14 พ.ค. 2021 เวลา 00:31 • การศึกษา
คำศัพท์สยามเช้าวันนี้หญิงขอเสนอคำว่า "ขว้าง,ขวาง" เจ้าค่ะ
1
ขว้าง หรือ ขวาง หมายถึง กว้างใหญ่
ตัวอย่างทางการ : ยวนพ่าย
"ทุกหอทุกแห่งหมั้น หมู่หลวง ทยบ แฮ
ลดเขื่อนลดขัวขนัน ช่องช้าง
ทังปักทังปวงพล หาญแห่
ปักขวากเป็นแขวงขว้าง ทั่วทาง
คำว่า ขว้าง หรือ ขวาง ไม่ปรากฎเป็นคำเดี่ยวใช้กันในพจนานุกรมปัจจุบันแล้ว แต่ยังพบปรากฎใช้เป็นคำซ้อนและคำประสมอยู่ในพจนานุกรมปัจจุบัน เช่น
- คำซ้อน "กว้างขวาง" หมายถึง แผ่ออกไปมาก, ใหญ่โต เช่น มีเนื้อที่ที่กว้างขวางมาก, มีน้ำใจกว้างขวาง, กว้างขวางในสังคม เป็นต้น
- คำประสม "ผู้กว้างขวาง" หมายถึง นักเลงใหญ่, ผู้มีอิทธิพล
และนอกจากนี้แล้วยังปรากฎใช้เป็นคำเดี่ยวในพจนานุกรมภาษาถิ่นเหนือและถิ่นอีสาน โดย
- พจนานุกรมถิ่นเหนือใช้ในความหมาย กว้าง, ใหญ่โต
- พจนานุกรมถิ่นอีสานใช้ในความหมาย กว้าง, ขยายกว้าง,เจริญขึ้น
(อ้างอิง: นิตยา มีสุวรรณ, การศึกษาคำเดี่ยวในวรรณกรรมไทยสมัยอยุธยาที่ไม่ปรากฎเป็นคำเดี่ยวในพจนานุกรมปัจจุบัน)
ตัวอย่างทั่วไป
วรรณ : พี่อ่ำจะเอาอันใดมาเป็นสินสอดให้ฉันหรือจ๊ะ
อ่ำ : พี่ก็จะเอาที่นาของพี่นั้นแหละมาเป็นสินสอด
วรรณ : ฉันว่าดีเลยนะเจ้าค่ะ เพราะนาของพี่ก็ขวางอยู่มิใช่น้อย
•| ห้วยขว้าง, ห้วยขวาง |•
"ห้วยขวาง" ตามประวัติที่นำเสนอกันอย่างแพร่หลายอยู่ในอินเตอร์เน็ตนั้น กล่าวว่ามาจากในอดีตพื้นที่นี้ ในฤดูฝนจะเต็มไปด้วยพื้นน้ำในลักษณะบึงและห้วยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม การเดินทางภายในพื้นที่ยังต้องอาศัยการเดินทางด้วยเรือ ก็จะพบว่ามีห้วยน้ำขวางอยู่เสมอ จึงได้ชื่อดังกล่าว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความจริงของชื่อก็ซ้อนอยู่ในประวัติข้างต้นเจ้าค่ะ
“ห้วยขวาง”ไม่ใช่เพราะมีห้วยน้ำมาขวางหรืออะไรดอกนะเจ้าค่ะ
แต่ “ห้วยขวาง” เมื่อเราพิจารณาตามความหมายโบราณนั้นหมายถึง ห้วยที่กว้างใหญ่, เกิดเป็นห้วยที่มีขนาดใหญ่ กล่าวคือเมื่อถึงฤดูฝนบริเวณดังกล่าวจะเต็มไปด้วยพื้นน้ำในลักษณะบึงและห้วยที่กว้างใหญ่ นั้นเองเจ้าค่ะ
มีใครตอบถูกกันบ้างมั้ยน๊าาาา อิอิ 💐✌️😊
และนี้ก็คือคำศัพท์สยามที่ฉันนำมาฝากพี่ท่านทั้งหลายในวันนี้เจ้าค่ะ อย่างไรเสียก็ลองเอาคำศัพท์แต่ประโยคใช้กันดูนะเจ้าค่ะ
ลองพิมพ์รูปประโยคกันมาเลยลองดูน๊าาา 🥰✌🏻👏🏻
Le Siam
"สยาม ... ที่คุณต้องรู้"

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา