้ดูไม่เถิก เพราะมันกำลังผลัดขนไปเป็นชุดขนฤดูผสมพันธุ์
รูปข้างล่างนี้จะชัดกว่าว่ามันเถิก5555
นกนางนวลแกลบเคราขาว(Whiskered Tern)
ชนิดถัดมา จะเป็นอีกชนิดที่เรามักจะสับสนกับ2ชนิดก่อนหน้า
นั่นก็คือ นกนางนวลแกลบดำปีกขาว(White-winged Tern)
นกนางนวลแกลบดำปีกขาว(White-winged Tern)ตัวเต็มวัย ชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์
ส่วนตัวผมมองว่ามันหาได้ยากกว่า2ชนิดก่อนหน้า แต่ก็ไม่ได้เป็นนกหายากอะไร
ถ้ามองเผินๆ มันอาจจะเหมือนกับนางนวลแกลบธรรมดามากๆ แต่จุดที่เราสามารถใช้แยกได้ก็คือ”หมวกกันน็อค” ผมมองว่ามันเหมือนหมวกกันน็อค5555
สีดำบนหัวของมันจะไม่ยาวลงมาถึงลำคอ และแถบสีดำจะเข้มเฉพาะตรงจุดที่อยู่ข้างๆลูกตา
แต่นั่นคือชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์ เพราะชุดขนวัยเด็กก็เป็นอีกแบบบบบบ
นกนางนวลแกลบดำปีกขาว วัยเด็ก
จริงๆตอนวัยเด็ก ลายบนหัวมันเหมือนหมวกกันน็อคกว่าตอนเต็มวัยอีก
เราไปนูนกนางนวลแกลบที่หน้าตาต่างจากชนิดก่อนๆกันบ้างดีกว่า
นี่ คือนกนางนวลแกลบที่”ใหญ่ที่สุดในโลก”
นกนางนวลแกลบแคสเปียน
Caspian Tern
ถ้าเทียบกับนกนางนวลแกลบ3ชนิดก่อนหน้านี้ มันมีขนาดใหญ่กว่ามาก(ประมาณ2เท่าตัว)
สำหรับชนิดนี้ จากที่ผมไปมา ผมมองว่ามันจะมีพื้นที่หากินที่แคบกว่านางนวลแกลบชนิดอื่น เพราะผมได้เจอมันแค่ตอนช่วงเพิ่งออกจากฝั่งกับตอนกำลังเข้าฝั่งเท่านั้น ตอนอยู่กลางทะเลไม่เจอมันเลย
แต่อย่างไรก็ตาม มันไม่ใช่นกที่หายากขนาดนั้น เราสามารถเจอมันบริเวณชายฝั่งได้
น่าเสียดาย ผมถ่ายรูปมันไว้น้อยมาก เพราะมัวแต่คิดว่ามัน
”หาง่าย”เนี่ยแหละ เลยไม่ค่อยได้สนใจ55555
นกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ Greater Crested Tern
ถ้านางนวลแกลบแคสเปียนเป็นนกนางนวลแกลบที่ใหญ่ที่สุดในโลก นี่ก็คงจะเป็นอันดับที่สอง
นกนางนวลแกลบหงอนใหญ่ Greater Crested Tern
ผมเจอมันเกาะตอไม้อยู่กับพวกGull แต่มันจะมีพื้นที่หากินที่กว้างกว่า ก็คือก่อนที่ผมจะถึงตอไม้ที่มีพวกGullเกาะ พวกมันก็บินมาตอมหลังเรือก่อนแล้ว
ผมถ่ายรูปมันไว้เยอะมากๆเพราะมันเป็นนกนางนวลแกลบอีกชนิดที่เจอมันได้บ่อยครั้งในวันนั้น และมันสวยงามมากๆ
นางนวลแกลบหงอนใหญ่ว่าสวยแล้ว แต่ยังมีนางนวลแกลบอีกชนิดครับ ที่ผมถ่ายมันไว้ เ ย อ ะ ม า ก จนแบตกล้องหมดเลย555555
นั่นก็คือ นกนางนวลแกลบท้ายทอยดำ
Black-naped Tern
มันเป็นนกนางนวบแกลบที่มีสีขาวนวลไปทั้งตัว และมีแถบคาดตา ปาก แล้วตีนที่เป็นสีดำตัด
และเวลาบินมันดู
“สง่างาม”กว่าขนิดอื่นมากๆ....ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน5555
“ทำไมนกถึงต้องมีแถบคาดตา?”
คุณอาจจะไม่สงสัย แต่ผมจะสมมติว่าคุณสงสัย เพราะผมอยากเล่า....หิ
เหตุผลเดียวกับการที่นักกีฬาAmerican footballป้ายสีดำใต้ตาเลยครับ
เพราะแถบคาดตานี้ จะมีหน้าที่ในการลดการสะท้อนของแสง ไม่ให้มันแยงตาครับ
มันยังไม่จบ!!!!
ยังมีนกนางนวลแกลบอีกชนิดครับ ที่ผมบอกได้เลยว่าผม
”ภูมิใจ”ที่ได้มีภาพมันมากที่สุดในวันนั้นเลย(จริงๆจะเรียกว่าภูมิใจที่สุดเท่าที่เคยถ่ายนกนางนวลมาทั้งชีวิต)
เพราะมันเป็นนกที่หายากมากกกกกก
ทั้งจำนวนที่มันมี และความยากในการหาตัวมัน
เพราะมันไม่ค่อยมาร่วมวงกับนางนวลแกลบชนิดอื่นที่หลังเรือซักเท่าใหร่ และก็ยังยากเพราะความยากในการระบุชนิดด้วย
นั่นก็คือ
นกนางนวลแกลบ อะลูเซียน Aleutian Tern
นกใหม่ไทยปี2019~~~~~
นกนางนวลแกลบอะลูเซียน Aleutian Tern
เป็นนกที่มีสถานภาพการอนุรักษ์ VU(Valuable) หรือ เริ่มมีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทั้งในระดับประเทศ และในระดับโลก
ในวันนั้นเราเจอนกนางนวลแกลบอะลูเซียนเพียงแค่4ตัว(แต่จริงๆ4ตัวในวันเดียวถือว่าเยอะแล้วแหละ555)
ซึ่งผมได้ถ่ายแค่2ตัว ตัวนึงได้เป็นฝุ่น ไม่เห็นรายละเอียด
แต่ด้วยความโชคดี เพราะอยู่ๆก็มีอีกตัวเข้ามาปนในฝูงของนางนวลแกลบที่ตอมหลังเรืออยู่2-3วิ ผมจึงมีโอกาสได้เห็น แบะเก็บภาพมันไว้
แค่นิสัยกับปริมาณ ก็ทำให้เราเจอตัวมันยากแล้ว แต่อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นปัญหาให้กับนักดูนกทั่วโลกเลยคือ”จุดจำแนก”ครับ
ถ้าเราไม่ได้เป็นนักดูนก พอเราลงเรือแล้วมีนกนางนวลแกลบบินกันเป็นร้อยตัว คงไม่มีใครเห็นความต่างของแต่ละตัวแน่นอน555
แต่สำหรับคนที่ พร้อมที่จะ แ ห ก ขี้ ต า หานางนวลแกลบอะลูเซียน ผมจะสรุปจุดจำแนกหลักๆให้ครับ
1.อะลูเซียนจะมีแถบที่ท้ายปีกด้านใต้เป็นปื้นสีดำ
นี่เป็นจุดจำแนกที่แยกได้ง่ายที่สุดเลยครับเพราะนางนวลแกลบชนิดอื่นจะไม่มี.....แต่!!!!
นางนวลแกลบธรรมดา”บางตัว” ก็มีแถบดำนี้เหมือนกัน(แต่โอกาสเจอมีน้อยมากคับ)เลยเป็นสาเหตุว่าทำไมเราถึงต้องดูจุดจำแนกหลายๆจุด
2. อะลูเซียนจะ”เถิก”กว่านางนวลแกลบชนิดอื่น
ก็คือเถิกกว่านางนวลแกลบเคราขาวชัดเจนเลยครับ
3.ปากของอะลูเซียนจะค่อนข้างแหลมตรงกว่าแกลบธรรมดา
อันนี้ดูค่อนข้างยาก แต่ถ้าเอารูป2รูปมาเทียบกัน จะเห็นได้ว่าสัดส่วนของอะลูเซียนจะแหลมตรงกว่าแกลบชนิดอื่น
จุดจำแนกโดยสรุปของนกนางนวลแกลบอะลูเซียน
จบแล้วครับ สำหรับนกนางนวลทั้งหมดที่เจอในอ่าวไทย....
แต่ก่อนจะไปดูอย่างอื่น ผมอยากให้ทุกคนที่อ่านมาถึงตรงนี้
ลองมองย้อนกลับไปดูรูปนกนางนวลรูปก่อนๆดูครับ
เพราะผมกำลังจะตั้งหัวข้อเล็กๆอีกหัวข้อนึงคือ
“ทำไมนกถึงมีปลายปีกดำ”
ถ้าย้อนกลับไปดู จะเห็นเลยว่านกเกือบทุกรูปที่ผมถ่ายมา ปลายปีกจะเป็นสีดำ
ก่อนที่ผมจะตอบคำถามนี้ เราต้องมองย้อนกลับไปอีกหัวข้อนึงว่า
“ทำไมนกนางนวลถึงมีสีขาว”
ไม่ว่าจะเป็นนกนางนวล นกยาง นกกระสา ทำไมมันต้องมีสีขาว
คำตอบก็คือ เพื่อเป็นEye detectionครับ ในทุ่งโล่งกว้างหรือมหาสมุทร การที่จะทำให้เราเจอพวกเดียวกันได้ เราก็ต้องมีสีที่ชัดเจน เห็นได้ง่าย ซึ่งนั่นคือสีขาว เพราะแสงแดดสะท้อนสีขาว ทำให้เราเห็นได้ง่ายมากๆ
แต่ ข้อเสียของสีขาวคือ เม็ดสีสีขาวนั้นอ่อนแอ มันถูกทำลายโดยลม โดยแดดได้ง่าย เลยเป็นคำตอบของหัวข้อก่อนหน้า เพราะ เนื่องจากบริเวณปลายปีกจะเป็นบริเวณที่ถูกทำลายโดยลมมากที่สุด มันจึงมีเม็ดสีสีดำ ที่มีความทนทานที่สุด มาอยู่ในบริเวณนั้นแทน
จบแล้วครับ สำหรับนกนางนวล
แล้วก็...ฝากเข้าไปดูfootageนกนางนวลที่ผมอัดมาจากอ่าวไทยด้วยละกันครับ บางชอตผมบอกเลยว่าสวยม๊ากกกก(อวยตัวเอง)
https://youtu.be/D-dpWwgt48o
นี่มันตัวอะไร????
ถ้ามองผ่านๆ........ก็มองไม่เห็นคับ แค่นั้นแหละ5555
นี่คือ”โลมาหัวบาตรหลังเรียบ”
โลมาในธรรมชาติชนิดแรกของผม
เพราะผมไม่เคยออกทะเลดูสัตว์มาก่อน555
โลมาหัวบาตรหลังเรียบ(Finless Porpoise)
จุดเด่นของมันก็ตรงตัวเลยครับ หลังของมันเรียบ ไม่มีครีบ
ทีนี้เราจะมาต่อกันที่นกอีกกลุ่มนึง ที่เรียกได้ว่า”อลังการ”มากๆ
แต่มันก็”อันธพาล”มากๆเช่นกัน
เรา กำลังพูดถึงนก”สกัว” นกที่อันธพาลที่สุดในทะเลอ่าวไทย
นกสกัวขั้วโลกเหนือ Arctic Jaeger
ด้วยwing span กว่า1เมตร และความเร็วที่สูง(~50km/h)มันเลยเป็นนกนักล่าที่ดูทรงพลังอีกชนิด
ซึ่งเป้าหมายของมันก็ไม่ใช่อะไรเลยนอกจาก”นกนางนวลแกลบ”
แต่ มันไม่ได้หมายความว่า ที่เป้าหมายของมันคือนกนางนวลแกลบเพราะมันจะกินนกนางนวลแกลบเท่านั้นนะ(กินเป็นบางครั้ง)
นกสกัวหางช้อน กำลังกินซากนกอะไรบางอย่าง(คิดว่านกนางนวลแกลบ)
แต่เป้าหมายจริงๆของมันคือสิ่งที่นกนางนวลแกลบหามาได้.....ปลานั่นเอง
เมื่อพวกมันเห็นเรือที่มีนกนางนวลบินตามด้านหลัง
พวกมันจะเริ่มจากบินสังเกตการณ์ใกล้ๆเรือ อาจจะบินวนอยู่ห่างๆหรือไม่ก็ไปลงนำ้ที่ด้านหน้าเรือ เพื่อรอจังหวะที่มีนกนางนวลแกลบได้ปลา...
