16 พ.ค. 2021 เวลา 08:32 • หนังสือ
มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์: ชื่อมื้อเช้าที่สดใสแต่เนื้อหาข้างในบรรยากาศเป็นมื้อดึกที่ขมุกขมัว
•ที่มาของการอ่านหนังสือเล่มนี้
เห็นหนังสือเล่มนี้วางขายในงานสัปดาห์หนังสือ(แบบออนไลน์)ที่ผ่านมา เหตุผลที่ตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านเพราะ:
1. ได้อ่านบทความเรื่อง “How lierature help you better connect with others” จากเพจ TED-Ed เขาบอกว่าการอ่านงานวรรณกรรมช่วยให้เรามี ‘empathy-ความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่น’ ได้ดีมากขึ้น (ซึ่งได้เขียนเล่าเนื้อหาในบทความนี้ไปแล้ว) จึงทำให้ตัวเองรู้สึกมีความชอบธรรมมากขึ้นที่จะซื้อหนังสือแนวเรื่องแต่ง หรือนวนิยาย หรือวรรณกรรม สุดแท้แต่ใครจะเรียก มาอ่านต่อไป
2. Breakfast at Tiffany’s เป็นเรื่องที่หลายคนอาจจะรู้จักดีเพราะได้ยินคุ้นหูมาจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกัน แต่จะมีสักกี่คนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้จริง ๆ เราก็เป็นหนึ่งในนั้นที่รู้จักหนังสือเล่มนี้มานานหลายสิบปีแล้ว แต่รู้จักขนาดนี้กลับไม่เคยอ่านสักครั้ง พอ ๆ กับที่เรารู้จักภาพยนตร์ชื่อเดียวกันแต่ไม่เคยดูเลยสักที และพอ ๆ กับที่เรารู้จักเครื่องประดับยี่ห้อ Tiffany & Co. แต่ไม่เคยได้ซื้อมาใส่เลย เปรียบเหมือนที่มีเพื่อนร่วมชั้นเรียนด้วยกันมาตลอดตั้งแต่อนุบาลจนมหาวิทยาลัย แต่เราไม่เคยไปบ้านเพื่อนคนนี้ ไม่รู้ว่าพ่อแม่พี่น้องเขาเป็นใคร ไม่รู้ว่าชีวิตจริง ๆ ของเพื่อนคนนี้เป็นอย่างไร อะไรประมาณนี้
ด้วยเหตุผลสองข้อนี้ จึงบอกกับตัวเองว่า อย่ากระนั้นเลย เราอ่านหนังสือมามากขนาดนี้แต่ยังไม่เคยอ่าน Breakfast at Tiffany’s สักครั้งมันจะเสียชาติคนที่เกิดมาเพื่ออ่านหนังสือบนเตียงอย่างเรา ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ Breakfast at Tiffany’s ฉบับแปลจึงได้มาอยู่บนเตียงซบผ้าห่มหนา ๆ อุ่น ๆ ของเรา (ซึ่งสำหรับใครอีกหลาย ๆ คนอาจจะรู้สึกร้อนแทน)
•เนื้อหา
เรื่องราวในหนังสือดำเนินเรื่องผ่านสายตาของชายหนุ่มผู้หนึ่งซึ่งมีความปรารถนาที่จะประกอบอาชีพเป็นนักเขียน เขาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งในนิวยอร์กแล้วได้รู้จักกับเพื่อนร่วมอพาร์ตเมนต์ชื่อว่า ฮอลลี โกไลต์ลี เธอเป็นสาวน้อยอายุไม่ถึง 20 ปีที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระโดยไม่อยู่ภายใต้กรอบหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ
จากนั้น ชีวิตเงียบ ๆ ของเขาก็เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงเมื่อได้รู้จักกับฮอลลี มิตรภาพระหว่างเพื่อนร่วมอพาร์ตเมนต์ทั้งสองคนนี้ได้เริ่มต้นขึ้น และการใช้ชีวิตนอกกรอบของบรรทัดฐานทางสังคมทำให้เธอเกี่ยวพันกับคนมากหน้าหลายตาสารพัดประเภท และเธอก็นำพาคนเหล่านี้มาสู่ชีวิตของชายหนุ่มผู้เล่าเรื่องด้วยเช่นเดียวกัน
