9 พ.ค. 2021 เวลา 08:44 • ธุรกิจ
อ่านให้จบก่อนนำไปใช้
เล่มนี้อ่านง่ายจริง ปกติหนังสือภาษาอังกฤษความหนาขนาดนี้ต้องใช้เวลาอ่านนานกว่านี้มาก แต่เล่มนี้เล่าเรื่องโดยแบ่งย่อยๆ เป็นท่อนๆ ในแต่ละบท ใครที่ชอบอ่านบทความโพสต์บน Facebook แต่ไม่ชอบอ่านหนังสือยาวๆ น่าจะอ่านเล่มนี้ได้สบาย
ชอบที่สุดคือการเล่าทฤษฎีผ่านเคสจริงที่เกิดขึ้นใน Netflix ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้อ่านสนุก แม้จะไม่มันส์เท่า The Hard Thing About Hard Things แต่ก็ยังอ่านเพลินมาก ส่วนตัวชอบหนังสือธุรกิจและการบริหารที่เล่าจากเคสจริงแน่นๆ แบบนี้ เพราะนอกจากจะสนุกแล้วยังเห็นภาพชัดเข้าใจทฤษฎีได้ง่ายขึ้นด้วย อาจเป็นเพราะส่วนตัวชอบดูพวกสารคดีอยู่แล้ว เวลาอ่านหนังสือที่ใช้วิธีเล่าแบบนี้มันถึงถูกจริตมากๆ บทแรกอาจจะน่าเบื่อหน่อย ติดอยู่สักพักเลย แต่พอเข้าบทสองปุ๊บ อ่านรวดยาวๆ ไปเลย
เชื่อว่าหลายคนโดยเฉพาะผู้บริหารและเจ้าของกิจการต้องเคยผ่านตา No Rules Rules ของ Netflix กันมาบ้าง โดยเฉพาะเรื่องเด่นๆ ที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยๆ ในบทความออนไลน์ podcast และใน Facebook live ต่างๆ เช่น
- ไม่มีนโยบายกำหนดวันลา
- ไม่กำหนดเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการทำงาน (travel & expenses)
- ให้สิทธิ์คนทำงานในการอนุมัติงบประมาณเอง
- Top of Market Pay
- การให้ feedback แบบ Netflix (Candor)
- บริหารด้วยบริบทไม่ใช้การควบคุม (Lead with context not control)
ยอมรับว่าตอนอ่านเจอตามบทความและฟังพี่ๆ เพื่อนๆ ในวงการรีวิว ยังอยากเอามาปรับใช้ที่บริษัทเลย แต่พออ่านเล่มนี้เองจริงๆ ถึงเข้าใจอย่างถ่องแท้ และเห็นถาพว่าเหมาะหรือไม่เหมาะกับเราอย่างไร
รวมๆ ทำให้เข้าใจเลยว่าการใช้ No Rules Rules ของ Netflix ความรับผิดชอบจะอยู่ที่ระดับ manager เยอะมาก เอาแค่เรื่องวันลาก่อน แม้ไม่มีการระบุจำนวนวันและช่วงเวลาก็จริง แต่สุดท้ายขึ้นอยู่กับ manager ว่าจะตั้ง unwritten rule ยังไง เช่น โดยธรรมชาติแล้ว คนในทีมไม่ลาต่อปีเกินจำนวนวันที่หัวหน้าตัวเองลาอยู่แล้ว ยิ่งหัวหน้าลาน้อยคนในทีมก็จะลาน้อยไปด้วย และช่วงไหนที่ควรลาหรือไม่ อย่างฝ่ายบัญชีไม่ควรลาช่วงปิดงบเป็นต้น หรือแม้การไม่ควรลาพร้อมกันทั้งทีม เหล่านี้จะถูกส่งสาร (context) จากระดับ manager ทั้งสิ้น
อีกตัวอย่างคือเรื่องการใช้เงินบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการทำงานต่างๆ (travel and expense) ไม่มีการกำหนดว่าตำแหน่งไหน หน้าที่ไหนสามารถเบิกได้เท่าไหร่ เพียงทุกคนต้อง “act in Netflix’s best interest” ฝ่ายการเงินจะไม่ตรวจสอบรายการที่พนักงานเบิกเลย เป็นหน้าที่ของ manager ที่ต้องคอยตรวจสอบเองว่าการเบิกต่างๆ เหมาะสมหรือไม่ ถ้าเจอคนที่ไม่ “act in Netflix’s best interest” สามารถเชิญออกได้ทันที
อีกเรื่องที่พูดถึงกันเยอะคือ Pay top of the market และเปรียบเทียบกับการเป็นทีมกีฬาซึ่งมาพร้อมกับความท้าทายที่ต้อง perform ในระดับสูงสุดตลอด เวลา ใครที่ไม่ perform จะโดนถอดออกจากทีมได้เลย (adequate performance gets a generous severance package) หรืออย่างเรื่อง “Keeper Test” ที่พูดถึงกันเยอะ
รวมทั้งการที่คนทำงานสามารถตัดสินใจใช้งบประมาณในระดับล้านดอลลาร์ได้โดยไม่ต้องให้นายเซ็นอนุมัติ ถ้ามั่นใจว่าต้องจ่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุด อนุมัติเองได้เลย (เรื่องของ Netflix Brazil ระบุในหน้า 150) คิดดูว่าคนทำงาน วางแผนเอง ทำเอง อนุมัติการใช้งบเอง 30 ล้านบาทโดยไม่ต้องให้นายเซ็น จะกดดันขนาดไหน แถมเมื่อทำพลาดต้องทำ “sunshine” บอกความผิดพลาดของตัวเองให้ทีมด้วย
พออ่านจบ ชื่นชมหลายๆ บริษัทในไทยที่สามารถเอาแนวคิด No Rules Rules ไปปรับใช้ได้ เชื่อว่าต้องใช้พลังและความสามารถเยอะมากๆ มันไม่ง่ายเลย ขนาด Netflix ที่มี talent density ในระดับสูงสุด ยังมีพนักงานที่เอาเปรียบจากการไม่มีกฎเหล่านี้ได้เลย รวมทั้งบางกฎต้องลองผิดลองถูกมาก่อนถึงจะเจอแนวทางที่ลงตัวที่สุด บางเรื่องทดลองกันเป็นปีก็มี
หรืออีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือเอามาปรับใช้กับบริบทของคนไทย เช่นเดียวกับที่ในหนังสือเล่าไว้ว่า ใน Netflix เองเมื่อต้องขยายออฟฟิศไปทั่วโลกแล้วนำแนวปฎิบัติไปใช้ในแต่ละประเทศยังต้องปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมและนิสัยของคนในแต่ประเทศเลย เช่น คนญี่ปุ่นเวลาให้ feedback กันจะต่างจากคนสิงคโปร์ซึ่งก็จะต่างจากคนเนเธอร์แลนด์และต่างตากคนบราซิล ความ American ของ Netflix ไม่สามารถเอาไป plug & play ได้ทันที
ดังนั้น เมื่อได้ยินหรืออ่านผ่านเรื่องนโยบายต่างๆ ของ Netflix อย่าเพิ่งเอาไปปรับใช้โดยไม่ได้อ่านเล่มนี้เด็ดขาด (เกือบไปแล้วเรา) มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเพียบในหนังสือ พร้อมตัวอย่างมากมายทั้งแบบที่ดีและไม่ดี
อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้วข้อแรกที่สำคัญที่สุดก่อนจะไปเรื่องต่อๆ ไป คือการต้องสร้าง “Talent Density” ให้ได้เสียก่อนเลย ถ้ายังไม่ได้ ไม่ต้องไปข้ออื่นเลย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา