23 พ.ค. 2021 เวลา 04:00 • ไลฟ์สไตล์
#อยากจะเขียนอะไรสักอย่าง เริ่มยังไง? How To
วันนี้เราจะมาเล่าประสบการณ์ใหม่ๆ หมาดๆ เฟรชๆ ของเราละกัน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ใครก็ตาม ที่อยากจะเขียนอะไรสักอย่าง แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง
Image by Free-Photos from Pixabay
เราเป็นนักเขียนมือใหม่จึงอยากจะมาบอกทริคเล็กๆน้อยๆในการเริ่มเขียน ก่อนที่มันจะเลือนลางไปจากรอยหยักของสมองอันน้อยนิด
สำหรับคนที่เป็นแต่ผู้อ่านมาเนิ่นนาน มีความคิดอยากจะเขียนอะไรกับเขาบ้าง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ลองสักที ... มา มาลองกันดูสักตั้งกันนะคะ
วันนี้เราจะมาบอกจากประสบการณ์สดๆที่ผ่านมา ว่าการที่จะเริ่มหยิบปากกา แล้วเขียนคำแรกลงไปน่ะ มันต้องมีทริคอะไร
How To เริ่มเขียน?
1. สลัดความกลัว
ด่านแรกเลยสำหรับคนที่อยากจะเขียน แต่ไม่ได้เริ่มเขียนซะที คือไม่สามารถก้าวข้ามความกลัว ความกังวลต่างๆนานาได้
2
ความกลัว ความกังวลนี้เอง เป็นเสมือนกำแพง ที่ทำให้เราไม่ได้หยิบปากกาขึ้นมาซะที
สลัดความกลัว ความกังวล ว่าคนอื่นจะไม่ชอบสิ่งที่เราเขียนทิ้งไปซะ อยากจะเขียนอะไร ก็เขียนเลย อย่าเพิ่งไปคิดแทนคนอื่น ว่ามันดีไม่พอ
ถ้าคุณคิดว่ามันดี มันก็ย่อมมีคนที่คิดว่ามันดีเช่นเดียวกับคุณแน่นอน
... ก้าวข้ามกำแพงนี้ให้ได้ แล้วหยิบปากกากันเลยค่ะ
1
2. เริ่มเขียนจากเรื่องใกล้ตัวก่อน
เมื่อหยิบปากกาแล้ว เราก็จะพบเจอกับกระดาษที่ว่างเปล่า
มันเป็นกำแพงชั้นที่สอง ที่นักเขียนมือใหม่ต้องเจอ
หลายคนมักจะมาติดแหง็กอยู่ตรงด่านนี้ คือ ... “เขียนอะไรดี?”
เป็นคำถามที่ไม่สามารถตอบคุณได้จริงๆ การที่คุณจะเขียนอะไร เป็นเรื่องที่คุณต้องตัดสินใจเอาเอง แต่จะขอตีโจทย์ให้แคบลงมาหน่อยว่า ให้เริ่มเขียนจากเรื่องที่ใกล้ตัวคุณ
3
เช่น ถ้าคุณชอบทำอาหาร คุณก็ลองเขียนวิธีทำและเทคนิคต่างๆดูสิ
ถ้าคุณไปเที่ยวบ่อย คุณก็ลองบรรยายเรื่องราวในการเดินทางของคุณดูสิ
หรืออาจจะเขียนรีวิวอาหารตามร้านต่างๆที่ไปทานมาก็ได้
หรืออาจจะเป็นเรื่องราวอื่นๆที่คุณอยากเล่าให้เพื่อนๆฟัง
... เมื่อคุณก้าวข้ามกำแพงทั้งสองชั้นได้แล้ว คราวนี้คุณก็พร้อมเขียนแล้วล่ะ แต่เราก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมาฝาก เพื่อให้งานเขียนชิ้นแรกของคุณ ง่ายขึ้น ดีขึ้น
... ไปอ่านในข้อต่อๆไปกันดีกว่าค่ะ
3. เขียนให้คนรู้จักอ่าน
เพื่อที่จะสะสมความมั่นใจในการเขียนของคุณเพิ่มมากขึ้น มันจะง่ายขึ้น ถ้าเริ่มจากเขียนให้คนรู้จักอ่านก่อน เพราะว่าคุณจะไม่รู้สึกเกร็งและกดดันมากนัก
มันก็เหมือนเล่าเรื่องให้เพื่อนฟังนั่นแหละ เพียงแต่อยู่ในรูปของตัวหนังสือเท่านั้นเอง โดยอาจจะเขียนลงใน Facebook หรือ IG ส่วนตัว
4. เรียบเรียงความคิด เรื่องราว ก่อน หลัง
Image by athree23 from Pixabay
ก่อนที่จะลงมือเขียน ลองเรียบเรียงความคิดที่ประดังประเดอยู่ในหัว ลงในกระดาษ หัวข้อไหนเราจะเขียนก่อน จะเรียงลำดับกันไปอย่างไร