ตัวเอกของหนังสือเรื่องนี้คือฮอลลี โกไลต์ลี เนื้อเรื่องดำเนินไปโดยเริ่มต้นจากที่เป็นคนแปลกหน้าร่วมอพาร์ตเมนต์เดียวกันกับชายหนุ่ม เขาได้รู้จักเฉพาะชีวิตเบื้องหน้า(ที่ตามมาตรฐานด้านศีลธรรมไม่ได้โสภาเลย)ที่ฮอลลียอมเปิดเผยให้เห็น ต่อมาเขาก็ได้รับรู้เรื่องราวชีวิตเบื้องหลังของฮอลลีที่เริ่มคลี่คลายออกมาให้รู้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากหญิงสาวร่วมอพาร์ตเมนต์ที่มีชีวิตอยู่ด้วยรายได้จากผู้ชายมากหน้าหลายตาที่เธอเกี่ยวข้องและมีความสัมพันธ์ที่ยุ่งเหยิงด้วย มารู้ว่าเป็นหญิงสาวที่อดีตเคยหนีออกจากบ้านหนีจากครอบครัวที่มีแต่ยังคิดถึงรำพึงรำพันหาพี่ชายที่ชื่อเฟร็ดอยู่เสมอ และเรียกชายหนุ่มเพื่อนร่วมอพาร์ตเมนต์คนเล่าเรื่องนี้ว่าเฟร็ดตามชื่อพี่ชาย และเขายังได้รับรู้เรื่องราวอื่น ๆ เกี่ยวกับเธอที่เปิดเผยให้เขารู้มากขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่เป็นเพื่อนร่วมอพาร์ตเมนต์แล้วได้กลายเป็นเพื่อนที่คุ้นเคยกันมากขึ้น
หนังสือเรื่องนี้ไม่ใช่วรรณกรรมชวนฝัน ดังนั้นอดีตของฮอลลีที่ถูกเปิดเผยออกมาจึงไม่ใช่ลูกสาวมหาเศรษฐีหรือเจ้าหญิงผู้ปลอมตัวมาแต่อย่างใด ผู้ชายทุกคนที่ได้เข้ามาใกล้ชิดกับฮอลลีดูเหมือนว่าจะตกหลุมรักเธอกันทุกคน แต่ถึงกระนั้นเธอก็ไม่ได้ลงเอยกับใครแม้จะเกือบได้ลงเอยไปก็ตาม ส่วนฮอลลีนั้นเป็นเหมือนสัตว์ป่า เหมือนตอนที่เธอบอกว่า “แต่คุณรักสัตว์ป่าไม่ได้นะ ยิ่งรัก มันก็จะยิ่งแข็งแรงขึ้น แข็งแรงมากจนสามารถวิ่งเข้าไปในป่าได้ หรือไม่ก็บินเข้าไปในต้นไม้ แล้วก็ต้นไม้ที่สูงขึ้นไปอีก แล้วก็ขึ้นสู่ท้องฟ้า ... ถ้าคุณปล่อยให้ตัวเองรักอะไรที่ไม่เชื่อง ลงท้ายคุณจะได้แต่จ้องมองท้องฟ้า”
เสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้คือเราจะอ่านไปงงไปไม่รู้อะไรเลยในตอนแรก แต่หลังจากนั้นเราก็จะทราบเรื่องราวต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนกับที่เฟร็ดรู้เรื่องราวชีวิตของฮอลลีมากขึ้นเรื่อย ๆ และเราก็จะได้รู้เรื่องมากขึ้นว่าชายผู้เล่าเรื่องนี้ที่ฮอลลีเรียกว่าเฟร็ดนั้นไม่ได้ชื่อนี้ แต่ตอนจบเราก็ยังไม่ได้รู้รายละเอียดอะไรมากนักอยู่ดี และหนังสือเรื่องนี้เล่าเรื่องผ่านสายตาของเฟร็ดที่ไม่ได้นำเอาความรู้สึกหรือมาตรฐานใด ๆ ไปตัดสินพฤติกรรมของฮอลลีว่าดีหรือชั่ว แต่เล่าตามสิ่งที่ได้รับรู้โดยไม่ได้ตัดสินใด ๆ
ความน่ารักเล็ก ๆ ของเรื่องนี้คือการมี ‘มนุษย์ป้า’ มาดามสปาเนลลาที่อาศัยอยู่ร่วมอพาร์ตเมนต์และมีเอี่ยวในการสร้างความยุ่งยากให้แก่ชีวิตฮอลลี(ที่ยุ่งยากอยู่แล้ว)พอหอมปากหอมคอ ไม่น่าเชื่อว่ามนุษย์ป้าในสังคมไทยจะไปโผล่อยู่ในนิยายที่มีฉากหลังเป็นเมืองนิวยอร์กยุคสงครามโลก
สุดท้ายฮอลลีก็จากไป ทิ้งเฟร็ดกับผู้ชายอีกบางคนที่มีความผูกพันทางใจกับเธอเฝ้าสงสัยรอคอยข่าวคราวว่าเธออยู่ที่ส่วนไหนของโลก และเรื่องก็จบลงด้วยชีวิตของฮอลลีที่ยังคลุมเครือต่อไป
•ส่งท้าย
แล้วชื่อเรื่อง Breakfast at Tiffany’s มันเกี่ยวกับเรื่องในหนังสือเล่มนี้อย่างไร?