นกสกัวขั้วโลกเหนือ กำลังแย่งปลาจากนกนางนวลแกลบเคราขาว
และมันจะบินไล่กวดนกนางนวลแกลบทันที เพื่อที่จะแย่งปลาจากนกนางนวลแกลบ
ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่ผมดู จะแย่งได้สำเร็จครับ เพราะนกนางนวลแกลบมันสู้สกัวไม่ได้ จึงต้องยอมให้สกัวได้ปลาไปฟรีๆ
บอกเลยว่ามันเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นในเวลาเดียวกัน
ถ้าหมดปัญหาเรื่องโควิดแล้ว ลองไปลงเรือดูสัตว์ที่อ่าวไทยกันได้นะครับ เผื่อจะได้เห็นอะไรเท่ๆแบบนี้
ของจริงมันอลังการมากคับ บินไล่ยังกับเครื่องบินขับไล่555
นกสกัวที่ผมเจอในอ่าวไทยจะมีทั้งหมด2ชนิด
1.นกสกัวขั้วโลกเหนือ Arctic Jaeger
จุดเด่นของมันคือ บริเวณสันจมูก จะมีจุดสว่างสีขาว
จริงๆมันมีวิธีแยกชนิดอีกหลายจุด แต่ผมไม่สามารถเขียนให้ดูอย่างชัดเจนได้ เพราะมันมองยากสุดๆ
ในความเป็นจริง มันเป็นนกสกัวที่หาได้ยาก แต่เป็นอะไรที่แปลก
เพราะพวกผมเจอกันเยอะมากในวันนั้น555
นกสกัวขั้วโลกเหนือ Arctic Jaeger
2.สกัวหางช้อน Pomarine Jaeger
นกสกัวหางช้อน Pomarine Jaeger
ก็เป็นอะไรที่แปลกอีก เพราะชนิดนี้จริงๆมันหาง่ายกว่าสกัวขั้วโลกเหนือ แต่เรากลับเจอมันน้อยกว่า....
แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะเรายังเจอนกสกัวหางช้อนที่มีขนสีนำ้ตาลทั้งตัว(Dark morph)มากกว่าสีแบบปกติ(รูปด้านบน) ทั้งๆที่มันควรจะน้อยกว่า55555 อะไรกันครับเนี้ยยยย
นกสกัวหางช้อน Pomarine Jaeger (Dark morph)
ในเรื่องความผิดปกติของสีขน มันเกิดจากพันธุกรรมเนี่ยแหละครับ สำหรับในนกก็มีอยู่เหมือนกัน อย่างชนิดนี้ที่เป็นสีเข้ม และเรายังเจอนกสกัวขั้วโลกเหนือ ที่มีขนสีขาวนวลกว่าสกัวขั้วโลกเหนือปกติ(คิดว่าน่าจะเป็นpale morphครับ)
นกสกัวขั้วโลกเหนือ Arctic Jaeger(คิดว่าน่าจะPale morph)
เรื่องเกี่ยวกับนกในอ่าวไทย....ก็จะจบที่ประมาณนี้ครับ
ผมได้ทำคลิบเก็บfootageของนกสกัวไว้เหมือนกัน สามารถลองเข้าไปดูในลิ้งนี้ได้เลยครับ
https://youtu.be/6RkOj8yvkaY
ใครอ่านถึงตรงนี้ได้คือสุดยอดมากครับ5555
เพราะรอบนี้ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของตัวเอง เลยอยากจะเขียนทุกอย่างที่เห็นลงไป มันเลยเยอะมาก
ขอบคุณที่อ่านจบจนถึงตรงนี้ครับ
โดยสรุปเนี่ย ผมอยากจะบอกว่า
อ่าวไทย ที่มันมีแต่นำ้สีฟ้า มองไปรอบๆก็มีแต่เส้นขอบฟ้า
พื้นที่ที่มันดูจะไม่มีอะไร แต่จริงๆมันเหมือนกับเรา”มองข้าม”มันไปมากกว่า
เพราะเวลาเราจะไปอ่าวไทย ทุกคนคงนึกถึง ปลา หรือ วาฬ โลมา เต่าทะเล หรือแค่อยากเห็นทะเลเฉยๆ ทั้งๆที่ความจริงมันมีอะไรที่มากกว่านั้นมากๆ
ธรรมชาติมันเหมือนกับเป็นสารานุกรมที่ไม่มีหน้าสุดท้าย เปิดเท่าใหร่ก็ไม่หมด เพราะเรายังค้นพบมันเพิ่มทุกปี
และมันคงจะเป็นอะไรที่ดีกว่ามาก ถ้าเราสามารถตั้งคำถามกับธรรมชาติได้มากกว่าคำว่า
“กินได้ใหม”
“เลี้ยงได้ใหม”
“ราคาเท่าใหร่”
ธรรมชาติมันมีอะไรที่น่าสนใจกว่านั้นเยอะครับ เพียงแต่เรายังไม่เคยตั้งคำถามที่นอกเหนือจากเรื่องพวกนี้เลย
แต่ตั้งคำถามแบบนี้ก็ไม่ได้ผิดนะครับ ไม่ได้จะหมายความอย่างงั้น555 แต่บางทีมันยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจกว่า เพียงแต่เรายังมองข้ามมันอยู่เท่านั้นเอง
นกสกัวหางช้อน(Dark morph)
บันทึก
5
2
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
หานก The Series
5
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย