14 พ.ค. 2021 เวลา 10:32 • การศึกษา
อ่านเรื่องของเขาแล้วเราเอามาเล่าต่อ:
การอ่านวรรณกรรมทำให้เรามี ‘empathy’ หรือ ความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
3
ได้อ่านบทความที่ชื่อว่า “How literature can help you better connect with others” มา แล้วรู้สึกว่าบทความนี้ดีมาก ๆ อย่างน้อยมันก็ถูกใจฉัน (คนอื่นไม่รู้) ฉันอ่านแล้วฉันชอบ รู้สึกว่าบทความเรื่องนี้ดี จึงต้องเอามาเล่าต่อ และเนื้อหามีดังต่อไปนี้
ภาพโดย Pete Ryan นำมาจากภาพประกอบของบทความใน TED-Ed
บทความนี้เริ่มเรื่องด้วยการเกริ่นถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่สาขาด้านมนุษยศาสตร์กำลังถึงแก่กาล ‘เสื่อมลง’ โดยผู้เขียนได้อธิบายโดยหยิบยกบริบทเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาที่จำนวนผู้เรียนจบทางด้านนี้ลดลง แล้วโยงเข้าเรื่องว่าความนิยมในการเรียนวรรณกรรมก็ลดลงเช่นกัน และสิ่งที่กำลังจะหายตามไปคือ ‘empathy’ หรือ ‘ความรู้สึกเข้าอกเข้าใจผู้อื่น’ โดยอ้างอิงถึงการศึกษาชิ้นหนึ่งซึ่งทำการวิเคราะห์ผู้เรียนระดับวิทยาลัยจำนวน 15,000 คน และพบว่าคะแนนด้านความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นนั้นลดลงกว่า 40% เมื่อเทียบกับแต่ก่อน
ผู้เขียนบทความเป็นอาจารย์สอนในระดับมหาวิทยาลัยด้านวรรณกรรม เธอยืนยันว่าวรรณกรรมนั้นทำให้เราเป็นคนที่เอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ซึ่งเธอกล่าวว่าสิ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้ได้คือสาขาวิชาที่เรียกว่า literary neuroscience ที่เป็นสาขาเกิดขึ้นใหม่
ผู้เขียนถามว่า ในตอนที่เราอ่านเรื่อง Hamlet เรารู้สึกฮึดฮัดหรือเห็นด้วยที่แฮมเล็ทนั้นลังเลที่จะแก้แค้นให้พ่อของตัวเอง หรือตอนที่เราอ่านเรื่อง Jane Eyre เมื่อถึงตอนที่เจน แอร์ พบว่า มิสเตอร์โรเชสเตอร์นั้นแต่งงานแล้ว เราอยากให้เธอหนีออกไปเสียจากคฤหาสน์ธอร์นฟีลด์หรืออยากให้เธออยู่ต่อ ผู้เขียนอธิบายว่าในระหว่างที่เราอ่านงานวรรณกรรมอยู่นั้น เราจะเปรียบเทียบการกระทำของตัวเอกกับสิ่งที่เราจะทำในสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกันนี้ หรือไม่ก็เปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเคยทำมาแล้วในอดีต ซึ่งในการที่เราอ่านจิตใจพฤติกรรมตัวละครในเรื่องนั้นช่วยให้เราพัฒนาด้านไหวพริบเชิงสังคมขึ้น ดังจะเห็นได้จากการทำแบบทดสอบที่เรียกว่า “อ่านใจจากนัยน์ตา”
การทดสอบนี้ ผู้ร่วมทดสอบจะได้ดูรูปต่าง ๆ ที่เป็นสีเทาที่ถูกตัดเอามาเฉพาะส่วนตาของคนมาให้ดู แล้วผู้ที่เข้าร่วมการทดสอบจะถูกสอบถามโดยให้ระบุว่าสายตาจากรูปที่ดูสี่ตัวเลือกนั้นแสดงความรู้สึกอย่างไร ผลการทดสอบปรากฏว่าคนที่อ่านงานเขียนนวนิยายเป็นประจำทำคะแนนได้ดีกว่าในแบบทดสอบนี้
1
ผู้เขียนบทความวิเคราะห์ว่า การอ่านทำให้เราได้ฝึกการใช้มุมมองของผู้อื่น ซึ่งเหล่าหนอนหนังสือจะมีภาพจำติดตายตัวว่าเป็นพวกเนิร์ดหรือเป็นพวกสันโดษไม่รู้จักการเข้าสังคม แต่การอ่านวรรณกรรมทำให้เรามีสัญชาตญาณในการวิเคราะห์อารมณ์ของผู้คน
แล้วหนังสือทำให้เราเข้าไปอยู่ในใจคนอื่นได้อย่างไร? คำตอบคือสมอง