ชีวิตของฮอลลีตามที่เล่าผ่านสายตาของเฟร็ดนั้นห่างไกลจากความหรูหราของร้าน Tiffany’s ไกลโข ถ้าจะให้พูดเป็นภาษาปากบ้าน ๆ ตรง ๆ คือชีวิตของฮอลลีนั้นบัดซบมาก หนังสือทั้งเรื่องไม่มีฉากไหนที่บรรยายถึงการที่ฮอลลีได้เข้าไปเฉิดฉายอยู่ที่ร้านหรูหราแห่งนี้เลยแม้แต่บรรทัดเดียว มีแต่การที่เธอเอ่ยถึงร้านนี้ แต่ด้วยความที่ทิฟฟานีส์นั้นห่างไกลกับชีวิตของฮอลลี ร้านนี้จึงเป็นสิ่งที่เธอใฝ่ฝัน
ฮอลลีบอกกับเฟร็ดว่าเธอบ้าทิฟฟานีส์ เธออยาก “ตื่นขึ้นมาในเช้าที่แสนดีวันหนึ่ง แล้วไปกินมื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์” เธอเล่าให้เฟร็ดฟังว่าเมื่อตอนที่เธอเศร้า “แค่นั่งแท็กซี่แล้วไปที่ทิฟฟานีส์” ก็จะทำให้เธอสงบลงทันที มันเป็นสถานที่ที่ทำให้เธอรู้สึกดีที่สุด และเธอยังเอ่ยถึงร้านนี้อยู่หลายครั้งในเรื่อง เช่นตอนที่เธอหนีจากนิวยอร์กแล้วส่งจดหมายมาเล่าให้เฟร็ดฟังว่า “บัวโนสไอเรสยอดเยี่ยมที่สุด ยังไม่ถึงขั้นทิฟฟานีส์แต่ก็เกือบ ๆ”
สารของเรื่องนี้คงต้องการสื่อถึงความต้องการของฮอลลีต่อสิ่งที่ต่างขั้วกับชีวิตของเธอ ความต้องการมีชีวิตยามเช้าอันแสนดีที่ได้รับประทานอาหารเช้าอย่างมีความสงบสุขที่ร้านทิฟฟานีส์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วร้านทิฟฟานีส์เป็นร้านเครื่องเพชรไม่มีส่วนที่เป็นร้านอาหาร ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการของฮอลลีที่ไม่มีอยู่จริงในชีวิตของเธอ
1
อ่านจบแล้วคิดว่าหนังสือเล่มนี้ก็คุ้มค่ากับเงินที่เสียไปในราคาร้อยกว่าบาท อ่านจบเร็วด้วยเพราะไม่ใช่เล่มหนาหนัก เป็นเล่มขนาดเล็กบาง ๆ เหมาะสำหรับคนชอบอ่านวรรณกรรมแปล แต่คนที่ไม่ชอบก็อ่านได้ เพียงแต่คิดว่าคนที่ไม่ชอบเขาคงไม่มาอ่านกัน แถมตอนท้ายยังมีบทวิเคราะห์ที่ดีมากเพิ่มคุณค่าของหนังสือเล่มเล็กบางนี้ให้หนาหนักในเชิงคุณภาพมากขึ้น 😉
1
โฆษณา