13 พ.ค. 2021 เวลา 07:57 • ประวัติศาสตร์
“สัตยาเคราะห์เกลือ (Salt Satyagraha)” การประท้วงอย่างสันติของ “มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi)”
เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) กลุ่มผู้ประท้วงชาวอินเดีย ได้เดินขบวนจากเมืองอาห์มาดาบัด ไปยังเมืองดันดี ประเทศอินเดีย
ระยะทางเดินขบวนกว่า 390 กิโลเมตรนี้ นำโดย “มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi)” โดยมีจุดประสงค์เพื่อการผลิตเกลือจากน้ำทะเลด้วยตนเอง
การผลิตเกลือนี้ คือการแสดงออกถึงการต่อต้านของชาวอินเดีย และเป็นการประท้วงอย่างสันติ
มหาตมา คานธี (Mahatma Gandhi)
ในเวลานั้น อังกฤษได้เข้ามามีอำนาจปกครองในอินเดีย และได้ออกกฎห้ามผลิตเกลือด้วยตนเอง ต้องซื้อเกลือจากอังกฤษ รวมทั้งจ่ายภาษีเกลือ
ชาวอินเดียจำนวนมากไม่พอใจ รวมทั้งคานธี
ก่อนจะเกิดการประท้วงนี้ คานธีได้เขียนจดหมายถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอังกฤษ โดยมีเนื้อความว่าจะหยุดการประท้วง แลกกับการที่อังกฤษยกเลิกภาษีเกลือ ลดภาษีที่ดิน ลดงบกองทัพ และเพิ่มภาษีผ้านำเข้า
เมื่อได้รับจดหมายจากคานธี อังกฤษก็เพิกเฉย ทำให้คานธีถึงกับกล่าวต่อผู้สนับสนุนว่า
“ฉันคุกเข่า ขอขนมปัง แต่ที่ได้กลับมาคือก้อนหิน”
เมื่อเป็นอย่างนั้น การเดินขบวนจึงดำเนินไป
ขบวนของคานธีมาถึงดันดีในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473) และได้ทำการผลิตเกลือจากน้ำทะเล ก่อนจะเคลื่อนขบวนไปตามชายฝั่งเพื่อผลิตเกลือเพิ่มและหาผู้ติดตามเพิ่ม
อังกฤษเองก็ไม่นิ่งนอนใจ และเข้าทำการจับกุมคานธีในวันที่ 5 พฤษภาคม ค.ศ.1930 (พ.ศ.2473)
คานธีถูกจับในขณะที่ผู้ติดตามหลายรายถูกทำร้าย และภาพที่กลุ่มผู้ติดตามถูกทำร้าย ก็ได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก เป็นภาพที่ผู้ชุมนุมนับร้อยซึ่งปราศจากอาวุธถูกเจ้าหน้าที่อังกฤษเข้าทำร้าย
ภาพเหล่านี้ก่อให้เกิดกระแสไปทั่วโลก ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเห็นใจอินเดีย
จากเหตุการณ์นี้ คานธีต้องอยู่ในเรือนจำเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี โดยมีคนอีกกว่า 80,000 คนถูกตัดสินให้จำคุกเช่นเดียวกัน
หากแต่จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ชาวอินเดียทั่วประเทศเริ่มต่อต้านอังกฤษอย่างเปิดเผย มีการแบนสินค้าอังกฤษ ชาวนาก็ปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีที่ดิน
รัฐบาลอังกฤษในอินเดียก็ออกกฎหมายที่รุนแรงกว่าเดิม รวมทั้งการปิดกั้นสื่อ หากแต่ก็ไม่สามารถจะต้านทานชาวอินเดียได้
เรียกได้ว่า สัตยาเคราะห์เกลือนี้ เป็นก้าวสำคัญของคานธีและของอินเดียในการไปสู่อิสรภาพในอีก 17 ปีต่อมา
โฆษณา