16 พ.ค. 2021 เวลา 03:31 • ประวัติศาสตร์
“นโยบายก้าวกระโดด (the great leap forward)” นโยบายที่สร้างความบอบช้ำให้ประเทศจีน
“นโยบายก้าวกระโดด (the great leap forward)” เป็นความพยายามของ “เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong)” ที่จะเปลี่ยนจีนจากสังคมเกษตรกรรม เปลี่ยนเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และจะเปลี่ยนทั้งหมดในเวลาห้าปี
อาจจะฟังดูเป็นเรื่องยาก ไม่น่าจะเป็นไปได้ หากแต่เหมาเจ๋อตุงไม่ต้องการจะยอมแพ้ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ลอง และเขาก็มีอำนาจมากพอที่จะทำให้ทุกคนยอมทำตาม
ผลลัพธ์ที่ได้คือหายนะ
เหมาเจ๋อตุง (Mao Zedong)
ระหว่างค.ศ.1958-1960 (พ.ศ.2501-2503) ชาวจีนนับล้านได้ย้ายเข้ามากระจุกตัวอยู่ในบริเวณๆ เดียว โดยมีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน
1
บ้างก็ถูกส่งไปในส่วนของการเกษตร บ้างก็ถูกส่งไปในส่วนของอุตสาหกรรมขนาดเล็ก มีการแบ่งงานกันอย่างชัดเจน อีกทั้งมีการแยกพ่อแม่กับลูก โดยนำลูกเล็กๆ ไปอยู่ในศูนย์ดูแลเด็ก
เหมาเจ๋อตุงตั้งใจที่จะให้มีการขยายผลผลิตทางการเกษตร และในขณะเดียวกัน ก็จะย้ายแรงงานจากเกษตรกรรม ไปสู่อุตสาหกรรม โดยอิงมาจากแนวคิดการทำการเกษตรของสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชในบริเวณใกล้ๆ กันเพื่อให้ก้านของพืชแต่ละชนิด ส่งเสริมพืชอีกชนิดหนึ่ง และการขุดดินลึกลงไปไม่น้อยกว่าหกฟุตเพื่อกระตุ้นให้รากเติบโต
การทำการเกษตรอย่างนี้ แทนที่จะเป็นผลดี กลับส่งผลเสียต่อทั้งหน้าดินและผลผลิต
นอกจากนั้น เหมาเจ๋อตุงยังต้องการจะให้จีนไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเหล็กและเครื่องจักรจากต่างประเทศ จึงมีการส่งเสริมให้ประชาชนสร้างเตาหลอมโลหะไว้ที่บ้าน ทำการหลอมโลหะด้วยตนเอง
1
แต่ละครอบครัวได้ถูกกำหนดมาเลยว่าต้องผลิตเหล็กได้จำนวนเท่าไร ซึ่งก็มักจะทำได้ไม่ถึง แต่ละครอบครัวจึงต้องนำสิ่งต่างๆ ที่พอมีมาหลอม ไม่ว่าจะเป็นกระทะ หม้อ และเครื่องใช้ต่างๆ
1
และก็อย่างที่ทุกคนน่าจะคาดเดาได้ เหล็กที่ชาวบ้านหลอมกันเองนั้น ล้วนแต่เป็นเหล็กคุณภาพต่ำ ใช้งานแทบไม่ได้
1
ภายในเวลาไม่กี่ปี นโยบายก้าวกระโดดก็สร้างความเสียหายมหาศาล การหลอมเหล็กกันเองของชาวบ้าน ทำให้ต้องมีการตัดต้นไม้จำนวนมากเพื่อใช้ในโรงหลอม ทำให้ทรัพยากรป่าไม้เสียหาย อีกทั้งการทำการเกษตรแบบผิดๆ ทำให้ดินได้รับความเสียหาย ไม่อุดมสมบูรณ์เช่นเดิม
ในปีค.ศ.1958 (พ.ศ.2501) ดินในพื้นที่ต่างๆ ยังไม่ได้รับความเสียหาย ผลผลิตจึงยังมีพอ ทำให้มีการย้ายแรงงานจำนานมากไปยังภาคอุตสาหกรรมเหล็ก ทำให้ขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต พืชผลเน่าเสียเป็นจำนวนมาก
ผู้นำชุมชนต่างๆ ได้แจ้งตัวเลขผลผลิตที่เกินจริงแก่รัฐบาล เนื่องจากเกรงกลัวบทลงโทษ ซึ่งก็เป็นผลร้าย เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเข้าใจว่าผลผลิตมีเยอะ เพียงพอสำหรับทุกคน ก็ได้เก็บผลผลิตไปเป็นจำนวนมาก เหลือให้ชาวนาเพียงน้อยนิด ทำให้ผู้คนในชนบทอดอยาก
ปีต่อมา เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม มีผู้เสียชีวิตกว่าสองล้านคน ตามมาด้วยภัยแล้งที่ซัดกระหน่ำในปีค.ศ.1960 (พ.ศ.2503)
ท้ายที่สุด ด้วยเคราะห์ซ้ำกรรมซัดที่ประดังเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยมีการประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 20-48 ล้านคน โดยผู้เสียชีวิตส่วนมากเป็นชาวบ้านในชนบท และเสียชีวิตจากการอดอยาก
ภาครัฐได้แจ้งจำนวนผู้เสียชีวิตว่ามีเพียง 14 ล้านคน หากแต่ในภายหลัง หลายฝ่ายก็เห็นตรงกันว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
ตามเดิมนั้น มีกำหนดว่านโยบายก้าวกระโดดนี้จะใช้เวลาดำเนินการห้าปี หากแต่ภายหลังจากใช้ไปเพียงสามปี ก็ต้องยกเลิก
เหตุการณ์นี้ดำเนินตั้งแต่ปีค.ศ.1958-1960 (พ.ศ.2501-2503) และเป็นสามปีที่เชื่อว่าชาวจีนซึ่งเกิดทัน และโตทันในช่วงเวลานั้น ไม่มีทางลืมแน่นอน
โฆษณา