8 พ.ค. 2021 เวลา 05:22 • การศึกษา
[[เมื่อ 上午 ไม่ได้แปลว่า สาย 下午 ไม่แปลว่าบ่าย | การอ่านเวลาในภาษาจีน 时间读法]]
#เนื้อหาภาษาจีน #เวลาภาษาจีน #ระดับเริ่มต้น
รู้ไหมว่า 上午 (shàngwǔ) ไม่ได้แปลว่าสายหรือช่วงก่อนเที่ยงเสมอไป 下午 (xiàwǔ) ก็เช่นกัน พาดหัวแบบนี้ จะบอกว่าที่เรียนกันมาตลอดมันผิดเหรอ? เปล่าเลย ที่เรียนมาน่ะ ถูกแล้ว แต่มีอยู่บางบริบทที่ใช้แทนความหมายอื่นเท่านั้น
ก่อนที่จะเข้าว่าเป็นบริบทไหน เรามาพูดถึงเรื่องการอ่านเวลาในภาษาจีนปัจจุบันกันก่อน ว่าเดี๋ยวนี้เขาใช้กันอย่างไร จะบอกให้ก่อนว่าไม่ได้ยากอย่างที่คิดและยังมีเรื่องน่าสนใจให้จำง่ายๆ อยู่ด้วยนะ เข้าเรื่องเลยละกัน
[สั้นๆเผื่อรีบแชร์]
1. การอ่านเวลาในภาษาจีนนั้นมีโครงสร้างชัดเจน โดยใช้คำบอกช่วงเวลานำหน้า ตามด้วยตัวเลขชั่วโมง และ ตัวเลขนาที
2. คำบอกช่วงเวลาในภาษาจีน มีการแบ่งเป็น 5 ช่วงคล้ายไทย แต่จีนแบ่งช่วงเช้าเยอะกว่า ไทยแบ่งช่วงเย็นเยอะกว่า
3. 上午 และ 下午 ยังสามารถใช้แทน a.m. และ p.m. ได้อีกด้วย
[อ่านเวลาภาษาจีนไม่ยาก จำโครงสร้างได้ก็อ่านได้]
การบอกเวลาในภาษาจีนค่อนข้างคล้ายกับโครงสร้างการบอกเวลาภาษาไทย จะต่างกันตรงที่คำกำกับเวลาและตำแหน่งการวาง เช่น 早上、上午 จะวางไว้ด้านหน้าทั้งหมด จะอธิบายอย่างละเอียดในช่วงต่อไป
โครงสร้าง
คำบอกช่วงเวลา + ตัวเลขชั่วโมง 点 (diǎn) + ตัวเลขนาที 分 (fēn)
หลักการอ่านมีง่ายๆ 4 ข้อ
1. ภาษาจีนจะใช้ระบบอ่านเวลาแบบ 12 นาฬิกาในภาษาพูด นั่นคือ 13:00 จะนับเป็น 01:00 p.m. จะอ่านว่า 一点 (yī diǎn) ดังนั้นถ้าต้องการระบุเวลาให้ชัดเจน ต้องเริ่มด้วยคำบอกช่วงเวลาก่อน และตามด้วย กี่โมง กี่นาที
2. อ่านตัวเลขชั่วโมงเหมือนการอ่านตัวเลขทั่วไป ตามด้วย 点 (diǎn)
3. ถ้ามีนาที ให้อ่านนาทีด้วย ตามด้วยแค่ 分 (fēn)
- ถ้านาทีมี 0 นำหน้า ต้องอ่าน 0 ว่า 零 (líng) ด้วยทุกครั้ง เช่น 10:06 อ่านว่า 上午十点零六分 (shàng wǔ shí diǎn líng liù fēn)
4. ยังมีคำที่นิยมใช้ประกอบกับการอ่านเวลาอีกดังนี้
- 刻 (kè) ใช้แทน 15 นาที มี 一刻(yí kè | 15 นาที ) และ 三刻(sān kè | 45 นาที) แต่ 30 นาทีไม่ใช้ 两刻 (liǎng kè) จะใช้ 半 (bàn) แทน
- 半 (bàn) ใช้เหมือนภาษาไทยว่า "ครึ่ง" ใช้แทน 30 นาที
- 02:00 และ 14:00 จะใช้ 两 (liǎng) ไม่ใช้ 二 (èr)
ตัวอย่าง
- 07:45 อ่านว่า 早上七点四十五分 (zǎo shang qī diǎn sì shí wǔ fēn) หรือ 早上七点三刻 (zǎo shang qī diǎn sān kè)
- 11:30 อ่านว่า 上午十一点三十分 (shàng wǔ shí yī diǎn sān shí fēn) หรือ 上午十一点半 (shàng wǔ shí yī diǎn bàn)
- 15:00 อ่านว่า 下午三点 (xià wǔ sān diǎn)
- 20:05 อ่านว่า 晚上八点零五分 (wǎn shàng bā diǎn líng wǔ fēn)
- 02:15 อ่านว่า 凌晨两点十五分 (líng chén liǎng diǎn shí wǔ fēn) หรือ 凌晨两点一刻 (líng chén liǎng diǎn yí kè)
[จีนเน้นแบ่งเช้า ไทยเน้นแบ่งเย็น ความเหมือนที่แตกต่าง]
เมื่อเราอ่านเวลา จีนกับไทยมีวิธีการแบ่งช่วงของเวลาที่คล้ายกับไทยในเรื่องการใช้คำเพื่อระบุช่วงเวลาให้ชัดเจนป้องกันการสับสน ในภาพรวมภาษาไทยนั้นจะใช้วิธีการแบ่งออกเป็น 5 ช่วง ในขณะที่ภาษาจีนคำบอกเวลาตาม 标准普通话 (biāozhǔn pǔtōnghuà) ภาษาจีนกลางมาตรฐาน อยู่ 5 คำ เช่นกัน
ภาษาไทยจะยึดตามระบบมาเป็นระบบ 12 นาฬิกาในภาษาพูด และใช้คำบอกเวลาเพื่อป้องกันการสับสน ส่วนภาษาเขียนหรือภาษาทางการจะเน้นใช้ระบบ 24 นาฬิกา ภาษาไทยปัจจุบันจะมองเวลาเป็น 5 ช่วงและใช้คำบอกเวลาช่วยป้องกันการสับสนตามนี้
- "ตี" นำหน้า สำหรับช่วงเวลา 01:00 - 05:00 เช่น ตี 2
- "โมงเช้า หรือ "โมง" ตามหลัง สำหรับช่วงเวลา 06:00 - 11:00 เช่น 6 โมงเช้า หรือ 6 โมง [1]
- "บ่าย" นำหน้า ตามหลังตัวเลขอีกด้วยคำว่า "โมง" สำหรับ 13:00 - 15:00 เช่น บ่าย 2 โมง สามารถเรียกสั้นๆ โดยตัดคำว่าโมงออกได้ สำหรับ 13:00 ที่เราเรียกบ่ายโมงเลย
- "โมงเย็น" ตามหลังสำหรับ 16:00 - 18:00 เช่น 6 โมงเย็น [2]
- "ทุ่ม" ตามหลัง สำหรับ 19:00 - 23:00 เช่น 4 ทุ่ม
- มีคำเรียกเวลาเฉพาะอีกตามนี้
- 0:00 เรียก เที่ยงคืน
- 12:00 เราเรียกว่า เที่ยง หรือ เที่ยงวัน
ภาษาจีนจะใช้ระบบ 24 นาฬิกากับภาษาทางการเช่นกัน ส่วน 12 นาฬิกาใช้อย่างแพร่หลายในภาษาพูด และมีการใช้คำบอกเวลานำหน้า อ้างอิงตาม 标准普通话 เป็น 5 ช่วงดังนี้
- 早上 (zǎoshang แปลตรงตัวว่า เข้าเช้า) ใช้สำหรับเวลา 06:00 - 08:00 เช่น 早上6点
- 上午 (shàngwǔ แปลตรงตัวว่า ก่อนเที่ยง) ใช้สำหรับเวลา 09:00 - 11:00 เช่น 上午10点
- 下午 (xiàwǔ แปลตรงตัว หลังเที่ยง) ใช้สำหรับเวลา 13:00 - 17:00 เช่น 下午3点
- 晚上 (wǎnshang แปลตรงตัว เข้าค่ำ) ใช้สำหรับเวลา 18:00 - 23:00 เช่น 晚上9点
- 凌晨 (língchén แปลตรงตัวว่า ก่อนเช้า) ใช้สำหรับเวลา 01:00 - 05:00 เช่น 凌晨4点
- มีคำเรียกเวลาเฉพาะอีกตามนี้
- 00:00 เรียก 半夜 (bànyè) หรือ 午夜 (wǔyè)
- 12:00 เรียก 中午 (zhōngwǔ)
อย่างไรก็ตามเราสามารถเจอการใช้คำไม่ตรงกับเวลาที่ระบุไว้ตาม 标准普通话 ได้ เมื่อไปใช้กับคนจีนจริงๆ อาจจะเจอ 凌晨6点、早上9点、傍晚6点 ก็เป็นไปได้ครับ หลักๆ คือให้สื่อสารเข้าใจกันในสถานการณ์นั้นๆ
เมื่อลองเทียบกันทั้ง 2 ภาษานี้ เราจะเห็นได้ว่าไอเดียพื้นฐานเรามีการแบ่งคล้ายๆกัน แต่ไทยจะใช้คำกำกับมากกว่าในช่วงเย็น ในขณะที่ภาษาจีนจะใช้คำกำกับมากกว่าในช่วงเช้า ก็น่าคิดเหมือนกันว่าเพราะอะไรนะ
[ยังมีคำอื่นๆ ในภาษาจีน ใช้บรรยายช่วงเวลาต่างๆ อีก]
ยังมีคำอื่นๆ ที่ใช้บรรยายว่าเป็นช่วงเวลาไหนของวัน ใน 标准普通话 มักจะไม่ได้ใช้คู่กับการระบุเวลาเป็นตัวเลข ใช้ในการเปรียบเทียบเป็นช่วงเวลากว้างๆมากกว่า จริงๆแลัวยังมีอีกเยอะ แต่คำที่น่าสนใจและพบให้ได้บ่อยมีดังนี้
- 白天 (bái tiān) กลางวัน
- 夜间 (yè jiān)、 夜晚 (yè wǎn) กลางคืน
- 深夜 (shēn yè) ช่วงดึกหลังเที่ยงคืนไป
- 黎明 (lí míng)、拂晓 (fú xiǎo) ช่วงรุ่งสาง ก่อนฟ้าสว่าง ไปจนถึงสว่างแล้วนิดนึง ไม่ค่อยเจอในภาษาพูดหรือชีวิตประจำวันเท่าไหร่
- 清晨 (qīng chén) ใกล้เคียงกับ 2 คำแรก แต่เจาะจงว่าเป็นช่วงที่ดวงอาทิตย์กำลังจะขึ้น ถึงขึ้นแล้วสักพัก
- 傍晚 (bàng wǎn) ช่วงโพล้เพล้ใกล้มืด [3]
- 黄昏 (huáng hūn) ช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เพิ่งตก แต่ก่อนฟ้าจะมืด สีท้องฟ้าเป็นส้มๆ ไม่ค่อยเจอในภาษาพูดหรือชีวิตประจำวันเท่าไหร่
อย่างไรก็ตาม 早上、上午、下午、晚上 ก็ยังสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องมีตัวเลขเวลาตาม จะเป็นการระบุช่วงเวลากว้างๆ ได้เป็นช่วงๆ เช่นกัน
[เมื่อ 上午 ไม่ได้แปลว่าสาย 下午 ไม่ได้แปลว่าบ่าย]
เรื่องนี้ไม่ต้องตกใจ ที่เรียนมาน่ะไม่ผิด ย้อนกลับไปสมัยที่นาฬิกาแบบตะวันตกยังไม่แพร่หลาย จีนไม่มีหลักการที่จะแบ่งตามระบบ 12 นาฬิกา ที่ต้องใช้ทั้ง a.m. และ p.m. มากำกับ เมื่อนาฬิกาแบบตะวันตกแพร่หลายจนเป็นที่ยอมรับโดยทั่ว เลยต้องรับหลักการมา และ หาวิธีใช้งานให้เหมาะกับภาษาจีน
จะเข้าใจบริบทนี้ต้องมาดูก่อนว่า a.m. และ p.m. ของภาษาอังกฤษเนี่ย มันแปลว่าอะไร ที่มาจริงๆ แล้วมาจากภาษาละติน a.m. ย่อมาจาก ante meridiem ซึ่งแปลว่า ก่อนเที่ยงวัน และ p.m. ย่อมาจาก post meridiem ซึ่งแปลว่า หลังเที่ยงวัน น่าจะเริ่มพอเดากันต่อได้แล้วล่ะ
พอเรามาดูที่ภาษาจีนจะเห็นได้เลยว่า ไม่มีคำไหนที่เหมาะสมไปว่าการใช้ 上午 ซึ่งแปลตรงตัวว่าก่อนเที่ยง และ 下午 หลังเที่ยง จึงเป็นที่มาให้สองคำนี้มาใช้แทน a.m. และ p.m. นั่นเอง
แล้วถามว่าจะเจอได้ที่ไหน จะเจอเมื่อต้องใช้ระบบ 12 นาฬิกาบนเครื่องต่างๆ เท่านั้นครับ โดยเฉพาะนาฬิกาดิจิตอล เช่น สมาร์ทโฟน นาฬิกาดิจิตอล คอมพิวเตอร์ที่เป็นภาษาจีนเราจะเห็นตัว 2 คำนี่แหละคอยบอกกำกับเวลา
เล่าเรื่องเกี่ยวกับเวลามาจนซีรี่ย์นี้เกือบจะครบทุกเรื่องแล้ว ตั้งแต่มุมมองเวลากับทิศทางในภาษาจีน ปฏิทินจีน การนับเวลาแบบจีนโบราณ จนมาการอ่านเวลาแบบจีนปัจจุบัน ใครยังไม่ได้อ่านตอนไหน รวมลิงค์มาไว้ให้ที่นี่แล้ว กลับไปอ่านกันได้นะครับ
[[เดือนก่อนอยู่บน เดือนหน้าอยู่ล่าง ภาษาจีนกับมุมมองเวลา]]
[[ ปฎิทินจีนมันเป็นยังไง ทำไมวันตรุษจีนไม่ตรงกันซักปี|เรื่องของปฎิทินจีน ]]
[[ ทำไมวันในภาษาจีนถึงเป็นตัวเลข ไม่เหมือนภาษาอื่น | เรื่องของวันในภาษาจีน 星期一、二、三 ]]
[[ 时 มันใหญ่ เลยเรียก 小时 ให้เล็กๆ | ประวัติการนับเวลาแบบจีนๆ 时辰和小时 ]]
สำหรับตอนต่อไปจะเป็นเรื่องอะไร ติดตามกันไว้นะ จะได้ไม่พลาด
---
### เพิ่มเติม
- [1] แต่เดิมก่อนที่อิทธิพลของนาฬิกาแบบตะวันตกจะแพร่หลาย คนรุ่นเก่าๆ เรียก 7 โมง ว่า 1 โมงเช้า ไล่ไปจนถึง 11 โมงเป็น 5 โมงเช้า แต่ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมแล้ว
- [2] 16:00 - 17:00 ยังมีการใช้ทั้ง บ่าย 4 โมง และ 4 โมงเย็น สำหรับภาษาไทย เป็นผลมาจากการอิทธิพลก่อนหน้านาฬิกาแบบตะวันตก แต่เดิมภาษาไทยจะแบ่งเป็นด้วยนาฬิกา 6 ชั่วโมง อ่านเพิ่งเติมได้ที่ https://th.wikipedia.org/wiki/นาฬิกาหกชั่วโมง
- [3] มีการใช้ 傍晚 คู่กับตัวเลขเวลาด้วย ใช้ในช่วงโพล้เพล้ 17:00 - 20:00 อย่างไรก็ตาม ถ้าถือตาม 标准普通话 จะไม่ได้ใช้ครับ
---
### อ้างอิง
- นาฬิกา 6 ชั่วโมงของไทยเดิม https://th.wikipedia.org/wiki/นาฬิกาหกชั่วโมง
โฆษณา