ผู้เขียนเล่าถึงการศึกษาของนักวิชาการด้านวรรณคดีผู้หนึ่ง การศึกษานี้ให้นักศึกษาปริญญาเอกอ่านงานนวนิยายของ Jane Austen แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือจะให้อ่านในเครื่องที่เรียกว่า fMRI ซึ่งจะแสดงให้เห็นกิจกรรมการทำงานของสมองโดยจะตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสมองจากการไหลของกระแสเลือด ผลพบว่าสมองของผู้ถูกทดลองจะมีเลือดไหลไปเพิ่มมากขึ้นทั้งในบริเวณการทำงานส่วนภาษาและบริเวณที่ไม่เกี่ยวกับส่วนภาษาเลย
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ผู้เขียนอธิบายเปรียบเทียบกับตอนที่เราอ่านเนื้อหาตอนที่เกี่ยวกับการวิ่งเข้าไปในป่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สมองซีกซ้ายส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานด้านภาษาที่เรียกว่า temporal lobe จะมีมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันสมองส่วนหน้าที่เรียกว่า motor cortex ซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายก็ทำงานด้วยเช่นเดียวกัน และสมองส่วนนี้ทำงานเหมือนกับตอนที่เราวิ่งจริง ๆ ก็เหมือนกับการที่เราอ่านคำว่า lavender หรือ coffee หรือ cinnamon สมองซีกซ้ายส่วน temporal lobe ก็จะมีการทำงานเกิดขึ้นเหมือนกับสมองส่วน olfactory cortex ที่ทำงานเหมือนตอนที่เราได้กลิ่นพวกนี้จริง ๆ
1
กิจกรรมในสมองเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นเมื่ออ่านงานที่ไม่ใช่นวนิยายที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น งานรวบรวมข่าวด้านการเมือง งานรีวิวหนัง หรือคู่มือประกอบข้าวของต่าง ๆ
การอ่านวรรณกรรมยังทำให้เราเหยียดเชื้อชาติน้อยลง โดยผู้เขียนยกตัวอย่างจากการศึกษาหนึ่งที่นำวรรณกรรมเรื่อง Saffron Dreams ซึ่งเป็นนวนิยายที่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของผู้หญิงอเมริกันเชื้อสายมุสลิมคนหนึ่งมาให้ผู้ทดสอบอ่าน โดยแบ่งผู้ถูกศึกษาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอ่านงานเล่มนี้ในรายละเอียด ส่วนอีกกลุ่มอ่านแค่เพียงสรุปสาระสำคัญของเรื่อง หลังจากนั้นก็นำรูปใบหน้าคนที่ก้ำกึ่งระหว่างคนอาหรับกับคอเคเชียน ซึ่งผู้ร่วมทดสอบกลุ่มหลังมักจะระบุผิดพลาดว่ารูปใบหน้าที่กำลังโกรธเกรี้ยวอยู่นั้นเป็นชาวอาหรับ ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าอคติทางเชื้อชาตินั้นไม่ปรากฏในกลุ่มที่อ่านงานเขียนที่ละเอียดกว่าเลย
เด็ก ๆ เองสามารถพัฒนาความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อกลุ่มที่ถูกตราหน้าด่าประณามได้ด้วยการอ่านเช่นเดียวกัน ซึ่งพิสูจน์ได้จากการศึกษาในอิตาลีที่ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้อพยพมักจะถูกเหยียดหยามเสมอ โดยมีการทดลองให้เด็ก ๆ อ่านงานเรื่อง Harry Potter ซึ่งเด็ก ๆ กลุ่มหนึ่งถูกกำหนดให้อ่านเฉพาะตอนที่แฮร์รี่ได้ไม้กายสิทธิ์เป็นครั้งแรก ส่วนอีกกลุ่มได้อ่านตอนที่แดรโก มัลฟอย พ่อมดเลือดบริสุทธิ์เรียกเฮอร์ไมโอนีว่านังเลือดผสมสกปรก ซึ่งหนึ่งอาทิตย์ต่อมาเมื่อมีการประเมินมุมมองของเด็ก ๆ พบว่าเด็กกลุ่มที่ได้อ่านงานตอนที่มีอคติต่อเฮอร์ไมโอนีนั้นมีทัศนคติต่อผู้อพยพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ผู้เขียนเล่าว่าการศึกษาเหล่านี้ทำให้เธอนึกถึงเหล่าบรรดานักศึกษาที่กำลังมีความขัดแย้งในใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือกเรียนวิชาเอกอังกฤษดีด้วยเหตุผลว่าพวกเขาอยากประสบความสำเร็จ เธอเห็นว่าหากนักศึกษาวัดว่า ‘ความสำเร็จ’ นั้นคือการมีเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ยสูงที่สุดแล้ว เธอจะพาเด็กออกไปจากตึกเอกภาษาอังกฤษไปส่งยังตึกเอกบริหารธุรกิจ แต่ถ้า ‘ความสำเร็จ’ สำหรับเด็ก ๆ นั้นหมายถึงการมีส่วนช่วยสร้างให้โลกนี้ปรองดองอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้มากขึ้น เธอจะดึงเก้าอี้มาให้เด็ก ๆ นั่งลง
นักการเมืองและบรรดาผู้กำหนดนโยบายเป็นกลุ่มที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องให้มาใช้วรรณกรรมชี้นำกิจกรรมในสมองให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น ผู้เขียนให้ผู้อ่านลองนึกกันดูว่าจะเป็นเช่นไรถ้า
1
- ก่อนที่จะลงมือเริ่มใช้กำลังทหารที่แข็งกร้าว เหล่าผู้นำโลกพวกนี้ได้ให้ลองมาอ่านนวนิยายจากมุมมองของคู่ต่อสู้ที่จะรบด้วยเสียก่อน
- ถ้าก่อนที่จะตัดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม บรรดานักการเมือง ส.ส. ลองมาใช้ชีวิตในฐานะคนที่ต้องพึ่งพาสวัสดิการสังคมก่อน
- หรือลองจินตนาการดูว่าก่อนที่เหล่าผู้นำจะกำหนดโทษจำคุกหรือออกนโยบายผู้อพยพ ให้คนเหล่านี้ลองมาสอบกลางภาควิชาของเธอดูให้ได้คะแนนเต็มเสียก่อน
ซึ่งถ้าลองทำเช่นนั้นก่อน ผู้เขียนระบุว่าโลกเราคงเต็มไปด้วยการตัดสินใจที่มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นเป็นเครื่องชี้นำเพราะสมองของคนเหล่านี้มีการทำงานเพิ่มมากขึ้นเพราะเลือดได้ไหลไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในสมองในหลากหลายบริเวณขึ้น
ผู้เขียนสรุปว่าวรรณกรรมนั้นสั่งสอนเราให้มีความรู้สึกนึกคิด มีความรับรู้หยั่งถึง และมีจิตวิญญาณ โดยเธอได้ทิ้งท้ายว่าวรรณกรรมนั้นสร้างความสุขรื่นรมย์ให้แก่เราดังนั้นพวกเรา “จงอย่าอ่านเพราะมันดีสำหรับคุณ แต่ที่อ่านเพราะว่ามันดีคุณก็เลยอ่าน”
นอกจากนี้ ผู้เขียนยังชี้ว่า การดื่มด่ำนวนิยายนั้นมันมีรสชาติดีมีรสหวานฉ่ำไม่ใช่หรือ การอ่านไม่ได้ช่วยให้เรามีความรู้สึกนึกคิดอย่างเดียว แต่การอ่านนั้นยังทำให้เรารู้สึกดีขึ้น หนังสือทำให้เราเปล่าเปลี่ยวเดียวดายน้อยลง ก็เหมือนดั่งที่นักเขียนที่ชื่อ James Baldwin เคยกล่าวไว้ว่า “หากเจ้าคิดว่าความเจ็บปวดความอกหักรวดร้าวในจิตใจของเจ้านั้นไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของโลกใบนี้มาก่อน เจ้าจงลองอ่านดู”
สุดท้ายผู้เขียนทิ้งท้ายว่า... จงปล่อยตัวปล่อยใจไปกับหนังสือ จงตามหาตัวเอง แล้วในระหว่างที่เราอ่านหนังสือเราจะพบส่วนที่เหลือของเรา
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่อยู่ในบทความที่สกัดมา ต้นฉบับบทความที่อ้างถึงหากใครอยากอ่านฉบับเต็มอยู่ในลิงค์นี้:
โฆษณา