ถ้าเราเขียนโดยไม่มีแบบแผนอะไรเลย พอเขียนไปได้สักหน่อย ความงงงวยจะมาถึง แล้วคุณจะไปต่อไม่ถูก เพราะสมองจะอื้ออึงด้วยเรื่องนี้หน่อย เรื่องนั้นบ้าง ตีกันมั่วไปหมด
5. อธิบายเรื่องราวให้คนเข้าใจ ประหนึ่งว่าเขาไม่ได้รู้จักเรา หรือรู้เรื่องราวส่วนใดส่วนหนึ่ง
พยายามเขียนให้ทุกคนสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ มันอาจจะดูเยิ่นเย้อในความคิดของคุณ แต่ถ้าคุณเขียนเอง เออเอง ไม่บอกที่มาที่ไป คงมีไม่กี่คนที่เข้าใจ
ไม่ว่าคุณจะถ่ายทอดเรื่องราวออกมาเป็นภาษาแนวไหนก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คนอ่านต้องเข้าใจในสิ่งที่คุณเขียน
6. เมื่อเขียนแล้ว ลองอ่านออกเสียง
สำหรับการเขียนในช่วงแรกๆ การอ่านออกเสียงจะช่วยเกลาประโยคต่างๆให้ลื่นขึ้น อ่านแล้วไม่วกวน ไม่สะดุด
ทั้งยังช่วยให้คิดออกว่า จะเริ่มประโยคต่อไปยังไงดี ใช้คำเชื่อมนี้ดีหรือยัง จะทำให้เห็นว่า คำนี้ใช้บ่อยหลายรอบแล้ว ควรเปลี่ยนใช้คำอื่นบ้าง
7. เช็คคำผิด
ยิ่งเขียนยาวเท่าไหร่ โอกาสที่จะผิดก็มีมากขึ้นเท่านั้น บางทีเรารู้ว่าสะกดยังไง แต่นิ้วดันพิมพ์ผิดซะนี่ ลองเช็คดูหลายๆรอบ
หากบางคำที่เราไม่แน่ใจว่าสะกดยังไง คงไม่เสียเวลาอะไรมากนัก ถ้าเราจะไปเช็คดูซะหน่อย เพื่อความถูกต้อง
8. ฝึกเขียนบ่อยๆ
Image by Free-Photos from Pixabay
ไม่จำเป็นต้องเขียนยาว ไม่จำเป็นต้องมีสาระทุกครั้ง แต่ให้ฝึกเขียนบ่อยๆ ยิ่งเขียนบ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งเขียนลื่นขึ้นเท่านั้น
อย่าเพิ่งให้ยอด like หรือจำนวน comment มาทำให้คุณท้อถอยไปซะก่อนล่ะ
ท่องไว้ในใจว่า ... นี่ คือการฝึกเขียน
9. อ่านงานเขียนของคนอื่นเรื่อยๆ
อาจจะเป็นนิยาย อาจจะเป็นบทความ หรืออาจจะเป็นประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องราวอะไรก็ได้ที่คุณอยากอ่าน ยิ่งอ่านเยอะ คุณก็จะซึมซับคำศัพท์ ซึมซับวิธีเขียนไปโดยปริยาย
คุณจะได้สังเกตด้วยว่า แนวการเขียนแบบไหนที่คุณชอบ หรือ ไม่ชอบ การเล่าเรื่องแบบไหนที่คุณคิดว่าน่าสนใจ หรือ น่าเบื่อ สังเกตข้อดีข้อเสีย และลองเอามาเป็นแนวทางในการเขียนของคุณดู
10. อย่ารอช้า อย่ารอให้หมดไฟ
ถ้าหากคุณมีความคิดที่อยากจะเขียนแล้วล่ะก็
ถ้าหากการเขียน คือความฝันเล็กๆของคุณ
ลงมือเลย ....
อย่ารอให้ไฟมอดซะก่อน ไม่งั้นคุณก็ไม่ได้เริ่มเขียนซะที
หวังว่า 10 ข้อนี้ จะเป็นประโยชน์ และเป็นแรงบันดาลใจ สำหรับการเริ่มต้นเขียนนะคะ
Image by Comfreak from Pixabay
โดยจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือ ต้องก้าวข้ามกำแพงชั้นแรกไปให้ได้ก่อน ซึ่งนั่นก็คือ ความกลัว
เราเชื่อว่า ถ้ามีใจรักการเขียน ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปได้
#สมองสองช้อน ขอบคุณผู้อ่านทุกคน ที่เข้ามาติดตามนะคะ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา