18 พ.ค. 2021 เวลา 08:01 • ครอบครัว & เด็ก
พ่อเลวสอนลูก EP2. – การลงโทษเพื่อเรียนรู้
ตอนที่แล้วผมได้กล่าวถึงการลงโทษด้วยการตีไปแล้วว่าการตีนั้นไม่ส่งผลดีต่อเด็กเลยแม้แต่น้อย มีแต่พ่อแม่ที่ได้เพราะสามารถหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของลูกได้ทันที แล้วจึงนำมาสู่คำถามที่ว่า “ถ้าไม่ตี แล้วเราจะเลือกอะไรได้ไหม”
หนึ่งในการลงโทษที่ได้รับความนิยมในสมัยใหม่สำหรับพ่อแม่ที่ดีคือการ Time out และ Time in โดยมีลักษณะต่างกัน ดังนี้
Time Out
- ให้ลูกแยกไปอยู่มุมสงบตามเวลาที่กำหนด
- พูดคุยบอกเหตุผลหลังจากได้สงบสติอารมณ์
- ข้อดีของวิธีนี้คือทั้งพ่อและแม่จะได้สงบสติอารมณ์ตัวเองไปพร้อมกับลูกด้วย
Time In
- พาไปที่มุมสงบ
- อยู่ข้าง ๆ กับลูกรอให้สงบสติอารมณ์
- พูดคุยบอกเหตุผลหลังจากได้สงบสติอารมณ์
ทั้งสองวิธีมีส่วนที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือการที่รอให้ลูกสงบสติอารมณ์ก่อน แต่ข้อดีของ Time Out คือเราจะไม่ “เม้งแตก” เพราะแยกกันอยู่ แต่ถ้า Time In นั้นเราอาจจะหงุดหงิดกับความงอแงของลูกได้ง่าย แต่ถ้าทนได้ ผมแนะนำให้ทำ Time In ดีกว่าครับ ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราดูครับว่าถ้าเราเป็นเด็ก เวลาที่เราร้องไห้ เราอยากได้พ่อแม่แบบไหนมากกว่ากันครับ
ที่ว่ามาด้านบน คือสิ่งที่พ่อแม่ดี ๆ ควรทำนะครับ
แต่สำหรับคนชั่วร้ายอย่างผม ผมไม่เคยทำ Time Out และ Time In สำหรับผมก็ไม่พอ
ไม่ว่ายังไง คนทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ และ Time in สำหรับผมนั้นถือว่า “น้อยเกินไป”
เขาต้องได้เรียนรู้ถึงการรับผิดชอบการกระทำของเขาครับ
การลงโทษของผมมีหลักคิดอยู่ 2 แบบคือ
1. ลงโทษให้เหมาะสมกับความผิด
การลงโทษในลักษณะนี้คือการลงโทษโดยอ้างอิงจากการรับผลของการกระทำตามสถานการณ์ในชีวิตจริง เช่นตอนเด็ก ๆ ลูกผมชอบเล่นข้าวหรือบีบผลไม้เล่นจนทำให้เลอะเทอะเป็นประจำ หลายบ้านอาจจะใช้วิธีการดุหรือตีเพื่อยังยั้งพฤติกรรม แต่สำหรับผมจะปล่อยให้เขาทำเท่าที่อยากทำเลย แต่จะลงโทษโดยการไม่ให้กินอีกถ้าขอเพิ่ม และต้องทำความสะอาดเศษอาหารต่าง ๆ ตามพื้นและบริเวณที่นั่งของตัวเอง ถ้าจำไม่ผิดผมลงโทษเขาตั้งแต่อายุขวบกว่า ๆ ด้วยวิธีนี้ จนปัจจุบันเรื่องการกินเลอะเทอะก็ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว
อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ผมจะยกเป็นตัวอย่างคือการที่เวลาเล่นกันแล้วเขาไม่พอใจ เขาจะทำการตีผมไม่ก็พูดจาเสียงดังซึ่งผมไม่ชอบ ดังนั้นผมจึงลงโทษเขาด้วยการ “ไม่เล่นด้วย” เป็นระยะเวลา 5-15 นาที เพื่อสอนให้เขารู้ว่า “ไม่มีใครอยากเล่นกับเด็กแบบนี้” ทั้งนี้ หลังจากช่วงระยะเวลานั้นแล้ว เราจะต้องสอนเขาด้วยว่าถ้าเขาตีคนอื่น เขาอาจจะโดนทำแบบเดียวกันกลับได้เหมือนกัน แต่ไม่ต้องสอนบ่อยก็ได้ครับ เพราะตอนหลังลูกผมก็เบื่อที่ผมสอนเหมือนกัน 555
ทั้งนี้ การลงโทษในแต่ละความผิดควรที่จะเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด รวมไปถึงการที่ทำให้ใกล้เคียงกับสถานการณ์ที่เขาจะได้เจอในสังคมมากที่สุด เพื่อที่เขาจะได้เรียนรู้ถึงผลของการกระทำที่เหมือนกันทุกครั้งครับ ไม่ใช่ว่าอยู่กับพ่อแม่แล้วทำไมโดนแรงจัง พออยู่กับคนอื่นไม่เห็นมันจะเลวร้ายขนาดนี้ เพราะมันจะทำให้คำสอนของเรา “เสื่อม” ความศักดิ์สิทธิ์ในทันทีครับ
2. ลงโทษโดยการตัด “สิทธิพิเศษ” ที่เรามอบให้
ในบางครั้ง การกระทำผิดบางอย่างเราก็ไม่สามารถให้เขาเรียนรู้ได้จากผลที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริงได้เสมอไป เช่นการไปเดินเล่นแล้วไม่ระวังวิ่งพรวดออกถนน เราคงจะให้เขาเรียนรู้ว่าเวลาโดนรถชนจะเป็นยังไงก็คงไม่ได้ หรือการร้องไห้งอแงจะเอาของกลางห้าง ลำพังแค่การหิ้วกลับก็คงไม่พอ เพราะการลงโทษนั้นมันจะ “เบา” เกินไป ดังนั้นการลงโทษอีกแบบหนึ่งที่ผมใช้ในกรณีเหล่านี้คือการ “ตัดสิทธิพิเศษ” ครับ
ถ้าเราลองนึกดูดี ๆ สิทธิพิเศษที่เราให้กับลูกนั้นมีเยอะแยะเลยนะครับ เช่น
- การให้ดูการ์ตูน (จะเขียนเรื่องนี้ในส่วนของเรื่องการดูจออีกครั้ง)
- การพาออกไปเดินเล่นนอกบ้าน
- การเปิดน้ำในสระลมให้เล่น
- หรือแม้กระทั่ง “การอ่านนิทานก่อนนอน”
การลงโทษแบบนี้เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่า สิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่เขาได้นั้นเป็นรางวัลที่ได้มาจากความ “รับผิดชอบ” ของเขา การที่ผมพาเขาไปเดินเล่นโดยที่ไม่ใช้สายจูงหรือบังคับให้จับมือเพราะผมเห็นว่าเขารับผิดชอบตัวเองได้ การที่ผมให้เขาดูการ์ตูนเพราะเขาจะหยุดเมื่อถึงเวลาตามที่ตกลงกัน หรือแม้กระทั่งการไม่เอาของที่ไม่ใช่ของกินเข้าปากก็ถือเป็นความรับผิดชอบต่อตัวเองเช่นกัน แต่สิ่งเหล่านี้บางทีมันก็ยากที่จะมีบทลงโทษในสังคมจริงที่เขาจะต้องเผชิญหรือบทเรียนนั้นอาจจะหนักเกินไป (เราคงปล่อยให้เขาเอาของเข้าปากและติดคอไม่ได้แน่นอน) ดังนั้น การลงโทษที่ดีที่สุดคือการตัดสิทธิพิเศษต่าง ๆ ออกไปเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่าการกระทำเหล่านี้จะไม่ได้รับผลที่ดี ซึ่งเราจะอธิบายสิ่งเหล่านี้เพิ่มเติมให้กับเขาได้เมื่อเขาเริ่มโตขึ้นครับ
ขอย้ำอีกครั้ง ถ้าเป็นไปได้ การลงโทษความผิดต่าง ๆ ควรที่จะตกลงกันไว้ล่วงหน้านะครับ
สำหรับผม การทำผิดนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ต้องถูกลงโทษครับ ผมไม่ใช่คนดีขนาดที่จะให้อภัยและปล่อยวางได้ แต่เราต้องการลงโทษเพื่อให้เขาได้ “เรียนรู้” มากกว่าที่จะลงโทษเพื่อเป็นการระบายความโกรธของผู้ที่ลงโทษครับ
ตอนต่อไป EP. 3: ลูกจะต้องไม่ผูกติดกับ “ความดี” บทที่จะกล่าวถึงที่มาของคำว่า "พ่อเลว" ติดตามได้ในวันอังคารหน้าครับ
ช่วงโฆษณา
Pocket Book เรื่อง “เมื่อคุณพ่อเป็นสมาธิสั้น” ของผมกำลังจะปิดรับ Order ในอีก 2 สัปดาห์แล้วนะครับ ท่านมารถสั่งซื้อได้ทางลิงค์ด้านล่างหรือสามารถรับ E-Book ฟรีได้ที่โพสต์ที่ปักหมุดไว้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา